1467 1669 1905 1478 1286 1909 1596 1000 1265 1757 1325 1127 1391 1015 1100 1839 1786 1192 1105 1424 1433 1735 1143 1710 1774 1411 1186 1806 1850 1059 1117 1518 1406 1594 1380 1904 1351 1843 1374 1904 1019 1247 1853 1782 1875 1652 1740 1895 1880 1659 1507 1074 1201 1353 1469 1724 1570 1693 1023 1124 1316 1890 1947 1202 1272 1086 1423 1638 1077 1199 1246 1034 1894 1239 1202 1816 1140 1575 1488 1914 1638 1540 1160 1686 1168 1784 1809 1231 1545 1620 1834 1267 1140 1061 1620 1390 1975 1319 1107 ประเด็นกฎหมายชุมนุมที่ยังต้องเถียงกันต่อ จากกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ประเด็นกฎหมายชุมนุมที่ยังต้องเถียงกันต่อ จากกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง"

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 มีการจัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แม้กิจกรรมดังกล่าวไม่มีการยื่นข้อเรียกร้อง ไม่มีเวทีปราศรัย ไม่มีการปักหลักยืดเยื้อ เป็นแต่เพียงการรวมตัวกันออกกำลังกายและแยกย้ายกันกลับหลังกิจกรรมยุติ แต่ในความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ "ลุง" ในกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" หมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าคสช. แม้กิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน ผู้จัดกิจกรรมแต่ละพื้นที่อาจจะไม่เคยรู้จักกันและไม่ได้บริหารจัดการกิจกรรมร่วมกัน แต่ภาพที่ประชาชนร่วมใจกันออกมาวิ่งแสดงพลังในวันเดียวกัน ภายใต้ข้อความ "ไล่ลุง" ก็ดูจะเป็นเหมือน "สัญญาณแรง" ของความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ชัดเจนที่สุดในรอบห้าปี
 
นับตั้งแต่ธนวัฒน์ วงค์ไชยหรือ "บอล" นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก ของเขาในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ในวันที่ 12 มกราคม 2563 การจัดกิจกรรมดังกล่าวก็อยู่ภายใต้การจับตาของเจ้าหน้าที่เรื่อยมา และเมื่อเวลาจัดกิจกรรมงวดเข้ามาการแทรกแซงและการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 
 
กิจกรรมวิ่งไล่ที่กรุงเทพต้องเปลี่ยนสถานที่จัดแถลงข่าวเปิดตัวกิจกรรมถึงสามครั้ง โดยเจ้าของสถานที่อย่างสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย และโรงแรมรัตนโกสินทร์ขอยกเลิกการให้เช่าพื้นที่อย่างกระทันหันโดยให้เหตุผลว่า ถูกกดดันโดยเจ้าหน้าที่ ขณะที่ผู้จัดกิจกรรมในต่างจังหวัดก็เผชิญการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ ภายหลังพวกเขาประกาศจัดกิจกรรมในพื้นที่ของตัวเองผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น มีเจ้าหน้าที่มาติดตามหรือกดดันที่บ้าน ที่ทำงาน หรือสถานศึกษา (ดู ประมวลการคุกคามการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง) แม้ว่าในวันที่ 12 มกราคม 2563 การจัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" หลายแห่งจะดำเนินไปได้ตามที่ผู้จัดวางแผนไว้ แต่หลังกิจกรรมผ่านพ้นไปก็มีการส่งหมายไปเรียกผู้ต้องหาในความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปยังผู้จัดในหลายๆพื้นที่
 
ในช่วงก่อนและระหว่างที่กิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ดำเนินไป ไอลอว์และองค์กรพันธมิตร เช่น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการแทรกแซงการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง โดยการส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครไปสังเกตการณ์กิจกรรมหลายจังหวัด รวมทั้งเปิดรับข้อมูลให้ผู้จัดกิจกรรมและผู้ร่วมกิจกรรมรายงานเข้ามา ซึ่งหากพิจารณาจากลักษณะการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และการใช้อำจาจในลักษณะอื่น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้
 
1328
 
กิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ที่จังหวัดแพร่


ไม่มี "การชุมนุมทางการเมือง" ตามระบบกฎหมายปกติ

 
ในระหว่างที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่ในอำนาจ "การชุมนุมทางการเมือง" ถือเป็นความผิดทางอาญา 
 
22 พฤษภาคม 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7/2557 กำหนด "ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคน ขึ้นไป" ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 กำหนดว่า "ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย" คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็ถูกยกเลิก
 
ตลอดระยะเวลาที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกบังคับใช้ มีประชาชนอย่างน้อย 421 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการร่วมทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะตามโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ "การชุมนุมทางการเมือง" ยังเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อปิดกั้นหรือแทรกแซงการทำกิจกรรมสาธารณะต่างๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น 
 
ในวันที่ 15 สิงหาคม 2557 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยแจ้งข่าวบนเพจเฟซบุ๊กว่า เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โทรศัพท์มาแจ้งให้งดจัดกิจกรรม Light Up Night ค่ำคืนสิทธิมนุษยชน ณ เชียงใหม่ ตอน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ในกาซ่า" โดยระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557  
 
วันที่ 20 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่จังหวัดสงขลาสั่งให้กลุ่มประชาชนที่รวมตัวทำกิจกรรมเดินเท้า "ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน" ยุติการทำกิจกรรมเดินเท้ามากรุงเทพเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพลังงาน โดยให้เหตุผลว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการชุมนุมตั้งแต่ห้าคน  
 
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ปทุมวัน โทรศัพท์และส่งหนังสือไปที่หอศิลป์กรุงเทพฯว่า กิจกรรม "รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?" ของเว็บไซต์ประชามติ อาจเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ให้เจ้าของงานขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนการจัดงาน แต่เมื่อผู้จัดงานยื่นหนังสือชี้แจงไปก็ไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ในเวลาสมควร ทำให้หอศิลป์ฯ ยกเลิกการให้ใช้พื้นที่  
 
เมื่อคำสั่งห้ามชุมนุมถูกยกเลิกไป กฎหมายที่ใช้ควบคุมการชุมนุมโดยเฉพาะที่เหลืออยู่ ก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) (ดูตัวบท พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) นอกจากนั้นก็มีข้อหาอื่นๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองที่มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งเมื่อไม่มีคำสั่งของคณะรัฐประหารแล้วตัวบทของทั้งพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และประมวลกฎหมายอาญา ไม่พบว่ามีการกำหนดให้ "การชุมนุมทางการเมือง" เป็นความผิด 
 
การรวมตัวกันที่จะเป็นความผิดตามกฎหมาย ไม่ได้พิจารณาที่เนื้อหาของกิจกรรมว่า เป็น "การเมือง" หรือไม่ใช่การเมืองอีกต่อไป 
 
อย่างไรตามในกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พบว่า เจ้าหน้าที่ยังคงสับสนเรื่องกฎหมายและอำนาจของตัวเองอยู่บ้าง เช่น กรณีที่พ.ต.อ.กิตติพงศ์ ทองทิพย์ ผู้กำกับ.สภ.ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เปิดเผยกับผู้จัดการออนไลน์ว่า "ในการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ มีการชูป้ายขับไล่ เรียกร้อง มีการตะโกนประยุทธ์ออกไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมือง ตามลักษณะ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 .... โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการรวบรวมหลักฐานเอาไว้เพื่อสืบหาตัวผู้จัดการชุมนุม พร้อมเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล เพื่อหาตัวผู้จัดการชุมนุมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา" หากผู้กำกับสภ.ตะกั่วป่าให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้จริงก็ถือได้ว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้กำหนดคำว่า "การชุมนุมทางการเมือง" ไว้ในตัวบท อันจะเป็นเงื่อนไขให้การจัดการชุมนุมเป็นความผิด
 
ขณะที่กิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดนครสวรรค์ ระหว่างที่ผู้จัดกิจกรรมกำลังจะเริ่มวิ่งตามเวลาที่นัดหมายในช่วงเย็น พ.ต.อ.วีรภัสส์ ห้วยหงษ์ทอง ผู้กำกับสภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่นำคำสั่งห้ามการชุมนุมของสภ.เมืองนครสวรรค์มาอ่านให้ผู้จัดกิจกรรมฟัง ซึ่งความตอนหนึ่งของคำสั่งระบุว่า "ตามที่ท่านได้ประกาศเชิญชวนประชาชนทั่วไป ให้มาร่วมกิจกรรม วิ่งไล่ลุง อันเป็นกิจกรรมทางการเมือง .... ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวท่านมิได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงาน ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 ซึ่งถือว่ากิจกรรมที่ท่านได้จัดขึ้นนี้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 วรรคสาม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงห้ามจัดกิจกรรมอันเป็นการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" กรณีนี้มีข้อน่าสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ระบุในคำสั่งว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมทางการเมือง เพิ่มเติมไปในคำสั่งห้ามการชุมนุมด้วย ทั้งที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้มีการกำหนดนิยามหรือกำหนดกฎเกณฑ์ของ "การชุมนุมทางการเมือง" หรือกิจกรรมทางการเมืองเป็นการจำเพาะเจาะจงแยกจาก "การชุมนุมสาธารณะ" ในประเด็นอื่นๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่คำสั่งฉบับนี้จะต้องระบุว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด
 
1326
 
คำสั่งให้เลิกการชุมนุม ที่ผู้กำกับสภ.นครสวรรค์นำส่งผู้จัดกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ที่นครสวรรค์
 
กรณีที่อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ รองผู้กำกับการสภ.สตึก เรียกตัวผู้โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมวิ่งไล่ลุงในพื้นที่ไปพูดคุยและบทสนทนาตอนหนึ่งรองผู้กำกับก็สอบถามผู้โพสต์เฟซบุ๊กทำนองว่า ทราบหรือไม่ว่ากิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" เป็นกิจกรรมทางการเมือง  
 
สามกรณีนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองจะยกเลิกไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังคงมีทัศนคติในทางลบกับ "การชุมนุมทางการเมือง" หรือ "กิจกรรมทางการเมือง" ทั่งที่กฎหมายที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองไม่มีอยู่แล้ว จึงย่อมเป็นเสรีภาพของประชาชนที่จะชุมนุมทางการเมืองได้ และเจ้าหน้าที่ย่อมไม่อาจอ้างเหตุในการปิดกั้นหรือแทรกแซงเพียงเพราะกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็น "การชุมนุมทางการเมือง"
 
1325
 
ผู้กำกับสภ.เมืองนครสวรรค์ อ่านคำสั่งให้เลิกการชุมนุมให้ผู้จัดกิจกรรม #วิ่งไล่ลุง ที่นครสวรรค์ฟัง
 

วิ่งไล่ลุง การกีฬาหรือการชุมนุมสาธารณะ

 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดนิยามของ"การชุมนุมสาธารณะ" ว่า "การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถ ร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่" กิจกรรมใดๆ ที่เข้าข่ายตามนิยามของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ย่อมอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายนี้ ทำให้ผู้ที่จะจัดการชุมนุมย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อตำรวจท้องที่ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง 
 
ขณะที่มาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็ข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า กิจกรรมประเภทใดบ้างที่ไม่เข้าข่ายเป็น "การชุมนุมสาธารณะ" ตามกฎหมาย" นี้
 
มาตรา 3 (3) ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดว่า "การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น" ไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมที่อยู่ในบังคับของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ผู้จัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ส่วนหนึ่งเข้าใจว่า กิจกรรมของตัวเองเป็นการจัดกิจกรรมกีฬา เข้าตามข้อยกเว้นของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงไม่ไปแจ้งการชุมนุม แต่ก็มีผู้จัดบางส่วน เช่น ผู้จัดกิจกรรมที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่เลือกวิธีการไปแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย 
 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่า "กีฬา" ไว้ จึงต้องอาศัยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต ซึ่งให้ความหมายว่า "กิจกรรมหรือการเล่นที่มีกฎกติกากำหนด เพื่อความสนุกเพลิดเพลินผ่อนคลายความเครียด หรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง และอาจใช้เป็นการแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ หมากรุก ปีนเขา ล่าสัตว์ 
 
หากพิจารณารูปแบบของกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นกิจกรรมกีฬาที่ได้รับการยกเว้นตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพราะมีลักษณะเป็นการวิ่งออกกำลังกาย เพื่อความสนุกเพลิดเพลินและเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงตามนิยามของคำว่า "กีฬา" 
 
ขณะที่ผู้จัดกิจกรรมบางแห่งทำอุปกรณ์ เช่น เหรียญที่ระลึก หรือป้ายติดเสื้อบอกหมายเลขประจำตัวนักวิ่ง มาแจกจ่ายด้วย กิจกรรมที่สวนรถไฟทางผู้จัดยังเตรียมถ้วยรางวัลมาให้ผู้ร่วมกิจกรรมที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับต้นๆ ด้วย ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนที่อยากได้ถ้วยรางวัลต้องแข่งกันทำความเร็วเพื่อให้ตัวเองเข้าเส้นชัยในอันดับที่จะได้รับถ้วยรางวัล กรณีนี้จึงน่าจะเข้าข่ายเป็น "การแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ" ตามความหมายของคำว่า "กีฬา" ด้วยเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายๆ พื้นที่ ก็เห็นว่ากิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" นั้นเข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ เห็นได้จากการที่ผู้จัดกิจกรรมหลายแห่ง เช่น ที่สวนรถไฟ ที่นครสวรรค์ ที่นครพนม และที่บุรีรัมย์ ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฐานไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ซึ่งอาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่พิจารณาว่า แม้รูปแบบกิจกรรมจะเป็นกิจกรรมกีฬา แต่ภายในกิจกรรมก็มีการแสดงออกในลักษณะต่างๆ เช่น การสวมเสื้อสัญลักษณ์ที่ตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านหรือแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล หรือการนำป้ายเขียนข้อความต่างๆ มาถือ จึงเข้าข่ายเป็นการ "เรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง" ตามนิยามของการชุมนุมสาธารณะ
 
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อสรุปทางกฎหมายที่แน่ชัดว่ากิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" เป็นการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่เพราะยังไม่มีคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุดออกมาชี้ขาด จากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า เมื่อคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุม "วิ่งไล่ลุง" เข้าสู่ชั้นพิจารณา ศาลจะมีคำพิพากษามาในแนวทางใด หากศาลยึดรูปแบบกิจกรรมเป็นหลัก กิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ก็น่าจะเป็นกิจกรรมการกีฬาที่ไม่อยู่ในบังคับของพ.ร.บ.ชุมนุม แต่หากศาลถือเจตนาในการแสดงออกเป็นหลักกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ก็อาจจะเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ได้
 
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การจัดกิจกรรมวิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเป็นการวิ่งที่มีการรณรงค์ประเด็นต่างๆ เช่น วิ่งเพื่ออากาศบริสุทธิ์ หรือวิ่งเพื่อสันติภาพ ก็ย่อมจะต้องถูกพิจารณาว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายนี้ไปด้วย ยกเว้นแต่กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมปิดที่ผู้ไม่ลงทะเบียนหรือไม่ชำระเงินไม่มีสิทธิเข้าร่วม หรือไปจัดในสถานที่ของเอกชน กิจกรรมดังกล่าวก็จะไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะเพราะ ไม่ได้จัดในสถานที่สาธารณะ และบุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าร่วมได้           
 

การกำหนดเงื่อนไขในที่ชุมนุมทำได้แต่ต้องเป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกเท่านั้น 

 
ระหว่างการจัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ร่วมกิจกรรมบางคนที่สวมเสื้อ "วิ่งไล่ลุง" ไปเปลี่ยนเสื้อ โดยแจ้งว่า ขัดเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับผู้จัดการชุมนุม เจ้าหน้าที่ยังจัดเตรียมเสื้อมาให้ผู้ร่วมงานบางส่วนเปลี่ยนด้วย แต่ก็มีผู้เข้าร่วมงานส่วนหนึ่งที่ใส่เข้าไปในงานได้ นอกจากนั้นระหว่างที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกำลังอบอุ่นร่างกายเจ้าหน้าที่แจ้งกับผู้มาร่วมงานว่า ผู้ที่สวมเสื้อที่มี "ข้อความหมิ่นเหม่" อาจเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้ไปเปลี่ยนเสื้อที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาไว้ คำถามทางกฎหมายที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้จึงมีอยู่ว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการสั่งให้ผู้ร่วมกิจกรรมบางส่วนไปเปลี่ยนเสื้อ
 
1327
 
กิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่อุบลราชธานี
 
พ.ร.บ.ชุมนุมฯมาตรา 19 วรรคแรกกำหนดให้หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ของสถานที่จัดการชุมนุม ซึ่งในกรณีนี้คือผู้กำกับสภ.เมืองอุบลราชธานี  เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ขณะที่วรรคสี่ กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีหน้าที่ (1) อํานวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม (2) รักษาความปลอดภัย อํานวยความสะดวก หรือบรรเทาเหตุเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ชุมนุม (3) รักษาความปลอดภัยหรืออํานวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุม (4) อํานวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด และความใน (5) ของมาตราเดียวกันก็กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งให้ผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมปฏิบัติตาม เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่สี่ข้อข้างต้น
 
หากการกำหนดเงื่อนไข "ห้ามใส่เสื้อ" เป็นการกำหนดเงื่อนไขโดยเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาตรา 19 ที่ควรจะตั้งคำถามต่อไปว่า การจำกัดข้อความบนเสื้อนั้นมีความจำเป็น หรือได้สัดส่วน ต่อการดูแลให้การชุมนุมเป็นไปโดยความเรียบร้อยตามอนุมาตราในพ.ร.บ.ชุมนุมฯมาตรา 19 ที่ยกมาข้างต้นอย่างไร 
 
แต่หากการขอให้เปลี่ยนเสื้อไม่ใช่การใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็เป็นคำถามต่อไปว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ภาคสนามในการแทรกแซงหรือปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนเช่นนี้ หรือการห้ามชูป้ายเขียนข้อความหรือการแสดงออกโดยสันติรูปแบบอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นการใช้อำนาจที่มีกฎหมายใดรองรับหรือแท้ที่จริงการใช้อำนาจดังกล่าวเป็นเพียงการอาศัยอำนาจจาก "เครื่องแบบ" มาเป็นฐานในการออกคำสั่ง
 
Article type: