- iLaw Website
- Documentation Center
'ลมหายใจยังไม่แพ้' ของ 'น็อตตัวเล็กๆ' ที่ยึดสู้สร้างบรรทัดฐานคดีพ.ร.บ.ประชามติฯ
"เขามาจับผมเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม มาทั้งทหารและตำรวจ นอกเครื่องแบบทั้งหมด จับผมไปไว้ที่ตำรวจภูธรภาค 5 แล้วเอาตำรวจถือปืนกล 4-5 คนมายืนคุม แต่สักพักเขาก็ถอยๆ ไปเพราะไม่รู้จะเฝ้าไปทำไม"
คำบอกเล่าจากปากของ "ลุงสามารถ" ชายวัย 64 ปี ผู้ร่วมอยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ที่กลับกลายเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองและเข้าคุกครั้งแรกเอาตอนวัยล่วงชราแล้ว ยิ่งในยุคที่คนเขียนกฎหมายกับคนใช้กติกานั้นเป็นคนเดียวกัน เป็นอีกครั้งที่สังคมตกอยู่ในความเงียบงัน
หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจปกครองประเทศอยู่สองปีกว่า ตั้งคนของตัวเองขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศให้ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันลงประชามติทั่วประเทศเพื่อถามว่าประชาชนจะยอมรับหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เขียนขึ้นโดยคนของรัฐบาลทหาร และวางแผนให้กลุ่มคนดังกล่าวอยู่ในอำนาจต่อไปได้อีกยาวนาน
ก่อนถึงวันที่ประชาชนจะเดินไปเข้าคูหาและตัดสินใจกากบาท พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ก็ถูกประกาศใช้ออกมา โดยมีมาตรา 61 วรรค 2 กำหนดห้ามเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ เพื่อให้ประชาชนไปออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ไปออกเสียง
กระทั่งประชามติจะได้รับความเห็นชอบไปด้วยอัตราส่วน 60:40 ฝ่ายที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ไปอย่างน้อย 39 คน และมีอีกอย่างน้อย 142 คน ถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมือง โดยที่กิจกรรมสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกปิดอย่างน้อย 20 ครั้ง บรรยากาศก่อนวันลงประชามติทั่วประเทศจึง "เงียบกริบ" ประชาชนแทบไม่มีโอกาสพูดคุยถกเถียงกันเรื่องการลงประชามติ โดยเฉพาะที่จังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานคร กิจกรรมรณรงค์แทบไม่เกิดขึ้นเลย
"ลุงสามารถ" เป็นหนึ่งใน 39 คน ที่ถูกตั้งข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ และเป็นคนเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ลองพยายามฝืนกระแสและไม่ยอมหยุดแสดงออกท่ามกลางภาวะที่เส้นแบ่งระหว่างสิ่งผิดกฎหมายกับสิทธิเสรีภาพ ถูกกดให้ต่ำเรี่ยลง เรี่ยลง จนแทบไม่เหลือช่องว่างให้หายใจ
รอยทางชีวิต "ลุงสามารถ" ชายตัวเล็กที่แฝงตัวอยู่ทุกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
"ลุงสามารถ" ชื่อจริง สามารถ ขวัญชัย เกิดปี 2496 เป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ ตอนถูกจับอายุได้ 63 ปีแล้ว เราเลยเรียกเขาว่า "ลุง" สำเนียงการพูดของลุงเนิบๆ เป็นจังหวะช้าๆ สุภาพ และมีแววของความถ่อมตัว ลุงเป็นคนตัวเล็ก สูงประมาณ 160 เซนติเมตร เวลาไปไหนมาไหนลุงแต่งตัวปอนๆ ด้วยเสื้อและกางเกงเก่าๆ สไตล์สบายๆ ลุงสามารถเคยประกอบอาชีพวิศวกรมาหลายสิบปี ปัจจุบันเปิดร้านขายงานศิลปะภาพโมเสคอยู่กับภรรยา ลุงเป็นชายแก่ที่ดูท่าทางใจดีเหมือนเป็นเพื่อนให้คุยหยอกเล่นกันได้ แต่ถ้าชวนคุยเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง เสียงของลุงจะเข้มขึ้นได้สองสเต็ป พร้อมสีหน้าที่เคร่งขรึม ปราศจากรอยยิ้ม
เมื่อถูกถาม ลุงสามารถจะเล่าประวัติการต่อสู้ของตัวเองได้อย่างเข้มข้นจริงจังทุกครั้ง ลุงนิยามว่า ตัวเองเป็นคนยุค "14 ตุลาฯ" โดยเมื่อปี 2516 นั้น ลุงเพิ่งเป็นนักศึกษาปี 1 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพิ่งเริ่มหันมาสนใจการเมืองและได้เข้ามาร่วมชุมนุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ถนนราชดำเนินกับนักศึกษาประชาชนนับแสนคนด้วย ช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นลุงก็ยังอยู่ร่วมเป็นประจักษ์พยานในบริเวณนั้น ส่วนในช่วงเหตุการณ์ "6 ตุลาฯ" ลุงบอกว่า ยังเรียนอยู่ที่ขอนแก่น ไม่ได้ไปที่ธรรมศาสตร์ด้วย แต่หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษา ลุงเองก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน เพราะช่วงนั้นนักศึกษาจากขอนแก่นมีบทบาททางการเมืองสูง เพราะอยู่ใกล้กับพื้นที่สีแดงและติดต่อกับคนในพื้นที่ได้ ลุงเองไม่ถึงกับหนีไปเคลื่อนไหวในป่าด้วย แต่เคยรับบทเป็น "คนเดินเม" คือ ทำหน้าที่ส่งจดหมายติดต่อสื่อสารระหว่างคนอยู่ในป่ากับคนในเมือง
ส่วนช่วงเหตุการณ์พฤษภา ปี 35 ลุงเล่าว่า ตอนนั้นแต่งงานและมีลูกเล็กๆ แล้ว เลยไม่ได้เข้ามาร่วมเหตุการณ์ที่กรุงเทพด้วย แต่ลุงก็ไปร่วมชุมนุมที่ประตูท่าแพ ในเมืองเชียงใหม่อยู่ทุกคืน ไม่เคยขาด เวลาไปชุมนุมก็จะพากันไปทั้งบ้าน จนตอนหลังย้ายมาชุมนุมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ตามมากับเขาด้วย
"ปี 52 53 เราก็ไปอยู่ที่ราชประสงค์ ที่ราชดำเนิน ไปกินนอนอยู่หน้าทำเนียบ พอเหนื่อยก็กลับบ้านมาเติมพลังแล้วก็กลับลงไปใหม่ เราอยู่บ้านก็สบายดี แต่เรายอมไปอยู่กลางดินกลางทราย ร้อนก็ร้อน ยุงก็เยอะ จะบอกว่าเราเป็นเสื้อแดงก็ไม่ใช่ แต่เราเห็นความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ พวกเราเป็นคนรุ่น 14 ตุลาฯ เห็นมันย่ำยีประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า" ลุงเล่าการต่อสู้ครั้งไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ที่ยังจำได้ติดตา
"วันที่ 19 พฤษภาคม ผมอยู่ตรงนั้นเลย อยู่หน้าสวนลุมพินี คืนก่อนหน้านั้นเราก็รู้แล้วว่า เขาจะเอาเราแน่ แต่เราไม่ได้คิดว่าเขาจะมาฆ่าคน เราคิดว่า เขาจะมาสลาย มาฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตา แต่ปรากฏว่า เขาฆ่ากันเยอะแยะ พวกการ์ดที่ไปซุ่มอยู่ข้างหน้าตายเป็นเบือ แต่ผมเองถอยมาแล้ว เห็นคนที่โดนต่อหน้าต่อตาเราหลายคน ฝรั่งที่ชื่อฟาบิโอถูกยิงต่อหน้าผม ล้มลงตรงหน้าห่างไปประมาณสามเมตร เราก็หาของมาสุมๆๆ ยันเอาไว้ตั้งแต่เช้ายันสี่โมงเย็น แต่ก็สู้รถถังไม่ได้"
"ใครไม่เคยอยู่ในนั้น ไม่เข้าใจความรู้สึกในการต่อสู้" ลุงย้ำ ด้วยสายตาหนักแน่น
หนึ่งในคำถามที่ดีที่สุด สำหรับลุงคนหนึ่งที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มาตลอดชีวิต คือ "สู้มาตลอดชีวิตจนบ้านเมืองเดินมาถึงวันนี้แล้ว รู้สึกยังไง?"
ลุงตอบคำถามนี้ว่า ยุคก่อนหน้านี้เป็นเพียงทหารเผด็จการ ที่คอร์รัปชั่น ทำลายทรัพย์สินของประเทศ ยังไม่เคยมีสมัยไหนโหดเหี้ยมเท่านี้มาก่อน แต่สมัยนี้กลับไม่มีคนออกมาต่อสู้ เหมือนผู้คนยอมสยบให้กับบ้านเมืองแบบนี้ ขบวนการภาคประชาชนต่อสู้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร พวกเรากำลังเข้าสู่วัยของคนแก่ จึงหวังว่าการต่อสู้จะฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ได้ แต่ก็กลับเห็นว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนที่ออกมาต่อสู้ล้วนเป็นคนรุ่นของลุงเองทั้งนั้น
"เมื่อก่อนคนออกมาต่อสู้เป็นเด็กหนุ่มสาว แล้วผู้ใหญ่ห้ามว่า อย่าออกไปเลย ตั้งแต่ปี 51-52 เป็นต้นมากลายเป็นผู้ใหญ่ออกไปต่อสู้ แล้วลูกหลานคอยห้ามว่า อย่าไปอินมาก มันเป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้ของคนหนึ่งรุ่น คนที่ออกมาต่อสู้ทุกวันนี้ก็คือเด็กหนุ่มสาวเมื่อยุค 14 ตุลาฯ ทั้งนั้น กลายเป็นว่า ถ้าคนรุ่นเราไม่ออกไปต่อสู้แล้วใครจะออกไป" ลุงเล่า ด้วยน้ำเสียงที่ไม่มีแฝงความท้อแท้ มีแต่ความภูมิอกภูมิใจ
เสียบใบปลิว 'Vote No' ไว้หน้ารถหวังปลุกจิตสำนึก
20 กรกฎาคม 2559 ก่อนถึงกำหนดลงประชามติ 18 วัน ขณะที่คนทั่วไปยังไม่ค่อยอยากจะพูดอะไรมาก โทรทัศน์ก็มีแต่รายการที่จัดให้คนร่างรัฐธรรมนูญมานั่งพูดแล้วบังคับออกอากาศเหมือนกันทุกช่อง แม้แต่นักวิชาการกฎหมายก็ยังไม่มีใครกล้าออกมาวิจารณ์กันตรงๆ ลุงสามารถเอาใบปลิวที่ทำขึ้นเอง เขียนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. VOTE NO” ใส่กระเป๋าเป้แล้วเดินไปที่ลานจอดรถห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ เขาเอาใบปลิวไปเสียบไว้ตรงที่ปัดน้ำฝนหน้ากระจกรถที่จอดอยู่ประมาณ 20-30 คัน เสร็จแล้วก็เดินทางกลับบ้าน
ลุงเลือกสถานที่แห่งนี้เพราะว่าคุ้นเคยกับพื้นที่ดี เนื่องจากเคยเช่าพื้นที่ขายของในห้างนี้มาก่อน ลุงรู้ดีว่าบริเวณนั้นมีกล้องวงจรปิด แต่ก็เดินมาโดยไม่ได้ใส่หมวกหรือหน้ากากปิดบังใบหน้า ท่าเดินของลุงก็เป็นเอกลักษณ์เห็นได้ชัดเจน เพราะตัวเล็กและยังเดินกระเผลกเนื่องจากขาขวาไม่ค่อยแข็งแรงดี กล้องวงจรปิดของห้างจับภาพการเสียบใบปลิวของลุงไว้ได้ทุกขั้นตอน
"ผมหวังว่า ใบปลิวหนึ่งใบซึ่งไปติดอยู่ที่รถ เมื่อเจ้าของรถกลับมา ซึ่งเราก็ไม่รู้จักเขา เขาเห็นว่ามีใบปลิวก็แกะอ่าน ถ้าจะมีผลเป็นการจุดประกาย ปลุกจิตสำนึกก็หวังว่าจะเกิดประโยชน์ อย่างน้อยเขาก็รู้ว่ายังมีคนต่อสู้อยู่ ถ้าเขาไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งไป ก็ไม่เป็นไร" ลุงสามารถ เล่าถึงแรงบันดาลใจ
"ตอนแรกก็คิดหลายวิธีว่าจะแจกยังไง จะไปวางไว้ตามศูนย์การค้า หรือขับรถไปโปรย หรือจะขึ้นไปบนตึกแล้วโปรยลงมา แต่คิดว่าไม่มีประโยชน์ จะมีสักกี่คนได้อ่าน ตอนหลังก็มาคิดออกว่า ถ้าเดินติดเองแบบนี้จะถึงมือคนแน่นอน ติดแต่ละใบใช้เวลาไม่นาน"
ในยุคที่การแจกใบปลิวรณรงค์ก่อนการลงประชามติเป็นเรื่องแปลกและหาได้ยาก วันรุ่งขึ้น ใบปลิวของลุงก็ไปปรากฏเป็นข่าวบนเว็บไซต์ผู้จัดการ และทหารตำรวจในพื้นที่เชียงใหม่ก็ "งานเข้า" กันเป็นแถว เมื่อภาพของใบปลิวถูกส่งเข้ามาในไลน์กรุ๊ปหน่วยงานความมั่นคง ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งให้ออกตามหาตัวเจ้าของใบปลิว ทั้งทหารและตำรวจไปที่ห้างพันธุ์ทิพย์ "ที่เกิดเหตุ" ในช่วงค่ำของวันรุ่งขึ้น เมื่อขอดูกล้องวงจรปิดก็พบภาพของลุงปรากฏชัด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างจำลุงได้จากท่าเดินกระเผลกอันเป็นเอกลักษณ์
ทหารไม่ต้องใช้เวลานานนัก ในช่วงเช้ามืดของสามวันให้หลัง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ก็ออกหมายจับให้ และผู้รักษาความสงบเรียบร้อยหลายสิบนายจากหลายหน่วยงานก็เดินทางไปจับชายแก่ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านของเขา
ลุงสามารถเปิดประตูต้อนรับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง ตำรวจทหารนอกเครื่องแบบกรูกันเข้ามาในบ้านลุง ถามหาชุดเสื้อผ้าที่ตรงกับภาพในกล้องวงจรปิด ลุงเดินไปหยิบเอามาให้ และลุงยังชี้เป้าไปยังกระเป๋าเป้ของตัวเองที่มีใบปลิวอีกกว่า 400 แผ่น ทหารยึดไปทั้งหมดพร้อมกับรถมอเตอร์ไซค์ที่ลุงใช้ขี่ไปห้างพันธุ์ทิพย์ และยังยึดอิสรภาพของลุงไปในทันที
"เขามาจับผมเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม มาทั้งทหารและตำรวจ นอกเครื่องแบบทั้งหมด จับผมไปไว้ที่ตำรวจภูธรภาค 5 แล้วเอาตำรวจถือปืนกล 4-5 คนมายืนคุมผม แต่สักพักเขาก็ถอยๆไปเพราะไม่รู้จะเฝ้าเราทำไม"
เย็นวันเดียวกัน ทหารตำรวจยังจับกุมนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่ส่งจดหมายรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปยังบ้านเรือนประชาชนมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ลุงสามารถถูกนำตัวไปแถลงข่าวพร้อมกันในลักษณะที่อาจเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า การรณรงค์ทำร่วมกันเป็นขบวนการทั้งที่ลุงทำของลุงคนเดียว หลังแถลงข่าวเสร็จ ลุงนอนพักในห้องขังของสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่สองคืน โดยไม่ได้รับอนุญาตให้โทรศัพท์ติดต่อใคร และก็ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ
"เรามั่นใจในความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มีจุดประสงค์มุ่งร้ายต่อบุคคล สถานที่ หรือสังคม ยิ่งต่อประเทศชาติยิ่งไม่ใช่ใหญ่ ผมเรียกร้องให้ผู้คนปฏิเสธเผด็จการทุกรูปแบบ เรียกร้องให้ได้ประชาธิปไตยคืน ผมผิดตรงไหน แต่ถ้ามันจะทำให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่พอใจผม จะจับผมไปขัง ก็เอา มันก็เป็นความทุกข์แน่นอน" ลุงสามารถกล่าวไว้ตอนหนึ่ง
แวะไปเรือนจำ 9 วัน สัมผัสรสชาติชีวิตอีกแบบหนึ่ง
"เรือนจำอ่ะ เหมือนคอกขังสัตว์อ่ะ มันมีเป็นแดนๆ อาหารที่ทำให้กินถ้าอยู่ข้างนอกผมคงกินไม่ลง แต่เมื่ออยู่ในนั้นก็จำเป็นต้องกิน มีข้าวเหนียวเก่าๆ สารพัดสี เหมือนพวกปลายข้าวที่เอาไปเลี้ยงไก่ แล้วก็มีผักต้มมาสักชามนึง ให้กินกันหลายคน ห้องขังเป็นอาคารโรงเรือนและแบ่งเป็นซอง ยาวสัก 3.5x6 เมตร อยู่กันประมาณ 60 คน เวลานอนไม่ใช่เบียดๆ กันนะ ต้องนอนตะแคง" ลุงสามารถเล่าชีวิตในเรือนจำ
เมื่อถามว่า ลำบากมากไหม ลุงสามารถตอบด้วยรอยยิ้มว่า เราเคลื่อนไหวพวกนี้ก็ต้องทำใจยอมรับอยู่แล้ว ไม่ต้องไปวิตกทุกข์ร้อน ไม่งั้นจะลำบาก ลุงพยายามมองว่า เป็นรสชาติชีวิตอีกแบบหนึ่ง ในเมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องยอมรับให้ได้
ลุงเล่าด้วยว่า ไม่เรียกร้องให้ใครมาประกันตัว เพราะบอกกับลูกเมียเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่า ถ้าไปเคลื่อนไหวแบบนี้แล้วมีปัญหาอะไรก็ไม่ต้องเข้ามายุ่ง และไม่ต้องมาเยี่ยม เพราะกลัวจะกระทบกับการค้าขายด้วย
ชีวิตช่วงสั้นๆ ในเรือนจำของลุงสามารถยังไม่ลำบากเกินไป ลุงบอกว่า ในเรือนจำจะไม่มีนักโทษคดีการเมืองคนอื่นเลย แต่พอนักโทษที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมได้รู้ว่า ลุงมาในคดีการเมืองเขาก็ดีใจที่รู้ว่ายังมีประชาชนต่อสู้อยู่ มีแต่คนอยากรู้อยากเห็นว่าบ้านเมืองไปถึงไหนกันแล้ว ท่าทีของเขาก็เปลี่ยนไปและปฏิบัติต่อลุงอย่างดี เพราะรู้ว่าไม่ใช่อาชญากร
ลุงสามารถถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในช่วงค่ำของวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 เพื่อนของลุงติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกองทุนช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัวจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ทนายความยื่นประกันตัวให้ลุงด้วยหลักทรัพย์เงินสด 100,000 บาท และลุงถูกปล่อยจากเรือนจำเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 รวมระยะเวลาไปใช้ชีวิตในเรือนจำ 9 วัน
นั่งลุ้นพิจารณาคดีอย่างยืดเยื้อยาวนาน และเคร่งเครียด
หลังได้ประกันตัวออกมา ลุงสามารถก็ยังต้องไปศาลเพื่อต่อสู้คดีอีกอย่างน้อย 6 วัน คือ วันที่นัดไปสอบคำให้การ วันนัดสืบพยาน และไปฟังคำพิพากษา ซึ่งแน่นอนเป็นกระบวนการที่เขาไม่คุ้นเคย เพราะแม้จะต่อสู้มาทั้งชีวิตแต่ก็ไม่เคยต้องถูกจับและขึ้นโรงขึ้นศาลมาก่อน จึงได้แต่ไปนั่งดูทนายความทำหน้าที่ไปแบบที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ในชั้นถามคำให้การลุงยอมรับต่อศาลทั้งหมดว่าเป็นคนทำและแจกใบปลิวด้วยตัวเอง แต่ทำไปเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย
วันสืบพยานถูกกำหนดไว้เป็นวันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2560 โดยโจทก์มีพยาน 5 ปาก ส่วนจำเลยมีพยาน 4 ปาก บรรยากาศก่อนสืบพยานก็ไม่ราบรื่นนักเมื่อทหารคนจับกุมที่มาเป็นพยาน เรียกลุงไปคุยเป็นการส่วนตัวและบอกให้รับสารภาพเสีย เพราะสิ่งที่ทำเป็นความผิดอยู่แล้ว โทษหนักจะได้กลายเป็นเบา ความกลัวจึงถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น และเมื่อสืบพยานดำเนินไป ก็ต้องใช้เวลามากกว่าที่ทุกคนคาดคิดไว้ นอกจากทนายความของลุงจะพยายามซักค้านนายทหารในประเด็นอำนาจการจับกุม และอำนาจการสอบสวนของทหาร ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งลุงฟังไม่เข้าใจเอาเสียเลยแล้ว อัยการก็ยังถามให้พยานเบิกความขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน และการจับกุมตัวลุงโดยละเอียดอีก
เคราะห์ยังดีที่ผู้พิพากษาทั้งสองคนที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้มีท่าทีค่อนข้างเป็นมิตร เนื่องจากเห็นชัดว่าคดีนี้เป็นคดีการเมือง ไม่ใช่ความผิดอาชญากรรมร้ายแรง จึงพยายามพูดคุยเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศไม่ให้กดดันจนเกินไป และยังได้ตักเตือนพยานที่เป็นทหารหลายครั้ง เช่น เมื่อทหารเบิกความว่า มีหน้าที่ประจำคือการหาข่าวของศัตรู ศาลก็ทักว่า ประชาชนไม่ใช่ศัตรูของทหาร จึงไม่ควรเบิกความเช่นนี้ หรือเมื่อทหารเบิกความถึงขั้นตอนการเตรียมตัวไปจับกุมจำเลย โดยมีเจ้าหน้าที่หลายสิบคนจากหลายหน่วยงานมาร่วมด้วย ศาลก็ทักว่า การจะไปจับคนคนเดียวทำไมถึงต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ขนาดนั้น
แต่ฟากฝั่งอัยการที่ทำหน้าที่เป็นโจทก์ กลับเป็นผู้ที่ทำให้บรรยากาศตึงเครียด เพราะอัยการออกอาการจริงจังในการทำคดีมาก เห็นได้จากเวลาพักการพิจารณาคดีทุกครั้ง อัยการจะเรียกให้พยานที่เป็นทั้งทหารและตำรวจไปนั่งคุยกันต่อเพื่อเตรียมการสืบพยานอย่างเคร่งเครียดเสมอ เมื่อฝ่ายจำเลยซักค้านได้ความแล้วว่า ทหารที่เข้ามาจับกุมจำเลยอาจทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อัยการจึงเอาเอกสารการแต่งตั้งทหารให้มีอำนาจเข้ามาเสนอต่อศาลเพิ่มเติมระหว่างสืบพยานปากสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องผิดวิสัย แต่อัยการก็ยืนยันว่าจำเป็นต้องทำเช่นนี้ และทำให้บรรยากาศการสืบพยานเครียดขึ้นมาเป็นพักๆ โดยที่ลุงซึ่งนั่งดูอยู่อาจไม่เข้าใจทั้งหมด
แม้จะมีสีหน้าเหนื่อยและเครียดไปด้วยกับการพิจารณาคดี แต่เนื่องจากกฎหมายสั่งไว้ว่าการพิจารณาคดีต้องทำต่อหน้าจำเลย ลุงสามารถจึงลุกออกไปไหนไม่ได้ต้องนั่งดูตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
การสืบพยานที่ลงรายละเอียดมาก และใช้เวลาไปมากกับการโต้เถียงระหว่างอัยการกับทนายความหลายครั้ง ทำให้การสืบพยานทั้งสองวันที่เริ่มตั้งแต่เช้าลากยาวไปจนเสร็จในเวลาประมาณหนึ่งทุ่ม ลุงสามารถและทนายความเดินออกจากศาลแทบจะเป็นคนสุดท้ายของวัน ในขณะที่ฟ้ามืดและอาคารศาลปิดไฟหมดแล้ว
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? จุดที่ต้องถกเถียงกันว่า การรณรงค์ก่อนทำประชามติเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
ตลอดสองวันเต็มๆ ทั้งผู้พิพากษา อัยการ เจ้าหน้าที่ศาล รวมทั้งผู้มาสังเกตการณ์ 3-4 คน ที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ 19 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ต่างก็ต้องใช้พลังใจไปอย่างมากไม่แพ้กัน เพื่อรวบรวมสติสัมปชัญญะรับฟังเรื่องราวอันขันขื่นของลุง เมื่อประเทศไทยเดินทางมาถึงวันที่ต้องถกเถียงกันว่า การแจกใบปลิวรณรงค์ก่อนการทำประชามติเป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือไม่
"คำว่า เผด็จการจงพินาศ แบบนี้กระทบต่ออะไร?" ครั้งหนึ่งอัยการถามทหาร
"กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ" ทหารตอบ
"คำว่า เผด็จการจงพินาศ และมีคำว่า Vote No แบบนี้ มีลักษณะอย่างไร?" อัยการถามตำรวจทุกคนด้วยคำถามเดิมซ้ำๆ
"มีลักษณะก้าวร้าว และเป็นการปลุกระดมทางการเมืองครับ" ตำรวจตอบตามที่เตรียมกันมา
"หลังจากได้อ่านข้อความในใบปลิวแล้วพยานก็เลยไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่?" ครั้งหนึ่งทนายความถามทหาร
"ขอไม่ตอบครับ" ทหารสวน
"การไปลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือโหวตโน เป็นการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่?" ครั้งหนึ่งทนายความถามตำรวจ
"ไม่ผิดครับ" ตำรวจตอบ พร้อมกับรอยยิ้มเฝื่อนๆ จากคนทั้งห้องที่เกิดขึ้นพร้อมกัน
.....ฯลฯ.....
กว่าลุงจะได้ขึ้นเบิกความเอง ก็เกือบห้าโมงเย็นของวันที่สอง
"ผมมีความฝันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาแล้วว่า อยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตยสมบูรณ์" ลุงสามารถเปิดประโยคแรกบอกศาลอย่างมั่นใจ ก่อนเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของลุงตั้งแต่สมัย 14 ตุลาฯ มาจนถึงวันนี้
ลุงยังบอกศาลด้วยว่า ตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศซึ่งลุงไม่เห็นด้วย ลุงก็ไม่เคยออกไปชุมนุมคัดค้านแต่ให้โอกาสรอดูว่าจะพาประเทศไปทางไหน แต่พอเวลาผ่านมาหลายปีก็เห็นแล้วว่า คสช. มีแต่ทำให้บ้านเมืองถอยหลัง ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ต่างชาติไม่อยากค้าขายด้วย และทำให้ประชาชนในชนบทเดือดร้อน ลำบากยากแค้น จนลุงไม่สามารถทนดูต่อไปได้อีกแล้วและรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่าง
ลุงใช้เวลาไม่มากนักที่จะเล่าเหตุการณ์การจับกุมโดยทหาร และการดำเนินคดีนี้ต่อลุงโดยมีทหารอยู่ร่วมตลอดกระบวนการ แต่ลุงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่าเรื่องปัญหาบ้านเมืองและการต่อสู้ของตัวเองในอดีต เล่าไปเสียงของลุงก็มีสั่นเครือเป็นจังหวะๆ โดยศาลก็ฟังอย่างตั้งใจ สลับกับการเบรกเพื่อจดบันทึก และลุงก็ยังบอกศาลด้วยว่า การไปแจกใบปลิวเพื่อบอกให้คนโหวตโนนั้นไม่สามารถทำให้ใครอ่านใบปลิวเพียงแผ่นเดียวแล้วคิดคล้อยตามได้ เพราะทุกคนมีวิจารณญาณเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และลุงก็เชื่อว่า การแจกใบปลิวเช่นนี้ในภาวะที่บ้านเมืองกำลังจะมีการทำประชามติเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่จะต้องทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
หลังการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น ลุงบอกว่า "ดูท่าทีผู้พิพากษา ท่านก็ดีพอสมควร โดยตำแหน่งหน้าที่ถึงเขาจะไม่ชอบสิ่งที่เราทำมากๆ แต่เขาก็ต้องเก็บอาการ ผมยังไม่ได้พูดทุกอย่างที่อยากพูดหรอก มันติดปัญหาตรงที่ท่านผู้พิพากษาต้องฟังไปจดไปด้วย ทำให้ไม่ต่อเนื่อง ถ้าให้ผมพูดแล้วท่านฟังอย่างเดียวสักชั่วโมงผมจะพูดอะไรอีกเยอะมากที่เป็นเรื่องของประเทศชาติและประชาชน"
จาก 2516 ถึง 2560 44 ปีที่โมงยามความฝันของลุงไม่ผันแปร
วันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2560 เช้าวันฟังคำพิพากษา ลุงมาถึงก่อนเวลานัดพอสมควรและขึ้นไปรอที่ห้องพิจารณาคดีห้องเดิม ซึ่งทราบมาว่าผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในคดีของลุงย้ายไปประจำที่ศาลอื่นแล้ว ตามปกติของเช้าวันจันทร์ที่คนจะมาศาลกันเยอะเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้ลุงย้ายห้องไปฟังคำพิพากษาอีกห้องหนึ่ง ซึ่งคราคร่ำไปด้วยผู้คน ทั้งคดีของชาวเขาที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ไปจนถึงคดีของคนที่แต่งตัวดีเหมือนมีสตางค์
ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.30 ด้วยท่าทีลุกลี้ลุกลนกับคดีปริมาณมาก และแจ้งว่าจะอ่านคำพิพากษาในคดีของลุงก่อนเป็นอันดับแรก ท่ามกลางคนที่มาธุระของคดีอื่นอัดกันอยู่เต็มห้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินถือกุญแจมือเข้ามาในห้องพิจารณาคดี ถามหาคนชื่อ "สามารถ" หากว่าศาลพิพากษาให้จำคุกตำรวจก็จะได้รับตัวไปต่อทันที ขณะที่ทุกคนในห้องนั่งอยู่ เมื่อศาลเรียก ลุงสามารถลุกขึ้นยืนขานรับอย่างโดดเดี่ยวด้วยแววตาสั่นสะท้าน
แล้วผู้พิพากษาที่ไม่เคยพิจารณาคดีลุงมาก่อนก็หยิบซองคำพิพากษาที่ติดเทปกาวปิดไว้อย่างดีขึ้นมา ตัดซองออกต่อหน้าทุกคน พลิกๆๆๆๆ ไปยังหน้าท้ายๆ แล้วเริ่มอ่านเลย
"คดีนี้ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ......."
เมื่อได้มีโอกาสนั่งคุยกับลุงสามารถก่อนการฟังคำพิพากษาเพียงหนึ่งวัน สิ่งที่อดจะถามลุงไม่ได้ ก็คือ เตรียมตัวเตรียมใจไว้อย่างไร ถ้าผลคำพิพากษาออกมาให้ลุงต้องรับโทษ?
ลุงสามารถ กล่าวดุดันขึงขัง แต่เหมือนกับว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เตรียมการอะไรไว้เลย "ก็ยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ยอมรับสิ่งที่เขาทำถ้ามันไม่ยุติธรรมกับเรา เราสู้มาถึงขนาดนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราไม่สู้ไม่ได้ เพราะพวกเรามันเป็นพวกลมหายใจไม่แพ้"
"ความถูกต้องของประเทศ เสรีภาพและประชาธิปไตยมาจากการต่อสู้ ไม่ได้มาจากการร้องขอ หรือถึงไปร้องขอเขาก็ไม่มีให้ มีแต่คุกกับกระสุนปืน เราไม่ใช่พวกหัวรุนแรง ก้าวร้าว หรือต่อต้านสังคม แต่เราทนเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้น โดยไม่ได้ทำอะไรเลยไม่ได้" ลุงยังย้ำหนักแน่นอยู่กับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว
เรื่องราวของ "ลุงสามารถ" อาจไม่ต่างกันนักกับบทชีวิตของผู้คนอีกหลายหมื่นหลายแสนคนในประเทศไทย ที่เกิดและเติบโตมาในยุคสมัยของเผด็จการทหาร รู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์บ้านเมือง เฝ้าดูและเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกการเคลื่อนไหวเท่าที่ตัวเองสามารถทำได้ โดยมีความหวังเสมอว่า วันหนึ่งการต่อสู้ของพวกเขาจะนำพาประเทศไทยไปสู่สภาวะที่ดีขึ้น สภาวะที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในการปกครองและการกำหนดอนาคตของตัวเอง มีโอกาสเปลี่ยนแปลงหรือถอดถอนผู้นำที่ทุจริต มีหลักประกันคุณภาพชีวิตและมีโอกาสที่จะแข่งขันในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน หรือที่พวกเขาอาจเคยเรียกมันย่อๆ ว่า "มีประชาธิปไตย"
สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทยในปี 2560 เดินทางมาไกลมากนับจากปี 2516 เมื่อวันที่ลุงสามารถเพิ่งเข้าเป็นนักศึกษาและหันมาสนใจการเมืองเป็นครั้งแรก สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลย คือ สิทธิเสรีภาพที่ยังไม่มี และประชาธิปไตยที่ยังไม่มา แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ วันนั้นประชาชนหันหน้าสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ส่วนขบวนนักศึกษาก็มุ่งหน้าขับเคลื่อนไปถามหาอุดมการณ์อย่างไม่เกรงกลัว แต่วันนี้กระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมีแต่ถูกกดทับ และเฉื่อยชาลงเรื่อยๆ ไม่เพียงคนรุ่นใหม่ไม่ขึ้นมาแทนคนรุ่นลุง แต่คนรุ่นลุงเองจำนวนไม่น้อยก็หันหน้าออกจากกันและโอบกอดจุดยืนทางการเมืองกันคนละมุม
และภาวะที่ผู้นำการเคลื่อนไหวทางการเมืองค่อยๆ ถูกบีบให้เงียบหายไปจากสังคมเช่นนี้เอง ที่ผลักดันคนธรรมดาตัวเล็กๆ ที่หมดความอดทน อย่างลุงสามารถ ให้ออกมาเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง จนประสบชะตากรรมต้องมาเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาเรียกกันว่า "กฎหมาย" และ "กระบวนการยุติธรรม" โดยลำพัง
"ผมก็ภูมิใจว่าตั้งแต่เราหนุ่ม ตอนเป็นนักศึกษาปีหนึ่ง จากวันนั้นจนวันนี้ความคิดเรายังไม่ได้เปลี่ยน เรายังใฝ่ฝันที่จะเห็นประชาธิปไตยในประเทศนี้ ที่จริงเราก็เป็นแค่น็อตตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ได้มีบทบาทอะไรมาก แต่ก็ยังเป็นน็อตที่ยังขับเคลื่อนอยู่ ไม่ใช่น็อตที่ขึ้นสนิมแล้วถูกทิ้งไว้ในรางระบายน้ำ" ลุงสามารถ กล่าวไว้วันหนึ่งในปี 2560
พวกเราสิที่ต้องขอบคุณลุง!
สายตาของผู้คนกว่า 20 คน เต็มห้องพิจารณาคดีที่ 19 จดจ้องมายังจำเลยอาวุโส ตัวเล็กๆ แต่งตัวปอนๆ ที่กำลังเดินกระเผลกๆ ก้มหัวหลบคนอื่นๆ ที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ม้านั่งยาวเพื่อหาทางออกไปหาอิสระเสรีภาพนอกห้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตอนแรกเดินเข้ามาพร้อมกุญแจมือ ปรี่เข้ามาจับหัวไหล่เพื่อนลุงคนนึงแล้วพูดว่า "สุดยอดๆ สู้ๆ ดีใจด้วย"
เพื่อนๆ ของลุงที่มาให้กำลังใจในวันนี้ล้วนมีสีหน้าดีอกดีใจและรอยยิ้มเต็มใบหน้า ลุงเองก็เช่นกัน
"คำพิพากษาเขียนดีมากกกกก" ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งพูดขึ้น
"เป็นไงบ้าง ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะดีขนาดนี้ใช่ไหม" ทนายความทักทายกับลุง
"ท่านผู้พิพากษาในคดีนี้มีใจเป็นธรรม การต่อสู้คดีนี้อย่างน้อยก็เกิดบรรทัดฐานหรือจุดประกายเล็กๆ ชัยชนะในคดีนี้ไม่ใช่ของผมนะ เพราะผมไม่ได้ทำอะไรเลยเพียงแค่ไปแสดงออกเฉยๆ แต่เป็นชัยชนะของประเทศและประชาชนทุกคน" ลุงสามารถ กล่าวกับคนที่ร่วมฟังคดี
ชั่วอึดใจที่บทสนทนายังไม่จบ ผู้ที่มาให้กำลังใจลุงในวันนี้อีกคนหนึ่งก็เพิ่งเดินมาถึง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการด้านกฎหมายที่มาเบิกความเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญให้จำเลย ปรากฏตัวมาที่ศาลเพื่อจะร่วมฟังคำพิพากษาด้วย แต่มาช้าไปเล็กน้อย การอ่านคำพิพากษาได้ผ่านไปแล้ว
"เป็นไงบ้างล่ะๆ" อ.สมชายถาม
"ศาลบอกว่า ใบปลิวไม่อาจโยงถึงการออกเสียงประชามติ เพราะคนมีสิทธิลงประชามติ อายุ 18 ปี มีวุฒิภาวะแล้ว ย่อมตัดสินใจเองได้ แล้วก็บอกด้วยว่า กฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัดไม่ใช่จะตีความเพื่อมุ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพ" ผู้สังเกตการณ์อีกคนหนึ่งตอบอาจารย์
"ดีๆๆ พอคัดสำเนาคำพิพากษาได้แล้ว เราเตรียมจัดงานเลยดีไหม ให้คนได้รู้ออกเลยไปว่า ทำแบบนี้มันไม่ผิด!" อ.สมชาย พูดอย่างตื่นเต้น
"ขอบคุณมากครับ ขอบคุณทุกคนมากๆ" ลุงสามารถ ยกมือไว้ทนายความ และอาจารย์
"โอ้ยยยย ไม่ต้องเลยไม่ต้อง พวกเราสิที่ต้องขอบคุณลุง เพราะว่าเป็นคนที่ทำอยู่คนเดียวแล้วก็เสี่ยงอยู่คนเดียว" อ.สมชายกล่าว ขณะเข้าโอบไหล่จำเลยคดีประชามติฯ
ก่อนแยกย้ายจากกันในเช้าวันนั้น ลุงสามารถ อายุ 64 ปี ผู้ซึ่งร่วมขบวนการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไม่เคยออกหน้าและไม่เคยทดท้อมาตลอดชีวิต มีรอยยิ้มกว้าง แม้ปลายทางที่เป็นความฝันของลุงจะยังถูกผลักให้เลื่อนไกลออกไปเรื่อยๆ แต่ในวันนี้ลุงก็ได้ขยับเข้าไปหามันแล้วอีกก้าวหนึ่ง และยังมีโอกาสจะได้วิ่งไล่ตามมันต่อไปอีกเรื่อยๆ ตราบที่ลมหายใจยังไม่แพ้
Article type: