1712 1643 1830 1526 1730 1299 1441 1036 1580 1287 1598 1186 1410 1997 1866 1620 1239 1659 1791 1468 1012 1291 1023 1191 1073 1709 1965 1609 1647 1727 1590 1090 1608 1897 1935 1921 1132 1399 1539 1760 1069 1284 1365 1408 1499 1525 1480 1917 1365 1488 1178 1245 1620 1468 1236 1772 1697 1339 1950 1072 1881 1536 1213 1449 1266 1877 1345 1756 1767 1123 1451 1308 1952 1208 1394 1348 1879 1636 1337 1670 1022 1048 1669 1332 1027 1438 1351 1626 1392 1203 1115 1061 1437 1086 1783 1377 1303 1173 1229 ความจริงและเสรีภาพ ปัจจัยสำคัญในภาวะโรคระบาดกระจายทั่วโลก | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ความจริงและเสรีภาพ ปัจจัยสำคัญในภาวะโรคระบาดกระจายทั่วโลก

 
 
1385
 
 
โลกของเราเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงอยู่หลายครั้ง กรณีที่เป็นประสบการณ์ร่วมของคนไทยหลายคนก็คือ  การแพร่ระบาดของโรคซาร์สที่มีต้นตอมาจากเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลเดียวกันกับโรคโควิด 19  ครั้งนั้นประชาคมสาธารณสุขเรียนรู้ว่า ความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูลอย่างเปิดเผยและสะดวกเป็นใจกลางสำคัญของการบรรเทาโรคระบาด รวมทั้งคุณภาพของเสรีภาพในด้านต่างๆ ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญ
 
 
ในระหว่างที่ยังไม่เห็นปลายทางว่า การแก้ไขปัญหาและจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะเดินไปสู่จุดใด แต่ก็ปรากฏให้เห็นในหลายประเทศแล้วว่า การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้น ส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาดที่ร้ายแรงขึ้นได้และผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงประเทศต้นทางของการจำกัดเสรีภาพเท่านั้น
 

 

จีน : เผชิญหน้าดอกผลของการปิดปากแพทย์ผู้กล้าเปิดโปง

 
1384
 
 
อ้าย เฟิ่น แพทย์ของโรงพยาบาลกลางอู่ฮั่นเป็นคนแรกๆ ที่ตรวจพบการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเธอได้ทำการตรวจผู้ป่วยรายแรกที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวในวันที่ 18 ธันวาคม 2562 และอีกคนในสัปดาห์ถัดมา เธอได้ส่งตัวอย่างไปตรวจสอบ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ผลแล็บพบว่า ซาร์ส โคโรนา เธอจึงได้รายงานต่อแผนกโรคติดเชื้อของโรงพยาบาล และส่งต่อข้อมูลให้แก่เพื่อนร่วมอาชีพ หนึ่งในนั้น คือ หลี่ เหวิ่นเหลียง ผู้นำข้อมูลการแพร่ระบาดมาเปิดโปงต่อสาธารณะจนถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบสวนและกล่าวหาว่า แพร่ข้อมูลเท็จซึ่งกระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง
 
อ้าย เฟิ่น ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารพีเพิ้ลว่า เธอถูกตำหนิอย่างหนักหลังจากที่เตือนผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานในครั้งนั้น โดยช่วงกลางคืนของวันที่ 30 ธันวาคม 2562 หลังเธอเผยแพร่ผลแล็บ เธอได้รับข้อความจากโรงพยาบาลระบุว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความหวาดกลัว ข้อมูลเกี่ยวกับโรคลึกลับไม่ควรถูกเผยแพร่ตามอำเภอใจเช่นนี้ หลังจากนั้นเธอถูกเรียกเข้าไปในคณะกรรมการตรวจสอบของโรงพยาบาลและถูกกล่าวโทษทำนองว่า เธอเผยแพร่ข่าวลือและสร้างความไม่มั่นคง ขณะที่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลถูกสั่งห้ามไม่ให้ส่งต่อข้อความใดๆ เกี่ยวกับไวรัส ตอนนั้นเธอทำได้แค่เพียงบอกให้เจ้าหน้าที่สวมแมสก์และเครื่องป้องกัน
 
 
หลังจากที่ทางการจีนยอมรับถึงการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกแล้ว จีนยังคงยืนยันว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวไม่แพร่จากคนสู่คน แต่อ้ายเห็นแล้วว่า ไวรัสดังกล่าวแพร่จากคนสู่คน ผู้ป่วยรายต่อๆ มาเริ่มไม่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดค้าอาหารทะเลสดที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ทางการจีนเพิ่งจะยอมรับในวันที่ 20 มกราคม 2563 ว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่จากคนสู่คนแล้ว เธอระบุด้วยว่า หลายครั้งเธอย้อนคิดไปว่า ถ้าวันนั้นเธอไม่ถูกตำหนิและพูดคุยในเรื่องไวรัสดังกล่าว สถานการณ์อาจจะดีกว่านี้ หากทุกคนตื่นตัวกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 คงไม่มีเรื่องเศร้าเกิดขึ้นมากมายเช่นนี้
 
 
ในเดือนมีนาคม 2563 บทสัมภาษณ์ของอ้ายที่ให้ไว้กับนิตยสารพีเพิ้ลได้รับการเผยแพร่ คล้อยหลังเพียงไม่นานมันถูกลบไปจากโซเชียลมีเดีย และนิตยสารพีเพิ้ลก็นำบทความดังกล่าวลงจากแพลทฟอร์มของนิตยสาร
 
 
ด้านเรดิโอ ฟรี เอเชียอ้างถึงเนื้อหาในรายการ 60 Minutes รายการข่าวของออสเตรเลียที่ระบุว่า อ้าย เฟิ่น หายตัวไป ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นบัญชีเว่ยป๋อของเธอปรากฏภาพและข้อความทำนองขอบคุณในความห่วงใยของทุกคน อย่างไรก็ตามเรดิโอ ฟรี เอเชียไม่สามารถตรวจสอบที่อยู่ของอ้ายได้ โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ถูกควบคุมตัวโดยตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะมีการอัพเดทโซเชียลมีเดียของตนเองไม่ว่าจะดำเนินการด้วยตนเองภายใต้คำสั่งจากเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่จะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ของพวกเขา
 
 
เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงออกของผู้คนในจีนยังถูกจำกัดจึงทำให้มีโอกาสน้อยมากในการส่งเสียงเตือนภัยไปถึงผู้คนในสังคมให้ระแวดระวังการระบาดของไวรัสได้ทันท่วงที ผู้ได้รับผลกระทบจากการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกในครั้งนี้ไม่เพียงแค่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นประชาคมโลกที่เผชิญกับคลื่นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
 
 
 

อิหร่าน : สงครามสถิติผู้ติดเชื้อระหว่างรัฐและสื่อมวลชน

 
1386
 
 
เดือนมีนาคม 2563 The International Press Institute (IPI) องค์กรเครือข่ายสื่อมวลชนเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกยอมรับบทบาทสำคัญยิ่งของสื่อมวลชนระหว่างการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสและให้ความมั่นใจว่า มาตรการฉุกเฉินต่างๆ ที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาดไม่ได้ถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อการปิดกั้นเสรีภาพสื่อทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ การไหลเวียนข่าวสารอย่างเสรีเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นในสถานการณ์เช่นนี้  สื่อมวลชนสามารถเป็นพันธมิตรสำคัญของรัฐบาลในการต่อสู่กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้
 
 
อิหร่านเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสอย่างหนักหน่วง บีบีซีรายงานว่า ผู้ป่วยหมายเลขศูนย์ถูกพบที่เมืองกอม เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นปลายทางของผู้แสวงบุญชาวมุสลิมชีอะฮ วิธีการทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ การจูบและสัมผัสตามเทวสถาน ธรรมชาติของการแสวงบุญเช่นนี้กลายเป็นปัจจัยทำให้ไวรัสแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้แถลงอย่างเป็นทางการต่อประชาชนถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อยาโตเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวหาว่า ศัตรูของอิหร่านกล่าวเกินจริงเกี่ยวกับภัยคุกคาม
 
 
และแทนที่จะประกาศปิดเมืองต้นทางการแพร่ระบาด ทางการอิหร่านกลับทำแคมเปญให้ผู้แสวงบุญเดินหน้าเข้ามาที่กอม ท้ายที่สุดกอมกลายเป็นเมืองศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เวลาเดียวกันทางการยังบอกต่อสื่อมวลชนในอิหร่านว่า ไม่ให้รายงานข่าวเกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิต และปกปิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสเพื่อให้แน่ใจว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
 
 
ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดรัฐบาลอิหร่านได้ควบคุมตัวสื่อมวลชนรายหนึ่งไว้จากการที่โพสต์ข้อความบนโซเซียลมีเดียวิจารณ์ความไม่พร้อมรับมือของรัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่ได้ระงับการใช้งานบัญชีทวิตเตอร์และเทเลแกรมของเขาไปด้วย ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2563 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เรียกสื่อมวลชนในเมือง Saqqez กลุ่มหนึ่งให้ไปที่ศาลและโทรศัพท์ไปคุกคามพวกเขาจากการรายงานข่าวความร้ายแรงของไวรัส นอกจากนี้ยังทำการจับกุมสื่ออิสระรายหนึ่งจากการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตภายในเมือง
 
 
รัฐบาลอิหร่านยังคงเดินหน้าปิดปากนักข่าวพลเมืองที่แพร่ข้อมูลโดยมีเป้าหมายสะท้อนข้อมูลเพื่อนำไปสู่การบรรเทาโรคระบาด พวกเขาเหล่านี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเรียกตัวไปสอบสวน บางส่วนถูกดำเนินคดีเช่น
 
 
  • วันที่ 5 มีนาคม 2563 มีรายงานว่า บุคคลากรทางการแพทย์ที่ถ่ายวิดีโอในห้องดับจิตแห่งหนึ่งถูกดำเนินคดีแล้ว ต้นเรื่องมาจากวิดีโอถูกบันทึกในวันที่ 2 มีนาคม 2563 และเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นภาพของผู้เสียชีวิตประมาณ 30 คน และยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาหกวันแล้ว ในทุกวันมีคนหลายสิบคนต้องเสียชีวิตในเมืองนี้ อย่างไรก็ตามช่วงเวลาเดียวกันทางการระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 92 คนเท่านั้น

 

  • วันที่ 7 มีนาคม 2563 ผู้บังคับการสูงสุดฝ่ายยุติธรรมของเมืองกอมประกาศว่า ได้ทำการจับกุมพยาบาลรายหนึ่งที่โพสต์ข้อมูลในอินสตราแกรมเกี่ยวกับตัวเลขที่แท้จริงของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดและภาวะขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล
 
 
จากการคุกคามสื่อมวลชน เห็นได้ว่า ข้อมูลที่ทางการอิหร่านอ่อนไหวอย่างมาก คือ สถิติผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต โดยจะส่งคำเตือนไปยังสื่อมวลชนหากรายงานสถิติที่นอกเหนือจากของทางการ แต่หลายฝ่ายมองว่า สถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเหล่านี้ต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งเดือนมีนาคม 2563 สื่อต่างประเทศได้เผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงให้เห็นการเตรียมพื้นที่ฝังศพขนาดใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลประกาศว่า มีผู้เสียชีวิตเพียงหลักสิบเท่านั้น นั่นทำให้เชื่อได้ว่า สถิติจริงจะต้องมากกว่าที่ทางการรายงานมาอย่างแน่นอน วันที่ 17 มีนาคม 2563 นิตยสารไทม์รายงานว่า จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก อิหร่านอาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าจำนวนที่ทางการอิหร่านรายงานห้าเท่า ด้วยปัญหาทรัพยากรทางการแพทย์ และข้อจำกัดดังกล่าวก็เกิดขึ้นในหลายประเทศไม่เพียงแค่อิหร่านเท่านั้น 
 
 
 

บังกลาเทศ : ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตในค่ายผู้อพยพ ยากต่อการควบคุมโรค

 
1387
 
 
บังกลาเทศเป็นประเทศที่ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจดีนักและไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมต่อการแพร่ระบาดในวงกว้าง จนถึงวันที่ 2 เมษายน 2563 มีรายงานสถิติผู้ติดเชื้อ 54 คนและผู้เสียชีวิต 6 คน แต่มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 2,000 กรณี ที่ผ่านมารัฐได้ประกาศ “ล็อคดาวน์” ปิดการให้บริการการขนส่งสาธารณะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยอมรับว่า ระบบสาธารณสุขของประเทศไม่สู้ดีนัก ทั้งยังมีการคาดการณ์จากองค์การอนามัยโลกว่า หากไม่มีการแทรกแซงปรับปรุงในตอนนี้ จะผู้คนล้มตายประมาณ 500,000- 2,000,000 คน ขณะที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศเป็นอีกกลุ่มเปราะบางที่หลายฝ่ายกำลังเป็นกังวลว่า มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง หากต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
 
 
ค่ายผู้อพยพในคอกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศมีผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญามุสลิม ซึ่งหลบหนีการปราบปรามของทหารในประเทศเมียนมาร์ เป็นจำนวนประมาณเกือบหนึ่งล้านคน ปีที่ผ่านมารัฐบาลบังคลาเทศได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในค่ายและจำกัดสัญญาณโทรศัพท์ โดยระบุว่า เป็นมาตรการความมั่นคงที่จำเป็น การปิดกั้นดังกล่าวทำให้ข่าวสารที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถเข้าถึงได้ถูกจำกัด
ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งกล่าวว่า คนไม่ค่อยมีข้อมูลเท่าไหร่นัก มีแต่ข่าวลือ และด้วยสภาพความเป็นอยู่ภายในค่ายที่แออัด โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขอนามัยที่ไม่ดีนักและยังขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ ปัจจัยเหล่านี้จึงอาจเป็นเชื้อไฟที่ดีในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
 
 
มีบทเรียนในสมัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกว่า ข้อมูลที่ผิดและข่าวลือจะทำให้เกิดความหวาดกลัวและส่งผลกระทบให้เกิดการแพร่กระจายที่ร้ายแรงขึ้น  ดังนั้น ข้อมูลด้านสาธารณสุขที่เที่ยงตรงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น ยังมีความสับสนและข้อมูลที่ผิดพลาดส่งต่อกันภายในค่าย เช่น ผู้ลี้ภัยบางคนเรียกไวรัสโคโรนาว่า โมโรนาไวรัส (Moronavius) หรือไวรัสมรณะ และคิดว่า หากใครที่ติดเชื้อ เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องฆ่าทิ้งเพราะหากปล่อยเอาไว้จะส่งต่อไวรัสให้กับคนอื่น
 
 
ความเข้าใจที่ผิดต่อโรคเป็นอันตรายอย่างมาก ในบริบทของค่ายผู้ลี้ภัย ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อการเตรียมความพร้อมและการรับมืออย่างถูกต้องของผู้ลี้ภัย แต่ยังส่งผลต่อความไว้ใจและความหวาดกลัวในบริการด้านสุขภาพที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
 
 
ในเดือนมีนาคม 2563  ฮิวแมนไรท์ วอทช์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตระบุว่า การจำกัดดังกล่าวไม่มีความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนกับเหตุแห่งการจำกัด เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในพื้นที่ต่างต้องพึ่งพิงอินเทอร์เพื่อสื่อสารกัน เดิมทีพวกเขาเคยใช้วอทส์แอพ แอพลิเคชั่นออนไลน์ในการสื่อสารกับผู้สนับสนุนทางการแพทย์ภายนอก แต่ปัจจุบันทำไม่ได้แล้ว
 
 
มาตรการเท่าที่มีในการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส คือ ให้บุคคลที่มีอาการแยกตัวเองและโทรศัพท์ไปหมายเลขที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตามระหว่างที่ปิดกั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตและการห้ามไม่ให้ผู้ลี้ภัยสามารถซื้อซิมโทรศัพท์ก็ยากมากที่จะให้ผู้ลี้ภัยติดต่อไปตามเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ปัญหาการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตยังเคยส่งผลต่อผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ในค่ายผู้อพยพมาแล้ว ในเดือนมกราคม 2562 มีเด็กจำนวนมากในค่ายเสียชีวิตจากโรคหัด เหตุเกี่ยวพันกับการไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้ทำงานค้นหาและแยกผู้ป่วยได้ช้า พ่อแม่ของเด็กไม่สามารถแจ้งต่อแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
 
 
สัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานผู้ติดเชื้อคนแรกในคอกซ์บาซาร์ แต่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อภายในค่าย ต่อมาหน่วยงานที่ดูแลผู้ลี้ภัยของบังกลาเทศได้ออกคำสั่งเพื่อลดความเสี่ยงและชะลอการแพร่กระจายของโรคเข้าไปภายในค่ายเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด สั่งให้ปิดพื้นที่สาธารณะต่างๆ คงไว้เพียงที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการสาธารณสุข ด้านผู้แทนของสํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่า ได้เตรียมพร้อมสำหรับไวรัสมาหลายสัปดาห์แล้ว มีการทำแคมเปญให้ความรู้ ติดตั้งที่ล้างมือไว้ตามจุดต่างๆ และพยายามจะลดจำนวนการรวมตัวของผู้ลี้ภัยภายในค่าย รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านวิทยุ โปสเตอร์และใบปลิวด้วยภาษาโรฮิงญา เมียนมาร์และเบงกาลี
 
 
//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////
เรียบเรียงจาก
 

 

Article type: