1263 1284 1026 1355 1933 1878 1629 1393 1576 1536 1016 1994 1078 1839 1800 1706 1312 1138 1273 1648 1823 1330 1044 1155 1539 1413 1220 1846 1617 1750 1245 1480 1445 1895 1112 1925 1068 1387 1979 1734 1233 1072 1554 1753 1602 1588 1959 1403 1688 1122 1842 1735 1303 1023 1664 1799 1905 1351 1790 1630 1608 1238 1286 1971 1941 1774 1140 1692 1631 1726 1473 1192 1396 1836 1649 1578 1684 1823 1458 1945 1886 1180 1227 1470 1588 1153 1719 1437 1890 1301 1739 1795 1696 1393 1410 1553 1056 1321 1605 คุยกับ ฮ่องเต้ - ธนาธร นักศึกษา ม.เชียงใหม่ ที่ถูกมหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่จัดงาน “ล่น ไล่ ลุง” | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุยกับ ฮ่องเต้ - ธนาธร นักศึกษา ม.เชียงใหม่ ที่ถูกมหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่จัดงาน “ล่น ไล่ ลุง”

วันที่ 28 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกหนังสือไม่อนุญาตให้ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้จัดงาน "ล่น ไล่ ลุง" ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ก่อนหน้านี้ในวันที่นักศึกษาไปยื่นหนังสือขอใช้สถานที่จัดงาน มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้มาให้ความเห็นกับกลุ่มผู้ยื่นว่าอาจจะไม่สามารถให้จัดงานได้เนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องคงความเป็นกลางทางการเมือง  
 
คำว่า “เป็นกลางทางการเมือง” ได้จุดกระแสให้สังคมกลับไปค้นข้อมูลในอดีตว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยวางตัวเป็นกลางอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายคนก็มองว่า เป็นคำที่ย้อนแย้งกับความจริงในอดีตที่มีการให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2556-2557 มาแล้ว
 
เราจึงไปพูดคุยกับ ฮ่องเต้ ธนาธร  นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาปรัชญา และศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ยื่นหนังสือขออนุญาตใช้สถานที่กับทางมหาวิทยาลัยถึงกระบวนการขอจัดงาน "ล่น ไล่ ลุง" ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มจนได้รับหนังสือไม่อนุญาตดังกล่าว
 
อยากทำกิจกรรม “ล่น ไล่ ลุง” เพราะอยากให้ประชาชนได้มีพื้นที่แสดงออกทางการเมืองได้มากขึ้น
 
“ผมสนใจการเมืองมาตั้งแต่ตอนที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศ ก่อนที่จะมาเรียนปี 1 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมไปเรียนที่เมืองหางโจว ประเทศจีน 1 ปี และไปอยู่ที่ยูนนานอีก 1 ปี พอกลับมาเรียนมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่บังเอิญได้ไปเข้าร่วมงานเสวนาของนักศึกษาแล้วได้พูดคุยกันและจับพลัดจับผลูมาช่วยจัดงานเสวนาเล็กๆในมหาวิทยาลัยบ้าง จนได้มาเป็นคนยื่นหนังสือขอจัดงานนี้ 
 
วันที่ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นทีมจัดกิจกรรมก็ไม่มีอะไรมาก มีพี่ที่รู้จักมาชวนว่าสนใจจะจัดงาน ‘วิ่ง ไล่ ลุง’ ที่เชียงใหม่ด้วยกันไหม ผมก็เห็นว่างานที่จะจัดที่กรุงเทพฯน่าสนใจดี น่าจะเป็นงานที่ให้ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองได้มากขึ้น เป็นพื้นที่ให้คนได้แสดงออกทางการเมืองแม้จะเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ค่อยๆไต่ระดับได้มากขึ้น และเป็นการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์แล้วยังได้ออกกำลังกายด้วย และคิดว่าตัวเองต้องมาทำกิจกรรมนี้ เพราะส่วนตัวตอนนี้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้ไร้ประสิทธิภาพ เชื่อว่ารัฐบาลอื่นน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงต้องการออกมาไล่ และอยากจะสร้างเสริมกิจกรรมให้คนมาออกกำลังกายด้วยจึงตอบตกลงกับพี่ที่รู้จักว่าทำเลย”
 
เลือกจัดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพราะคิดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัย และมีเสรีภาพ
 
“หลังจากผมตอบตกลงไปก็ได้รวมทีมคนจัดงานขึ้น พี่คนดังกล่าวก็ชวนคนอื่นที่ไม่รู้จักกันมาก่อนมาคุยกันหลังจากงานใหญ่ที่กรุงเทพฯจัดผ่านไปสักวันสองวัน ทีมก็นัดประชุมกันจริงจังว่าจะจัดงานที่ไหน จัดเมื่อไหร่ ซึ่งได้ตกลงกันว่าจะจัดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กลุ่มผู้จัดงานที่กรุงเทพฯประกาศไว้
 
หลังจากเลือกวันกันได้ก็เลือกสถานที่เป็นในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพราะเห็นว่า ที่มหาวิทยาลัยน่าจะสะดวก และทางมหาวิทยาลัยน่าจะสนับสนุน ส่งเสริมเด็กในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองให้เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกของนักศึกษาอย่างสร้างสรรค์ การแสดงออกทางวิชาการ การแสดงออกทางการเมืองด้วย และผมคิดว่างานมันเป็นงานที่ภาพลักษณ์ไม่รุนแรง เน้นไปที่การเอาคนมาวิ่ง เหมือนกับการวิ่งรณรงค์อะไรบางอย่าง เหมือนกับงานมินิมาราธอนเล็กๆ ซึ่งในมหาวิทยาลัยการจราจรของรถก็ไม่พลุกพล่าน น่าจะมีความปลอดภัยในการจัดงานสูง จึงตัดสินใจที่จะยื่นขออนุญาตใช้สถานที่กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
 
ก่อนยื่นผมก็คาดหวังมหาวิทยาลัยไว้สูงเหมือนกันว่ามหาวิทยาลัยจะต้องเป็นพื้นที่ที่ให้อิสระและเสรี สนับสนุนให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยทำกิจกรรมได้เต็มที่ และสนับสนุนให้ประชาชนคนทั่วไปเข้ามาใช้สถานที่ได้ด้วย 
 
หลายคนถามว่าทำไมต้องไปยื่นขออนุญาตใช้สถานที่จัดกิจกรรมด้วย มหาวิทยาลัยควรจัดกิจกรรมได้ทุกที่ ผมคิดแค่ว่า ผมอยากทำตามขั้นตอน ถือว่าเป็นการให้เกียรติมหาวิทยาลัยด้วยว่าจะใช้สถานที่ของเขา เพราะผมคิดว่าคนจะมาร่วมงานเยอะแน่นอน เนื่องจากดูงานที่กรุงเทพแล้วและคิดว่า ทางมหาวิทยาลัยจะมีท่าทีที่ดีกว่านี้ ซึ่งผมคาดหวังไว้สูงมากจึงกล้าที่จะยื่นขอเป็นหนังสือไป ไม่อยากถูกว่าเป็นคนแอบจัดงานในสถานที่ของเขา แม้จะเป็นสถานที่ของเราด้วยก็ตาม”
 
มหาวิทยาลัยไม่ให้ใช้สถานที่เพราะห่วงความเป็นกลางทางการเมือง 
 
“ก่อนหน้านี้ในวันที่ตัดสินใจใช้ชื่อตัวเองเป็นคนในการยื่นหนังสือขอมหาวิทยาลัย เนื่องจากในทีมที่จัดเราไม่ใช่กลุ่มก้อนที่ทำกิจกรรมอะไรด้วยกันมาก่อน รวมตัวกันครั้งแรก ผมก็เลยอาสากับพี่ๆว่าใช้ชื่อผมในหนังสือก็ได้ เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นตอนไปยื่นมากกว่า ตอนที่ผมเข้าไปยื่นหนังสือที่ตึกอธิการบดี ส่วนของฝ่ายรับเอกสาร พอกำลังจะยื่นหนังสือก็มีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคนหนึ่งเดินออกมาคุยด้วย บอกว่าเป็นหัวหน้าฝ่ายรับหนังสือ บอกผมว่าขอดูเอกสารหน่อย และพูดประมาณว่า งานที่มาขอจัดเป็นงาน “ล่น ไล่ ลุง” ซึ่งมีความกังวลว่างานนี้จะมีนัยยะแอบแฝงทางการเมือง จะทำให้จุดยืนทางการเมืองของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เสนอตัวว่าเป็นกลางมาตลอดสั่นคลอน และทำให้ภาพลักษณ์เสียหาย แต่ยังพูดกับต่ออีกว่า ความจริงอยากสนับสนุนนะ อยากให้มีงานแบบนี้อยู่ในมหาวิทยาลัยเยอะๆ แต่ลองไปจัดงานอย่างวิ่งไล่ฝุ่นไหม ช่วงนี้ฝุ่นเยอะนะ ไปพูดปัญหาเรื่องฝุ่นดู ลองทำไหม เจ้าหน้าที่คนนั้นยังพูดเสริมอีกว่าพี่ก็เข้าใจน้องๆนะว่า เป็นเด็กรุ่นใหม่ไฟแรง อยากมีกิจกรรมแบบนี้เยอะๆ เขาก็เคยไปชุมนุมทางการเมืองมา มีมือตบอยู่ที่บ้านด้วย จะยืมใช้พี่ก็ให้ได้
 
ผมก็เข้าใจความหวังดีของพี่เขา แม้จุดยืนทางการเมืองอาจจะไม่ตรงกัน แต่ยังเชื่อว่า พี่เขาหวังดี เพราะสุดท้ายผมก็ยื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่คนนั้นไปแล้วเขาก็ยังรับหนังสือของเรา แต่ก็อยู่ที่ผู้บริหารว่าจะพิจารณาหนังสือขออนุญาตของเราอย่างไร วันนั้นก็หวังเพียงให้ผู้บริหารสนับสนุนเราให้ใช้สถานที่มหาวิทยาลัยก็ยังดี  
 
สุดท้ายหนังสือที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตอบกลับมา เขาก็ไม่ให้เราจัด โดยให้เหตุผลเรื่องกังวลความเป็นกลางทางการเมืองของมหาวิทยาลัยตามที่เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกในวันที่ยื่นเลย แต่หลังจากวันที่ผมไปยื่นหนังสือ ผมก็ไปค้นข่าวดูก็พบว่า เมื่อหลายปีก่อนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีการปล่อยให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้าใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย โดยที่ไม่รู้ว่าได้ขออนุญาตทางมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ไม่ได้ปักใจเชื่อก่อนวันที่จะไปยื่นหนังสือด้วยซ้ำ จนมาค้นเหตุการณ์ในอดีตก็พบว่ามีการเดินขบวนในมหาวิทยาลัย เข้าไปชุมนุมถึงศาลาธรรมด้วยถ้าเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่รับหนังสือคนนั้นไม่พูดให้ฉุกคิดเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของมหาวิทยาลัย ผมก็คงไม่ไปสืบค้นข้อมูลจนเจอว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยให้กลุ่มบางกลุ่มใช้พื้นที่ในการชุมนุมมาก่อนหน้านี้ 
 
หลังได้รับหนังสือไม่อนุญาตให้จัดงานในมหาวิทยาลัย ทำให้ผมสงสัยว่าความเป็นกลางของมหาวิทยาลัยคือการที่คุณเคยปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยไม่รู้ว่าขออนุญาตหรือไม่ แต่อีกฝ่ายหนึ่งแม้จะส่งเรื่องตามระบบตามขั้นตอนก็ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ แล้วความเป็นกลางของคุณอยู่ที่ไหน การชุมนุมครั้งนั้นของ กปปส. ไม่ได้มีแต่นักศึกษาที่มาชุมนุมแน่นอน มีคนนอกเข้ามาร่วมชุมนุมด้วย ทำไมถึงให้จัดได้ ทำไมกรณีของผมไม่สามารถให้จัดได้ผมก็ยังสงสัยอยู่ ทางมหาวิทยาลัยควรจะให้เหตุผลตอบกลับที่ดีกว่าและชัดเจนกว่านี้ด้วย”
 
ประเทศไทยยังมีบรรยากาศทางการเมืองดีกว่าประเทศจีนอยู่มาก
 
“จากที่ผมเคยไปอยู่จีนมา 2 ปี ถ้าให้เทียบเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกที่ไทยกับประเทศเผด็จการแบบจีนนั้นเทียบแทบไม่ได้เลย ในคลาสที่ผมเรียนที่จีนมีการเซ็นเซอร์แม้แต่ในห้องเรียน อย่างคลาสวิชาหนึ่งที่ผมเรียนเป็นคลาสที่ให้นักศึกษาต่างชาติมารวมตัวกันมานำเสนอเรื่องต่างๆ ก็จะมีการเซ็นเซอร์ห้ามพูดเรื่องการทำงานของรัฐบาล ไม่เพียงแต่รัฐบาลจีน รัฐบาลของประเทศอื่นเขาก็ขอความร่วมมือไม่ให้พูด โดยในจีนจะมีคำติดปากของคนที่นั่นคือ “เรื่องนี้พีซี(Political correctness) ไม่ควรพูดนะ” เช่นเราวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประเทศเราเอง ให้เขาฟัง เขาก็จะบอกว่าเรื่องนี้พีซีนะ ไม่ควรพูดนะ ไม่เอาๆ อะไรประมาณนั้น แต่ในไทยปัจจุบันผมรู้สึกว่าก็เริ่มมีบรรยากาศเริ่มใกล้เคียงกัน 
 
ส่วนเรื่องความตื่นตัวทางการเมืองคนที่จีน กับที่ไทยอยู่กันคนละแบบเลย ในความคิดของผมคิดว่าคนไทยกระตือรือร้นในทางการเมืองมากว่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือที่จะแสดงออกทางความคิดมากขึ้น”
 
อยากให้กิจกรรมทุกอย่างจัดได้ ไม่ควรแบ่งแยกว่ากิจกรรมทางการเมืองไม่ควรจัด
 
“สุดท้ายผมอยากฝากว่า การจัดกิจกรรมอะไรพวกนี้ควรเป็นเรื่องที่จัดได้เป็นปกติ ไม่ควรเป็นเรื่องน่าตกใจว่าจะมีคนจัด โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะผลักดันสังคมให้ดีขึ้น 
 
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากฝากก็คือหากมีใครห้ามอะไรเราในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ผมก็คิดว่าถ้าเรามีเหตุผลเพียงพอเรามีสิทธิที่จะโต้แย้งได้ และอยากผลักดันให้วัฒนธรรมการโต้แย้งเป็นวัฒนธรรมปกติของสังคมไทย ผมคิดว่า จะทำให้ประเทศไทยจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆได้”
Article type: