1716 1947 1122 1313 1945 1182 1706 1573 1744 1511 1269 1728 1314 1703 1460 1816 1016 1445 1030 1135 1153 1063 1622 1017 1385 1234 1448 1316 1978 1044 1470 1614 1624 1626 1818 1630 1079 1830 1329 1066 1375 1368 1263 1585 1703 1679 1491 1660 1351 1769 1047 1139 1091 1828 1818 1135 1195 1016 1187 1700 1232 1063 1671 1838 1009 1191 1004 1183 1301 1517 1907 1311 1155 1561 1930 1232 1640 1884 1019 1333 1328 1085 1856 1429 1281 1274 1598 1289 1914 1095 1111 1003 1623 1062 1609 1671 1921 1269 1025 คุยกับ" ชูศรี"สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้: ขอเป็นเสียงหนึ่งในการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช. | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

คุยกับ" ชูศรี"สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้: ขอเป็นเสียงหนึ่งในการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้หรือสกต.ก่อตั้งขึ้นจากการการรวมตัวของเกษตรกรไร้ที่ดินในพื้นที่ภาคใต้เมื่อปี 2551 (ตามคำบอกเล่าของเพียรรัตน์ สมาชิกสกต.ที่เคยถูกคสช.เรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร 
 
แนวทางต่อสู้เพื่อเข้าถึงที่ดินของสกต.ก็คือ การเข้ายึดที่ดินที่เอกชนถือครองอย่างผิดกฎหมายหลังหมดสัมปทานกับภาครัฐมาจัดสรรให้กับสมาชิกได้ทำกิน แนวทางต่อสู้ลักษณะดังกล่าวทำให้สมาชิกสกต. ทั้งห้าชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและหนึ่งชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องตกเป็นเป้าจากทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และจากฝ่ายรัฐที่มองว่าพวกเขาอาศัยอยู่โดยผิดกฎหมาย
 
ชุมชนคลองไทรพัฒนา หนึ่งในห้าชุมชนของสกต.ที่อยู่ในพื้นที่สุราษฎรธานี คนในชุมชุนแห่งนี้เผชิญการคุกคามทั้งจากภาครัฐและจากผู้มีอิทธิพลมาหลายต่อหลายครั้ง ที่ผ่านมาสมาชิกของชุมชนอย่างน้อยสี่รายถูกยิงเสียชีวิตโดยไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษได้ ประกอบด้วยกรณีของสมพร พัฒภูมิ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อปี 2553 ปราณี บุญรักษ์ และมลฑา ชูแก้ว ในปี 2555 และกรณีของใช่ บุญทองเล็ก ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2558 หนึ่งปีหลังคสช.ยึดอำนาจและในเดือนเมษายนปี 2559 ก็มีกรณีลอบยิง สุพจน์ กาฬสงค์ สมาชิกสกต.จากชุมชนคลองไทรพัฒนาซึ่งเป็นพยานในคดีสังหาร"ใช่" ด้วย
 
ไม่เพียงต้องเผชิญการคุกคามจากผู้มีอิทธิพล ชาวชุมชนคลองไทรยังถูกคุกคามจากฝ่ายรัฐด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ราชการมีความพยายามผลักดันสมาชิกสกต.ออกจากที่ทำกิน ชูศรี โอฬาร์กิจ หนึ่งในสมาชิกของชุมชนเล่าถึงการเข้ามาคุกคามในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทหารหลังการรัฐประหาร 2557 พร้อมทั้งแนวทางการต่อสู้โดยสันติที่ทำให้ชุมชนสามารถอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน
 

823

อนุสรณ์สถานนักต่อสู้สามัญชน สร้างขึ้นในชุมชนคลองไทรพัฒนาเพื่อรำลึกถึงสมาชิกที่ถูกสังหารจนถึงแก่ความตาย

จากสาวโรงงาน - เสมียนบริษัทสู่สมาชิกสกต.

 
ชูศรีเล่าย้อนไปว่าก่อนจะมาร่วมต่อสู้กับสกต. เธอเคยผ่านการทำงานเป็นลูกจ้างหลายลักษณะงานทั่วไปในประเทศ เริ่มจากเป็นพนักงานในไลน์ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯประมาณสามปี จากนั้นผันตัวมาเป็นพนักงานต้อนรับบนรถโดยสารเส้นทางเชียงใหม่ - ระยองอีกสามปี และมาเป็นเสมียนของบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นอีกประมาณสิบปีก่อนจะกลับมาอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราชเนื่องจากถูกนายจ้างกดดันเพราะเธออายุมากแล้ว 
 
เมื่อกลับมาอยู่บ้านชูศรีต้องเผชิญปัญหาใหม่คือเรื่องที่ดินทำกินที่มีไม่พอต่อการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ เบื้องต้นเธอใช้วิธีขออาศัยปลูกผักในที่นาของเพื่อนที่อยู่ระหว่างพักหลังการเก็บเกี่ยวแต่ต่อมามีคนเข้ามาขอใช้ที่นาในลักษณะเดียวกันมากขึ้นจนเกิดการแย่งชิงที่ทำกินเธอจึงถอนตัวออกมา ตัวของชูศรีเคยได้ยินเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเข้าถึงที่ดินของสกต.มาบ้างแล้วก่อนหน้านั้น ในเดือนมีนาคมปี 2552 ชูศรีลองเข้าไปสังเกตการณ์การประชุมของสกต.ที่สวนปาล์มในชุมชนก้าวใหม่ เธอเข้าไปร่วมประชุมอยู่สี่ครั้งก่อนจะสมัครเป็นสมาชิกสกต.ในปีเดียวกัน
 

เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แรกเริ่มที่เข้าไปเป็นสมาชิกสกต.ที่ชุมชนก้าวใหม่ เธอเล่าว่าการสมัครเป็นสมาชิกนั้น ไม่ใช่ว่าสมัครแล้วจะได้เป็นเลยแต่ต้องผ่านการทดสอบทั้งการปลุกสร้างที่พักและทำการผลิตเป็นเวลาสามเดือนเสียก่อน ขณะที่เธอเข้ามาอยู่กับชุมชนก้าวใหม่การจัดการภายในชุมชนโดยเฉพาะการจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกยังไม่เรียบร้อยดี มกราคมปี 2553 เธอและสมาชิกสกต.ขึ้นมาชุมนุมที่กรุงเทพร่วมเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์แก้ปัญหาเรื่องที่ดิน ผลของการต่อสู้ทำให้ชุมชนก้าวใหม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน เป็นพื้นที่นำร่องบริหารจัดการที่ดินตามแนวทางโฉนดชุมชนในเดือนตุลาคม 2553  อย่างไรก็ตามการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรของภาครัฐก็มีความล่าช้าจนทำให้สมาชิกของชุมชนบางส่วนตัดสินใจย้ายออกไป 
 
ปี 2556 ชูศรีตัดสินใจย้ายออกไปจากชุมชนก้าวใหม่ไปอยู่กับชุมชนคลองไทรพัฒนาเนื่องจากถูกข่มขู่โดยผู้มีอิทธิพลรวมทั้งการจัดสรรที่ดินในชุมชนก้าวใหม่ก็เกือบจะลงตัวพอที่สมาชิกคนอื่นๆจะขับเคลื่อนชุมชนต่อไปได้แล้ว แม้ชูศรีจะเป็นสมาชิกสกต.อยู่แล้วแต่เมื่อเธอขอย้ายชุมชนเธอก็ต้องผ่านกระบวนการเข้ามาเป็นสมาชิกคนใหม่ของชุมชนคลองไทรพัฒนา โดยต้องสร้างที่พักและทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพ ในปี 2558 ชูศรีและชาวชุมชนคลองไทรพัฒนาต้องเผชิญกับความสูญเสียอีกครั้งเมื่อ "ใช่" บุญทองเล็กสมาชิกอาวุโสของชุมชนถูกลอบยิงจนเสียชีวิต ชูศรีเล่าว่าในวันเกิดเหตุเธอประชุมอยู่ในตัวเมืองสุราษฎร์ เมื่อได้รับโทรศัพท์ว่า"ใช่" ถูกยิงเวลาประมาณ 17.00 น. เธอและสมาชิกสกต.ทั้งจากชุมชนคลองไทรและชุมชนอื่นๆที่กำลังประชุมกันก็รีบเดินทางมาที่ชุมชน ตอนแรกเข้าใจว่าใช่น่าจะไม่เป็นอะไรมากแต่เมื่อกลับมาถึงชุมชนจึงทราบว่าใช่เสียชีวิตคาที การลอบยิงที่เกิดขึ้นทำให้สมาชิกในชุมชนเกิดความหวาดกลัวและพยายามไปไหนมาไหนเป็นกลุ่มใหญ่แต่การลอบยิงครั้งนั้นก็ไม่ทำให้สมาชิกคนใดตัดสินใจย้ายออกจากชุมชน   
 

การรุกคืบในเดือนกันยายน

 
สำหรับผลกระทบจากการรัฐประหารที่มีต่อชุมชนคลองไทรพัฒนา ชูศรีเล่าว่าช่วงเย็นวันหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2557 ขณะอยู่ในชุมชนปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารประมาณ 60 นาย พร้อมอาวุธครบมือเข้ามาในชุมชน พร้อมทั้งสั่งให้คนในชุมชนไปรวมกันที่ศาลาประชาคม เธอและคนในชุมชนพยายามสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นและเจ้าหน้าที่เข้ามาทำไมแต่ก็ได้รับคำสั่งจากทหารว่าให้อยู่เฉยๆแล้วจะอธิบายให้ฟัง หลังคนในชุมชนถูกพามารวมกันที่ศาลาจนครบก็ถูกทหารคุมตัวแยกย้ายไปตามบ้านเพื่อทำการตรวจค้น เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายค้นหรือเอกสารใดๆหรือไม่ ชูศรีตอบว่าเจ้าหน้าที่เพียงแต่อ้างอำนาจตามคำสั่งคสช.แต่ไม่ได้แสดงเอกสารใดๆ และไม่ได้ระบุว่าเป็นการใช้อำนาจตามประกาศหรือคำสั่งฉบับใด เมื่อทำการตรวจค้นเสร็จทุกบ้านชาวบ้านก็ถูกพามารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ชูศรีเล่าด้วยว่าระหว่างที่เจ้าหน้าที่พาทุกคนกลับมารวมตัวกันที่ศาลาก็มีน้องคนหนึ่งใช้โทรศัพท์บันทึกเหตุการณ์ไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นก็เข้ามากันตัวน้องคนนั้นออกไปพร้อมกับสั่งชาวบ้านให้นั่งเฉยๆอย่าหันมามอง ชูศรีระบุด้วยว่าระหว่างที่ถูกเอาตัวมานั่งรวมกันเจ้าหน้าที่ทหารมีการอ่านรายชื่อเรียกบุคคลสำคัญของสกต.รวมหกคนแต่เผอิญว่าในขณะนั้นไม่มีใครอยู่พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าถ้าตอนนั้นอยู่ทั้งหกอาจถูกเอาตัวไปไหนก็ไม่รู้
 

สาเหตุแห่งการมาเยือน

 
ชูศรีเล่าต่อว่าระหว่างที่คนในชุมชนถูก "เชิญ" ให้รวมตัวกันในศาลาประชาคม เจ้าหน้าที่ทหารชี้แจงว่าพื้นที่ที่ชาวชุมชนคลองไทรยึดครองเป็นพื้นที่ที่ข้อพิพาทระหว่างสปก.กับบริษัทผู้ถือสัมปทานเดิมยังไม่ยุติและบริษัทได้ยื่นขอให้ศาลคุ้มครองอาสินอยู่ คนในชุมชนบางส่วนโต้ตอบกับผู้มาเยือนว่าการตั้งรกรากและใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินของพวกเขาได้รับการรับรองจากภาครัฐเองโดยหนังสือผ่อนผันทั้งจากสปก.(สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) และจากสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ได้แต่บอกคนในชุมชนว่าไม่ต้องพูดอะไรให้ฟังอย่างเดียว พร้อมกันนั้นก็ทำการถ่ายภาพผู้ที่ลุกขึ้นโต้เถียงหรือชี้แจงเอาไว้ด้วย เจ้าหน้าที่ยังบอกคนในชุมชนที่ลุกขึ้นโต้เถียงกับทหารประมาณห้าถึงหกคนรวมทั้งตัวชูศรีด้วยว่าให้ไปคุยที่กอ.รมน.จังหวัดในอีกห้าวันโดยระหว่างนี้ถ้ามีหนังสืออนุญาต หนังสือผ่อนผันหรือเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ให้เตรียมเอาไปแสดงในวันนั้นด้วย
 
เมื่อถึงวันนัด ชูศรีและคนในชุมชนอีกห้าถึงหกคนเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีอันเป็นที่ตั้งของกอ.รมน.จังหวัด เมื่อไปถึงชูศรีและคนจากชุมชนคลองไทรพัฒนาก็แสดงหนังสือผ่อนผันจากสำนักนายกรัฐมนตรีและจากสปก.ให้ทางเจ้าหน้าที่ทหารแต่ก็ถูกแย้งว่าขณะนั้นยังไม่มีคำสั่งศาลเป็นที่สุดคนในชุมชนจึงยังไม่สามารถอาศัยอยู่บริเวณนั้นได้ ชูศรีตั้งข้อสังเกตด้วยว่าในขณะที่เจ้าหน้าที่เข้ามาผลักดันให้คนในชุมชนออกจากที่ทำกิน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆกับบริษัทซึ่งยังถือครองและใช้ที่ดินทั้งที่หมดสัมปทานไปแล้ว
 
824
 
ชูศรี สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ชุมชนคลองไทรพัฒนา
 
บังเกอร์ทหารในชุมชน
 
ชูศรีเล่าต่อว่าหลังเธอเข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในกอ.รมน.จังหวัดได้ประมาณเจ็ดวันในเดือนกันยายนก็มีทหารหนึ่งคนเข้ามาในพื้นที่พร้อมกับนายทุนอีกห้าคน สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งกับเธอและคนในชุมชนคือให้ออกจากพื้นที่ภายในเจ็ดวันขณะที่ด้านนอกชุมชนก็มีกองกำลังแต่งตัวคล้ายทหารมาประจำการอยู่บริเวณแคมป์คนงานเก่าซึ่งอยู่ด้านนอกชุมชนเพื่อเตรียมผลักดันชาวบ้าน คนในชุมชนคลองไทรจึงเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมตามหน่วยงานต่างๆรวมทั้งไปเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงพักอำเภอชัยบุรี เมื่อตกลงกับทางผู้ว่าได้สำเร็จกองกำลังที่เตรียมเข้าพื้นที่ก็ถอนตัวออกไปทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ทหารและนายทุนห้าคนเข้ามาบอกคนในชุมชนให้ออกนอกพื้นที่ภายในเจ็ดวันก็มีทหารประมาณสามนายเข้ามาตั้งบังเกอร์หุงหาอาหารอยู่ในชุมชนคลองไทรพัฒนา โดยในแต่ละครั้งจะมีทหารสามนายมาสลับเปลี่ยนกันประจำการในบังเกอร์
 
แม้เจ้าหน้าที่ทหารจะไม่ได้เข้ามาข่มขู่คุกคามทางตรงกับชาวบ้านแต่ก็จะคอยจับตาและบันทึกความเคลื่อนไหวของชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา เช่นมายืนฟังตอนที่ชาวบ้านเข้าแถวพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารทุกวันตอนเจ็ดโมงเช้า หรือติดตามและจดบันทึกความเคลื่อนไหวเวลาที่ชาวบ้านจะออกไปทำสวน การถูกติดตามเช่นนี้ทำให้คนในชุมชนบางส่วนเกิดความกลัวแม้กระทั่งจะทำภารกิจประจำวัน และก็มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาประจำการยิงปืนในชุมชนด้วย เมื่อชาวบ้านเข้าไปถามว่ายิงปืนทำไมก็ได้คำตอบว่า "ยิงให้รู้ว่ามีทหารอยู่ตรงนี้นะ" ชูศรีระบุด้วยว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้คนในชุมชนรู้สึกเสียขวัญ สมาชิกจำนวนหนึ่งก็ตัดสินใจออกจากชุมชนไป 
 
ชูศรียังเล่าด้วยว่ามีสามีของสมาชิกสกต.ในชุมชนคลองไทรพัฒนาคนหนึ่งซึ่งเป็นคนมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพาไปพูดคุยที่ค่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ เจ้าหน้าที่เพียงแต่บอกว่าถ้าตรวจสอบแล้วไม่มีอะไรก็จะพามาส่ง เจ้าหน้าที่ยอมทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่ชูศรีซึ่งเธอก็โทรไปตรวจสอบกับอยู่เป็นระยะจนกระทั่งชายคนดังกล่าวถูกควบคุมตัวครบสามวันเจ้าหน้าที่ก็แจ้งให้มารับตัวที่ค่าย ตั้งแต่ไปรับตัวชายคนดังกล่าวก็มีท่าทีตื่นกลัวและได้พาครอบครัวออกจากชุมชนไปโดยที่ไม่ได้เล่าให้ชูศรีหรือคนในชุมชนคนอื่นๆฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาในช่วงที่ไปอยู่ในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ทหารตั้งบังเกอร์สังเกตการณ์อยู่ในชุมชนประมาณสองเดือนจึงถอนตัวออกไป 
 

ขอเป็นเสียงหนึ่งในการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.

 
ชูศรีสรุปตอนท้ายว่าตั้งแต่คสช.เข้ามาคนในชุมชนคลองไทรพัฒนาต้องเผชิญกับผลกระทบหลายๆอย่าง ทั้งสูญเสียสิทธิในการแสดงความคิดเห็นบางครั้งอยากจะเสนออะไรก็พูดไม่ได้ ทั้งยังถุกเจ้าหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่เะอและคนในชุมชนตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชนเพื่อยกเลิกประกาศคำสั่งคสช.ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย "เราโดนผลกระทบอย่างหนัก ทำให้เราสูญเสียหลายๆอย่างไปเลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นแล้วเราก็โดนติดตาม บางครั้งเราอยากจะพูดอะไรก็พูดไม่ได้เสนอไม่ได้ ทุกขั้นตอนในชีวิตประจำวันของเราจะถูกริดรอนสิทธิออกไปมาก เราถึงต้องร่วมกันยกเลิกคำสั่งนี้ ถ้าเรายังไม่ร่วมกัน ชีวิตของเราก็ยิ่งย่ำแย่ลงไปทุกวัน"
 
Article type: