1782 1328 1261 1089 1280 1254 1290 1505 1441 1703 1060 1550 1694 1912 1367 1310 1155 1947 1973 1126 1601 1554 1824 1801 1949 1232 1266 1751 1911 1109 1847 1427 1058 1417 1409 1283 1925 1901 1896 1013 1204 1854 1027 1431 1268 1216 1962 1115 1016 1050 1077 1435 1171 1750 1036 1912 1008 1712 1371 1974 1684 1753 1834 1665 1402 1275 1049 1481 1046 1287 1994 1324 1966 1038 1178 1975 1201 1508 1597 1885 1889 1478 1872 1159 1188 1000 1646 1184 1360 1948 1234 1401 1649 1471 1081 1244 1516 1909 1680 กรกฎาคม 2560: ศาลทหารยกฟ้องจิตราคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.-ไผ่ดาวดินขึ้นศาลทหารมีเพื่อนร่วมให้กำลังใจล้นหลาม-"อุ้ม"คนรณรงค์แก้ไขม.112เข้าค่าย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

กรกฎาคม 2560: ศาลทหารยกฟ้องจิตราคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.-ไผ่ดาวดินขึ้นศาลทหารมีเพื่อนร่วมให้กำลังใจล้นหลาม-"อุ้ม"คนรณรงค์แก้ไขม.112เข้าค่าย

 
758
 
เดือนกรกฎาคมมีคำพิพากษาคดีเสรีภาพที่สำคัญออกมาหนึ่งคดี ได้แก่คดีจิตราฝ่าฝืนคำสั่งรายงงานตัวของคสช. นอกจากคดีของจิตราก็มีความเคลื่อนไหวคดีอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายคดี เช่น คดีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหารที่จังหวัดขอนแก่น ศาลทหารเริ่มสืบพยานแล้ว โดยจนถึงขณะนี้จตุภัทร์หรือ 'ไผ่ ดาวดิน' เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกนำตัวมาฟ้องต่อศาลจากจำนวนผู้ต้องหาในคดีทั้งหมดเจ็ดคน คดีปิยรัฐฉีกบัตรประชามติ จำเลยสามคนที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ได้ขึ้นเบิกความต่อศาลจังหวัดพระโขนงแล้วโดยศาลนัดสืบพยานจำเลยนัดต่อไปวันที่ 8 สิงหาคม 2560 นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคมก็มีความเคลื่อนไหวของคดีพ.ร.บ.ชุมนุมฯของชาวบ้านที่แสดงออกเกี่ยวกับปัญหาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอีกอย่างน้อยสามคดี


ยกฟ้องจิตราคดีไม่รายงานตัวกับคสช.ชี้จำเลยไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่ง


6 กรกฎาคม 2560 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษายกฟ้องจิตรา อดีตประธานสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์และผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคพลังประชาธิปไตยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของคสช. โดยให้เหตุผลว่า จำเลยไม่มีเจตนาที่จะฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวและได้พยายามปฏิบัติตามเท่าที่จะทำได้แล้ว

สำหรับมูลเหตุของคดีนี้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 คสช.ออกคำสั่งฉบับที่ 44/2557เรียกบุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติมซึ่งมีชื่อของจิตราปรากฎอยู่ด้วยโดยกำหนดให้จิตราเข้ารายงานตัวในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 แต่เนื่องจากจิตราอยู่ต่างประเทศจึงไม่สามารถกลับมารายงานตัวได้ทันเวลา เมื่อจิตราเดินทางกลับเข้าประเทศในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ก็ถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวที่กองปราบปรามฯหนึ่งคืนก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหารในวันที่ 14 มิถุนายน 2557และได้รับการประกันตัวในวันเดียวกัน แต่เนื่องจากศาลทหารไม่มีส่วนงานราชทัณฑ์ประจำที่ศาลจิตราจึงถูกนำไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอคำสั่งปล่อยตัว

ในทางคดีจิตราพยายามพิสูจน์ว่าไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งโดยนำหลักฐานได้แก่หลักฐานการออกตั๋วเครื่องบินซึ่งมีการจองก่อนที่คสช.จะออกคำสั่งเรียกตัวจิตรา วิดีโอและภาพถ่ายขณะที่จิตราเดินทางไปขอรายงานตัวที่สถานทูตไทยในสต็อกโฮล์มในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นที่สวีเดน รวมทั้งหนังสือที่จิตราขอให้เพื่อนที่ประเทศไทยถือมาส่งที่จุดรับรายงานตัวของคสช.เพื่อชี้แจงว่าไม่มีเจตนาหลบหนีและจะเดินทางเข้ารายงานตัวกับคสช.เมื่อเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ซึ่งจากพยานหลักฐานที่หนักแน่นทำให้ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษายกฟ้องจิตราโดยคำพิพากษานี้ถือเป็นที่สุดเนื่องจากเป็นคดีที่เหตุเกิดระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกจึงมีการพิจารณาเพียงชั้นเดียวไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา
 
ดูรายละเอียดคดีจิตราบนฐานข้อมูลของไอลอว์ ที่นี่

 

ไผ่ดาวดินขึ้นศาลคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร มีเพื่อนและประชาชนแห่ให้กำลังใจคับคั่ง


28 มิถุนายน 2560 จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน นักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่สิบจากเว็บไซต์บีบีซีไทยถูกควบคุมตัวไปที่ศาลทหารขอนแก่นเพื่อรับฟังการสืบพยานคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง จากกรณีที่เขาและเพื่อนกลุ่มดาวดินรวมเจ็ดคนไปชูป้ายคัดค้านการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นแต่ขณะนี้จตุภัทร์เป็นเพียงคนที่ถูกฟ้องคดีนี้ส่วนเพื่อนกลุ่มดาวดินที่ร่วมทำกิจกรรมอีกหกคนเจ้าหน้าที่ยังไม่นำตัวมาฟ้องคดี

การสืบพยานในวันนี้เป็นการสืบต่อเนื่องเช้าบ่าย สามารถสืบพยานเสร็จหนึ่งปากได้แก่ พ.อ.สุรศักดิ์ สำราญบำรุง ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการทหารในตำแหน่งหัวหน้ากองข่าว และปฏิบัติหน้าที่ประจำกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมาเบิกความว่าจตุภัทร์ร่วมชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ขณะที่ทนายจำเลยพยายามซักค้านในประเด็นเกี่ยวกับการรัฐประหารและรูปแบบการปกครองที่ควรจะเป็นซึ่งพ.อ.สุรศักดิ์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

การสืบพยานในนัดนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนรวมถึงมีประชาชนประมาณ 25 - 30 คนมาให้กำลังใจจตุภัทร์ที่ศาลทหาร ซึ่งมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้เก็บกระดาษเขียนข้อความให้กำลังใจจตุภัทร์ที่ประชาชนนำมาไปบางส่วน คดีนี้ศาลไม่ได้สั่งพิจารณาลับแต่จำกัดให้คนเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้ 15 คน

จตุภัทร์มีกำหนดเข้ารับการสืบพยานคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำในวันที่ 3 - 4, 15 - 17, และ 30 - 31 สิงหาคมนี้ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น นอกจากคดีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นและคดีตามมาตรา 112 แล้ว จตุภัทร์ยังถูกดำเนินคดีอื่นอีกสามคดีจากการแสดงออกอย่างสันติ ได้แก่คดีขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชุมนุมที่กรุงเทพซึ่งยังไม่มีการฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพ คดีขัดคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกิจกรรมพูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งพนักงานสอบสวนจะส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องต่ออัยการในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 และคดีตามพ.ร.บ.ประชามติฯจากการแจกเอกสารโหวตโนที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวสั่งระงับการพิจารณาคดีชั่วคราวจนกว่าการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะแล้วเสร็จ หากนับจากวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ซึ่งจตุภัทร์ถูกถอนประกันจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 จตุภัทร์จะถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 222 วัน
 
ดูรายละเอียดคดี 7 ดาวดินชูป้ายต้านรัฐประหาร ที่นี่
 

ความเคลื่อนไหวอื่นๆ

 
วันที่ 3 กรกฎาคม 2560 คดีพูดเพื่อเสรีภาพพนักงานสอบสวนสภ.เมืองขอนแก่นมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คนที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยนัดหมายให้ทั้งหมดเข้าพบเพื่อส่งตัวให้อัยการศาลทหารขอนแก่นในวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 อย่างไรก็ตามผู้ต้องหาบางส่วนติดสอบและติดภารกิจอื่น จึงขอเลื่อนนัดเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2560  พนักงานสอบสวนสภ.ขอนแก่น ให้เลื่อนนัดส่งสำนวนและส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมดต่ออัยการทหารเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2560 เนื่องจากมีผู้ต้องหาสองคนคือเชิดชัยและพรรณวดีซึ่งไม่ได้ยังไม่ได้รับหมายเรียกโดยเจ้าหน้าที่ส่งหมายไปแล้วแต่ถูกตีกลับ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะดำเนินการส่งหมายเรียกถึงผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับอีกครั้ง

วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ศาลอาญารัชดา นัดตรวจพยานหลักฐานในคดียุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของพระสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ของวัดพระธรรมกาย จากการโพสต์เฟซบุ๊กเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่วัดพระธรรมกาย โดยพระสนิทวงศ์แถลงต่อศาลปฏิเสธตลอดทุกข้อกล่าวหา ให้เหตุผลว่า ตนไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา   คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 7-8 มิถุนายน 2561

วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 อัยการศาลจังหวัดเลยยื่นฟ้องพรทิพย์, วิรอน, มล, ระนอง, สุพัฒน์, บุญแรง, และลำเพลิน สมาชิกกลุ่ม “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” โดยกล่าวหาว่าทั้ง 7 คนร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ และกล่าวหาว่า พรทิพย์ เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จำเลยทั้ง 7 คนยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว  ศาลสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขว่าต้องมาตามกำหนดนัดของศาล โดยศาลจังหวัดเลยนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานวันที่ 11 ส.ค. 2560

วันที่ 26  กรกฎาคม 2560 พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ด้านความมั่นคง จัดประชุมเตรียมความพร้อมสถานการณ์เฉพาะหน้าและการอำนวยความสะดวกให้แก่มวลชนที่จะเดินทางมาให้กำลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการพิพากษาคดีจำนำข้าวในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นอกจากนี้ยังสั่งให้ติดตามความเคลื่อนไหวการแสดงความคิดเห็นทางโซเซียลเน็ตเวิร์คอย่างใกล้ชิด โดยตอนนี้มีรายงานว่า มีการโพสต์เฟซบุ๊กยุยงปลุกปั่นที่อาจเข้าข่ายมาตรา 116 ตามประมวลอาญา

วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทยในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา จากการที่วัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กให้กำลังใจยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

วันที่ 29 กรกฎาคม 2560 สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (ส.น.ม.ท) ได้จัดกิจกรรม “รวมพลังให้กำลังใจแก่พี่น้องชาวปาเลสไตน์ SAVE AL-AQSA ,JUSTICE FOR PALESTINIANS, FREE PALESTINE” ที่สวนจตุจักร โดยผู้จัดงานมีการขออนุญาตใช้สถานที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายปรากฏเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบมาปิดล้อมสวนจตุจักรและห้ามไม่ให้ผู้เข้าร่วมเข้าออก เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ผู้จัดยกเลิกกิจกรรม เนื่องจากว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายการชุมนุมและยังส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยหลังจากการยกเลิกกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้จัดกิจกรรรมและผู้เข้าร่วมจำนวน 20 คนไปด้วย

 

Report type: