1902 1464 1252 1928 1123 1080 1051 1146 1533 1319 1424 1942 1523 1513 1279 1488 1762 1510 1493 1956 1448 1824 1974 1519 1160 1840 1783 1819 1084 1140 1896 1544 1580 1671 1492 1690 1663 1441 1484 1143 1798 1227 1765 1886 1377 1212 1654 1930 1812 1307 1227 1244 1510 1527 1645 1638 1653 1022 1911 1266 1933 1560 1235 1821 1089 1350 1124 1206 1280 1629 1403 1367 1130 1474 1297 1328 1219 1817 1376 1502 1765 1782 1448 1523 1722 1654 1418 1181 1410 1590 1396 1938 1806 1070 1390 1648 1426 1043 1418 Change.NCPO รังสิมันต์ "โรม" จากนักกิจกรรมนักศึกษาสู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Change.NCPO รังสิมันต์ "โรม" จากนักกิจกรรมนักศึกษาสู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ได้กลับมาที่หอศิลป์กรุงเทพครั้งนี้ผมมีความรู้สึกหลายอย่างนะ อย่างแรกเลยผมรู้มาว่าหอศิลป์ฯไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากกทม.แล้วก็เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราพอจะหาทางช่วยอะไรได้บ้างไหม เพราะกรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่ให้คนได้แสดงออกทางวัฒนธรรม และหอศิลป์ฯก็เป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ของกรุงเทพฯที่ทำหน้าที่นั้น คงต้องหาทางช่วยหอศิลป์ในเรื่องนี้เพื่อให้พวกเขา (หอศิลป์กรุงเทพ) รู้สึกมั่นคงและทำหน้าที่ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กับสังคมไทยได้ต่อไป  
 
วันนี้ผมมีความรู้สึกที่แตกต่างไป เห็นเด็กๆมากันเยอะ เห็นคนพลุกพล่าน ได้ยินเสียงคนหัวเราะ มันเป็นความรู้สึกในทางบวก แต่ย้อนกลับไปวันนั้น (22 พฤษภาคม 2558) ผมมาที่หอศิลป์ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างไป ผมยังจำเสียงกรีดร้องของคนที่ถูกทำร้าย จำความรู้สึกของตัวเองตอนที่ยืนคล้องแขนกับเพื่อนๆได้
 
ย้อนไปตอนเป็นนักกิจกรรม ผมเริ่มชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหาร ครั้งนั้นผมกับเพื่อนๆตั้งใจจะเดินจากธรรมศาสตร์ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อคัดค้านการรัฐประหาร ตอนแรกที่เราตั้งขบวนมีคนมาร่วมประมาณ 50 คน แต่พอเริ่มเดินก็มีคนมาร่วมเพิ่มเป็น 200 - 300 คน น่าเสียดายที่ครั้งนั้นเราเดินไม่ถึงจุดหมายเพราะระหว่างทางเราผ่านไปเขตที่กลุ่มกปปส.เคยชุมนุมแล้วเขายังเก็บของไม่หมดเจ้าหน้าที่บอกกับพวกผมว่ากลัวจะมีการปะทะกันซึ่งผมก็คิดว่าพอจะเป็นเหตุผลที่รับฟังได้
 
1197
 
ถามว่าตอนที่เดินกลัวมั้ย ก็กลัวนะ เพราะมีทหารถือปืนยืนอยู่ตามจุดต่างๆในกรุงเทพฯ ก่อนการทำกิจกรรมครั้งนั้นพวกเราก็ประชุมประเมินสถานการณ์กันก่อนในหมู่นักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรม แต่ก็คิดกันว่ายังไงเราก็ต้องแสดงออกบางอย่าง ตัวผมเองเรียนคณะนิติศาสตร์ ที่ผ่านมาศาลไทยมักยอมรับการรัฐประหารโดยให้เหตุผลว่าหากประชาชนไม่ต่อต้านก็ถือว่ายึดอำนาจสำเร็จ ปกครองประเทศได้ ผมจึงต้องออกมาคัดค้านเพื่อที่ในอนาคตอาจมีผู้พิพากษานำเรื่องที่มีคนคัดค้านการรัฐประหารมาใช้เป็นเหตุผลทางกฎหมายในการปฏิเสธอำนาจคณะรัฐประหารได้
 
หลังจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้หนึ่งเดือน ผมกับเพื่อนๆก็จัดกิจกรรมกินแซนด์วิชกันที่สยามพารากอน ครั้งนั้นเราถูกควบคุมตัวไปพูดคุยกับทหารที่สโมสรทหารบก เขา(ทหาร)บอกเราว่าการกินแซนด์วิชในที่สาธารณะแบบนั้นมันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน ทำไม่ได้ ผมก็คิดในใจว่ามันเป็นเรื่องตลกมากๆ หลังจากถูกควบคุมตัวผมกับเพื่อนๆถูกทหารกักตัวไว้คุยประมาณห้าชั่วโมงโดยพวกเราถูกจับแยกกันระหว่างการพูดคุย ผมจำได้ว่าตลอดห้าชั่วโมงของบทสนทนา ทหารที่คุยกับผมต่อว่าผมประมาณ 10 นาทีแต่หลังจากนั้นก็เป็นการพูดคุยเรื่องปัญหาต่างๆของประเทศ เรื่องคอร์รัปชั่น การยึดอำนาจ ทหารที่คุยกับผมเขาก็ยอมรับว่ามันมีปัญหาอยู่แต่ลำพังตัวเค้าคนเดียวคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ หลังห้าชั่วโมงผ่านไปพวกเราก็ได้รับการปล่อยตัว วันนั้นผมกับเพื่อนๆยังไม่ถูกดำเนินคดีแต่พวกเราก็ต้องเซ็นข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และยอมถูกดำเนินคดีหากพวกเราฝ่าฝืนข้อตกลง
 
วันที่ 22 พฤษภา 2558 ผมสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ เป็นการสอบวิชาสุดท้ายในฐานะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอสอบเสร็จผมก็มาที่หน้าหอศิลป์เพื่อร่วมกิจกรรม ก็คิดว่าไม่น่ามีอะไรเพราะพวกเราแค่จะมาทำกิจกรรมดูนาฬิกาและจะใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที แต่กลายเป็นว่าวันนั้นชีวิตผมก็เปลี่ยนไป ตอนผมมาถึงทางเดินสกายวอล์ก เห็นเพื่อนนักกิจกรรมบางส่วนถูกฉุดกระชากลากถู พอเห็นแบบนั้นผมก็คิดในใจว่าต้องทำกันขนาดนี้เลยเหรือ เพื่อนที่อยู่กับผมตรงนั้นก็บอกว่าเราต้องทำอะไรซักอย่าง สุดท้ายก็เลยเข้าไปตรงที่เขารวมตัวกัน วันนั้นเจ้าหน้าที่ใช้ตำรวจในเครื่องแบบตั้งแถวเป็นกำแพง แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่รู้ว่าเป็นทหารหรือตำรวจที่คอยแหวกกำแพงมาดึงนักกิจกรรมเข้าไปในกำแพงครั้งละสามสี่คนแล้วเอาตัวเข้าไปในหอศิลป์ พอเห็นเพื่อนถูกเอาตัวไปผมก็พยายามเอาตัวเพื่อนกลับมามันก็เลยเป็นเหมือนการตะลุมบอนกัน
 
แล้วก็มาถึงคิวผม ก่อนถูกคุมตัวผมสังเกตว่ามีตำรวจในเครื่องแบบน่าจะเป็นคนที่มีอำนาจสั่งการชี้มาทางผม จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเอาตัวผมไป ก็มีการฉุดกระชากกันเพราะผมเป็นคนตัวใหญ่และผมก็ไม่ยอมให้เขาเอาตัวไปเพราะผมถือว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด จำได้ว่าผมถูกชกด้วยนะแต่น่าจะมีหมัดหนึ่งเข้าใต้เข็มขัด ตอนนั้นผมจุกไปเลย แล้วก็รู้สึกโกรธว่าทำไมต้องทำกันขนาดนี้ ผมก็พยายามป้องกันตัวอย่างดีที่สุดในจังหวะตะลุมบอนตอนนั้น เพื่อนๆก็พยายามดึงตัวผมจากเจ้าหน้าที่แต่สุดท้ายผมก็ถูกเอาตัวไปในหอศิลป์จนได้ หลังจากนั้นผมกับเพื่อนๆประมาณ 30 คน ก็ถูกเอาตัวไปที่สน.ปทุมวัน ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้จับพวกเราแยกกันเราเลยมีโอกาสพูดคุยกันและมีพลังในการต่อรอง เจ้าหน้าที่พยายามถามชื่อถามข้อมูลส่วนตัว ผมก็ไม่ให้เพราะถือว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด วันนั้นที่สน.มีคนมาให้กำลังใจกันเยอะ มีเพื่อนๆมา มีอาจารย์มา พวกเราเลยมีสภาพจิตใจดี สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมปล่อยพวกเราและบอกว่าจะไม่มีการตั้งข้อหาแต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นผมกับเพื่อนๆอีกเก้าคนก็ถูกออกหมายเรียกคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุม
 
เหตุการณ์ที่หอศิลป์และการถูกดำเนินคดีทำให้หลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป อย่างแรกเพื่อนบางคนที่ผมสนิทในวันนี้ก็เหมือนเป็นคนที่ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน ตอนที่อยู่สน.ปทุมวันยังมีโมเมนท์แบบ "มึงก็มาด้วยเหรอวะ" อยู่เลย อีกเรื่องคืออนาคตหลังเรียนจบของผม ตอนแรกผมตั้งใจว่าหลังเรียนจบผมจะไปทำงานกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะผมรู้ว่าภายใต้การปกครองของคสช.น่าจะมีคนถูกดำเนินคดีอีกไม่น้อย ผมก็อยากใช้ความรู้ของผมทำงานตรงนี้ แต่ปรากฎว่าพอผมลงมาเคลื่อนไหวบนท้องถนนแล้วถูกดำเนินคดีผมก็ตัดสินใจไม่ไปทำงานกับศูนย์ทนายฯ ผมไม่คิดว่าทางศูนย์ทนายฯจะไม่ให้โอกาสเพียงเพราะผมถูกดำเนินคดีจากการมาชุมนุมแต่ผมกลัวว่าถ้าผมไปเป็นเจ้าหน้าที่จะทำให้ศูนย์ทนายตกอยู่ในความเสี่ยง อีกอย่างผมลงมาเคลื่อนไหว มาเดินบนท้องถนนแล้ว ผมก็เลยคิดว่าต้องเดินไปให้สุดซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่ได้คิดว่าหนทางบนท้องถนนมันจะยาวไกลขนาดนี้
 
หลังจากพวกเราถูกออกหมายเรียก พวกเราก็เลยต้องมารวมตัวกันเพื่อพูดคุยกันว่าจะเอายังไงต่อ สุดท้ายพวกเราเลยตกลงกันว่าจะไม่ไปรายงานตัวกับตำรวจตามวันที่เขาเรียกแต่จะไปวันที่พวกเราเลือกเองคือ 24 มิถุนายน 2558 และพวกเราจะไม่ไปรายงานตัวแต่จะไปแจ้งความว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายพวกเราเพราะถือว่าวันนั้นพวกเราไม่ได้ทำอะไรผิด พอพวกเรามารวมตัวกันวันที่ 24 ก็เลยคุยกันว่าไหนๆมาถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องสู้กันต่อ วันที่ 25 เราเลยไปเดินทางคัดค้านการรัฐประหารจากสวนเงินมีมา ไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยหลังจากนั้นเราก็มาถูกจับตัวในวันรุ่งขึ้นที่สวนเงินมีมาและต่อมาผมก็ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ 12 วัน
 
วันที่ 26 มิถุนายน 2558  พวกเราถูกพาตัวไปที่ศาลตอนค่ำ ผมถือโอกาสแถลงต่อศาลว่า สิ่งที่เลวร้ายในระบบกฎหมายคือการที่ผู้พิพากษานำกฎหมายมาบังคับใช้แบบผิดเพี้ยน ผมยังแถลงต่อศาลด้วยว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคือคุณค่าที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย และก็แถลงด้วยว่า กฎหมายที่ออกโดยคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพ แต่ "กฎหมาย" ที่นำมาใช้ดำเนินคดีกับพวกผมครั้งนั้นเป็นแค่คำสั่งของผู้มีอำนาจ ไม่ใช่กฎหมายที่ออกโดยการคำนึงถึงคุณค่าในสังคม ผมหวังว่าคำแถลงของผมจะทำให้ตุลาการศาลทหารเกิดมโนธรรมในการพิจารณาเรื่องการฝากขังพวกผม สุดท้ายศาลทหารก็ให้ฝากขังพวกผมที่เรือนจำตอนเที่ยงคืน  
 
หลังถูกคุมขัง 12 วันในครั้งนั้น ผมก็ยังทำกิจกรรมเรื่อยมา ซึ่งตอนนั้นก็มีหลายเรื่องเกิดขึ้นในสังคม ทั้งประชามติ ทั้งการเลือกตั้งที่ถูกเลื่อน วันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ผมกับเพื่อนๆเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งในโอกาสครบรอบสี่ปีการรัฐประหาร จำได้ว่าครั้งนั้นเราเชิญชวนให้นักการเมืองมาร่วมต่อสู้กับประชาชน แต่ปรากฎว่าไม่มีใครมาเลย ดูเหมือนจะมีนักการเมืองบางคนพูดว่าไม่อยากมาเพราะจะทำให้ขบวนของเราแปดเปื้อน แต่ครั้งนั้นพวกผมกลับคิดว่านั่นน่าจะเป็นคำพูดที่น่าจะมาจากฝั่งพวกผมมากกว่า อีกอย่างพวกผมเองก็เป็นคนชวนให้พวกเขามาร่วมกับเราแต่สุดท้ายก็ไม่มีใครมา ผมรู้สึกเหมือนว่าประชาชนถูกนักการเมืองทอดทิ้ง
 
ตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมบนท้องถนนผมตั้งคำถามกับตัวเองมาตลอดว่าท้ายที่สุดเราต้องการอะไร ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเราต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่พอถูกจับหลายครั้งและคสช.ก็ดูทีท่าจะไม่ไปไหน ผมก็เริ่มทบทวนกับตัวเองว่าแนวทางที่ตัวเองทำอยู่มันใช้ได้ไหม ตอนที่ถูกจับเพราะชุมนุมครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร ผมก็มาตกผลึกในห้องขังของตำรวจว่าถ้าเราไม่อยากให้ประเทศอยู่ในวังวนเดิมๆ เราคงหวังพึ่งคนเดิมๆ หมายถึงนักการเมืองแบบเดิมๆไม่ได้ ผมก็เลยตัดสินใจว่าในเมื่อมันจะมีการเลือกตั้ง ทำไมเราไม่ลองเข้าไปทำงานการเมืองดูเผื่อเราจะผลักดันอะไรได้
 
1198
 
ถึงผมจะเรียนนิติศาสตร์มาแต่ผมก็ลงถนนในฐานะนักกิจกรรมทางการเมืองมาแล้วมันคงสายไปที่จะหันหลังกลับไปเป็นทนายความ ส่วนการสอบเป็นผู้พิพากษา ผมเคยคุยกับรุ่นพี่ว่ากว่าผมจะเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในฝ่ายตุลาการได้คงต้องรอถึงอายุ 55 ปี  อีกอย่างแวดวงตุลาการก็เป็นสถาบันที่มีความแข็งตัว และถ้าผู้ใหญ่รู้ว่าผมมีความคิดความเชื่อแบบไหน ผมก็คงไม่มีโอกาสเป็นคนพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพหรือคดีการเมือง ผมเลยคิดว่าการทำงานในฐานะนักการเมืองในสภาน่าจะมีโอกาสให้ผมทำงานเพื่อความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด ซึ่งตอนนั้นก็มีพรรคอนาคตใหม่ที่น่าจะมีแนวทางตรงกับผมที่สุด
 
จริงๆผมไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกับธนาธร (หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) หรอกนะ คนที่ผมรู้จักคืออาจารย์ปิยะบุตร (อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคหรือลงเลือกตั้ง ตอนที่พรรคอนาคตใหม่เริ่มจัดตั้งช่วงต้นปี 2561 ก็มีคนมาชวนผมไปทำงานแต่ผมก็ปฏิเสธไป ผมเพิ่งมาตกผลึกกับตัวเองและตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคและลงเลือกตั้งก็หลังการชุมนุมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหารแล้ว
 
การทำงานในฐานะส.ส. ในฐานะนักการเมืองมันต่างจากการทำงานในฐานะนักกิจกรรมอย่างสิ้นเชิง ในฐานะนักกิจกรรมผมมีอิสระในการทำงานมากกว่า แต่พอเป็นสมาชิกพรรคผมต้องคำนึงถึงเอกภาพของพรรค เพราะในฐานะประชาชนเราจะเชื่อถือนักการเมืองได้อย่างไรถ้านายกรัฐมนตรีพูดอย่างหนึ่ง รัฐมนตรีพูดอีกอย่างหนึ่งในเรื่องเดียวกัน ส.ส.หรือสมาชิกพรรคการเมืองก็เป็นแบบนั้น ถ้าพรรคเดียวกันพูดไม่เหมือนกันก็คงไม่น่าเชื่อถือ ความเป็นเอกภาพของพรรคก็ทำให้ผมต้องปรับตัวในเรื่องการทำงานอยู่บ้าง ผมคงพูดหรือทำอะไรอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนตอนเป็นนักกิจกรรมไม่ได้แล้ว ผมต้องรับผิดชอบมากขึ้น และที่สำคัญผมระลึกอยู่เสมอว่าการพูดในสภามันไม่ใช่แค่การพูดกับเพื่อนสมาชิกหรือกับคณะรัฐมนตรี แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารกับคนข้างนอก
 
ความท้าทายของการทำงานส.ส.คือในสภามีคน 500 คน บางเรื่องถ้าต้องประชุมร่วมก็จะต้องใช้เสียงถึง 750 เสียง ตัวผมคนเดียวถ้าจะเทียบไปมันก็เป็นเพียงเสียงเล็กๆหนึ่งเสียงในนั้น แต่ผมเชื่อว่าถ้าผมทำงานอย่างแข็งขันไปเรื่อยๆการผลักดันความเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นไปได้ เพราะในสภาก็คงไม่ได้มีผมคนเดียวที่อยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นมันต้องอาศัยเวลา เพราะกว่าที่ประเทศมันจะเลวร้ายขนาดนี้มันก็ใช้เวลาในการสั่งสมสถานการณ์เหมือนกัน
 
อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือพอเป็นนักการเมืองผมก็รู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเป้ามากขึ้น ตัวผมกู้เงินกยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) ตั้งแต่เรียนปีหนึ่งแล้ว แต่ตลอดเวลาที่เป็นนักกิจกรรมไม่เคยถูกโจมตีด้วยเรื่องนี้ แต่พอมาเป็นส.ส.แล้วชี้แจงทรัพย์สินก็กลายเป็นประเด็นทันทีทั้งๆที่ผมก็จ่ายเงินคืนทุกงวดตามที่กยศ.กำหนด กลายเป็นว่าพอเราโปร่งใสก็ถูกโจมตี
 
ถึงแม้การทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงมันจะมีปัญหาอุปสรรคเยอะแต่ผมก็โชคดีที่มีกำลังใจจากแฟน และจากครอบครัว ผมมีทีมงานที่มีคุณภาพ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผมยืนระยะกับอุปสรรคที่จะถาโถมเข้ามาจากการทำงานสภาในอนาคตได้อย่างดี
 
----------------------------------------------------------------
 
วันที่ 22 พฤษภาคม 2558 รังสิมันต์หรือที่คนทั่วไปมักเรียกเขาว่า "โรม" ซึ่งเป็นนามสกลุลแทนชื่อเล่น ซึ่งกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางไปร่วมกิจกรรมชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพ ในช่วงค่ำวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้กำลังควบคุมตัวผู้ชุมนุมรวม 30 คนซึ่งมีรังสิมันต์รวมอยู่ด้วยถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวนที่สน.ปทุมวันเป็นเวลาหนึ่งคืน นักกิจกรรมทั้งหมดทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในวันรุ่งขึ้นโดยไม่มีใครถูกตั้งข้อหาแต่ต่อมามีนักกิจกรรมรวม 9 คนรวมทั้งรังสิมันต์ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน
 
หลังถูกตั้งข้อหาครั้งนั้นรังสิมันต์และนักกิจกรรมอีกหกคนไม่ยอมเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายเรียกแต่เดินทางไปที่หน้าสน.ปทุมวันในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจฐานทำร้ายร่างกายจากกรณีการสลายการชุมนุมแทน
 
เหตุการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน 2558 จบลงโดยที่ไม่มีใครถูกจับกุมตัวแม้รังสิมันต์และเพื่อนนักกิจกรรมอีกหกคนจะถูกออกหมายจับเพราะไม่ยอมเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดแล้วก็ตาม หลังจากนั้นในวันที่ 25 มิถุนายน  2558 รังสิมันต์กับนักกิจกรรมอีกหกคนและนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกเจ็ดคนที่มาให้กำลังใจพวกเขาตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ที่หน้าสน.ปทุมวันก็ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ มาชูป้าย "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
 
รังสิมันต์และนักกิจกรรมอีก 13 คนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวในช่วงเย็นวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ระหว่างพักผ่อนร่วมกันที่สวนเงินมีมา และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพในค่ำวันเดียวกัน เนื่องจากนักกิจกรรมทั้ง 14 ไม่ประสงค์จะใช้เงินประกันแลกกับอิสรภาพของตัวเองพวกเขาจึงถูกส่งไปฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 12 วัน
 
รังสิมันต์กับนักกิจกรรมชายทั้ง 13 คนถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ส่วนนักกิจกรรมหญิงอีกหนึ่งคนที่ถูกจับคราวเดียวกันถูกส่งตัวไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง รังสิมันต์และนักกิจกรรมทั้งหมดถูกปล่อยตัวหลังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ 12 วัน หลังศาลทหารกรุงเทพยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอให้ศาลคุมตัวพวกเขาต่อไปอีก 12 วัน
 
หลังถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมรำลึก 1 ปี การรัฐประหาร และจากการทำกิจกรรมชูป้าย "เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิถุนายน 2558 รังสิมันต์ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมอีกอย่างน้อย 6 คดี ได้แก่ คดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติที่เคหะบางพลี คดีพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานที่จังหวัดขอนแก่น คดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่สกายวอล์กหน้าหอศิลป์กรุงเทพ ที่ถนนราชดำเนิน ที่หน้ากองทัพบก และที่หน้าองค์การสหประชาชาติ รังสิมันต์เคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพอีก 12 วันเนื่องจากเมื่อเขาถูกจับกุมตัวและถูกฝากขังในคดีแจกเอกสารโหวตโนประชามติที่เคหะบางพลีเขาและนักกิจกรรมอีกหกคนตัดสินใจไม่ใช้เงินประกันตัวเพื่อซื้ออิสรภาพของตัวเองเมื่อพนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขังเพื่อยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด
 
ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 รังสิมันต์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ลำดับที่ 16 และได้เป็นส.ส.ในการลงสมัครรับการเลือกตั้งสมัยแรก
 
------------------------
 
ในช่วงเวลากึ่งทศวรรษของการปกครองโดย คสช. เป็นเวลาที่นานพอจะให้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เช่น เห็นอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารผู้เคยปฏิเสธว่า ตัวเอง "ไม่ใช่นักการเมือง" กลายเป็นนักการเมืองแบบเต็มขั้น เห็นระบบการเมืองที่หวนคืนไปสู่ระบบการเมืองแบบวันวาน เช่น การมี ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง 100% หรือเห็นรัฐธรรมนูญที่ย้อนกลับไปกำหนดให้นายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น
 
ขณะเดียวกันระยะเวลาที่เนิ่นนานในยุค คสช. ก็นานพอที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านการรัฐประหารหรือการปกครองโดย คสช. จนมีคดีการเมืองติดตัวเป็นของขวัญ ผลงานชุด Change.NCPO จึงคัดเลือกภาพและเสียงของนักเคลื่อนไหวบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองเป็นครั้งแรกในช่วงปี 2557 - 2559 ซึ่งถือเป็นครึ่งแรกของการบริหารประเทศโดย คสช. มาบอกเล่าไว้ ณ ที่นี้
Article type: