1088 1205 1913 1592 1418 1826 1893 1414 1977 1285 1122 1436 1161 1694 1885 1114 1104 1006 1585 1340 1789 1582 1938 1890 1366 1906 1806 1416 1284 1538 1140 1140 1973 1260 1747 1562 1768 1216 1140 1618 1281 1995 1865 1054 1521 1317 1246 1906 1606 1777 1768 1888 1482 1239 1210 1128 1381 1579 1535 1395 1225 1718 1170 1690 1789 1128 1804 1091 1120 1908 1188 1823 1159 1816 1034 1750 1924 1731 1090 1871 1888 1436 1015 1978 1859 1468 1921 1617 1692 1774 1645 1987 1991 1663 1138 1960 1532 1718 1923 Military rule: อะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ "ศาลทหาร" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Military rule: อะไรก็เกิดขึ้นได้ภายใต้ "ศาลทหาร"

"...ผมก็ได้สั่งให้ชี้แจงไปว่าการที่นำตัวขึ้นศาลทหารนั้นก็เหมือนกับศาลธรรมดา แต่ที่เป็นศาลทหารเนื่องจากใช้คณะในการพิจารณาเป็นทหาร จบจากทหารพระธรรมนูญซึ่งเรียนจบกฎหมายมาทั้งหมด แตกต่างกันก็แค่มียศเท่านั้น แต่ใช้วิธีการพิจารณาของศาลปกติ สามารถประกันได้ มีทนายได้ ผมอยากจะถามว่าใช้ศาลทหารมันผิดตรงไหน และที่ต้องใช้ศาลทหารก็เพราะสถานการณ์มันไม่ปกติ คนเหล่านี้ไม่เคารพกฎหมายปกติ เรื่องเหล่านี้สื่อช่วยแยกให้หน่อย ไม่ใช่ว่าเราต้องการไปปิดบังบิดเบือน หรือต้องการไปละเมิดสิทธิ..." 
 
 
นานมาแล้วที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องศาลทหารกัน จนหลายคนอาจลืมไปว่า แม้จะมีคำสั่งยุติการใช้ศาลทหาร แต่ยังมีคดีของพลเรือนที่ค้างคาอยู่ที่ศาลทหารอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งนี้ แม้รัฐบาลพยายามชี้แจงต่อสื่อและนานาชาติว่า ศาลทหารไม่ได้แตกต่างจากศาลพลเรือนมาโดยตลอด แต่จากข้อเท็จจริงเท่าที่รู้ก็พบว่า ศาลทหารแตกต่างกับศาลยุติธรรมและเสี่ยงต่อการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง พอแบ่งออกได้เป็นสี่ประเด็นที่อยากนำเสนอ ได้แก่ หนึ่ง โครงสร้างของศาลทหาร สอง ที่มาและคุณสมบัติของตุลาการศาลทหาร สาม ความผิดที่ทำให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร และ สี่ การรับรองอำนาจของคณะรัฐประหาร 
 
 
รัฐบาลชุดไหนก็สามารถ “กำกับ” ศาลทหารได้
 
ความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาถือเป็นหลักประกันสำคัญว่า สิทธิของประชาชนจะได้รับการคุ้มครองจากการใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้น โครงสร้างทางอำนาจของฝ่ายตุลาการจึงต้องเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจที่ให้อำนาจตุลาการแยกออกจากอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้ถ่วงดุลและคานกัน และที่สำคัญต้องไม่ให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจให้คุณให้โทษฝ่ายตุลาการได้ มิเช่นนั้นอำนาจฝ่ายอื่นๆ อาจจะแทรกแซงอำนาจตุลาการได้ในที่สุด
 
แต่ทว่า เมื่อ คสช. ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ที่ให้คดีของพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้หลักประกันความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาถูกตั้งคำถาม ซึ่งส่งผลต่อการยอมรับกระบวนการพิจารณาคดีและผลของคดี เนื่องจาก พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 5 ระบุว่า ศาลทหารอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และมาตรา 10 และ มาตรา 30 ระบุว่าอำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้บังคับบัญชา ดังนั้น หน่วยงานของศาลทหารจึงมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหารมิได้แยกขาดเหมือนศาลยุติธรรมปกติ และการที่รัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชายังสามารถให้คุณให้โทษต่อตุลาการศาลทหารได้ ก็เท่ากับว่า ผู้พิพากษาศาลทหารมิได้เป็นอิสระแต่อยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร 
 
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษา คสช. และเป็นผู้ออกประกาศ คสช. มาบังคับใช้กับพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารอีกด้วย
ใครๆ ก็เป็นตุลาการศาลทหารได้ เพราะไม่บังคับต้องจบกฎหมายทุกคน
 
618
 
นอกจากโครงสร้างของศาลทหาร เรื่องคุณสบัติของผู้พิพากษาศาลทหารก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สังคมตั้งคำถามต่อความยุติธรรมในศาลทหาร เนื่องจาก มาตรา 27 บัญญัติว่า ศาลมณฑลทหาร ศาลทหารกรุงเทพ และศาลประจําหน่วยทหาร ต้องมี ตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย ซึ่งนายตุลาการพระธรรมนูญจะเป็นเพียงคนเดียวจากองค์คณะสามคนที่จบกฎหมาย ส่วนนายทหารอีกสองคนเพียงมียศชั้นสัญญาบัตรแต่ไม่ต้องจบนิติศาสตร์ก็สามารถนั่งบัลลังก์พิพากษาคดีได้
 
กรมพระธรรมนูญเคยให้ข้อมูลกับสำนักข่าวคมชัดลึกว่า สำหรับ “องค์คณะ” ที่ร่วมพิจารณาคดีประกอบด้วยนายทหารสัญญาบัตรอีก 2 นาย ซึ่งจะต้องจบปริญญาตรี และแม้ว่าในข้อกฎหมายจะไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องจบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ แต่ในการคัดเลือก “ตุลาการร่วม” จะต้องมีนายทหารที่จบ “ปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์” รวมอยู่ด้วย
 
ส่วนกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตุลาการพระธรรมนูญ จะมี “ปลัดกระทรวงกลาโหม” เป็นประธาน เจ้ากรมพระธรรมนูญเป็นรองประธาน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และหัวหน้าศาลทุกศาลที่จะร่วมกันพิจารณาคัดกรองว่า ใครเหมาะสมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตัดสินคดี อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุดในการพิจารณาคดีที่มีพลเรือนมาขึ้นศาลทหาร การแต่งตั้งองค์คณะในการพิจารณาคดีตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37 ทางหัวหน้าสำนักงานตุลาการศาลทหารได้ให้นโยบายไว้ว่า จะต้องเอาตุลาการร่วมที่จบปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์มาร่วมพิจารณาคดีด้วยทั้งหมด 
 
619
 
ใครๆ ก็ขึ้นศาลทหารได้ เมื่อกฎหมายถูกตีความกว้าง
 
ในประกาศคสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้คดีที่เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติต้องขึ้นศาลทหารไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศคสช. รวมไปถึงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 107 – 118 และข้อหาที่ถูกนำมาใช้มากหลังรัฐประหารก็คือ ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ทั้งที่องค์ประกอบความผิดของกฎหมายนี้ ดูไม่ค่อยจะสมดุลกับการกระทำที่ถูกฟ้องเสียเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น
 
 
ปรีชา ถูกตั้งข้อหา ยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พร้อมกับข้อหารวมกันฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง จากการที่เขาไปร่วมสังเกตการณ์กิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” และนำดอกไม้และถุงอาหารมามอบให้ผู้จัดกิจกรรม ปรีชาตัดสินใจรับสารภาพ ศาลทหารกรุงเทพมีคำพิพากษาให้จำคุก 3 เดือน ปรับ 4,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา ในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ส่วนข้อหายุยงปลุกปั่น พิพากษายกฟ้อง ซึ่งตลอดกระบวนการจำเลยต้องถูกควบคุมตัว มาให้การต่อศาล และใช้หลักทรัพย์มาประกันตัวถึง 150,000 บาท
 
 
ธีรวรรณ หญิงสาวจังหวัดเชียงใหม่ ถูกทหารเรียกตัวมาที่ค่ายกาวิละ จากนั้นก็ตั้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ภายในค่ายทหาร เนื่องจาก เธอถือขันน้ำสีแดงและถือภาพโปสเตอร์สวัสดีวันสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ซึ่งมีรูปภาพอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถ่ายรูป ทั้งนี้ ธีรวรรณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้รับการประกันตัวผู้ต้องหาด้วยหลักทรัพย์ 1 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
 
ชญาภา ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า จะมีการปฏิวัติซ้อน ทำให้ตำรวจและทหารบุกเข้าจับกุมที่บ้าน และเมื่ออัยการส่งฟ้อง ชญาภาถูกฟ้องเป็นความผิด 5 กรรม โดย 3 ใน 5 กรรม เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ทั้งนี้ เธอให้การรับสารภาพโดยไม่มีทนายความและระหว่างการพิจารณาคดีก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว สุดท้ายศาลทหารกรุงเทพพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 กรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 9 ปี ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือ จำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 ปี 18 เดือน 
 
 
รินดา ถูกจับจากการโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาว่าพล.อ.ประยุทธ์ และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์หลายหมื่นล้านบาท เธอถูกตั้งข้อหาฐานยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เธอถูกฝากขังที่เรือนจำเป็นเวลา 3 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว ก่อนที่ศาลทหารจะให้ความเห็นว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาไม่น่าจะเป็นความฐานยุยงปลุกปั่น แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร
 
 
ชัชวาลย์ เป็นนักข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ภาพข่าวการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร พร้อมเขียนคำบรรยายใต้ภาพว่า “แดงลำพูนแปลงกาย ใส่หลากสี สวมหน้ากากชูป้ายต้านรัฐประหารกลางเมือง” บนเว็บไซต์ manageronline อันอาจเป็นการยุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 แต่ท้ายที่สุด เมื่อกระบวนการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ประจำวัน และโจทก์ไม่อาจนำสืบจนสิ้นสงสัยได้ว่า จำเลยมีเจตนาสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อย่างไรก็ดี ชัชวาลย์ต้องถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ 15 วัน เนื่องจากศาลไม่ให้กันประกันตัวในช่วงแรกๆ และต้องใช้หลักทรัพย์เงินสด 4 แสนบาทยื่นประกันตัว
 
จากคดีตัวอย่างที่ยกมา พอจะทำให้เห็นว่า การนำพลเรือนขึ้นศาลทหารมีการตีความตัวบทอย่างกว้างขวางไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายที่คุ้มครองความมั่นคงของรัฐ แต่ในระยะหลังนับตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการทหาร หรือแม้กระทั้งตุลาการทหาร ล้วนตีความกฎหมายอย่างกว้างเพื่อให้ใช้เอาผิดได้กับทุกกรณี และหากยังมีการตีความกว้างเช่นนี้โดยมีกระบวนการยุติธรรมรองรับก็ย่อมจะส่งผลให้พรมแดนเสรีภาพของประชาชนหดแคบยิ่งกว่าเดิม
 
620
 
ใครๆ ก็ติดคุกได้ เพราะอำนาจคสช. คือกฎหมายที่ห้ามฝ่าฝืน
 
จากข้อมูลที่ไอลอว์ได้ติดตามมาตลอดหลังการรัฐประหาร พบว่า มีคดีการแสดงออกของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 93 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 47 คดี และมีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 40 คดี (เท่าที่ทราบ) โดยใน 40 คดี เป็นคดีที่ศาลพิพากษาภายหลังผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแทบทั้งสิ้น  
 
ส่วนคดีที่มีการต่อสู้คดีนั้น การอ้างสิทธิเสรีภาพเพื่อต่อสู้คดีไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ อันจะเห็นได้จากคำพิพากษาคดีของ สิรภพ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. เรื่องไม่ไปรายงานตัว ซึ่งเป็นคำพิพากษาเดียวตามข้อหานี้ในตอนนี้ที่จำเลยต่อสู้คดีและศาลทหารพิพากษาเสร็จแล้ว 
 
ในคำพิพากษาของสิรภพระบุว่า “…ที่จำเลยไม่มารายงานตัว เพราะเหตุที่มีการรัฐประหาร จำเลยเลือกที่จะปกป้องประชาธิปไตยโดยวิธีสันติอหิงสา ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะรัฐประหาร และเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกและมีคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวนั้นไม่ชอบ ไม่เป็นกฎหมาย เพราะเป็นคำสั่งที่ออกโดยคณะกบฏ ไม่มีการประกาศพระบรมราชโองการ และไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จำเลยไม่ยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์”
 
แต่ศาลพิเคราะห์แล้วว่า “เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจการปกครองบ้านเมือง และบรรดาประกาศหรือคำสั่งใดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) สั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือเป็นคำสั่งของรัฐ อันเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมา…”
 
นอกจากนี้ ในคำพิพากษาศาลทหารยังระบุอีกว่า “…แม้จำเลยจะนำสืบต่อสู้ว่า การที่จำเลยไม่ไปรายงานตัวนั้นเป็นการอารยะขัดขืนก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือคำสั่งของรัฐ และไม่มีบทกฎหมายเรื่องความรับผิดทางอาญาบัญญัติให้การกระทำเช่นนั้นไม่มีความผิดหรือไม่ต้องได้รับโทษ ดังนั้น การกระทำอารยะขัดขืน จึงยังคงเป็นความผิดต่อกฎหมาย”
Article type: