1410 1410 1791 1841 1159 1537 1592 1963 1391 1932 1485 1297 1770 1787 1492 1359 1861 1816 1754 1181 1831 1302 1326 1692 1825 1143 1739 1873 1458 1288 1685 1852 1416 1195 1324 1084 1095 1578 1651 1138 1895 1786 1723 1140 1317 1130 1076 1547 1650 1663 1119 1129 1132 1636 1977 1258 1055 1503 1702 1960 1072 1020 1073 1641 1310 1697 1049 1643 1533 1965 1052 1381 1266 1888 1528 1988 1939 1750 1576 1735 1695 1315 1258 1927 1236 1301 1114 1397 1566 1349 1132 1695 1345 1082 1836 1807 1248 1275 1079 Thailand Post Election Report: ชาวบ้าน-นศ.-อนาคตใหม่หืดขึ้นคอ ถูกปิดกั้น-กิจกรรมลดความแหลมคม | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Thailand Post Election Report: ชาวบ้าน-นศ.-อนาคตใหม่หืดขึ้นคอ ถูกปิดกั้น-กิจกรรมลดความแหลมคม

 

1312

 
"ห้ามชุมนุมเกินห้าคน"
 
เป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วก่อนการเลือกตั้ง
 
ตลอด 5 ปีกว่าในยุค คสช.1 มีการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมมากกว่า 200 ครั้ง ส่วนหนึ่งเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่งดังกล่าวสั่งห้ามจัดทั้งงานเสวนา งานละคร การรวมตัวในที่สาธารณะ ฯลฯ หลังเลือกตั้ง แม้ไม่มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว การเดินหน้ากดดัน คุกคามการทำกิจกรรมทางการเมืองยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับในยุค คสช.1 แต่เป็นไปในทางอ้อม
 
เมื่อบรรยากาศคลี่คลาย "ข่าว" การปิดกั้นกิจกรรมน้อยลง สาธารณชนก็สนใจน้อยลง
 
อีกด้าน แทนที่กิจกรรมจะแหลมคมและท้าทายรัฐมากขึ้น ผู้จัดกิจกรรมกลับเรียนรู้ที่จะเลือกประเด็นเท่าที่ "พอจะจัดได้" และเลือกสถานที่ "พอจะใช้ได้" ทำให้ภาพของการปะทะกันโดยตรง การใช้กำลังเข้ากดดัน หรือการสั่งปิดงาน ไม่ปรากฏมากนัก
 
ทั้งที่ในความเป็นจริง การทำกิจกรรมยังเป็นไปอย่างยากลำบากเช่นเดิม สถานการณ์ไม่ได้เปิดกว้างอย่างที่ใครๆ คิด
 
7 กันยายน 2562 กิจกรรมเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ นำโดยพรรคอนาคตใหม่ จากเดิมวางแผนจัดที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ถูกกดดันให้ย้ายมาจัดที่ศูนย์ประชุมมารินทร์ และยังต้องย้ายอีกครั้ง สุดท้ายจัดได้ที่ลานเอนกประสงค์ มาลิน พลาซ่า ในวันถัดมา จากเดิมที่วางแผนจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ถูกมหาวิทยาลัยยกเลิกสถานที่ และเปลี่ยนไปเป็นที่หอกาญจนาภิเษกแทน 
 
การจัดกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ ยังถูกกดดันให้พบความยากลำบากอย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยในเดือนธันวาคม ตำรวจก็เข้ากดดันกิจกรรมค่ายเยาวชนภาคอีสาน จ.สุรินทร์ ให้ยกเลิกกาารใช้สถานที่อุทยาน เมื่อย้ายไปจัดในวัดก็ถูกเจ้าคณะอำเภอกดดันให้ยกเลิกอีก แม้สุดท้ายจะหาสถานที่ใหม่เพื่อจัดกิจกรรมได้ แต่ผู้เข้าร่วมก็ยกเลิกไปจำนวนมาก
 
 
1309
 
 
สำหรับกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นกระแสขึ้นมาในช่วงปลายปี คือ "วิ่งไล่ลุง" มีกำหนดจัดต้นปี 2563 เพียงการแถลงข่าวของผู้จัดก็ยังลำบาก เมื่อสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เจ้าของสถานที่ที่ติดต่อไว้ขอยกเลิกเพราะถูกตำรวจกดดันอย่างหนัก ในวันที่ 9 ธันวาคม 2562
 
ต่อมาผู้จัดวางแผนย้ายการแถลงข่าวไปเป็นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2562 แต่โรงแรมก็ขอยกเลิกการจองห้องอีกเพราะ "ถูกผู้มีอำนาจกดดันมา" สุดท้ายจึงเดินไปแถลงข่าวที่ลานโพธิ์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่ไว้ก่อน
 
กิจกรรมนี้วางแผนจะจัดขึ้นจริงในวันที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งก็ยังคงไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจให้จัดงานวิ่งกันบนถนน
 
1310
 
 
สำหรับสถานศึกษาของรัฐ ซึ่งควรเป็นพื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกและการทำกิจกรรมให้กับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปได้บ้าง แต่ภายใต้รัฐบาล คสช.2 ก็ยังคงบรรยากาศเช่นเดิม โดยผู้บริหารมหาวิทยาลัยล้วนทำหน้าที่เป็นองครักษ์คอยสอดส่องและเซ็นเซอร์กิจกรรมไม่ให้ล่อแหลมจนเกินไป เรียกว่า "ทำหน้าที่แทน คสช."
 
เช่น งานสัปดาห์ประชาธิปไตยที่มหาวิทยาลัยบูรพา 17-19 ธันวาคม 2562 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอให้เก็บป้ายผ้าที่ติดไว้บนตึก ซึ่งเขียนว่า "ประชาธิปไตยจากปลายกระบอกปืน" และ "อย่าทำให้ประชาธิปไตยเป็นแค่อนุสาวรีย์"
 
ส่วนกิจกรรมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ที่จะจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ถูกผู้บริหารห้ามไม่ให้ทำกิจกรรม Write for Rights หรือการเขียนจดหมายเรียกร้องสิทธิให้กับ ยีลียาซีเจียง เรเฮมัน และ ไมรีนีชา อับดูไอนี นักศึกษาชาวอุยกูร์ที่หายตัวไประหว่างกำลังศึกษาต่อที่อียิปต์
 
 
ด้านกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่างๆ แม้ว่าในปี 2562 จะดูเหมือนมีการจัดกิจกรรมชุมนุมอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังดำเนินไปแบบจำกัดภายใต้แรงกดดันให้แสดงออกได้น้อยที่สุด
 
เช่น การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน 6-23 ตุลาคม 2562 ปักหลักค้างคืนต่อเนื่องในกรุงเทพ ก็ถูกควบคุมด้วยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.บ.ควบคุมการใช้เครื่องขยายเสียง การเดินขบวนย้ายสถานที่แต่ละครั้งตำรวจจะเข้ามาติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกดดันห้ามชูป้าย หรือธงสัญลักษณ์ หรือห้ามใช้เครื่องขยายเสียงเมื่อเดินทางไปที่ต่างๆ
 
กิจกรรม "เดิน-ปิด-เหมือง” ของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู 7-12 ธันวาคม 2562 ก็มีตำรวจบุกเข้ามาหาชาวบ้านกลางดึก สอบถามรายชื่อและนามสกุลของคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทีละคน และข่มขู่ด้วยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 
 
1311 ภาพตำรวจเข้าเจรจากับกลุ่มสมัชชาคนจน ห้ามชูป้ายระหว่างไปไหววัดพระแก้วและศาลหลักเมือง
 
กิจกรรมการแสดงออกของประชาชนหลายครั้งยังสามารถเดินหน้าไปจนถึงปลายทางได้ หากดูผิวเผินจะเหมือนกับว่า ประชาชนเริ่มจะมีพื้นที่แสดงความคิดเห็นได้บ้างแล้ว แต่เบื้องหลังผู้จัดกิจกรรมต่างต้องพบกับการข่มขู่คุกคาม หว่านล้อม และกดดันจากเจ้าหน้าที่มากมาย หากผู้จัดกิจกรรมไม่ได้ศึกษากฎหมายให้รอบคอบ หรือไม่ยืนยันให้หนักแน่นพอก็จะไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ และกิจกรรมเท่าที่ปรากฏขึ้นมาได้นั้น ก็ผ่านการกลั่นกรอง ต่อรองมาแล้วมากมายทั้งนั้น ด้วยอำนาจทั้งตามกฎหมายและนอกกฎหมาย ด้วยวิธีการทั้งทางตรงและทางอ้อม
 
 
 
 
 
Report type: