1469 1060 1234 1277 1172 1870 1580 1726 1535 1298 1823 1544 1406 1501 1366 1792 1074 1670 1303 1915 1431 1877 1961 1992 1768 1674 1792 1237 1259 1021 1050 1459 1664 1434 1076 1443 1133 1518 1923 1589 1800 1281 1480 1789 1256 1364 1622 1432 1953 1253 1215 1536 1014 1442 1564 1628 1294 1955 1428 1513 1552 1992 1701 1459 1290 1682 1407 1855 1271 1359 1329 1198 1896 1398 1895 1007 1789 1620 1423 1142 1791 1220 1042 1620 1372 1149 1966 1325 1500 1185 1635 1842 1193 1914 1541 1329 1880 1529 1625 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เมื่อใช้ซ้อนกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อจำกัดเสรีภาพอย่างเป็นระบบ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เมื่อใช้ซ้อนกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เพื่อจำกัดเสรีภาพอย่างเป็นระบบ

 
“ผู้ใดมั่วสุม  หรือชุมนุมทางการเมือง  ณ  ที่ใด ๆ  ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป   ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจําทั้งปรับ  เว้นแต่เป็นการชุมนุม ที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย”
 
 
เป็นความในข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ในการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมาตลอดกว่าสามปีนับแต่มีการประกาศใช้ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 421 คนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อนี้ เนื้อหาการแสดงออกส่วนใหญ่ที่ถูกห้ามจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ และการเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นต้น
 
933
 
 
ที่ผ่านมาคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ประกาศใช้ออกมาในภายหลัง ทั้งที่ตามหลักกฎหมายแล้ว หากมีกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับที่มีเนื้อหาในประเด็นเดียวกับกฎหมายเก่า กฎหมายเก่าจะต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลับไม่มีศาลใดพิจารณาว่า ถูกยกเลิกไปแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับถูกใช้เป็น "อาวุธ" สำคัญในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกควบคู่ไปกับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ อย่างเป็นระบบตลอดมา 
 
 
จากการเก็บข้อมูลพบแนวโน้มการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมของเจ้าหน้าที่สามประการ ดังนี้
 
อ้างคำสั่งเพื่อสกัดกั้นการใช้เสรีภาพ
 
 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้เพื่อ “เตือน” บรรดาผู้ใช้เสรีภาพว่า หากยืนยันที่จะใช้เสรีภาพแสดงออกในเรื่องนั้นๆ อยู่อาจเข้าข่ายการละเมิด คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จนก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวต่อผู้ใช้เสรีภาพว่า การแสดงความคิดเห็นอาจนำมาสู่คดีความที่ต้อง "มีปัญหากับทหาร" หรือก่อให้เกิดความยุ่งยากในอนาคต ทำให้บางรายเลือกที่จะยุติการแสดงออก และบางรายพยายามหาวิธีการอื่นในการต่อสู้กับอำนาจต่อไป เช่น
 
 
หนึ่ง วันที่ 25 เมษายน 2558 ในงานเปิดห้องประชุม ‘ลุงนวมทอง ไพรวัลย์’ เจ้าหน้าที่ขอให้เลื่อนวันจัดงานออกไปก่อน เนื่องจากไม่ได้มีการขออนุญาตจัดงาน และชื่อของลุงนวมทอง ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางการเมืองสุ่มเสี่ยงละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
 
 
สอง วันที่ 28 กันยายน 2559 ในงานเสวนา "รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?" ทหารกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และตำรวจสน.ปทุมวัน โทรศัพท์ไปที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (หอศิลป์ฯ) และส่งจดหมายไปว่า งานอาจเข้าข่ายการชุมนุมการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้เจ้าของงานขออนุญาตก่อน เมื่อผู้จัดงานยื่นหนังสือชี้แจงไป ทหารก็ไม่ได้พิจารณาให้ทันเวลา จนหอศิลป์ฯ ต้องยกเลิกการใช้พื้นที่ ผู้จัดงานจึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการอัดรายการเวทีสาธารณะ ที่สถานีไทยพีบีเอสแทน
 
 
สาม วันที่ 19 กันยายน 2559 ในกิจกรรม "ร้องเพลงให้ลุงฟัง" ในวันครบรอบ 10 ปี รัฐประหาร ตำรวจได้เข้าเจรจาโดยอ้างคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ สั่งห้ามจัดกิจกรรมและขอให้ศิลปินทั้งหมดเดินทางออกจากพื้นที่ ซึ่งศิลปินทั้งหมดได้ยินยอมและเดินทางกลับโดยทันที
 
 
ใช้คำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ไม่ถูกต้อง
 
 
การบังคับใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และพ.ร.บ.ชุมนุมฯ ควบคู่กันไปนำไปสู่การใช้เลือกหยิบกฎหมายมาสั่งห้ามชุมนุมอย่างตามอำเภอใจ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถหยิบยกถ้อยคำตามกฎหมายใดมาก็ได้ที่เอื้อต่อเป้าประสงค์ในการปิดกั้นเรื่องราวที่รัฐไม่ต้องการรับฟัง และยังสะท้อนถึงความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐในการบังคับใช้พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จนต้องอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ในการแก้ไขการจับกุมที่ไม่สอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังกรณีของการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
 
 
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 หลังผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเคลื่อนตัวออกจากบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้สั่งยกเลิกการชุมนุม โดยเป็นขั้นตอนตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ วันถัดมาเจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมแกนนำห้าคน กับผู้เข้าร่วมการชุมนุม 12 คน และนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิตอีก 2 คน โดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือชี้แจงอำนาจการจับกุม ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ทหารแถลงว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จากการที่ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมนอกพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตามที่ขออนุญาตไว้
 
 
แต่พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมต่อเมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและประกาศให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุมแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมแล้วนำตัวไปพูดคุยในค่ายทหารได้ เมื่อทนายความได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวแกนนำ กลับได้รับแจ้งว่า เป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจตาม ม.44 (คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่3/2558) ที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้
 
 
ใช้คำสั่ง คสช. เพื่อครอบคลุมให้กว้างกว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ
 
 
ตามมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดยกเว้นการใช้บังคับพ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับพื้นที่ภายในสถานศึกษา และการชุมนุม, การประชุม หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ แต่ปรากฏว่า หลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกลับนำคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 มาใช้เพื่อปิดจำกัดการทำกิจกรรมในสถานศึกษาที่อำนาจของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไปไม่ถึง เช่น การกล่าวหาคดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ต่อผู้เข้าร่วมการสัมมนาไทยคดีศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และงานเสวนา "ร่วมพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนประชามติ" ของกลุ่มพลเมืองเสวนา citizen forum ที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทางมหาวิทยาลัยสั่งยกเลิกการจัดงาน เพราะเกรงว่าจะเข้าข่ายการชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
 
 
นอกจากนี้ยังพบว่า การอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถูกอ้างใช้อย่างสับสนควบคู่ไปกับการไต่สวนของศาล ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ด้วย ดังปรากฏในกรณีการจัดกิจกรรม "เทใจให้เทพา" ที่ประชาชนประมาณ 80 คน ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เวลาประมาณ 12.00 น. ระหว่างที่ศาลแพ่งจังหวัดสงขลานัดไต่สวนว่า การชุมนุมได้ปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ ซึ่งตราบที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้การชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตำรวจก็ยังไม่มีอำนาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติระหว่างที่ชาวบ้านเทพาประมาณ 80 คนเดินเท้าไปถึงบริเวณข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ก็เจอกับแนวกั้นของตำรวจ และไม่สามารถเดินฝ่าแนวกั้นต่อไป  
 
 
เอกชัย หนึ่งในผู้ชุมนุมได้เจรจากับ พ.ต.อ.ประพัตร์ ศรีอนันต์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา และพ.อ.อุทิศ อนันตนานนท์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ในตอนหนึ่งของการพูดคุย พ.ต.อ.ประพัตร์ได้บอกต่อเอกชัยว่า ไม่ให้ชาวบ้านเดินต่อไปในตัวเมืองจังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีบุคคลพิเศษเข้ามา หากชาวบ้านเข้ามาอาจเกิดความวุ่นวายได้ โดยมีคำอธิบายจากจากพ.อ.อุทิศว่า  เนื่องจากได้ใช้ "มาตรา 44" ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่งเข้าใจได้ว่า หมายถึงคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ "มาตรา 44" ของรัฐธรรมนูญ
 
 
หรือกรณีของการจัดกิจกรรม "We Walk เดินมิตรภาพ" เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2561 ซึ่งผู้ชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า และปฏิบัติอยู่ในกรอบของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทุกประการแล้ว แต่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้าขัดขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้ โดยตำรวจอ้างว่า การชุมนุมมีลักษณะเข้าข่ายเรื่องการเมือง และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จึงเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย และห้ามไม่ให้เดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป
Article type: