1495 1332 1318 1744 1440 1625 1283 1931 1996 1893 1411 1143 1988 1917 1302 1721 1798 1370 1108 1370 1947 1915 1589 1711 1712 1693 1050 1648 1533 1290 1641 1632 1064 1554 1115 1721 1919 1292 1480 1092 1606 1314 1622 1694 1526 1990 1996 1606 1623 1232 1084 1801 1588 1510 1096 1259 1388 1358 1535 1164 1036 1229 1775 1091 1995 1136 1277 1081 1029 1934 1195 1828 1767 1593 1238 1363 1911 1305 1426 1083 1721 1500 1156 1863 1174 1311 1989 1953 1325 1056 1302 1837 1011 1899 1539 1860 1202 1257 1942 คดีการเมือง การต่อสู่ และการจองจำ ก่อนถึงวันอิสรภาพของไผ่ดาวดิน | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คดีการเมือง การต่อสู่ และการจองจำ ก่อนถึงวันอิสรภาพของไผ่ดาวดิน

3 พฤษภาคม 2562 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2562 โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวออกมาในช่วงงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่10 จตุภัทร์ หรือไผ่ ดาวดิน อดีตนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน เจ้าของรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2560 ซึ่งถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ) จากการแชร์ บทความพระราชประวัติรัชกาลที่10 ของเว็บไซต์บีบีซีไทยและถูกคุมขังในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 คือหนึ่งในผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวตามพระราชกฤษฎีกานี้ 
 
ตลอดระยะเวลา 870 วัน หรือ 2 ปี 4 เดือน 19 วัน  ไผ่ไม่เพียงต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเพราะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หากแต่เขายังต้องวนเวียนขึ้นศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหารเพื่อต่อสู้คดีอีกสี่คดีคดีที่เขาตกเป็นจำเลยเพียงเพราะไปร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เป็นการต่อต้านคสช.หรือมรดกของคสช. ได้แก่ คดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น คดีการชุมนุมของ 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ คดีงานเสวนาพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานและคดีแจกเอกสารรณรงโหวตโนประชามติที่ตลาดภูเขียว
 
ในโอกาสที่ไผ่ได้รับการปล่อยตัว ไอลอว์ชวนผูัอ่านย้อนดูการแสดงออกอย่างสันติเพื่อต่อต้านการรัฐประหารและคสช. ตั้งแต่หลัง 22 พฤษภาคม 2557 การถูกตั้งข้อหาทางการเมือง การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 การต่อสู้คดีในศาลและการได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู จนถึงการต่อสู้หลังถูกปฏิเสธสิทธิในการพักโทษ ซึ่งดูเหมือนว่าตลอด 1,815 วันในยุคคสช. และ 870 ที่ต้องถูกคุมขัง ทางเดินของไผ่ดูจะเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยืนหยัดสู้มันจนถึงวันแห่งอิสรภาพ        
 
ไผ่ต้านลม ยอมหักไม่ยอมงอต่อการรัฐประหาร
 
ไผ่และเพื่อนๆนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ในวันแรกๆของการรัฐประหาร จากคำบอกเล่าของ ศุภณัฐหรือ 'เจ' อดีตสมาชิกกลุ่มดาวดิน เขาและเพื่อนๆในกลุ่มส่วนหนึ่งรวมทั้งไผ่ไปทำกิจกรรมอ่านเรื่องสั้นเกี่ยวกับเสรีภาพใกล้ๆรถถังที่จอดอยู่บริเวณห้างเซ็นทรัลขอนแก่นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 หรือหนึ่งวันหลังการรัฐประหาร หลังจากนั้นประมาณวันที่ 24 หรือ 25 พฤษภาคม สมาชิกกลุ่มดาวดินบางส่วนรวมทั้งไผ่ก็ไปพ่นข้อความคัดค้านการรัฐประหารด้วยสีสเปรย์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย เนื่องจากครั้งนั้นกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ได้ นักกิจกรรมกลุ่มดาวดินส่วนหนึ่งจึงถูก"เชิญ"ไปทำข้อตกลงว่าจะงดเคลื่อนไหวทางการเมืองในค่ายทหาร แต่ครั้งนั้นไผ่ไม่ได้เข้าไปด้วย 

1092
 
ไผ่และนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินถูกควบคุมตัวหลังแสดงสัญลักษณ์ต่อหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาระหว่างลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พฤศจิกายน 2557 (ภาพจากเด็กหลังห้อง)
 
การเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารของไผ่ครั้งแรกอาจจะยังไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมวงกว้าง ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีมีกำหนดไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดขอนแก่น  ระหว่างที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังมอบนโยบายกับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ไผ่กับเพื่อนที่เข้าไปอยู่ในงานได้ถอดเสื้อคลุมออกและเดินมายืนเรียงกันบริเวณหน้าโพเดียมที่พล.อ.ประยุทธ์ กำลังปราศรัยพร้อมทั้งชูสัญลักษณ์สามนิ้วโดยที่เสื้อยืดสีดำของทั้งห้าสกรีนข้อความที่เมื่อยืนต่อกันจะเป็นข้อความ "ไม่ เอา รัฐ ประ หาร" การแสดงออกครั้งนั้นถูกบันทึกภาพไว้โดยสื่อและมีการรายงานไปทั่วประเทศไผ่และกลุ่มดาวดินจึงเป็นที่รู้จักในฐานะกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แม้ครั้งนั้นพวกเขาจะยังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆแต่กลุ่มดาวดินและตัวไผ่ก็ตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
ไผ่มาถูกดำเนินคดีครั้งแรกเมื่อเขากับเพื่อนรวมเจ็ดคนนำป้ายผ้าเขียนข้อความ "คัดค้าน" รัฐประหารไปชูที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เพื่อประท้วงในโอกาสครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร ครั้งนั้นพวกเขาทั้งเจ็ดคนถูกควบคุมตัวไปจากที่ชุมนุมและถูกตั้งข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน หลังจากนั้นในช่วงเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ไผ่และเพื่อนๆกลุ่มดาวดินอีกหกคนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาก็เดินทางไปร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันจากการจัดกิจกรรมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่หน้าหอศิลป์กรุงเทพ 
 
1093
 
ไผ่และกลุ่มดาวดินมาให้กำลังใจและร่วมทำกิจกรรมกับนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพ มิถุนายน 2558
 
ในวันที่ 25 มิถุนายน  2558 ไผ่ และเพื่อนนักกิจกรรมกลุ่มดาวดินอีก 6 คนร่วมทำกิจกรรมกับนักกิจกรรมที่กรุงเทพอีกเจ็ดคน ร่วมกันเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย การทำกิจกรรมครั้งนั้นส่งผลให้ไผ่และเพื่อนอีก 13 คนถุกตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรงคือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปีและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน การถูกตั้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ไผ่และเพื่อนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลา 12 วันเพราะพวกเขาแถลงร่วมกันว่าจะไม่ขอประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี หากศาลจะปล่อยตัวในชั้นสอบสวนต้องเป็นการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ปรากฎว่าศาลอนุมัตคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนผลัดแรกก่อนจะมายกคำร้องในผลัดที่สองทำให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัว
 
รณรงค์ประชามติจนอดไปออกเสียงประชามติ
 
วันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถูกกำหนดให้เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะถูกนำมาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ซึ่งเคยถูกนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่สิ้นผล (ถูกฉีก) ไปเพราะการรัฐประหาร 2557 แม้ว่าคำถามของประชามติทั้งคำถามหลักว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่และคำถามพ่วงว่าจะเห็นชอบให้ส.ว.แต่งตั้งร่วมลงคะแนนเลือกนายกในช่วง 5 ปีแรกหลังมีรัฐสภาชุดแรกหรือไม่ จะมีสองตัวเลือกคือเห็นชอบและไม่เห็นชอบแต่ในทางปฏิบัติการรณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญกลับทำได้โดยไม่เสนอหน้ากัน 
 
ไม่มีข้อมูลว่าคนที่แจกเอกสารสนับสนุนให้ไปรับร่างรัฐธรรมนูญถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด ในขณะที่คนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกลับถูกดำเนินคดีไปตามๆกัน เช่น กลุ่มนักกิจกรรมและผู้ใช้แรงงานที่ไปแจกเอกสารรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิไปใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เคหะบางพลีรวม 13 คนถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2  
 
ไผ่เองก็เป็นนักกิจกรรมอีกคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสามกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมอ่านเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ  ที่หน้าหอสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งจบโดยไม่มีการดำเนินคดี กิจกรรมเสวนา "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน" และการไปแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดสดอำเภอภูเขียว กิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน" เป็นงานเสวนาที่มีกำหนดจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 30 - 31 กรกฎาคม หรือประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนวันออเสียงประชามติ ตั้งแต่คืนวันที่ 30 มีเจ้าหน้าที่เข้ามากดดันกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเตรียมสถานที่จัดงานเสวนาภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นวันที่ 31 ก็มีการเข้ามารื้อฉากหลังเวที ท้ายที่สุดแม้กิจกรรมจะดำเนินไปได้ แต่ก็อยู่ภายใต้การจับต่าโดยใกล้ชิดของฝ่ายความมั่นคงหลังจากนั้น หลังจากนั้นไผ่กับเพื่อนรวมเก้าคนก็ถูกออกหมายเรียกดำเนินคดี
 
1094
 
ไผ่และจำเลยคดีพูดเพื่อเสรีภาพ ถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าศาลทหารขอนแก่น มีนาคม 2561
 
นอกจากคดีนี้ไผ่ยังถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ประชามติอีกหนึ่งคดีจากกรณีที่เขาและเพื่อนอีกคนหนึ่งไปช่วยกันแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ตลาดสดภูเขียวจังหวัดชัยภูมิ เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคมหรือหนึ่งวันก่อนหน้าวันออกเสียงประชามติ ในวันเกิดเหตุไผ่และเพื่อนเพิ่งเริ่มแจกเอกสารได้ไม่กี่นาทีก็ถูกควบคุมตัวไปที่สภ.ภูเขียวทันที พวกเขาถูกขังในห้องขังของสถานีเป็นเวลาสองคืนทำให้ไม่มีโอกาสไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ https://freedom.ilaw.or.th/th/case/725 การถูกจับกุมตัวในคดีนี้ทำให้ไผ่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นครั้งที่สองเนื่องจา่กเขายืนยันว่าจะไม่ใช้สิทธิในการประกันตัวในชั้นสอบสวนและอดอาหารเพื่อประท้วงการจำกัดเสรีภาพของเขาจากการกระทำที่เขาเชื่อว่าไม่เป็นความผิด ไผ่ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดภูเขียวเป็นเวลา 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม จนถึงวันที่ 19 สิงหาคมได้รับอิสรภาพเพราะไผ่ยอมประกันตัวหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี 
 
อย่างไรก็ตามแม้ศาลจังหวัดภูเขียวจะยอมให้ไผ่ประกันตัวแต่เขาก็ยังคงไม่ได้รับอิสรภาพเพราะมีเจ้าหน้าที่จากจังหวัดขอนแก่นมารออายัดตัวเขาเนื่องจากไผ่มีหมายจับของศาลทหารขอนแก่นในคดีชุมนุมครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารที่ได้ระบุไว้ข้างต้น เขาจึงยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่รถของเรือนจำจะนำตัวไผ่ไปที่จังหวัดขอนแก่น แม่ของไผ่ที่มารอรับลูกชายก็ร้องขอกับทางเรือนจำว่าขอพบไผ่เพื่อนำใบมอบฉันทะเพื่อให้ลงทะเบียนเรียนแทนไปให้เซ็น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม แม่ของไผ่จึงไปคุกเข่าขวางรถของเรือนจำที่กำลังจะนำตัวไผ่ไปที่จังหวัดขอนแก่น สุดท้ายหลังใช้เวลาต่อรองกันประมาณหนึ่งชั่วโมง ทางเรือนจำจึงยินยอมให้แม่กับลูกได้พบกัน หลังถูกควบคุมตัวไปที่จังหวัดขอนแก่นไผ่ยังคงถูกคุมขังระหว่างการดำเนินกระบวนการฟ้องคดีก่อนจะมาได้รับการประกันตัวในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เท่ากับว่าเขาหลังได้รับการประกันตัวจากเรือนจำจังหวัดภูเขียวเขายังคงถูกจองจำต่ออีกห้าวัน 
 
คดีแชร์บทความบีบีซีไทย กับมรสุมลูกใหญ่ในชีวิต
 
เดือนตุลาคม 2559 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต หลังจากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 สำนักข่าวบีบีซีไทยเผยแพร่บทความพระราชประวัติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ไผ่แชร์บทความดังกล่าวบนเฟซบุ๊กของตัวเองพร้อมทั้งคัดลอกข้อความบางส่วนจากบทความมาโพสต์เป็นสถานะบนเฟซบุ๊กของเขาโดยตั้งค่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสาธารณะ ในวันเดียวกันพล.ท.พิทักษ์พล ชูศรี (ยศในขณะนั้น) เจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นได้ข้อร้องทุกข์กล่าวโทษไผ่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในวันเดียวกันหลังจากนั้นในวันที่ 3 ธันวาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังไปควบคุมตัวไผ่ระหว่างร่วมทำกิจกรรมธรรมยาตรากับพระไพศาล วิศาโลที่จังหวัดชัยภูมิ 
 
ในวันที่ 4 ธันวาคม ไผ่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนเพราะศาลเห็นว่าไผ่จะต้องเข้าสอบเพื่อสำเร็จการศึกษาและที่ผ่านมาเคยถูกดำเนินคดีการเมืองมาแล้วสี่คดีแต่ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อย่างไรก็ตามในวันที่ 19 ธันวาคม พนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดขอนแก่นถอนประกันไผ่เพราะเขามีพฤติการณ์เยาะเย้ยพนักงานสอบสวนด้วยการโพสต์ภาพประกอบพร้อมข้อความทำนองว่า เศรษฐกิจแย่เลยต้องหาเงินจากเงินประกันตัว จากนั้นในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นก็มีคำสั่งถอนประกันไผ่โดยให้เหตุผลว่าไผ่มีพฤติการณ์ “เย้ยหยันอำนาจรัฐ”และเขาก็สูญสิ้นอิสรภาพมาโดยตลอด 
 
1095
 
หนึ่งในภาพการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าศาลจังหวัดขอนแก่นซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ไผ่ถูกถอนประกัน ภาพจากประชาไท
 
มีข้อน่าสังเกตว่าคดีของไผ่มีลักษณะ “ปิดลับ” มาตั้งแต่ก่อนการสืบพยานแล้ว กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายคนหนึ่งของไผ่เปิดเผยในเดือนมกราคม 2560 ว่าในนัดไต่สวนคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยลับ แม้ไผ่และทีมทนายจะพยายามลุกขึ้นแถลงคัดค้านว่าการพิจารณาคดีต้องเป็นไปโดยเปิดเผยแต่ศาลก็ยืนยันเพียงว่า คดีนี้เป็น ”คดีความมั่นคง” ต้องพิจารณาโดยปิดลับ จนท้ายที่สุดในนัดนั้นไผ่ก็เชิญทนายของตัวเองออกจากห้องพิจารณาคดี ซึ่งทนายกฤษฎางค์เล่าเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีไว้โดยละเอียดว่า
 
1096
 
ภาพการ์ตูนล้อการเมือง ประเด็นการถอนประกันไผ่โดยไข่แมว (ปัจจุบันเข้าถึงลิงค์ต้นฉบับไม่ได้แล้ว)
 
“ผมจำได้ว่า ไผ่ยืนขึ้นและกล่าวกับผู้พิพากษาอย่างที่ผมเห็นว่า ทรนงองอาจอย่างยิ่งที่สุด ไผ่พูดด้วยเสียงราบเรียบอย่างอารมณ์ดีชนิดที่เป็นนิสัยของเขาว่า เมื่อท่านไม่ให้คนอื่นฟังการพิจารณาคดีนี้เขาก็ไม่ประสงค์ให้ทนายของเขาอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย เขาเชิญให้ทนายออกไปเขาจะว่าความต่อสู้เองเพราะเขาไม่เคยได้รับสิทธิอะไรอยู่แล้ว จึงขอสละสิทธิที่จะมีทนายความในวันนี้ด้วย”  
 
ในการต่อสู้คดีเบื้องต้นไผ่ให้การปฏิเสธ ศาลนัดสืบพยานคดีนี้นัดแรกในเดือนสิงหาคม 2560 เท่ากับว่าหากนับจากที่เขาถูกถอนประกันในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ไผ่ก็ต้องรอการพิจารณาคดีในเรือนจำเป็นเวลา 7 เดือน 13 วัน การสืบพยานคดีของไผ่ในเดือนสิงหาคม 2560 ดำเนินไปภายใต้บรรยากาศตึงเครียด ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องยกเว้นพ่อและแม่ของไผ่กับทนายความเข้าไปในห้องพิจารณาคดี ศาลยังสั่งห้ามทนายของไผ่เปิดเผยเนื้อหาในการสืบพยานต่อสาธารณะด้วย ท้ายที่สุดด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความกดดันประกอบกับการที่ศาลสั่งพิจารณาคดีเป็นการลับ ท้ายที่สุดในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ระหว่างที่การสืบพยานกำลังดำเนินไป ไผ่ก็ตัดสินใจรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ลงโทษจำคุกไผ่เป็นเวลาห้าปี และลดโทษเหลือ 2 ปี 6 เดือน เพราะไผ่รับสารภาพ 
 
ปากคำของผู้ไม่ยอมแพ้
 
จิตวิญญาณที่ไม่ยอมแพ้ของไผ่แสดงออกมาตั้งแต่ก่อนที่เขาจะรับโทษคดีมาตรา 112 แล้ว เมื่อครั้งที่ถูกจับกุมเพราะมาร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่กรุงเทพในเดือนมิถุนายน 2558 ไผ่แถลงคัดค้านคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนตอนหนึ่งว่า
 
"สิ่งที่พวกเราทำนั้นเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะเราพูดเรื่องการใช้อำนาจกฎอัยการศึกไม่ให้ชาวบ้านเคลื่อนไหว ทั้งเรื่องเหมืองทองและปิโตรเลียม การใช้กฎอัยการศึกเพื่อไม่ให้ชาวบ้านมาขัดขวาง เราพูดโดยสุจริต เพราะสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร การใช้อำนาจตามคำสั่ง ที่ 64/57 ทุกอย่างที่เราพูดเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ตามมาชาวบ้านไม่มีโอกาสได้ตัดสินใจหรือมีส่วนร่วมทั้งที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ
 
การรัฐประหารครั้งนี้เป็นการลิดรอนเสรีภาพของประชาชน การเคลื่อนไหวในนามขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เป็นความจริงที่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องยอมรับความคิดเห็นประชาชน เราได้เรียกร้องให้ทุกรัฐบาลยอมรับความเห็นประชาชน และการที่เรามาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิด…”
 
ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ไผ่เบิกความในฐานะพยานจำเลยในคดีการชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น โดยเขายืนยันความคิดความเชื่อเกี่ยวกับการแสดงออกของเขาที่กลายเป็นเหตุแห่งคดีตอนหนึ่งว่า 
 
สิ่งที่เขาตั้งใจสื่อสารออกไปในวันเกิดเหตุ คือการยืนยันว่าการรัฐประหารไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย ส่วนการแสดงออกด้วยการชูป้ายก็ไม่อาจทำให้คณะรัฐประหารออกไปได้ แต่เขาก็เลือกที่จะทำเพื่อยืนยันความเชื่อของเขาว่าการรัฐประหารเป็นปัญหา เขาเชื่อว่าสิ่งที่ทำไปเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง โดยคนที่ออกมาต่อสู้กับความอยุติธรรมไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่หรือยศ ถา บรรดาศักดิ์ แต่เป็นคนธรรมดาก็สามารถทำได้ 
 
"ผมก็มีชีวิตจิตใจมีความกลัวเหมือนกัน และเป็นสามัญชนคนธรรมดา และผมเห็นว่า “สู้ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ยังดีกว่าแพ้ที่ไม่คิดจะสู้” การมาเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองของไผ่ในคดีนี้ เขาปรากฎตัวที่ศาลทหารในชุดนักโทษเพราะเขาอยู่ระหว่างรับโทษในคดีมาตรา 112 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 
 
ในการไปศาลแต่ละครั้งไผ่ไม่เคยต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ครอบครัวและมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ขมักจะแวะเวียนไปเยี่ยมไผ่ทั้งที่เรือนจำและที่ศาลเวลาไผ่ต้องมารับการพิจารณาคดี นอกจากครอบครัว และลุงป้าๆ “พลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง” ที่มักรวมตัวไปเยี่ยมไผ่อยู่เป็นประจำแล้ว ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ก็เคยจัดกิจกรรมพานักกิจกรรมหรือนักศึกษาชาวต่างชาติไปเยี่ยมไผ่ที่เรือนจำในกิจกรรม Bring the world to Pai project  ซึ่งแม้จะถูกจองจำแต่ทุกครั้งที่ได้พบกับครอบครัวและเพื่อนพ้องน้องพี่ไผ่ก็ไม่ลืมที่จะยิ้มทักทายพวกเขาคล้ายกับจะบอกว่าหกคนข้างนอกยังสู้ ตัวเขาก็จะสู้ต่อไป     
 
ปริญญาชีวิต รางวัลที่ไม่ได้ไปรับ กับโอกาสที่สูญเสียไป
 
มีคำกล่าวว่าคุกหรือเรือนจำเป็นมหาลัยชีวิต หากเป็นเช่นนั้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ไผ่ได้รับอิสรภาพก็คงต้องถือเป็นวันที่ไผ่ “สำเร็จการศึกษา” ได้ปริญญาชีวิตตั้งแต่วัย 27 ปี 9 เดือน ซึ่งการต้องเข้าเรียน “มหาวิทยาลัยชีวิต” ของไผ่ก็แลกมาด้วยโอกาสหลายๆอย่างในชีวิตของเขา อย่างน้อยๆก็โอกาสในการใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ทั้งนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ไผ่น่าจะมีสิทธิได้รับการพักโทษปล่อยตัวก่อนกำหนดเพราะหากพิจารณาจากชั้นนักโทษที่ไผ่เป็นนักโทษชั้นดีและเหลือระยะเวลารับโทษอีกไม่นาน เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการพักโทษตามสิทธิแต่สุดท้ายเขาก็ถูกปฏิเสธสิทธิดังกล่าวเนื่องจากคณะกรรมการผู้พิจารณาการพักโทษเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำผิดต่อสถาบันหลักอันเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย นอกจากนั้นไผ่ยังเสียโอกาสในการเดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูประจำปี 2560 โดยรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือสิทธิมนุษยชน เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชนที่ต่อต้านการยึดอำนาจในเกาหลีใต้  โดยในเดือนพฤษภาคม 2560 และแม่ของจตุภัทร์ต้องเดินทางไปรับรางวัลแทนลูกชาย ไผ่ยังเสียโอกาสที่จะได้ถ่ายรูปรับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิตร่วมกับเพื่อนๆแต่ต้องมาสวมครุยถ่ายที่หน้าศาลทหารขอนแก่นแทนที่จะถ่ายในมหาวิทยาลัย 
 
1097
 
ไผ่ดาวดินสวมชุดครุยนิติศาสตร์บัณฑิตทับชุดผู้ต้องขังที่ศาลทหารขอนแก่น ธันวาคม 2560 ภาพจาก banrasdr photo
 
นอกจากนั้นตามพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับปี 2560 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ที่พ้นโทษไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้งสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง หากไผ่ต้องการเล่นการเมืองเขาก็จะต้องรอไปอีกอย่างน้อยสิบปีจากวันนี้ เว้นแต่กฎหมายดังกล่าวจะถูกแก้ไขไปเสียก่อน ในระหว่างนักกิจกรรมที่เป็น “เพื่อนร่วมรุ่น” ของเขาอย่างรังสิมันต์ โรม ลงเล่นการเมืองแล้ว ไผ่ก็จะต้องรอไปอีกสิบปี 
 
อย่างไรก็ตามรอยยิ้มของไผ่ทั้งในวันที่ญาติมาเยี่ยมที่เรือนจำจนถึงวินาทีที่เขาถูกเพื่อนๆจับโยนลงน้ำหลังได้รับอิสรภาพก็ดูจะเป็นเครื่องยืนยันว่าไผ่ในวันหลังมรสุมยังคงเป็นไผ่คนเดิม   
 
ภาพ teaser จาก  banrasdr photo
 
Article type: