1494 1540 1809 1322 1425 1882 1847 1757 1320 1662 1820 1544 1879 1374 1337 1431 1980 1305 1945 1219 1621 1762 1417 1043 1144 1378 1693 1041 1754 1515 1402 1922 1917 1169 1856 1231 1489 1944 1512 1644 1692 1621 1945 1956 1079 1790 1417 1863 1939 1195 1420 1270 1420 1816 1201 1590 1481 1278 1874 1123 1705 1434 1625 1455 1327 1358 1076 1657 1843 1429 1932 1938 1230 1838 1450 1057 1875 1276 1787 1063 1382 1863 1049 1956 1992 1937 1404 1335 1090 1738 1134 1695 1285 1508 1704 1187 1993 1544 1568 เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 2: จากความอึดอัดสู่แรงบันดาลใจในงานศิลป์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เพราะคุณอยู่เราจึงปรากฎ 2: จากความอึดอัดสู่แรงบันดาลใจในงานศิลป์

การยึดอำนาจของคสช.ในวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (22 พฤษภาคม 2557) นำมาซึ่งจุดจบของหลายๆสิ่ง เช่น จุดจบของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหารแต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประชาชนมีโอกาสออกเสียงประชามติ จุดจบของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรกในประเทศไทยและจุดจบของส.ว.ที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง (บางส่วน) ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ขณะเดียวกันการเข้ามาของคสช.ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอีกหลายๆสิ่ง 
 
ในขณะที่กลุ่มพลังที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองก่อนการรัฐประหารอย่างกลุ่มนปช.และกลุ่ม กปปส.ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวของตัวเอง กลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมหน้าใหม่ๆเริ่มแสดงตัวออกมาในฐานะตัวแสดงทางการเมืองที่ยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับคณะรัฐประหาร ขณะเดียวกันตัวแสดงกลุ่มอื่นๆเช่นศิลปินที่อาศัยปรากฎการณ์ในยุคคสช.เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เช่น Headache Stencil ศิลปินวาดภาพกราฟฟิตีล้อการเมืองกับการทำภาพนาฬิกาด้วยใบหน้าพล.อ.ประวิตร หรือกลุ่ม Rap Against Dictator กลุ่มศิลปินเพลงแรปที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างศิลปินที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันมาร่วมทำผลงานเพลงอย่าง ประเทศกูมี รวมทั้งแนวรบทางวัฒนธรรมบนโลกออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊กล้อการเมืองเช่น เพจไข่แมว 
 
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี การรัฐประหารไอลอว์ชวนย้อนดูว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของคสช.ที่เสรีภาพในการแสดงออกมอดไหม้ไปเพราะการบังคับใช้กฎหมายและกลไกอื่นๆอย่างการปรับทัศนคติ มีนักเคลื่อนไหว กลุ่มกิจกรรม หรือตัวละครใดบ้างที่เป็น "นกฟีนิกซ์" ที่ถือกำเนิดขึ้นจากเถ้าถ่านและซากปรักหักพังของเสรีภาพและออกโบยบินท้าทายอำนาจของคสช.ด้วยวิธีการต่างๆกัน ทั้งการต่อสู้ด้วยอุดมการณ์หรืออารมณ์ขัน
 
งานศิลปะข้างถนน "แสลงใจป้อม"
 
แม้การวาดภาพบนกำแพงในที่สาธารณะจะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 แต่งานศิลปะบนกำแพงหรือ graffiti เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในกรุงเทพและจังหวัดอื่นๆ graffiti ที่พ่นบนกำแพงมีทั้งตัวอักษรหรือภาพที่มีความหมายใดๆ แต่บางครั้งภาพ graffiti ก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อสื่อสารประเด็นทางการเมือง ในเดือนมกราคม 2561 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Headache Stencil โพสต์ภาพนาฬิกาปลุกที่หน้าปัดเป็นรูปพล.อ.ประวิตรพร้อมโพสต์ข้อความทำนองว่า "หมดเวลาแล้ว" หลังจากนั้นไม่นานผู้ใช้เฟซบุ๊กคนเดียวกันก็โพสต์ข้อความระบุว่าจากการทำงานศิลปะดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามที่บ้าน

1109
 
ภาพวาดกราฟฟิตีเสียดสีปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
เพจ  Headache Stencil สร้างขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2557 หรือประมาณ 3 เดือนหลังการรัฐประหาร ชื่อ Headache Stencil แปลตรงตัวได้ว่า "ลายฉลุที่น่าปวดหัว" ซึ่งเพียงแค่ชื่อของเพจศิลปินก็ดูจะตั้งใจส่งสัญญาณบางอย่างถึงผู้มีอำนาจแล้ว ภาพแรกที่เพจโพสต์เป็นภาพทหารถือปืนมีไก่ยืนอยู่บนหัว พร้อมเขียนข้อความบรรยายซึ่งแปลได้ว่า ได้รับแรงบรรดาลใจจากเหตุการณ์ในประเทศไทย  บนเฟซบุ๊กเพจของ Headache Stencil ไม่ได้มีเพียงแค่การเสียดสีการเมืองไทย บรรดาผู้นำโลกไม่ว่าจะเป็นชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซิวิโอ แบลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี หรือคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือต่างถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานข้างกำแพงส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา "ท่านผู้นำ" ของไทยก็ถูกหยิบไปวาดภาพล้อหลายภาพ เช่นภาพพล.อ.ประยุทธ์ทำท่ากำลังพ่นสีสเปรย์โดยที่กระป๋องสเปรย์มีตัวเลข "44" คล้ายต้องการจะสื่อถึงการใช้อำนาจตามาตรา 44   
 
1110
 
ภาพล้อพล.อ.ประยุทธ์พ่นสีสเปรย์ยี่ห้อ 44 (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
สำหรับภาพที่ทำให้ชื่อของ Headache Stencil กลายเป็นที่สนใจของคนในวงที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะในสายตาของฝ่ายความมั่นคง น่าจะเป็นภาพล้อปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ซึ่งถูกโพสต์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 โดยภาพกราฟฟิติชิ้นดังกล่าวถูกวาดที่สะพานลอยแห่งหนึ่ง Headache Stencil ถ่ายภาพกราฟฟิตีดังกล่าวแล้วนำมาโพสต์อีกครั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 พร้อมเขียนข้อความแสดงความแปลกใจว่าโดยปกติหากเขาวาดภาพการเมืองมักจะถูกลบภายในไม่เกินสามวัน แต่ครั้งนี้งานอยู่ได้นานกว่าปกติแปลว่าครั้งนี้แม้แต่เจ้าหน้าที่เองก็ไม่พอใจพล.อ.ประวิตรหรือเปล่า 
 
หลัง Headache Stencil วาดภาพล้อพล.อ.ประวิตรและนำภาพดังกล่าวมาโพสต์บนเฟซบุ๊กได้สามถึงสี่วัน ก็มีรายงานว่าตัวเขาถูกเจ้าหน้าที่มาติดตามเฝ้าที่คอนโดเกือบตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นการคุกคามจนต้องหลบไปอยู่ที่อื่น หลังถูกเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามครั้งนั้น Headache Stencil ยังคงทำภาพเสียดสีการเมืองอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2561 - 5 กรกฎาคม 2561 Headache Stencil จัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่ Voice Space ภายใต้ชื่อ Welcome to the dark side ภายในงานมีการเนรมิตรกำแพงจำลองขึ้นมาเพื่อให้ Headache Stencil ได้ใช้สร้างสรรค์ผลงานซึ่งนอกจากภาพล้อนาฬิกาหน้าพล.อ.ประวิตร เขายังได้สร้างสรรค์ผลงานอื่นๆ เช่น ภาพเรือดำน้ำ และภาพปกนิตยสารไทม์ภาพปกพล.อ.ประยุทธ์ที่มีข่าวว่าถูกห้ามขายในไทยด้วย
 
1111
 
ภาพวาดเสียดสีกรณีที่มีข่าวว่านิตยสารไทม์ฉบับภาพปกพล.อ.ประยุทธ์ถูกห้ามขายในไทย ในนิทรรศการ Welcome to the Dark Side
 
เมื่อครั้งที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ถูกเรียกตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (จากกรณีไปปรากฎตัวที่หน้าสน.ปทุมวันระหว่างที่กลุ่มนักศึกษาที่ชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพในวันครับรอบหนึ่งปีการรัฐประหารไปรวมตัวกันที่สน.ปทุมวันเพื่อแจ้งความดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเกิดเป็นการชุมนุมย่อยๆ)  Headache Stencil ก็วาดภาพใบหน้าของธนาธรพร้อมข้อความ #savethanathorn ซึ่งต่อมามีคนนำภาพดังกล่าวมีคนนำไปทำเป็นเสื้อยืดและป้ายชูให้กำลังใจในวันที่เขาต้องเข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ 
 
1112
 
#savethanathorn (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
ล่าสุดช่วงต้นเดือน พฤษภาคม 2562 headache stencil ถูกเจ้าหน้าที่ตามมาเฝ้าที่ที่พักอีกครั้งหลังเขาไปวาดภาพล้อพล.อ.ประวิตรบนสะพานลอยแห่งหนึ่ง แต่ถึงแม้ว่าจะถูกคุกคาม ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 5 ปีการรัฐประหาร Headache Stencil ก็ประกาศจัดแสดงงานศิลปะริมถนน โดยระบุว่าเพื่อให้สามารถสร้างผลงานได้มากที่สุดเขาจะยังไม่ประกาศสถานที่และเวลาที่จะสร้างสรรค์ผลงานแต่อาจจะส่งข่าวให้ไปบอกกันแบบปากต่อปากช่วงใกล้ๆเวลาเริ่มงานเลย 
 
1113
 
นิทรรศการริมถนน After Party (ภาพจากเฟซบุ๊ก Headache Stencil)
 
1119
 
งานกราฟฟิตีของศิลปินนิรนาม เสียดสีปมนาฬิกาของพล.อ.ประวิครบนกำแพงแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีภาพอื่นวาดทับไปแล้ว 
 
Rap Against Dictatorship  - จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์ เสียงเพลงแสลงหูของผู้มีอำนาจ
 
"ประเทศที่ปลายกระบอกคอยจ่อที่ปลายกระเดือก
ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิ์เลือก
ประเทศที่ด่าไม่ได้ทั้ง ๆ ที่ติดที่ปลายเหงือก
ประเทศที่สิ่งที่มึงทำผู้นำจะส่องตามเสือก
ประเทศที่อธิปไตยถูกยึดไว้โดยคนสถุน
ประเทศที่มึงจะต้องเลือกจะอมความจริงหรืออมกระสุน
ประเทศที่ขุนกินเบี้ยมีเหี้ยและยิงเป็นฝูง
ประเทศกูมี ประเทศกูมี"
 
คือบางช่วงบางตอนเนื้อเพลง "ประเทศกูมี" เพลงแร๊ปเสียดสีสังคมและการเมืองของกลุ่มแร๊ปเปอร์ที่รวมตัวกันเป็นการเฉพาะกิจภายใต้ชื่อ Rap Against Dictatorship แม้ถ้อยคำที่ใช้ในเพลงอาจจะดูไม่สุภาพสำหรับผู้ฟังบางส่วนแต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้อยคำเหล่านั้นได้สะท้อนสถานการณ์ในยุคสมัยแห่งการรัฐประหารของคสช.ออกมาได้อย่างหมดจด "ประเทศที่บอกเสรีแต่ดันไม่มีสิทธิเลือก" สื่อถึงสภาวะที่ประชาชนไม่มีโอกาสใช้สิทธิเลือกผู้บริหารทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศมานานกว่าสี่ปี หรือท่อน "ประเทศที่ด่าไม่ได้ทั้งๆที่ติดปลายเหงือก" ที่สะท้อนถึงสภาวะที่การวิพากษ์วิจารณ๋ผู้มีอำนาจอย่างคสช.อาจนำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีหรือปรับทัศนคติจนหลายคนเลือกที่จะไม่พูดอะไรออกมาแม้จะมีความในใจ เป็นต้น
 
1114
 
ศิลปิน Rap Against Dictatorship ส่วนหนึ่งร้องเพลง #ประเทศกูมี ในงานรวมพลคนเช็คบิลเผด็จการ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 27 ธันวาคม 2561
 
มิวสิควิดีโอเพลง ประเทศกูมีถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ยูทูปในวันที่ 22 ตุลาคม 2561 ซึ่งจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคน 2562 เวลา 19.40 น. เพลง ประเทศกูมี มียอดรับชมบนยูทูปแล้ว 63,623,647 วิว กระแสของเพลงประเทศกูมีสูงถึงขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องออกมาแสดงท่าทีบางอย่าง เช่น พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้สัมภาษณ์ว่า มิวสิกวิดีโอ "เพลงประเทศกูมี" น่าจะเข้าข่ายผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ซึ่งมองในเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้บรรยากาศการลงทุนกำลังดี แต่เนื้อหาของเพลงมีการวิพากษ์วิจารณ์ประเทศในเชิงลบ  
 
ความนิยมของเพลง "ประเทศกูมี" ร้อนถึงบุคคลในรัฐบาลหรือหน่วยงานราชการอื่นๆต้องออกมาแสดงความเห็นอะไรบางอย่าง พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.ที่ดูแลงานด้านความมั่นคงระบุว่าเนื้อเพลงอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายถึง 50% และทางตำรวจจะทำการตรวจสอบว่าเข้าข่ายขัดคำสั่งคสช.หรือไม่ ความร้อนแรงของเพลงประเทศกูมียังร้อนถึงรัฐบาลโดยพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ถึงกับแสดงความเห็นว่า ในส่วนรัฐบาล รู้สึกเสียใจ เพราะสุดท้ายความเสียหายตกอยู่กับประเทศ ขณะที่พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ก็ออกมาระบุว่า ฝ่ายกฎหมายของ คสช.กำลังตรวจสอบกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship อยู่ว่าสังกัดค่ายไหนและเจตนาของการนำเสนอเพลงนี้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ใจหรือมีเจตนาแอบแฝง แต่ท้ายที่สุดอาการ "ฮึี่ม" ของบุคคลในรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงก็ดูจะเป็นการแสดงออกเพื่อแก้เกี้ยวไปเท่านั้นเพราะต่อมาตัวพล.ต.อ.ศรีวราห์ที่เคยออกมาบอกว่าเนื้อเพลงมีความสุ่มเสี่ยงก็ยอมรับว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นยังไม่มีหลักฐานเอาผิดจึงฟังได้และแชร์ได้ 
 
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มศิลปินแร็ปที่ร่วมกันผลิตผลงานเพลง "ประเทศกูมี" ภายใต้ชื่อ "Rap Against Dictatorship" อยู่ที่จุดยืนทางการเมืองของคนในกลุ่ม ที่แม้แต่ละคนจะมีมุมมองที่ต่างกันแต่ก็สามารถมาสร้างสรรค์งานร่วมกันได้ ณัฐพงศ์ ศรีม่วง หรือ “Liberate P” หนึ่งในศิลปิน Rap Against Dictatorship กล่าวในงานเสวนา "ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน" ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า แนวคิดแรกของการทำเพลงประเทศกูมีเกิดจากการอยากบอกเล่าว่า ประเทศของกูมีอะไรแต่ตอนแรกเขาก็ยังแต่งเพลงไม่จบได้แต่ทำเป็นเพียงอินโทรของเพลง ในเวลาต่อมาก็มีรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองต่างจากเขาทักมาว่าชอบอินโทรของเพลงและอยากเข้ามาฟีทเจอริ่งด้วย ท้ายที่สุดก็เลยไปรวบรวมกลุ่มศิลปินที่อาจจะไม่ได้มีความเห็นทางการเมืองตรงกันแต่มีความในใจบางอย่างที่อยากพูดถึงสิ่งที่ "ประเทศกูมี" มาทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นเพลงขึ้นมา งานเพลง "ประเทศกูมี" จึงไม่ใช่การรวมตัวของคนเห็นต่างที่เคลื่อนไหวคัดค้านคสช.ในฐานะ "ขาประจำ" หากแต่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน เพราะสะท้อนความคิดว่าในมุมมองของแต่ละคน ประเทศของพวกเขามีอะไร
 
ปรากฎการณ์ "ประเทศกูมี" ทำให้คนในแวดวงศิลปินออกมาทำงานศิลปะโต้ตอบทั้งในลักษณะเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น สัญญาลักษณ์ ดอนศรีฐิติโชติ หรือ สัญญาลักษณ์ ดอนศรี ศิลปินลูกทุ่งชาวจังหวัดบุรีรัมย์วัย 53 ปี (นับอายุถึงเดือนตุลาคม 2561 ที่คลิปของเขาถูกเผยแพร่) ที่เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นการชั่วคราวว่า พ่อใหญ่ ส.แร๊พเต้อร์ พร้อมทั้งหยิบเสื้อคลุมฮู้ดมาสวมโชว์สเต็ปเพลงแร็ป "ประเทศมึงไม่มี" ในสไตล์ไทบ้านโดยหยิบเนื้อหาเพลงประเทศกูมีบางส่วนมาต่อยอดเสียดสีรัฐบาลและสถานการณ์บ้านเมือง เช่น ท่อน "ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะไรเฟิล" ถูกเอามาต่อเป็น

"ประเทศที่เสือดำ เจ้าสัวตัดหำไปทำซุป ตำรวจงิบๆงุบๆ ชักช้าเหมือนปาหี่"

หรือ โยชิ 300 นักแปลงเพลงที่หยิบเอาทำนองเพลงประเทศกูมีมาใส่คำร้องเพื่อเสียดสีปฏิกิริยา "หัวร้อน" ของผู้มีอำนาจรัฐต่อเพลงประเทศกูมี ขณะเดียวกันฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเพลงประเทศกูมีก็มีการสร้างผลงานเพลงออกมาตอบโต้ เช่น สมจิตร จงจอหอ อดีตแชมป์มวยสากลสมัครเล่นกีฬาโอลิมปิกปักกิ่ง 2008 ที่แต่งเพลงมาตอบโต้ท่อนหนึ่งว่า

“(มาดูกูแร็ป) เพราะกูเป็นคนในแผ่นดินนี้ และกูก็รักในประเทศนี้ ถ้ากูจะพูดถึงกรุงเทพ ที่เป็นเมืองศิวิไลมีวัดวาอารามมากมายที่ใครใครก็อยากเข้ามา ประเทศกูมี..." 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ ประเทศกูมี คนหนักแผ่นดิน ซึ่งหากดูจากชื่อเพลงและเนื้อร้องของเพลงตอนหนึ่งที่แต่งว่า   
 
"มันมีคนอยู่หนึ่งประเภท ปากจ้องจะหาเรื่องจะด่าจะว่าประเทศ 
มือไม่พายเอาเท้าราน้ำพอเห็นแล้วรู้สึก Affraid 
บ้าการเมืองมากนั้นควรไปแผนกจิตเวช 
ประเภทที่สอง คือไม่ชอบโกงกิน 
แต่ปากก็อยู่ไม่สุขยุยงปลุกปั่นกันจริงๆ 
ด่าคนไทยด้วยกันไหนบอกว่ารักกันอะมันไม่จริง 
คนแบบนี้นี่แหละที่เค้าเรียกว่าหนักแผ่นดิน" 
 
เพลงประเทศกูมี คนหนักแผ่นดินก็น่าจะเป็นหนึ่งในงานเพลงที่มุ่งตอบโต้เพลงประเทศกูมีด้วย โดยสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพลงประเทศกูมี คนหนักแผ่นดิน น่าจะอยู่ที่จังหวะการเผยแพร่ ที่เพลงดังกล่าวถูกเผยแพร่บนยูทูปในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 สี่วันหลังผบ.ทบ.ออกมาตอบโต้กรณีที่มีนักการเมืองหาเสียงว่าจะลดงบประมาณกองทัพว่าให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดิน  ขณะที่เพลงประเทศกูมี คนหนักแผ่นดินที่เผยแพร่บนยูทูปก็ถูกตั้งค่าความเป็นส่วนตัวไม่ให้ผู้ชมสามารถเขียนคอมเมนท์ได้  
 
ใกล้จะครบ 5 ปีของการรัฐประหาร ศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictator ยังคงสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาต่อไป 22 มีนาคม 2562 หรือสองวันก่อนวันเลือกตั้ง ยูทูปของ Rap Against Dictatorship เผยแพร่เพลง 250 สอพลอ ซึ่งเป็นผลงานเพลงร่วมของศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship บางส่วน เนื้อหาของเพลงเสียดสีส.ว. 250 คน ว่าคนเหล่านี้มีที่มาจากการเลือกกันเองในคนกลุ่มน้อยแต่จะมาคุมชะตากรรมของส.ส.ที่ประชาชนเลือกมาเป็นผู้แทน แม้เพลง 250 สอพลอ จะไม่เป็นกระแสโ่งดังเหมือนเพลง "ประเทศกูมี" แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าตราบเท่าที่คสช.และกลไกอื่นๆมีการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ก็พร้อมจะสร้างสรรค์งานเพลงนำเสนอสู่สาธารณะอย่างเผ็ดร้อน
 
สำหรับคนในแวดวงการเพลงนอกจากศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship แล้ว กลุ่มศิลปินพังค์ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีการนำเสนอผลงานเพลงวิพากษ์วิจารณ์คสช. ในเดือนเมษายน 2561 กลุ่มศิลปินพังค์มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก "จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์" เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมคอนเสิร์ตที่พวกเขาตั้งใจจะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2561 ในโอกาสที่คสช.ยึดอำนาจและบริหารประเทศมาครบสี่ปี คลิปโปรโมทคอนเสิร์ตครั้งนั้นก็ถูกทำขึ้นในแบบแสบๆคันๆมีนักร้องหน้าตายคนหนึ่งมายืนร้องเพลง Happy Birthday เวอร์ชันปกติให้คสช.จากนั้นท่วงทำนองเพลงก็เปลี่ยนเป็นเพลงวันเกิด "เวอร์ชันพิเศษ" ก็ที่นักร้องคนเดิมจะสับเค้กที่แต่งหน้าด้วยคำว่า 4 years หรือ 4 ปี ซึ่งน่าจะหมายถึงสี่ปีของคสช.จนเละ 
 
คอนเสิร์ต จะสี่ปีแล้วนะ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤษภาคม 2561 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยทางเจ้าของสถานที่ขอให้ทางผู้จัดตัด "คำสร้อย" ท้ายชื่อ จะสี่ปีแล้วนะ ออกไปเพื่อความเหมาะสม จากคำบอกเล่าของผู้จัดงานซึ่งขอสงวนตัวตน กลุ่มนักดนตรีพังค์ที่มาร่วมคอนเสิร์ตครั้งนั้นมีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นสังคมและการเมือง แต่พวกเขาก็ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มไหนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนเสื้อแดง พันธมิตร หรือกลุ่มกปปส. พวกเขาเพียงแต่ต้องการมารวมตัวกันเพื่อแสดงความอึดอัดและไม่พอใจต่อคสช. ในแบบฉบับของพวกเขาเอง สำหรับบรรยากาศในวันงาน ทางผู้จัดเล่าว่าตำรวจมากันเยอะมากทั้งในและนอกเครื่องแบบ เนื้อเพลงที่เผ็ดร้อนและรุนแรงทำให้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุยกับเขาระหว่างงานหลายครั้ง บรรยากาศในงานร้อนแรงขึ้นเมื่อแผ่นป้ายโปสเตอร์ของงานที่มีภาพชายใบหน้า "คล้าย" พล.อ.ประยุทธ์ถุกนำมาเผาและกระทืบ งานมาถึงจุดเดือดเมื่อศิลปินที่มาร่วมงานวงหนึ่งตะโกนชื่อบุคคลสำคัญสองคนในคสช.พร้อมกับถ้อยคำด่าที่อาจจะรุนแรงและหยาบคายในสายตาใครบางคน เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาเจรจาและแจ้งกับผู้จัดว่าจะขอเชิญตัวศิลปินวงดังกล่าวไปพูดคุยที่สน.ชนะสงครามซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบท้องที่ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในวันนั้นจบลงโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหากับใคร 
 
1115
 
โปสเตอร์งาน จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก 5ปีแล้วนะไอ้สัตว์)
 
ทางผู้จัดคอนเสิร์ตพังค์ยังวางแผนจะจัดมินิคอนเสิร์ตอีกครั้งในเดือน พฤศจิกายน 2561 ที่ดาดฟ้าของเกสต์เฮาสต์ The Overstay ซึ่งอยู่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 แต่การจัดงานครั้งนั้นต้องถูกยกเลิกไปเพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไป "พูดคุย" กับทางเจ้าของสถานที่  แม้ว่าในโอกาสที่กำลังจะครบ 5 ปี ของคสช. เพจ "จะสี่ปีแล้วนะไอ้สัตว์" ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น "5ปีแล้วนะไอ้สัตว์" จะยังไม่มีความเคลื่อนไหวหรือกำหนดการว่าจะจัดกิจกรรมใดๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือปรากฎการณ์ที่นักดนตรีกลุ่มหนึ่งซึ่งปกติน่าจะไม่ใช่กลุ่มคนที่พบตัวได้ตามสถานที่ชุมนุมต่อต้านคสช. ได้ออกมาแสดงตัวและความไม่พอใจในรูปแบบของพวกเขาแล้ว
 
ไข่แมว ปรากฎการณ์เพจล้อการเมืองหลังการรัฐประหาร  
 
เพจล้อการเมืองบนเฟซบุ๊ก เป็นอีกหนึ่งในช่องทางที่ศิลปินบางส่วนเลือกใช้เพื่อแสดงจุดยืนและความคิดเห็นของพวกเขาต่อการบริหารงานของคสช. ซึ่งเพจการ์ตูนล้อการเมืองที่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่พูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเพจ "ไข่แมว" เพจการ์ตูนล้อที่นำเสนอเป็นการ์ตูนสี่ช่อง บุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองแต่ละคนถูกนำมาดีไซน์ใหม่ให้มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น พล.อ.ประยุทธ์ถูกแทนค่าด้วยนายพลมีหนวดกระจุกเล็กๆบนใบหน้าคล้ายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกดีไซน์เป็นชายสวมสูทที่ถูกเรียกขานว่า แจ็คแม้ว หรือพล.อ.ประวิตร ถูกดีไซน์เป็นตัวการ์ตูนในเรื่องวันพีช เป็นต้น เพจไข่แมวปรากฎตัวครั้งแรกในวันที่ 21 เมษายน 2559 และในเวลาเพียงไม่ถึงสองเดือนในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ก็มียอดคนกดไลค์สูงถึง 109,345 คน
 
1116
 
ภาพล้อกรณีตูนบอดีแสลมวิ่งระดมทุนให้โรงพยาบาล (ภาพจากเว็บไซต์ วอยซ์ ทีวี ภาพต้นฉบับไม่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน)
 
เพจไข่แมวมักจะหยิบปรากฎการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปมาทำภาพล้อแบบแสบๆคันๆ เช่น นำข่าวตูนบดีแสลมวิ่งหาทุนให้โรงพยาบาล กับข่าวที่รัฐบาลมีแผนจะซื้อเรือดำน้ำจากจีนมาแซวเป็นภาพตูนบอดีแสลมวิ่งจนกล้ามขาขึ้นขณะที่ "ท่านผู้นำ" กำลังถือถังช็อปปิงเรือดำน้ำอย่างมีความสุข
 
1117
 
ภาพล้อกรณีกระทรวงดิจิตัลฯออกประกาศให้ประชาชนงดติดต่อกับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (ภาพจากเว็บไซต์ วอยซ์ ทีวี ภาพต้นฉบับไม่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน)
 
หรือเมื่อครั้งที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ออกประกาศให้ประชาชนงดการติดต่อ กับบุคคลสามคน ได้แก่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกียวโต และแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ไข่แมวก็วาดภาพล้อของบุคคลทั้งสามเป็นร็อคสตาร์กำลังแสดงคอนเสิร์ต ก่อนจะมีภาพปลั้กไฟถูกดึงและมี "ท่านผู้นำ" ยืนทำหน้าฉุนเฉียวอยู่กลางคอนเสิร์ตที่ถูกปิดไฟเวทีจนมืด เป็นต้น ลูกเล่นที่สำคัญอีกอันหนึ่งของเพจไข่แมวคือการซ่อนใบหน้าของ "แจ็คแม้ว" ไว้ในที่ใดที่หนึ่งของภาพ ให้ลูกเพจตามหากันโดย "ไข่แมว" ให้เหตุผลว่า แจ๊คแม้วมักถูกโยงเข้ากับทุกเรื่องเขาก็เลยเอารูปไปใส่ไว้ในเบื้องหลังของทุกๆภาพ
 
ช่วงเดือนมกราคมปี 2561 เพจไข่แมวหายไปจากเฟซบุ๊กอย่างเป็นปริศนา  ก่อนที่จะกลับมาอีกครั้งในช่วงกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ในชื่อเพจ ไข่แมว X ซึ่งมีข้อมูลว่าเพจดังกล่าวถูกสร้างไว้ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2560 แล้วแต่เพิ่งถูกนำมาใช้อย่างจริงจังหลังเพจเก่าปิดตัวไป  ตัวตนของไข่แมวยังคงเป็นปริศนาจนถึงปัจจุบันแต่ไข่แมวจะเป็นใครคงไม่สำคัญเท่ากับผลงานการ์ตูนล้อที่ถูกทำออกมาอย่างต่อเนื่อง
 
ในเดือนมีนาคม 2561 สำนักข่าวประชาไทยประกาศเปิดให้จองหนังสือ "ไข่แมว" ซึ่งในหนังสือดังกล่าวไม่เพียงมีการนำภาพการ์ตูนของไข่แมวจากเวอร์ชันออนไลน์มาลงในหน้ากระดาษเท่านั้นหากแต่ยังมีการเขียนบอกเล่าบริบททางการเมืองที่ที่แวดล้อมหรือเป็นที่มาของภาพล้อเหล่านั้นด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 2561 "ไข่แมว" ยังจัดนิทรรศการ ไข่แมว x กะลาแลนด์ โดยนำภาพล้อทั้งที่เคยเผยแพร่บนเพจและภาพที่ทำขึ้นใหม่ มาจัดแสดงในแกลลอรี รวมทั้งมีการผลิตตุ๊กตารูปแจ๊กแม้ว "ท่านผู้นำ" และ "ตาใส" เด็กหนุ่มตาใสหน้าซื่อที่คาดว่าน่าจะใช้เป็นภาพแทนของคนไทย มาทำเป็นเกมคีบตุ๊กตาให้ผู้เข้าร่วมนิทรรศการหยอดเหรียญเสี่ยงดวงว่าจะจับตัวไหนได้   
 
1118
 
ผู้เข้าร่วมนิทรรศการไข่แมวเล่นเกมคีบตุ๊กตาหยอดเหรียญ ในนิทรรศการ ไข่แมว x กะลาแลนด์ ที่ Gallery Artist + Run

มาถึงวันนี้เพจไข่แมวยังคงผลิตผลงานสู่โลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาพการ์ตูน "ตาใส" ภาพแทนของ "คนไทย" อาจแฝงนัยยะที่ให้ความหวังกับการเมืองไทยในอนาคตได้บ้าง สำหรับผู้มีอำนาจ "ตาใส" อาจเป็นเพียงผู้ไม่รู้อิโน่อิเหน่และเป็นผู้ถูกกระทำ เช่นภาพ ที่"ตาใส" ที่ทำได้แค่มองการนับคะแนนเลือกตั้งที่มีปัญหา แต่ในขณะเดียวกัน ตาใสก็มีนัยยะของความดื้อ ดังสำนวนไทย "ดื้อตาใส" เช่นภาพ "ตาใส ออกไปหย่อนบัตรเลือกตั้งจนทำให้สถานะของ "ท่านผู้นำ" ต้องสั่นคลอน คล้ายกับไข่แมวตั้งใจจะเตือนเหล่าผู้มีอำนาจว่า หากพวกเขายังคงใช้อำนาจแบบ "ไม่เกรงใจประชาชน" ตาใสจากเป็นเพียงคนไม่รู้อิดโหน่อิเหน่ก็อาจกลายเป็นตาใสที่ดื้อจนทำให้ผู้มีอำนาจอยู่ต่อไปไม่ไหวก็ได้
 
 
Report type: