1540 1331 1655 1996 1058 1314 1769 1099 1313 1606 1851 1120 1720 1039 1829 1812 1815 1365 1363 1007 1187 1049 1048 1445 1557 1720 1689 1940 1764 1313 1276 1962 1267 1559 1687 1051 1890 1830 1248 1300 1326 1214 1861 1425 1133 1217 1863 1500 1505 1760 1626 1066 1912 1453 1172 1966 1773 1515 1333 1258 1678 1876 1654 1670 1434 1351 1240 1574 1313 1311 1781 1985 1456 1187 1438 1255 1922 1656 1506 1735 1756 1999 1502 1148 1601 1301 1737 1936 1784 1983 1570 1338 1369 1066 1320 1815 1887 1072 1387 4 ปีในศาลทหาร 2 วันในศาลปกติ ย้อนรอยคดีโปรยใบปลิวต้าน คสช. ที่ระยอง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

4 ปีในศาลทหาร 2 วันในศาลปกติ ย้อนรอยคดีโปรยใบปลิวต้าน คสช. ที่ระยอง

 

เป็นระยะเวลา 5 ปีพอดี สำหรับการพิจารณาคดี "โปยใบปลิว" และชีวิตของ "พลวัฒน์" เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เดินหน้าและเติบโตไปภายใต้ยุคสมัยของ คสช.
 
เมื่อปี 2558 ระหว่างที่ คสช. ยังการกระชับอำนาจทางการเมืองอย่างเข้มข้น การโปรยใบปลิวต่อต้านถือเป็นเรื่องใหญ่โตและเป็นคดีในหมวดความมั่นคงของรัฐที่ต้องขึ้นศาลทหาร ศาลทหารมีกระบวนการพิจารณาคดีที่เชื่องช้า และเลื่อนการนัดหมายเป็นเรื่องปกติ ทำให้จำเลยมีภาระติดตัวต้องเดินทางไปขึ้นศาลอยู่เป็นระยะๆ เป็นเวลาราว 4 ปี จากนั้นในยุค ‘คสช.2’ ก็ใช้เวลาในศาลปกติอีก 2 วัน
 
ก่อนที่จะมีการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 26 มีนาคมนี้ที่ศาลจังหวัดชลบุรี ไอลอว์รวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ประมวลทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพการต่อต้านของประชาชนและการดำเนินคดีในยุค คสช.
 
 
ใบปลิววาทะ ‘ครอง จันดาวงศ์’ โผล่ 4 จุดที่ระยอง
 
เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 เวลาประมาณ 1.00 น. ปรากฏมีใบปลิวข้อความว่า
 
"ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ... ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ"
 
พร้อมกับภาพสัญลักษณ์ "สามนิ้ว" ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษขนาด A4 หลายแผ่น ปรากฏอยู่ตามสถานที่ 4 แห่งในจังหวัดระยอง และบางแห่งเป็นการนำใบปลิวไปแปะที่แผ่นป้ายโฆษณาหน้าป้ายรถเมล์
 
หน้าโรงเรียนอนุบาลระยอง
ทางเข้าสวนศรีเมือง
หน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม
ม้าหินอ่อนหน้าวิทยาลัยเทคนิคระยอง
 
“เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ประโยคนี้เป็นวาทะของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรุ่นแรกอย่าง ครูครอง จันดาวงศ์ โดยเป็นคำพูดสุดท้ายของเขาก่อนถูกประหารชีวิตด้วยมาตรา 17 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์ เมื่อปี 2504
 
การปรากฏขึ้นของใบปลิวจำนวนไม่มากนี้ถูกโพสต์เผยแพร่บนเฟซบุ๊กเพจศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) และสำนักข่าวมติชนออนไลน์นำไปเผยแพร่ต่อซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่รับรู้กันมากนักในสังคมไทยนอกจากในหมู่นักกิจกรรมที่สนใจการเมือง และไม่ได้ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึงขนาดจะโค่นล้มรัฐบาลได้
 
แต่เนื่องจากเป็นการแสดงออกทางการเมืองในแนวทางต่อต้าน คสช. ครั้งแรกในจังหวัดระยองนับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 คดีนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่มีอำนาจรับผิดชอบพื้นที่
 
 
 
1379 ภาพใบปลิวปรากฏตัวหลายจุด จากเฟซบุ๊กเพจ ศนปท.
 
27 มีนาคม 2558 หรือ 6 วันหลังมีภาพใบปลิวปรากฏขึ้น ตำรวจก็จัดแถลงข่าวพร้อมเปิดตัวผู้ต้องหา เป็นชายหนุ่มอายุ 22 ปี ชื่อ พลวัฒน์ ตามข่าวบอกว่าเป็นชาวจังหวัดระยองและมีอาชีพเป็นพนักงานช่างเทคนิคในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง
 
หลังถูกจับพลวัฒน์ถูกส่งตัวไปควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารที่จังหวัดชลบุรี 1 คืน และส่งต่อมานอนในห้องขังที่สถานีตำรวจภูธรงจังหวัดระยองอีก 2 คืน เมื่อรับตัวต่อมาจากทหาร ตำรวจก็แจ้งข้อหากับพลวัฒน์ ดังนี้
 
1) ฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
 
2) ฐานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557
 
3) ฐานโปรยใบปลิวโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ
 
4) ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถ่ายรูปใบปลิวส่งไปยังเฟซบุ๊กของเพจ ศนปท.
 
เบื้องต้นพลวัฒน์ ยอมรับว่า เป็นคนจัดทำใบปลิวขึ้นเอง นำใบปลิวไปโปรยและถ่ายรูปส่งให้เพจ ศนปท. จริง แต่ไม่ได้มีเจตนายุยงปลุกปั่น หรือทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ
 
ในช่วงเวลานั้น คดีที่มีข้อหาในหมวดความมั่นคงของรัฐ อย่างคดีมาตรา 116 ต้องพิจารณาคดีที่ศาลทหารตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 พลวัฒน์จึงถูกส่งตัวไปยังศาลมณฑลทหารบกที่ 14 ที่ตั้งอยู่ภายในค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี เพื่อขออำนาจศาลฝากขัง และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลทหารก็สั่งให้พลวัฒน์ได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 70,000 บาท เขาถูกนำตัวไปเรือนจำจังหวัดชลบุรีและปล่อยตัวจากเรือนจำในช่วงเย็นวันเดียวกัน 
 
ภายหลังพลวัฒน์เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของเขาถูกตรวจค้นอย่างละเอียด เขาถูกซักถามซ้ำๆ ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังการโปรยใบปลิวของเขาหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทหารยังพูดคุยไปในแนวทางว่า การรัฐประหารครั้งนี้เป็นไปเพื่อความสงบของบ้านเมือง และขอร้องให้เขาหยุดพูดหรือทำการในลักษณะดังกล่าวอีก
 
 
เหตุแห่งคดี :  "ทนไม่ไหว" จึงโปรยใบปลิว
 
พลวัฒน์ เล่าถึงประวัติของตัวเองว่า เขาไม่ได้เป็นนักกิจกรรม ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน แต่มีเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมเป็นนักเคลื่อนไหวทำกิจกรรมร่วมกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากการติดตามสถานการณ์ทางการเมือง เห็นการจับกุมกลุ่มคนที่คัดค้านการรัฐประหารแล้วรู้สึกทนไม่ไหวจึงออกมาโปรยใบปลิว เหตุที่ทำไปเพราะรู้สึกว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อนักศึกษาป่าเถื่อนเกินไป 
 
“อย่างเช่นการที่ผู้หญิงโดนจิกหัว ลากหัวไป ผู้ชายโดนล็อคคอ มันรุนแรงเกินไปกับการที่นักศึกษาแค่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองในระบอบประชาธิปไตย เราก็เลยโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการในตอนนั้น…พอทำไปก็ออกเป็นข่าว เราก็โดนตำรวจไล่ตามตัว แต่ก็ไม่ได้หนีไปไหน พอดีที่โรงงานมีงาน เราเลยอยู่ช่วยงานก่อน แล้วคิดว่าจะไปมอบตัวในวันจันทร์ แต่ทางตำรวจกับทางทหารเขาประสานงานเข้ามาในโรงงาน แล้วมาพาตัวไปก่อน” พลวัฒน์เล่าย้อนหลังถึงวันที่ถูกจับกุม
 
 
ตำรวจพลิกแผ่นดิน ตามตัวจากกล้องวงจรปิด
 
แม้ว่าพลวัฒน์จะยอมรับว่าเป็นคนโปรยใบปลิวเอง แต่ในชั้นพิจารณาคดีในศาลทหาร ตำรวจและทหารที่เกี่ยวข้องก็ยังคงมีหน้าที่เบิกความบรรยายรายละเอียดวิธีการตามหาตัวผู้ต้องสงสัยฐานโปรยใบปลิว ทำให้เราได้เห็นถึงความ "จริงจัง" ของหน่วยงานความมั่นคงในเรื่องนี้
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ ตำรวจผู้สืบสวนและจับกุมตัวจำเลยเล่าว่า รุ่งขึ้นถัดจากวันเกิดเหตุ ตำรวจสันติบาลเป็นผู้แจ้งและนำใบปลิว 3 แผ่นมาส่งให้ จากนั้นมีการประชุมของชุดสืบสวนที่สนธิกำลังกันระหว่างกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2, กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง และ สภ.เมืองระยอง ซึ่งถูกแต่งตั้งมาปฏิบัติงานในคดีนี้โดยเฉพาะ
 
ในฐานะหนึ่งในชุดสืบสวน พ.ต.ท.วิรัตน์ ได้นำกำลังเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ แต่ไม่พบหลักฐานเนื่องจากถูกชุดตำรวจสันติบาลเก็บตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในพื้นที่ใกล้เคียงสามารถบันทึกภาพผู้ต้องสงสัยขณะก่อเหตุเอาไว้ได้ เมื่อตรวจสอบพบผู้ต้องสงสัยเป็นชายสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว กางเกงขาสั้น ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ทยอยโปรยใบปลิว 3 จุด เมื่อถามปากคำของผู้เชี่ยวชาญด้านรถจักรยานยนต์ระบุว่า รถคันดังกล่าวเป็นยี่ห้อ ฮอนด้า รุ่น X1 สีน้ำเงิน ตำรวจชุดสืบสวนได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางโดยรอบ เห็นว่า ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปจนสิ้นสุดที่หมู่บ้านราชพฤกษ์ 
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เล่าต่อว่า จากการค้นหาภายในเขตหมู่บ้านราชพฤกษ์ พบรถจักรยานยนต์ลักษณะคล้ายพาหนะที่ใช้ก่อเหตุ ตรวจสอบข้อมูลการถือครองรถและเอกสารการเสียภาษีของกรมการขนส่งทางบกแล้วพบว่าจดทะเบียนในชื่อของนายณัฐวุฒิ และพบว่าพลวัฒน์ บุตรชายของณัฐวุฒิ มีรูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกับภาพที่ปรากฏในกล้องวงจรปิด จึงทำการสืบสวนเชิงลึก โดยดูบัญชีเฟซบุ๊กของพลวัฒน์ แล้วพบว่า เป็นผู้มีแนวคิดทางการเมืองแบบที่น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุ จึงนำกำลังไปเชิญตัวพลวัฒน์มาจากที่ทำงาน 
 
 
1375 พลวัฒน์กับทนายความ หน้าศาลทหาร ถ่ายเมื่อสิงหาคม 2561
 
 
4 ปีในศาลทหาร สืบพยานได้ 4 ปาก เจอเลื่อนแล้วเลื่อนอีก
 
ในชั้นตำรวจแม้พลวัฒน์จะถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ด้วย แต่ประกาศนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมเนื้อหาที่สื่อมวลชนนำเสนอ และไม่ได้มีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ในชั้นศาลเมื่ออัยการทหารพิจารณาแล้วจึงไม่ได้ยื่นฟ้องตามข้อกล่าวหานี้ด้วย ส่วนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เนื่องจากพลวัฒน์รับว่าได้โปรยใบปลิวจริง ตำรวจจึงให้เปรียบเทียบปรับ 500 บาทแล้วข้อหานี้เป็นอันสิ้นสุดลง เหลือข้อหาที่ถูกยื่นฟ้อง คือ มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เท่านั้น
 
แม้พลวัฒน์จะถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 แต่คดีก็ไม่ได้ถูกเร่งรัดให้ส่งฟ้องต่อศาลโดยเร็ว ศาลทหารนัดให้พลวัฒน์มาขึ้นศาลครั้งแรกในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559
 
ในนัดนั้นพลวัฒน์ขอเลื่อนการให้การต่อศาลออกไปก่อน เพราะเพิ่งได้พบกับทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มาให้ความช่วยเหลือเป็นครั้งแรก ศาลก็อนุญาตให้เลื่อนไปนัดหน้า และเนื่องจากคดีในศาลทหารใช้ระบบการพิจารณาคดีแบบไม่ต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาคดีเสร็จในแต่ละวันก็จะต้องเลื่อนออกไปอีกเป็นเวลา 2-3 เดือน เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ 
 
ด้วยระบบเช่นนี้ ทำให้บางครั้งจำเลยเดินทางมาศาลแล้วแต่ก็ไม่ได้มีการพิจารณาคดี เพราะพยานที่ต้องเบิกความไม่มาศาลตามนัด หรือในวันที่มีการสืบพยานเกิดขึ้นก็นัดพยานมาแค่คนเดียว เริ่มสืบพยานกันในเวลาเกือบ 10.00 น. ถึง 12.00 น. เท่านั้น ทำให้พลวัฒน์และพ่อซึ่งมีสถานะเป็นนายประกันต้องลางาน เพื่อเดินทางจากบ้านที่ระยองไปยังศาลทหารชลบุรีตามนัด ทั้งหมด 14 ครั้งในเวลาประมาณ 4 ปี
 
รายละเอียดมีดังนี้
 
11 พฤศจิกายน 2559 ไปศาลตามนัดสอบคำให้การ จำเลยขอเลื่อน
 
6 กุมภาพันธ์ 2560 ไปศาลตามนัดสอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ
 
9 พฤษภาคม 2560 นัดตรวจพยานหลักฐาน
 
4 กันยายน 2560 นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
 
6 พฤศจิกายน 2560 นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
 
6 กุมภาพันธ์ 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่หนึ่ง เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
 
4 เมษายน 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่สอง เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
 
14 มิถุนายน 2561 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สาม พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
 
28 สิงหาคม 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่สาม เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
 
30 ตุลาคม 2561 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่สี่ พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
 
17 ธันวาคม 2561 สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ เสร็จเรียบร้อย นัดหมายนัดหน้า
 
27 กุมภาพันธ์ 2562 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
 
17 พฤษภาคม 2562 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า พยานไม่มาศาล จึงเลื่อนไปนัดหน้า
 
23 กรกฎาคม 2562 นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ห้า คสช. สั่งยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารแล้ว ศาลทหารจึงสั่งโอนคดีกลับไปศาลปกติ
 
ก่อนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นหมุดหมายให้ คสช. หมดอำนาจและหมดสถานะทางกฎหมาย คสช. ก็ได้ใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งของตัวเองรวม 78 ฉบับ ซึ่งรวมทั้งการยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร และสั่งให้โอนคดีที่ยังพิจารณาค้างอยู่กลับไปพิจารณาต่อที่ศาลปกติ ตามระบบปกติด้วย ทำให้นัดหมายการพิจารณาคดีที่ศาลทหารของพลวัฒน์ในเดือนกรกฎาคม 2562 จึงไม่มีการสืบพยานตามที่นัดไว้ ศาลทหารเพียงแจ้งสั้นๆ ว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้อีกต่อไปแล้วและให้จำหน่ายคดีออกจากศาลทหาร
 
"เอาจริงๆ ก็รู้สึกใจหายนะ เพราะอยู่ศาลทหารมาตั้งนานแล้ว ต้องไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ศาลพลเรือนแทน กับคดีก็ยังรู้สึกเฉยๆ อยู่ เราไม่ได้ไปฆ่าคนตาย ถ้าเป็นที่อื่นคดีแบบนี้คงหลุดกันหมดแล้ว แต่ของผมก็อยู่มา 4-5 ปีแล้ว และจากที่คุยกับทนายก็คิดว่าเมื่อไปศาลพลเรือนแล้วไม่น่าห่วง" พลวัฒน์ เล่าความรู้สึกในวันสุดท้ายที่เดินทางไปขึ้นศาลทหาร
 
เมื่อถามว่า ประสบการณ์ภายใต้บัลลังก์ศาลที่ผู้พิพากษาเป็นทหารให้ความรู้สึกอย่างไร พลวัฒน์ตอบว่า
 
“มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร เหมือนกับศาลที่ทำหน้าที่ตัดสินธรรมดา แต่มันอยู่ใต้อำนาจและอยู่ในรั้วของทหาร เท่าที่ดูการสืบพยานที่ผ่านมาบรรยากาศก็ไม่ได้เลวร้าย ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ แต่ปัญหาที่น่ากังวล คือ ในศาลทหารไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้”
 
 
 
1376 ภาพพลวัฒน์กับพ่อ ถ่ายเป็นที่ระลึกวันสุดท้ายที่ศาลทหาร ก่อนโอนคดีไปศาลปกติ
 
 
2 วันในศาลปกติ ประเด็นซ้ำพยานไม่ต้องเบิกความซ้ำ
 
11 พฤศจิกายน 2562 ศาลจังหวัดระยองซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีของพลเรือนในภาวะปกติเรียกให้พลวัฒน์ไปศาลครั้งแรก หลังได้รับโอนสำนวนคดีมาจากศาลทหาร
 
พลวัฒน์และพ่อเดินทางไปศาลตามนัด แต่เป็นการเดินทางที่ง่ายขึ้นเพราะบ้านของเขาห่างจากศาลจังหวัดระยองไปไม่ถึง 15 นาที อัยการฝ่ายโจทก์ที่มาทำหน้าที่ที่ศาลแห่งนี้เป็นพลเรือน ซึ่งรับโอนคดีต่อมาจากศาลทหารก็ไม่ได้แสดงอาการ "เอาจริงเอาจัง" กับการหวังผลคดีที่จะเอาผิดกับฝ่ายจำเลย หลังสอบถามความพร้อมของทั้งสองฝ่ายแล้ว ศาลจังหวัดระยองนัดสืบพยานที่ยังค้างอยู่แบบต่อเนื่องในวันที่ 23 และ 24 มกราคม 2563 
 
ในวันสืบพยานนัดแรกที่ศาลจังหวัดระยอง พยานฝ่ายโจทก์ที่นัดไว้ 4 ปาก ซึ่งเป็นตำรวจทั้งหมด มาศาลพร้อมกันในช่วงเช้าเพื่อที่จะเบิกความต่อกันให้เสร็จภายในวันเดียว
 
เมื่อเริ่มสืบพยานปากแรก ที่เบิกความถึงประเด็นวิธีการสืบสวนจนพบตัวจำเลย ศาลก็ทักท้วงว่า คดีนี้จำเลยยอมรับแล้วว่าเป็นคนโปรยใบปลิวจริง จึงไม่จำเป็นต้องเบิกความในรายละเอียดมากนัก ด้านทนายความของพลวัฒน์ก็แจ้งว่า พยานปากนี้ไม่ติดใจจะต้องให้เบิกความกันอีกแล้ว และเคยแถลงกับศาลทหารไว้แล้วว่า ไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ แต่ศาลจังหวัดระยองหาบันทึกในสำนวนไม่เจอว่า ศาลทหารได้บันทึกไว้ตรงไหน
 
เมื่อตกลงกันใหม่แล้ว ศาลจังหวัดระยองจึงให้ยกเลิกการสืบพยานปากนี้ และสืบพยานปากต่อไปทันที ซึ่งเป็นปากที่ 5 และเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้
 
การสืบพยานปากที่ห้าของคดีนี้ แต่เป็นปากแรกของศาลจังหวัดระยองเสร็จในเวลาประมาณ 11.00 น. จากนั้นทนายความจำเลยแถลงว่า พยานอีก 2 ปากที่เหลือก็เป็นคณะพนักงานสอบสวนที่ทำงานด้วยกัน น่าจะเบิกความในประเด็นเดียวกันจึงไม่ติดใจจะให้สืบพยานดังกล่าว
 
ศาลจึงสั่งให้ตัดพยานฝ่ายโจทก์ที่เหลือ และบอกให้ฝ่ายจำเลยนำพยานของตัวเองเข้าเบิกความต่อเลย เพื่อให้การสืบพยานคดีนี้เสร็จไปในช่วงเช้าของวันเดียวกัน แต่พลวัฒน์ซึ่งจะต้องเบิกความเป็นลำดับต่อไปแจ้งต่อศาลว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาทำงานกะกลางคืนทั้งคืน ยังไม่ได้นอน จึงขอเข้าเบิกความในวันรุ่งขึ้นตามที่นัดหมายไว้เดิม
 
ในวันต่อมา พลวัฒน์ขึ้นเบิกความเองกล่าวถึงแรงจูงใจ เหตุผล ความเชื่อทางการเมืองที่จัดทำใบปลิวขึ้นและนำไปโปรยตามจุดต่างๆ ซึ่งใช้เวลาเบิกความไม่ถึง 30 นาที จากนั้นการสืบพยานคดีนี้ที่ยืดเยื้อมายาวนานก็เสร็จสิ้นลง
 
"เจตนาที่โปรยใบปลิวไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง แต่ต้องการแสดงออกต่อประชาชนว่า ขณะนั้นเราถูกละเมิดสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ได้ทำไป ไม่ใช่ความผิด ทำไปภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2557 ซึ่งประชาชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสงบได้ แต่หลังจากทำไปแล้วกลับได้รับความเดือดร้อนมาจนถึงวันนี้...." ส่วนหนึ่งจากคำเบิกความของพลวัฒน์
 
 
จับตาการวินิจฉัยเรื่อง ขอบเขตของเสรีภาพ
 
26 มีนาคม 2563 เป็นวันที่ศาลจังหวัดระยองนัดฟังคำพิพากษา ขาดอีก 1 วันก็จะครบรอบ 5 ปีเต็มพอดีที่พลวัฒน์ถูกจับกุม พลวัฒน์จะต้องเดินทางไปฟังคำตัดสินในข้อหาที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี 
 
คดีนี้พลวัฒน์ยอมรับว่า เป็นคนจัดทำใบปลิวและโปรยใบปลิวเองตั้งแต่ชั้นจับกุมตัว ชั้นซักถามในค่ายทหาร ชั้นสอบสวนของตำรวจ และในชั้นศาล ดังนั้นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยมีเพียงแค่ ใบปลิวที่พลวัฒน์นำไปโปรยซึ่งมีข้อความว่า "ตื่น และลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ... ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พร้อมกับภาพสัญลักษณ์ "สามนิ้ว" เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 116 หรือไม่
 
ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล ทนายความจำเลยพยายามถามค้านพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจและทหารหลายคำถาม โดยเจาะจงถึงเนื้อหาและข้อความในใบปลิว เช่น การทำรัฐประหารของ คสช. ถือว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการสิ่งใดควรจะพินาศ สิ่งใดควรจะเจริญ? การคัดค้านรัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามหรือไม่? ซึ่งพยานทุกคนก็พยายามเลี่ยงที่จะไม่ตอบคำถามเหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนบุคคล และบางคนก็เบิกความไว้น่าสนใจ เช่น
 
พ.อ.นาวี มาใหญ่ พยานโจทก์ปากที่ 3 เป็นทหาร ตอบคำถามทนายความว่า ไม่ทราบว่า การเข้ามาของคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นเป็นการทำรัฐประหารหรือไม่ ไม่ทราบว่าเป็นการทำตามกฎหมายหรือไม่ ไม่ทราบว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติถือเป็นเผด็จการหรือไม่ หรือเป็นประชาธิปไตย เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก พ.อ.นาวี เบิกความว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกได้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับ คสช. แต่ต้องอยู่ภายใต้ความมั่นคงของชาติ สำหรับข้อความในใบปลิวที่เขียนว่า "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" พ.อ.นาวี ไม่ทราบว่า เป็นข้อความที่ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่เป็นข้อความที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติ 
 
พ.ต.ท.วิรัตน์ เตชนันท์ ตำรวจผู้จับกุมตัวจำเลย ตอบคำถามทนายความว่า ขณะเกิดคดีนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อทนายความถามว่า ใบปลิวฉบับนี้ชัดเจนหรือไม่ว่า เป็นการสนับสนุนประชาธิปไตย พยานตอบว่า ในใบปลิวมีข้อความที่ว่า ตื่นและลุกขึ้นสู้ได้แล้ว ชี้ชัดว่า ผู้จัดทำต่อต้านรัฐบาล ถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงความเห็นทั่วไป แต่ในภาวะพิเศษข้อความเหล่านี้เป็นการจูงใจให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้
 
พ.ต.ท.ยุทธชัย โพธิ์รุ่ง พนักงานสอบสวน ตอบคำถามทนายความว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งมีมาตรา 4 รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
 
 
1377 ภาพพลวัฒน์กับทนายความ หน้าศาลจังหวัดระยอง วันสุดท้ายที่สืบพยานเสร็จ
 
 
ระหว่างที่คดีของพลวัฒน์เดินทางมาอย่างเชื่องช้าเป็นเวลา 5 ปีพอดีๆ บรรยากาศทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จากวันที่การ "ชูสามนิ้ว" ต้องถูกจับกุม การโปรยใบปลิวต่อต้านเผด็จการเป็นเรื่องใหญ่โตระดับประเทศ จากวันที่คนแสดงออกทางการเมืองต้องถูกเอาตัวเข้าค่ายทหารและส่งฟ้องต่อศาลทหาร มาจนถึงวันที่ประเทศมีการเลือกตั้ง ยกเลิกการเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร ยกเลิกข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็นบางส่วน 
 
จากวันที่เด็กหนุ่มอายุ 22 ปี ลุกขึ้นมาจัดทำใบปลิวเองและขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปโปรยใบปลิวเอง ทำด้วยตัวคนเดียวไม่มีเพื่อนร่วมทางคอยสนับสนุน จนถึงวันที่นักเรียนนักศึกษา "รุ่นน้อง" ของพลวัฒน์ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นกันทั่วบ้านทั่วเมืองมากกว่า 90 ครั้งในรอบ 3 สัปดาห์ ไม่ใช่แค่เพียงป้ายผ้าที่มีข้อความต่อต้านเผด็จการ แต่พร้อมกันเปิดหน้าเรียกร้องออกมาดังๆ ว่า ต้องการอนาคตของบ้านเมืองแบบใหม่ที่ไม่มีการรัฐประหารอีก 
 
26 มีนาคม 2563 พลวัฒน์ในวัย 27 ปี ได้ผ่านพ้นจากวัยหนุ่มอันห้าวหาญ กลายเป็นคนวัยทำงานเต็มตัวที่มีภาระต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองและครอบครัว กำลังจะเดินไปฟังคำพิพากษาที่จะวางบรรทัดฐานขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงออกที่เกิดขึ้นในยุคของรัฐบาลทหารเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งการพิจารณาคดีที่เชื่องช้ายืดยาวมานานก็ทำให้คดีของเขาจะถูกตัดสินโดยผู้พิพากษาที่เป็นพลเรือน ไม่ใช่ทหาร
 
 
ดูรายละเอียดคดีพลวัฒน์ ในฐานข้อมูลได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/case/659

 

Article type: