1096 1226 1480 1827 1838 1495 1312 1048 1413 1210 1413 1100 1365 1123 1482 1490 1037 1744 1242 1533 1764 1363 1074 1531 1745 1989 1866 1279 1643 1039 1988 1704 1245 1542 1019 1567 1104 1860 1343 1665 1131 1246 1743 1228 1928 1510 1797 1941 1661 1529 1558 1463 1026 1841 1713 1457 1159 1843 1227 1287 1339 1070 1010 1177 1493 1352 1803 1714 1138 1197 1060 1697 1357 1121 1610 1740 1205 1084 1822 1888 1969 1366 1054 1600 1635 1045 1452 1915 1280 1393 1444 1839 1944 1865 1185 1079 1991 1926 1526 ถอดบทเรียนการกำกับเนื้อหาสื่อด้วยอำนาจคสช.กับสุภิญญา กลางณรงค์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ถอดบทเรียนการกำกับเนื้อหาสื่อด้วยอำนาจคสช.กับสุภิญญา กลางณรงค์


การจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนเป็นหนึ่งในมาตรการแรกและมาตรการหลักที่คสช.ใช้ในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศหลังการรัฐประหาร โดยหลังการยึดอำนาจ คสช. ออกประกาศและคำสั่งคสช. หรือ คำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 12 ฉบับ เพื่อจำกัดและควบคุมสื่อทั้งโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ เริ่มตั้งแต่การระงับออกอากาศสถานีโทรทัศน์และวิทยุทั่วประเทศ ก่อนจะผ่อนปรนและควบคุมบางสื่อในการนำเสนอข้อมูล อาทิ ประกาศคสช. ฉบับที่ 27/2557 ที่ให้สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลออกอากาศได้ยกเว้นที่มีรายชื่อตาม ประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ซึ่งวอยซ์ ทีวี เป็นเพียงสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลสถานีเดียวที่มีรายชื่อในประกาศดังกล่าว

 

ต่อมา คสช. ออกประกาศคสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 เพื่อควบคุมการทำงานของสื่ออีกครั้ง โดยครั้งนี้นอกจากจะให้สื่อรายงานเนื้อหาตามคำสั่งของคสช.แล้ว คสช. ยังห้ามนำเสนอเนื้อหาที่เข้าข่ายสร้างความสับสนต่อสังคมและยุยงปลุกปั่น โดยให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการลงโทษสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ด้วยเหตุนี้ กสทช. จึงมีเครื่องมือในการกำกับดูแลเนื้อหาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีแค่มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551(พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ) ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจดังกล่าวเปิดกว้างให้ผู้ใช้อำนาจมีอิสระตามแต่ดุลยพินิจ

 

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา กสทช. อาศัยเครื่องมือที่กสทช. มอบให้มาใช้จำกัดเสรีภาพสื่อที่ออกอากาศเนื้อหาทางการเมือง เท่าที่สามารถติดตามข้อมูลพบว่า กสทช. ลงโทษสื่อไปแล้วไม่น้อยกว่า 59 ครั้ง เฉลี่ยประมาณปีละเกือบ 12 ครั้ง บทลงโทษรุนแรงที่สุดคือ การเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการ จนเกิดเป็นคำถามต่อการปฏิบัติงานของกสทช. ว่ากระทำการที่สมควรแก่เหตุหรือเลือกปฏิบัติต่อสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือไม่ อย่างไรก็ดี เพื่อจะตอบคำถามที่ค้างคาใจทั้งสื่อมวลชนและประชาชน เราจึงไปพูดคุยกับสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกสทช. ที่เริ่มต้นทำงานมาตั้งแต่ปี 2554-2560 ก่อนหน้ารัฐประหารมาจนถึงช่วงกลางวัยของคสช. ว่า เธอมีบทเรียนการกำกับเนื้อหาสื่อด้วยอำนาจคสช. อย่างไร

 

คสช. ให้อำนาจ กสทช. ‘กำกับดูแลสื่อ’ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง

 

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกสทช. เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าการรัฐประหาร ปี 2557 กฎหมายให้อำนาจกสทช.ในการกำกับดูแลเนื้อหาผ่านมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ซึ่งมาตราดังกล่าวมีอำนาจที่กว้างมาก โดยห้ามออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาเข้าข่าย 5 ลักษณะได้แก่

 

1.           รายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.           รายการที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
3.           รายการที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
4.           รายการที่มีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร
5.           รายการที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

 

โดยอำนาจดังกล่าว ทำให้สื่อมวลชนและสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสทช.เอาเกณฑ์อะไรมาตัดสินเพราะองค์ประกอบตามมาตรา 37 นั้นกว้างมาก ขณะเดียวกันก็มีการตั้งคำถามว่า อาจมีลักษณะอัตวิสัย (Subjectivity) ที่ตัดสินอยู่บนพื้นฐานความคิดและความเชื่อส่วนตนโดยปราศจากหลักการรองรับ แต่กระนั้นก็ตามในช่วงดังกล่าวมันก็มีกระบวนการที่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรม (Rule of law) อยู่ในแง่ที่ว่า ใช้อำนาจทางปกครองคือ การตักเตือน และสั่งปรับเงิน ส่วนใหญ่ไม่เคยมีการพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการสื่อสามารถฟ้องศาลปกครองได้

 

ระหว่างปี 2554-2557 กสทช.ดำเนินการกำกับในลักษณะ ‘ปล่อย’  จนกระทั่งมีทีวีกลุ่มการเมืองสีต่างๆ เช่น เอเชียอัพเดท บลูสกาย ช่องทีวีดังกล่าวมาก็สามารถถ่ายทอดสดการชุมนุมและใช้ภาษาหยาบคายออกอากาศได้ สิ่งนี้ก็เป็นความสุดโต่งประการหนึ่งในยุคก่อนรัฐประหาร ไม่มีกติกาหรือแนวปฏิบัติกำกับ ซึ่งเวลานั้นได้มีคนมาเรียกร้องให้กสทช.ว่า ควรจะออกมาทำอะไรบ้าง แต่ว่า กสทช.ก็เฉยๆไม่ได้ทำอะไร

 

ตอนที่ไม่มีประกาศคสช.มากำกับเนื้อหาของสื่อก็มีการโต้แย้งถึงการใช้ดุลพินิจอยู่แล้ว แต่พอคสช.ออกประกาศคสช. ที่ 97/2557 องค์ประกอบความผิดมีความกว้างมาก ได้รับการวิจารณ์และแก้ไขมาเป็นประกาศคสช.ที่ 103/2557  แต่ก็ยังกว้างอยู่ดี ให้อำนาจกสทช. ในอะไรที่วินิจฉัยที่กว้างขวางในประเด็นการเมืองมากขึ้น

 

จากเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาลไปสู่รัฐบาลที่แทบแตะต้องไม่ได้

 

อดีต กสทช. อธิบายให้ฟังว่า หลักใหญ่ใจความของประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 คือการกำกับเนื้อหาที่มีลักษณะดังนี้

1.        ข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
2.        ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น
3.        การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของ คสช. ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ
4.        ข้อมูลเสียง ภาพ วีดิทัศน์ ความลับของการปฏิบัติงานของหน่วยราชการต่างๆ
5.        ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร
6.        การชักชวน ซ่องสุม ให้มีการรวมกลุ่มก่อการอันเกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่และบุคคลที่เกี่ยวข้องของ คสช.
7.        การขู่จะประทุษร้ายหรือทําร้ายบุคคล อันนําไปสู่ความตื่นตระหนก หวาดกลัวแก่ประชาชน

 

ในขณะที่ มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ มีองค์ประกอบความผิดแค่สองส่วนคือ ขัดความมั่นคงของชาติและกระทบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจะต้องเข้าองค์ประกอบทั้งสองจริง แต่เมื่อมีประกาศคสช. มันก็เกิดกรณีที่ลงโทษทีวีที่วิพากษ์วิจารณ์การเมือง พูดง่ายๆก็คือ วิพากษ์วิจารณ์คสช. ซึ่งถ้าเป็นมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯปกติกสทช.ไม่ใช้อยู่แล้ว เพราะว่าก่อนหน้านี้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็วิพากษ์วิจารณ์กันเต็มที่ก็ไม่เคยใช้มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ลงโทษว่า ขัดความมั่นคงแต่อย่างใด ซึ่งก่อนรัฐประหารก็มองว่า มันเป็นเสรีภาพและค่อนข้างเป็นเสรีภาพเกินขอบเขตไปด้วย ให้ทีวีถ่ายทอดการชุมนุม 24 ชั่วโมง ไม่ได้ลงโทษทั้งสิ้น แต่ก็เท่ากับว่า สร้างมาตรฐานว่า สามารถวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองได้ ทั้งนี้เนื้อหาที่กสทช.มักจะใช้มาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ไปเอาผิดคือเนื้อหาก้ำกึ่งอนาจาร เนื้อหาที่กระทบเด็ก หรือเนื้อหาทางวัฒนธรรม เท่าที่จำได้เนื้อหาทางการเมืองแทบไม่ได้ลงโทษเลย

 

กสทช. พยายามทำหน้าที่ ‘เป็นกลาง’ มาตลอดก่อนรัฐประหาร

 

สุภิญญา เล่าให้ฟังว่า ก่อนปี 2557 ฝ่ายรัฐบาลพยายามกดดันแทรกแซงบ้าง ร้องเรียนบ้าง เช่น คือ ตอนที่ชุมนุมของกลุ่มกปปส.เริ่มหนักหน่วงขึ้น รัฐบาลเพื่อไทยทำหนังสือถึงกสทช.ว่า เนื้อหาการออกอากาศของช่องทีวีหนึ่งอาจขัดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ กสทช.ก็ตอบรับอยู่นิดนึง โดยมีการถกเถียงภายในกสทช. “เราเองก็ค้านไม่เห็นด้วยที่จะตามรัฐบาล แต่เห็นด้วยว่าต้องมีการตามอะไรกันบ้างเพื่อไม่ให้มีถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือ Hate Speech มากเกินไป สถานการณ์มันชุลมุนมาก ตอนหลังมีประเด็นความพยายามในการตัดสัญญาณทีวีดาวเทียม อย่างไรก็ตาม กสทช.ไม่ได้แสดงอำนาจอะไรในเชิงการปิดกั้นหรือการลงโทษ แม้ว่า จะมีฝ่ายต่างๆจะยื่นหนังสือร้องเรียนเข้ามาบ้าง” สุภิญญากล่าว


อดีตกสทช. กล่าวว่า ในตอนนั้น กสทช.ก็ทำหน้าที่ของตัวเอง มีความเป็นอิสระ มีระยะห่างจากรัฐบาลอยู่ มีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลในการใช้อำนาจคือไปศาลปกครองได้ การใช้ดุลพินิจไม่ได้สุดโต่งมาก อาจจะเป็นกรณีที่ละเอียดอ่อนและมีกระแสกดดันทางสังคมจริงๆ กสทช.ถึงจะแสดงท่าทีบางอย่างเช่น รายการตอบโจทย์ก็ไม่เอกฉันท์ ลงโทษปรับ 50,000 บาท สุดท้ายไทยพีบีเอสก็ไปฟ้องศาลปกครองว่า คำสั่งของกสทช.ไม่ชอบ เขาไม่เห็นด้วย มันมีบรรยากาศเช่นนี้อยู่

 

แต่พอมีประกาศคสช. มันก็เปลี่ยนไปในแง่ที่ว่า บางเรื่องมันไม่ได้มีกระแสกดดันจากสาธารณะโดยตรง สังคมไม่เห็นว่า จะกระทบอะไรรุนแรง แต่ว่า กสทช.ก็จะแสดงท่าทีบางอย่างเพราะได้รับหนังสือจากคณะทำงานติดตามสื่อของกองทัพบกที่ส่งจดหมายมาตลอดว่า รายการนี้ ช่องนี้ออกอากาศเนื้อหาที่อาจขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ช่วงแรกก็จะเป็นช่องทีวี 24 และพีซ ทีวีบ่อยมาก ช่วงหลัง[คณะทำงานติดตามสื่อฯ]ก็คงรู้สึกว่า เริ่มปล่อยวอยซ์ ทีวีไม่ได้ก็มีการร้องเรียนและการลงโทษตามมา ซึ่งการตัดสินใจว่า ผิดมันก็กว้างกว่ามาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ คืออยู่บนเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองชัดเจนเลย

 

จากองค์กรอิสระกำกับสื่อสู่องค์กรอ่อนไหวต่อผู้ยึดอำนาจ

 

สุภิญญา มองบทบาทการทำงานของกสทช. ว่า หลายเรื่องไม่ได้รุนแรงขนาดนั้นเลย กสทช.ก็ตัดสินว่า ผิด โดยใช้ประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 เป็นฐานในการพิจารณาเนื้อหา ตีความเนื้อหา[ในทางจำกัดเสรีภาพ] กล่าวคือ แคบลงกว่าความมั่นคงชาติ เพียงวิจารณ์ผู้อำนาจก็เข้าข่ายการยุยงปลุกปั่น ซึ่งเปลี่ยนวิธีการทำงานของกสทช.เลยจากที่เป็นองค์กรอิสระระดับหนึ่ง แต่พอในยุคหลังการรัฐประหารก็ค่อนข้างจะอ่อนไหวกับอำนาจของคสช.มากขึ้นเรื่อยๆ

 

“ช่วงแรกก็อาจจะยังไม่มาก กรรมการจะมีการพิจารณาเนื้อหาที่ถูกร้องเรียนกันอยู่หลายรอบ แต่ตอนหลังเริ่มมีลักษณะประจำ และคาดการณ์ผลได้ เริ่มที่จะใช้อำนาจมากขึ้นเรื่อยๆจากระงับการออกอากาศเป็นรายการ กลายเป็นระงับการออกอากาศทั้งสถานี ช่วงหลังปี 2560 หลังจากเราพ้นจากตำแหน่ง การลงโทษคล้ายกับจะมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่แน่ใจว่า มีกระบวนการไต่สวนหรือออกเสียงอย่างไร มีการลงรายละเอียดผ่านชั้นอนุกรรมการกลั่นกรองเนื้อหาของกสทช.มากน้อยเพียงใด เพราะว่า ตอนที่เรายังอยู่คือ มีกระบวนการในระดับหนึ่ง พยายามทำให้เป็นขั้นตอนคือ พอมีเรื่องร้องเรียนมาจากฝ่ายกองทัพฯ เขาก็จะเอาเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา มีการเชิญแต่ละฝ่ายและมีการอภิปรายและมีการออกเสียงในชั้นอนุกรรมการฯ ซึ่งบางครั้งในชั้นอนุกรรมการฯก็มีเสียงแตกเข้ามา ก่อนเข้าบอร์ด พอเข้าบอร์ดอีกก็มีเสียงแตกอีก ส่งเรื่องกันไปมาอยู่พักหนึ่งก่อนจะตัดสินเพราะเหมือนกับกระบวนการมันก็ไม่ราบรื่นในทุกขั้นตอนก็อาจจะมีการไม่เห็นด้วย โดยเรามักจะเป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย” สุภิญญากล่าว

 

เธอเล่าต่อว่า นอกจากการกลั่นกรอง กสทช. ยังใช้วิธีการสื่อสารบอกวาระการประชุมกับสื่อมวลชนก่อน หลายครั้งก็จะทำให้เจ้าตัวที่เป็นเจ้าของเรื่องรู้ตัว คือช่องทีวีนั้นก็อาจจะรีบทำหนังสืออุทธรณ์เข้ามาในวันที่มีการประชุม แต่พอช่วงหลังเราไม่ได้อยู่แล้ว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้อีกทีคือตัดสินว่า ผิดแล้ว ซึ่งก็อาจจะทำให้สังคมไม่ค่อยได้เตรียมใจ ไม่ได้เห็นรายละเอียดว่า ตกลงเป็นเรื่องอะไร

 

คสช.นิรโทษกรรมกสทช.ล่วงหน้า จนการกำกับขาดความรอบคอบและอำเภอใจ

 

สุภิญญา มองว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้การกำกับสื่อยุคคสช. มีปัญหามาก เพราะ คสช. ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 โดยให้อำนาจกสทช.ในการกำกับเนื้อหาสื่อโดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาและทางวินัย ทำให้การใช้ดุลพินิจของกสทช. ปราศจากหลักการรองรับมากขึ้น เช่น เนื้อหาอาจจะไม่ได้กระทบความมั่นคง ไม่ได้ผิดอะไรขนาดนั้น แต่ไปวิพากษ์ตัวบุคคลที่อยู่ในรัฐบาลและคสช. ซึ่งก็ถูกตัดสินว่า ผิดได้ ต่อมาเรื่องความไม่เป็นกลาง ซึ่งเป็นเรื่องจริยธรรมของสื่อมวลชน แต่กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพิจารณาว่า ขัดต่อกฎหมาย

 

เธอเล่าต่อว่า ก่อนหน้านี้มีกรณีในลักษณะดังกล่าว แต่กสทช.ตอบสนองด้วยการตอบว่า ไม่มีอำนาจตัดสิน เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของกสทช. มันเป็นเรื่องจริยธรรมส่งไปให้วิชาชีพเขาตัดสิน เราตัดสินแต่ผิดกฎหมาย ในขณะที่เวลาใช้ประกาศคสช.ที่ 97/2557 มักจะอ้างว่า ผิดเพราะว่า อาจจะยั่วยุปลุกปั่นทำให้สังคมเกิดความสับสนเกลียดชังกันและไม่เป็นกลาง ซึ่งมันเป็นเรื่องจริยธรรมแต่ว่า เอามาตัดสินว่า ผิดกฎหมาย ฉะนั้นถามว่า หลังจากมีประกาศและคำสั่งคสช. กสทช.เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างคือ การที่ทำให้กสทช.ขาดความรอบคอบ ไม่ค่อยระมัดระวัง อำเภอใจมากขึ้นจึงไปกระทบกับการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อ

 

สุดท้ายเมื่อมาวุ่นวายกับประกาศและคำสั่งคสช. มากนักก็เลยไม่ค่อยได้จับประเด็นเรื่องอื่นๆ เช่น เนื้อหาที่มีลักษณะงมงาย ไสยศาสตร์ โฆษณาเกินจริง หรือแม้แต่ภาษาหยาบคาย หากยังจำได้เคยมีอาจารย์นิด้าคนนึงร้องเรียนว่า มีช่องรายการหนึ่งใช้ภาษาไม่สุภาพ และกสทช.วินิจฉัยว่า ไม่ขัด มันก็ทำให้น้ำหนักและการพิจารณาเรื่องอื่นๆไม่ให้ความสำคัญไปสิ่งที่จริงอาจจะเข้าข่ายมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯก็อาจจะไม่ผิดไป มีความหย่อนยานและละเลยไปในการกำกับในมิติที่กระทบเด็กและผู้บริโภค  การอิงอำนาจของคสช.มาโดยที่ไม่ได้ใช้กระบวนการปกติและเอกชนก็ฟ้องร้องอะไรก็ลำบาก มันก็เลยกลามาเป็นสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เห็นว่า กสทช.ขาดความเป็นอิสระค่อนข้างจะมากในการทำงาน

 

หลากหลายมาตรฐานการทำงานของกสทช.-เปิดทางด่วนให้ผู้มีอำนาจ

 

สุภิญญา กล่าวว่า กรณีที่มีการตั้งคำถามถึงการพิจารณาที่ให้น้ำหนักไปกับช่องทีวีที่ถูกมองว่า เป็นขั้วตรงข้ามกับคสช.นั้น ต้องตอบว่า การทำงานมีหลายมาตรฐานอย่างที่หลายคนวิจารณ์ สิ่งที่สะท้อนออกมาคือ เหมือนกับว่า กสทช.ทำงานตามลำดับความสำคัญ พอมีเสียงสะท้อนกดดันมาก็ให้ทางด่วนกับทางผู้มีอำนาจ จะส่งเรื่องอะไรมาก็ทำทันที ในขณะเรื่องเนชั่นอาจจะอ้างว่า ไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาในระบบจริงๆ กสทช.จึงไม่ได้หยิบเข้ามาทำ แต่ว่าในขณะที่ของคสช.อาจจะมาในรูปของการสื่อสารทางตรงและจดหมายของคณะทำงานติดตามสื่อฯ กสทช.ก็จะทำงานตามขั้นตอนทันที แต่กรณีอื่นก็มักจะอ้างว่า ไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เดาเอาซะว่า ไม่มีการร้องเรียนเนชั่นเข้ามา ทำให้กสทช.ไม่สามารถนำเรื่องเข้ามาพิจารณาได้ นี่เป็นจุดอ่อนในการทำงานของกสทช. และเป็นเหตุผลว่า ทำไมคณะทำงานติดตามสื่อฯ ถึงต้องมีจดหมายมาตลอดเป็นลายลักษณ์อักษรเพราะพยายามจะทำให้เข้ากระบวนการทำงานของกสทช.ที่จะต้องมีเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการ

 

ประกอบกับการใช้ประกาศคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557 ที่ทำให้กระบวนการพิจารณาของกสทช.เริ่มไม่ละเอียดและเร็ว มีครั้งหนึ่งที่ไม่ให้ช่องรายการชี้แจงและสั่งปิดไปเลย ต่อมาเขาไปฟ้องศาลปกครอง และศาลคุ้มครองขั้นต้น เท่าที่จำได้คือ เริ่มลุแก่อำนาจคือ ว่า พอรับจดหมายร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อฯ ก็เหมือนกับนำเข้าบอร์ดอย่างรวดเร็ว และก็เหมือนกับสั่งระงับเลย ไม่ได้ชี้แจง หลายครั้งมันก็เป็นที่กสทช.ไม่รอบคอบ ลัดขั้นตอน กสทช.คงคิดว่า มั่นใจในอำนาจ ซึ่งก็มีการเตือนกันแล้ว ในหลายกรณีพอมันมีความเห็นของเสียงข้างน้อยคานเข้าไป มันก็จะเป็นคุณกับผู้รับใบอนุญาตเพราะว่า ศาลปกครองจะให้น้ำหนักกับการประชุมภายในมาก การบันทึกข้อคิดเห็นในการประชุมจะช่วยสนับสนุนให้ศาลปกครองวินิฉัย แต่พอระยะหลังมันไม่มีกระบวนการบันทึกมันก็ยากเหมือนกันว่า เวลาไปที่ศาลปกครองศาลอาจจะไม่เห็นช่องในรายละอียด ผู้รับใบอนุญาตก็อาจจะไม่เห็นกระบวนการว่า ตกลงมันลัดขั้นตอนหรือมีการเปิดเทปดูกันไหม

 

ตามปกติกรรมการกสทช.ทุกคนจะต้องทำการบ้านเปิดเทปดูก่อน แต่เราก็มีธรรมเนียมคือ จะมานั่งดูร่วมกันอีกครั้งเพื่อให้มันชัดเจนว่า มันผิดขนาดนั้นจริงหรือ แล้วมีการถกเถียงกัน บางครั้งก็เปิด บางครั้งก็ไม่ได้เปิด แต่ว่า เราสามารถพูดกระบวนการแบบนี้ได้ถ้าเราอยู่ข้างใน แต่ว่า ตอนหลังไม่ได้อยู่เลยไม่แน่ใจว่า ได้มีการเอาเทปมาดูหรือไม่ ถกกันไหมว่า ถ้อยคำไหนที่ผิด ถ้อยคำไหนที่ไม่ผิด

 

ภูมิหลังของกรรมการกสทช.ที่ไม่หลากหลาย-คสช. ทำลายความเป็นอิสระของกสทช.

 

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกสทช. กล่าวว่า กสทช.ไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานสื่อ มันก็มีส่วนที่ทำให้เป็นปัญหา เช่น ภูมิหลังส่วนใหญ่ของกรรมการกสทช.คือ ถ้าไม่เป็นทหารหรือตำรวจ ก็รับราชการกันมาก่อน มีคนที่พอจะมีมุมมองที่เปิดกว้างบ้างคืออยู่ในภาควิชาการและ NGOs ซึ่งก็มีน้อย ฉะนั้นวิธีคิดก็ค่อนข้างที่จะไปในทางที่ตัดสินอยู่บนพื้นฐานความคิดและความเชื่อส่วนตน ปราศจากหลักการรองรับ ในแง่ที่ตีความในทางของผู้มีอำนาจ วิจารณ์ผู้มีอำนาจคือกระทบต่อความมั่นคง มันไม่ใช่อำนาจนิยมเสียทีเดียว ไม่รู้จะอธิบายว่าอย่างไร แต่ถ้าเชียร์ผู้มีอำนาจมาก แม้ว่า มันจะลำเอียงก็ไม่มองว่า กระทบความมั่นคง
ซึ่งการใช้ดุลพินิจเช่นนี้ก็แน่นอนว่า ขาดภูมิหลังเรื่องวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน แต่ว่าจริงๆอาจจะไม่ใช่สาระประเด็นถ้าเกิดว่า คนเป็นกรรมการกสทช. มีการทำงานอย่างเที่ยงธรรมจริงๆ โดยสามัญสำนึกก็ควรจะมองออกไม่จำเป็นต้องจบวารสารศาสตร์หรือนิเทศศาสตร์อย่างเดียว

 

อย่างไรก็ตามการมีพื้นฐานก็จะดีกว่าอยู่แล้วเพราะมันจะเข้าใจความยืดหยุ่นและธรรมชาติของอาชีพนี้ว่า มันต้องตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐ แต่ว่า ในระดับขั้นปกติถ้าเราใช้สามัญสำนึกดู หลายเรื่องลึกๆกรรมการเขาพอรู้ แต่เขาคงรู้สึกว่า เขาต้องตัดสินมาในแนวนี้ ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ตัดสินเป็นอื่นคงลำบาก เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ขาดความอิสระไปแล้ว

 

ประเด็นสำคัญคือ การทำหน้าที่ของแต่ละคน ถ้าเราเลือกคนมาเป็นกสทช.ที่ภูมิหลังมาจากเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เขาก็มีแนวโน้มจะมีความเชื่อลักษณะเชิงอำนาจนิยม อนุรักษ์นิยมและการตัดสินใจเป็นบนลงล่าง (Top down decision) อยู่แล้ว มันอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองโดยตรง แต่ว่า เราก็พอจะเห็นมุมมองในการตัดสินเรื่องอื่นๆที่เป็นมุมมองเชิงสังคมวัฒนธรรมเหมือนกัน นอกจากนี้อายุและวัยด้วย นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง

 

แก่นสำคัญคือความกล้าหาญทางจริยธรรมที่ยืนหยัดในหลักการที่จะต้องเป็นกันชน เพราะผู้กำกับต้องอยู่ตรงกลางระหว่างเอกชนกับรัฐ ที่เขาไม่ให้อยู่ภายใต้กระทรวง ทบวง กรมเพราะว่า ถูกตั้งให้มาเป็นกันชน ปกป้องประโยชน์สาธารณะถ้าเอกชนทำอะไรที่ล้ำเส้น ขณะเดียวกันก็มาปกป้องสิทธิของผู้รับใบอนุญาตด้วย หากรัฐมาทำอะไรในทางที่จำกัดเสรีภาพ เขาถึงออกแบบเป็นองค์กรกำกับดูแลอิสระ แต่ว่า ต้องใช้จิตวิญญาณที่เป็นอิสระจริงๆ
โอเคถ้ากสทช.เป็นกรมประชาสัมพันธ์ เป็นกองทัพบกมันก็คงไม่แปลกอะไร เพราะว่าเขามีวัฒนธรรมแบบนี้แต่แรก ทีนี้คนจึงตั้งคำถามลักษณะว่า กสทช.ไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำงานสื่อเพราะว่า ผิดหวังและเสียดาย กสทช.มันออกแบบมาเป็นองค์กรกำกับอิสระ แต่สุดท้ายก็ยังทำงานในระบอบวัฒนธรรมแบบเดิม กสทช.ได้คนที่อยู่ในระบอบราชการและคนที่เป็นทหาร ตำรวจกว่าครึ่งหนึ่ง

 

กสทช.ยังขาดแนวปฏิบัติการกำกับสื่อ และการรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน

 

สุภิญญา เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมากสทช.ยังไม่มีแนวปฏิบัติของการกำกับเนื้อหาสื่อ ซึ่งทำให้เราต้องออกมาอธิบายต่อสังคมเป็นคราวๆไปว่า ทำไมกรณีนี้ถึงลงมติว่า ผิดหรือไม่ผิด เราก็เห็นกระบวนการทำงานว่า มันค่อนข้างขึ้นอยู่กับความคิดความเชื่อส่วนตนจริงๆขึ้นอยู่กับดุลพินิจแต่ละคน เพราะมันก็ไม่ได้มีเกณฑ์อะไรรองรับ จึงมีการพูดคุยกันภายในกลไกกสทช.เองว่า มันควรจะมีเกณฑ์ ถกเถียงกันอยู่สักพักก็ยังไม่ได้แนวปฏิบัติ จนเริ่มชุมนุมทางการเมือง ฝ่ายที่คุยเกณฑ์กันตอนแรก พอเริ่มมีประเด็นทางการเมือง ด่ากันไปมาผ่านทีวี เริ่มอึ้งทำอะไรไม่ถูก และรู้สึกว่า ถ้าออกเกณฑ์มาก็คงทำอะไรไม่ได้จึงไม่มีดีกว่า ปล่อยเลยตามเลย กลายเป็นเสรีภาพสุดๆในช่วงก่อนรัฐประหารอยากจะพูดอะไรกันด่ากันออกทีวีก็ได้ ถ่ายทอดการชุมนุม 24 ชั่วโมง กสทช.ก็ไม่ได้ตัดสินว่า ผิด

 

ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า จะต้องมีอะไรกันบ้างแล้วเพราะมันมีการเผยแพร่เนื้อหาหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง การปลุกระดมแต่เมื่อผลักดันเรื่องแนวปฏิบัติไม่สำเร็จ จึงหันมาผลักดันเรื่องการกำกับดูแลกันเอง (Self-regulation) แทน ตอนนั้นเราก็เลี่ยงไปทำในการจัดเวทีและเชิญแต่ละช่องทีวีและกลุ่มการเมืองมาคุยกัน ใช้กลไกทางสังคมและการกำกับดูแลกันเอง เรื่องข่าวละคร และวาไรตี้ หลายช่องใช้อ้างอิง เพียงแต่ว่า มันไม่ได้ผลทางกฎหมาย

 

ท้ายที่สุดเมื่อไม่มีแนวปฏิบัติในการใช้ดุลพินิจ แต่พยายามใช้การอ้างอิงจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่างๆ ถ้าเป็นเรื่องวัฒนธรรมเขาอาจจะทำหนังสือไปหากระทรวงวัฒนธรรมว่า แบบนี้ผิดไหม ถ้าเป็นเรื่องอาหารและยา ถามองค์การอาหารและยา ถามหน่วยงานโดยตรง เป็นการอ้างอิงเป็นฐานในการตัดสินใจ เราก็เสนอว่า เป็นแบบนี้ก็ได้ แต่ก็จะต้องทำให้ครบทุกฝ่าย ควรนำภาคประชาสังคมเข้ามาให้ข้อมูลในการอ้างอิงด้วย

 

ส่วนตัวก็คิดว่า การกำกับเนื้อหาจะต้องมีการสรุปบทเรียนออกมา บางทีบางเรื่องถ้ามันไม่มีเกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจนตายตัว เราต้องหาการอ้างอิงที่หลากหลาย สมมติว่า ตัดสินเรื่องขัดศีลธรรมอันดี การที่กสทช.จะตัดสินใจได้ มันก็เขียนเกณฑ์ลำบากเหมือนกัน ถ้าเห็นอวัยะเพศชัดเจนนี่คืออนาจารถูกไหม แต่บางทีถ้ามันเป็นภาพแค่ไหนถึงจะเหมาะสม ถ้าเป็นเนื้อหามันจะยากแล้ว ถ้าเราก้ำกึ่งไปว่า มันผิด โดยที่เราไม่มีข้อมูลอ้างอิงมันอาจจะเป็นการตัดสินบนความเห็นส่วนตนแล้ว

 

เราก็เสนอว่า เราควรดูเป็นกรณีได้เพื่อวางเกณฑ์ในกรณีที่ชัดเจน อย่างภาพออกหน้าจอ เราวางเกณฑ์ได้ คำหยาบคายก็ชัดเจน เราสามารถทำเป็นแนวปฏิบัติได้  บางเรื่องที่เป็นพหุนิยมทางความคิดหรือวัฒนธรรมอันนี้ก็เห็นด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นกับบรรทัดฐานทางของสังคมแต่ละยุค นอกจากนี้เพื่อรักษาพหุนิยมของสื่อ เกณฑ์การกำกับสื่อควรจะทำเป็นการปรึกษาหารือสาธารณะ(Public consultation)ประกอบการตัดสินใจของกสทช.ในท้ายที่สุด มากกว่าที่จะทำหนังสือถามหน่วยงาน  กลุ่มเกี่ยวข้องมาให้ความเห็น ชั่งน้ำหนัก ซึ่งเรายอมรับว่า สุดท้ายแล้วผลที่ออกมาไม่ถูกใจคนทั้งหมดหรอก แต่มันพอจะอธิบายได้ว่า ทำไมผลถึงออกมาเป็นเช่นนี้  สังคมก็พอรับได้

Article type: