1865 1617 1450 1702 1272 1899 1692 1514 1328 1849 1782 1866 1248 1959 1794 1322 1612 1305 1881 1568 1181 1709 1517 1857 1890 1278 1554 1341 1854 1593 1249 1306 1855 1923 1618 1888 1957 1673 1820 1319 1234 1380 1742 1591 1020 1243 1098 1131 1159 1689 1544 1576 1174 1976 1778 1703 1893 1802 1806 1230 1575 1096 1021 1628 1282 1958 1894 1327 1783 1062 1597 1574 1850 1123 1767 1481 1826 1016 1805 1028 1961 1913 1521 1924 1543 1865 1751 1628 1815 1254 1105 1925 1312 1779 1585 1204 1793 1400 1358 Military Rule: เราควรเรียนรู้จากศาลทหาร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Military Rule: เราควรเรียนรู้จากศาลทหาร

หลังฟังความเห็นจาก “หัวหน้าคณะฝ่ายทหารสูงสุด” ถึงโครงสร้าง กระบวนการ และทัศนคติของศาลทหารแล้ว สิ่งที่อยู่ร่วมกับการบังคับใช้ศาลทหารในยุค คสช. ก็คือประชาชน โดยเฉพาะคนที่ต้องเข้าๆ ออกๆ ศาลทหารเป็นว่าเล่นอย่างทนายความ ทั้งนี้ ไอลอว์ได้ติดต่อไปยัง 'ภาวิณี ชุมศรี หัวหน้าฝ่ายคดีของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน' เพื่อตอบคำถามว่า ในฐานะประชาชน เธอเห็นอะไรในกระบวนการยุติธรรมของศาลทหาร รวมถึงเรื่องเล่าบางอย่างที่คุณอาจไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาก่อน
 
Q: สมัยเป็นนักศึกษากฎหมายมีความรู้ความเข้าใจต่อศาลทหารมากน้อยขนาดไหน
 
A: แทบไม่มีเลย ตอนเรียนที่นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์แทบจะไม่มีการเรียนเกี่ยวกับศาลทหารเลย แต่ว่ามีวิชาธรรมนูญศาล ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมกับศาลปกครอง แต่ศาลทหารจะมีธรรมนูญของตัวเอง ถ้าเป็นความผิดของทหารก็จะไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกติ ซึ่งรู้แค่นั้น แต่ไม่รู้ว่าศาลทหารคืออะไร ธรรมนูญศาลทหารเป็นยังไง และส่วนตัวก็ไม่ได้สนใจ คิดไปเองแบบเด็กๆ ว่า เป็นเรื่องวินัยทหาร เกี่ยวกับการสั่งการ เท่านั้น
 
Q: เมื่อต้องทำงานเป็นทนายความที่ศาลทหารเป็นอย่างไร
 
A: ต้องบอกก่อนว่า เคยทำงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อน ก็เลยเคยไปศาลทหารมาแล้ว (ก่อนการรัฐประหาร 2557) ตอนนั้นเป็นคดี “อิหม่ามยะผา” ที่นราธิวาส ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกในค่ายทหาร แล้วควบคุมตัวได้วันเดียว เช้าวันรุ่งขึ้นก็เสียชีวิต พอไปชันสูตรพลิกศพก็พบว่ามีกระดูกซี่โครงหัก มีร่องรอยฟกช้ำ แล้วมีพยานที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นคนเอาตัวอิหม่ามยะผาไปแต่กลับมาโดยมีสภาพแย่ แล้วศาลก็ไต่สวนการตายของอิหม่ามยะผาว่า มีทหารทำร้ายร่างกายอิหม่ามยะผาจนเสียชีวิต จากคดีนี้เลยได้มาศึกษาเรื่องศาลทหารแบบจริงๆ จังๆ เพราะตอนแรกฟ้องทหารและตำรวจ แต่พอไต่สวนมูลฟ้องที่คดีอาญา ศาลเห็นว่าตำรวจไม่มีมูลในคดี มีแค่ทหาร ซึ่งศาลก็ไม่รับฟ้องบอกว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจ ซึ่งเราก็รู้แต่แรกแล้วว่า ถ้าทหารผิดกฎหมายอาญาก็ต้องขึ้นศาลทหาร เว้นแต่จะร่วมกันกระทำผิดกับพลเรือนหรือตำรวจ
 
พอคดีไปศาลทหารมันก็ติดล็อค เพราะกฎหมายของศาลทหารไม่ให้สิทธิผู้เสียหายในการฟ้องคดีเอง กฎหมายกำหนดให้ต้องเป็นอัยการทหารเท่านั้นถึงจะยื่นฟ้องเองได้ ซึ่งจะแตกต่างกับศาลพลเรือนที่ผู้เสียหายสามารถฟ้องเองได้ แล้วคดีนี้ศาลไต่สวนการตายแล้ว มีการชันสูตรพลิกศพแล้วว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ มันก็ควรที่จะมีการสั่งฟ้อง แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ยังไม่มีการยื่นฟ้องเลย 
 
Q: พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วมุมมองต่อศาลทหารเปลี่ยนไป?
 
A: เรากังวลตั้งแต่ตอนแรกแล้ว คือเราเห็นข้อจำกัดของศาลทหารตั้งแต่ตอนแรกว่า ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องร้องคดีได้โดยตรง อีกอย่างคือ เราไม่อยากพูดแบบเหมารวม เพราะก็คงมีอัยการทหารหรือผู้พิพากษาศาลทหารที่ใจเป็นธรรม แต่โดยโครงสร้างองค์กรพอเป็นทหารด้วยกัน หน่วยงานเดียวกัน สังกัดเดียวกัน ถ้าเกิดผู้บังคับบัญชาที่นั่งเป็นองค์คณะผู้พิพากษาเห็นด้วยกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารก็มีโอกาสที่จะช่วยเหลือกัน คือโดยระบบมันเอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้
 
Q: จะเป็นอัยการทหาร ตุลาการทหาร ต้องมีขั้นตอนอย่างไร
 
A: พอมาข้องเกี่ยวกับศาลทหารก็เลยทำให้รู้ว่า ทั้งอัยการทหารและตุลาการไม่จำเป็นจะต้องจบเนติฯ (เนติบัณฑิต) แค่จบนิติศาสตร์ธรรมดา แล้วมาสอบเป็นนายทหารพระธรรมนูญอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม พอยศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คุณก็สามารถไปเป็นอัยการ ไปเป็นศาลได้ บางทีก็หมุนมาจากฝ่ายกฎหมายของกองทัพ
 
Q: ถ้าคนธรรมดาคิดจะเป็นผู้พิพากษาล่ะ
 
A: โดยหลักการก็คือต้องจบนิติศาสตร์ จบเนติบัณฑิตฯ ไทย ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ต้องมีประสบการณ์ทางกฎหมาย เคยเป็นนิติกรของรัฐ 2 ปี หรือถ้าจะเป็นทนายความก็ต้องเคยทำคดีมาแล้วเป็น 10 คดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแค่คุณสมบัติ ยังต้องไปสอบอีก
 
Q: การเรียนเนติบัณฑิตมีความพิเศษกว่าคนจบนิติศาสตร์ปกติอย่างไร 
 
A: การจบเนติฯ มันทำให้คุณมีภาษีดีขึ้น ดูมีคุณสมบัติที่ดีขึ้น คือจริงๆ มันก็เหมือนปริญญาตรีเกือบทุกอย่าง แต่ที่แตกต่างคือข้อสอบมันยากกว่า มีประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการสอบก็วัดความเชี่ยวชาญ วัดความแม่นยำในหลักกฎหมาย เหมือนกับการสอบใบประกอบวิชาชีพ 
 
Q: หลังรัฐประหารที่ผ่านมานี้ ปัญหาของศาลทหารมีอะไรอีกบ้างนอกจากความไม่เป็นกลางและคุณสมบัติ
 
A: จริงๆ ไม่อยากใช้คำว่า “ไม่เป็นมืออาชีพ” แต่ถ้าเทียบกับศาลพลเรือนมันสะท้อนถึง “ความไม่พร้อม” อย่างเช่น วันนัดที่ไม่เพียงพอ องค์คณะที่ไม่เพียงพอ ห้องพิจารณาคดีก็ไม่เพียงพอ ตุลาการก็ไม่เพียงพอ อัยการก็ไม่เพียงพอ ที่พูดแบบนี้เพราะเวลาไปคดีแล้วศาลจะนัด (วันพิจารณาคดี) ปรากฎว่าเดี๋ยวศาลไม่ว่าง อัยการไม่ว่าง พอทั้งสองคนว่าง ห้องพิจารณาคดีก็ไม่ว่างอีก (หัวเราะ) คือมันไม่พร้อม 
 
หรืออย่างการรับส่งหมายนัดของศาล บางทีก็ฝากนายประกันไปให้ผู้ต้องหาบ้าง แล้วหมายนัดก็กระชั้นชิดมาก เช่นฝากส่งนายประกันอาทิตย์นี้ แต่นัดหมายคดีเป็นสัปดาห์หน้า ผู้ต้องหาก็เพิ่งรู้ สุดท้ายทนายความก็เตรียมคดีไม่ทัน ต้องไปขอเลื่อนคดีอีก กลายเป็นการพิจารณาคดีต้องช้าออกไป ถ้าผู้ต้องหาได้ประกันก็ดีไป แต่ถ้าอยู่ในเรือนจำก็เป็นปัญหาอีก คือบางทีคุณสั่งฟ้องแต่คุณไม่เรียกผู้ต้องหามาฟัง พอผ่านไปสองเดือนสามเดือนก็เรียกมาเบิกความ บางทีผู้ต้องหาไม่มีญาติมาเยี่ยมประจำ ไม่มีทนาย แล้วต้องมาสอบคำให้การ ถ้าเป็นจำเลยที่ไม่รู้สิทธิของตัวเอง จำเลยก็จะรับสารภาพไปเลย ซึ่งเคยเกิดกรณีแบบนี้มาแล้ว 
 
อย่างบางเรื่องก็เป็นเล็กน้อย เช่นการตรวจพยานหลักฐาน อัยการทหารจะขอคัดค้านการขอตรวจพยานหลักฐาน คือเรื่องพวกนี้เป็นสิทธิพื้นฐานแต่ทนายต้องมานั่งโต้เถียงสิทธิเรื่องนี้กับอัยการ ต้องมาอธิบายให้ศาลฟัง ไม่งั้นจำเลยจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ คือจำเลยหรือผู้ต้องหาก็ต้องมีสิทธิตรวจดูว่าเขาถูกกล่าวหาว่าอะไร จากหลักฐานอะไร เพื่อมาใช้ต่อสู้คดี เหตุการณ์แบบนี้เพิ่งจะเคยเจอในอัยการศาลทหารนี่แหละ หรือการยื่นบัญชีพยาน โดยทางปฏิบัติไม่ค่อยมีการบังคับกันอย่างเคร่งครัดในศาลพลเรือน เพราะฝ่ายโจทก์ก็อยากให้จำเลยได้สู้ให้เต็มที่ ถ้าฝ่ายจำเลยหรือผู้ต้องหาอยากยื่นบัญชีพยานเพิ่มก็ทำได้ คือเข้าใจไหมมันยิบย่อยกับเรื่องพวกนี้แล้วเหนื่อยต้องมาอธิบาย
 
Q: ที่มีคนโวยวายกันเรื่องการ “พิจารณาคดีลับ” มันเป็นปัญหาอย่างไร
 
A: ถ้าพูดแบบแฟร์ๆ ศาลพลเรือนก็มีการพิจารณาลับเช่นกัน แต่มันมีข้อจำกัดการใช้อยู่ว่า ศาลจะสั่งพิจารณาคดีลับได้นั้นต้องกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีความลับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ หรือการเปิดเผยทำให้คู่คดีเสียหาย เป็นต้น แต่ถ้านอกเหนือไปจากนี้ เช่น การสืบเรื่องเทคนิคอย่างพยานหลักฐานคอมพิวเตอร์อะไรพวกนี้ มันก็ควรจะถูกเปิดเผย
 
ถ้าถามว่าทำไมควรเปิดเผย เพราะมันจะทำให้เกิดการถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้พิพากษา เนื่องจากผู้พิพากษามีอำนาจสูงสุดในห้องพิจารณาคดี แล้วใครล่ะจะไปถ่วงดุลอำนาจผู้พิพากษา เช่น ทนายความถามศาลไม่จด หรือศาลจะจดอีกแบบ จะไม่มีใครช่วยถ่วงดุลได้ คือพอมีคนไปตรวจสอบ ผู้พิพากษาจะเริ่มใช้อำนาจอย่างระมัดระวังมากขึ้น
 
Q: จากทั้งหมดที่เล่ามาเลยเป็นเหตุผลให้ยื่นคัดค้านอำนาจศาลทหารใช่ไหม
 
A: ใช่ แต่ผลส่วนใหญ่ก็คือ ศาลยกคำร้องตลอด (หัวเราะ) ซึ่งเหตุผลทางกฎหมายเราโอเค แต่การที่ศาลใช้บรรทัดฐานอื่น เช่น ศาลใช้บรรทัดฐานว่า คสช. เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทำให้คำสั่งหรือประกาศมีอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งพวกนี้มันไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมาย มันไม่มีกฎหมายไหนเขียนระบุไว้หรอกว่า เมื่อมีใครยึดอำนาจมาแล้วออกคำสั่งถือว่าเป็นกฎหมาย เราเลยคิดว่าที่เราแพ้เวลาต่อสู้คดีคือเราแพ้ทางความคิด มันไม่ใช่การหักล้างด้วยกฎหมาย แต่เป็นการต่อสู้กับแนวคิดเบื้องหลังของศาลเสียมากกว่า 
 
Q: คดีที่ศาลทหารรับฟ้องหรืออัยการสั่งฟ้อง มีคดีอะไรที่ทำให้ประหลาดใจไหม 
 
A: โห มีหลายคดีนะ อย่างคดีพี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด) คดีชูสามนิ้ว คดีรายงานตัวของอาจารย์วรเจตน์ ของคุณจาตุรนต์ ของหลายๆ คนที่ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัว หรือคดี 116 (ประมวลกฎหมายอาญา) แทบทุกคดีที่รู้ เช่น แจกใบปลิว มอบดอกกุหลาบ เดินเฉยๆ โพสต์เฟซบุ๊กว่าจะไปชูสามนิ้ว ไม่ควรจะเป็นคดีเลย คือมันยังไม่ได้เป็นการชุมนุม หรือการไปแจกเอกสารโหวตโนที่บางเสาธง 
 
Q: รัฐอาจจะมองว่ามันเป็นจุดแรกเริ่มให้เกิดความวุ่นวายในอนาคต
 
A: มันยังไม่ได้เกิดความวุ่นวายไง ในทางกฎหมายคุณจะไปจินตนาการล่วงหน้าแบบนั้นไม่ได้ ถ้ามันมีฐานความผิดเรื่องพยายามยุยงปลุกปั่นแล้วตีความกฎหมายทื่อๆ ก็คงจะได้ คือมันต้องเป็นข้อเท็จจริงที่บอกว่าผิดแล้ว มีเหตุเกิดขึ้นแล้ว ถึงไปดำเนินคดีได้ มันยังไม่ได้เข้าองค์ประกอบที่เป็นความผิดด้วยซ้ำ คือยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน (มาตรา 116) มันไม่ใช่น่ะ อย่างแจกเอกสารโหวตโน เดินไปรายงานตัวมีคนมามอบดอกไม้ มันเข้าไหมยุยงปลุกปั่น มันเป็นข้อหาการเมืองโดยแท้ เพราะปกติเขาไม่ทำกัน 
 
ในเชิงบริหารประเทศคุณคิดข้างในได้ แต่ในทางกฎหมายคุณทำแบบนั้นไม่ได้ การบริหารประเทศ รัฐบาลที่ดีต้องฟังว่าประชาชนเขาเรียกร้องปัญหาอะไรแล้วคุณแก้ปัญหามันถึงจะไม่ลุกลามไปในวงกว้าง ถ้าคุณรับฟังแล้วแก้ปัญหาได้ คุณไม่ต้องกังวลเลยว่าปัญหาการชุมนุมมันจะลุกลาม
 
Q: ผู้นำของประเทศมองว่า คนที่ต่อต้านคำสั่ง คสช. คือพวกไม่เคารพกฎหมาย
 
A: อันนี้ไม่ใช่เลย ในความเห็นของเรา เรามองว่ามันไม่เป็นกฎหมาย คือมันไม่มีความชัดเจนแน่นอน แค่ไหนถึงเรียกชุมนุม แค่ไหนถึงเรียกรายงานตัว ทำไมคนนี้มีชื่อ คนนี้ไม่มีชื่อ เกณฑ์คืออะไร เหตุคืออะไร ของแบบนี้มันไม่เรียกว่ากฎหมาย หรืออย่างคดียุยงปลุกปั่นบางคดีมันไม่เข้าข่ายด้วย บางกรณียังไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ดังนั้นมาบอกว่าคนกลุ่มนี้ไม่เคารพกฎหมายไม่ได้ 
 
เราต้องมองว่าสิทธิเสรีภาพมันต้องให้สิทธิไว้ก่อน การที่เขามาใช้สิทธิเสรีภาพจะบอกว่าไม่เคารพกฎหมายไม่ได้ มันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามปกติ ถ้าคนไม่สามารถแสดงออกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับอะไรก็ตามที่เป็นเรื่องสาธารณะโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ อันนี้เราว่าไม่ได้อยู่ในสังคมประชาธิปไตย หรือว่าไอ้สิทธิเสรีภาพพวกนี้มันก็ไม่เกิดขึ้นจริง
 
คือพวกเขาไม่ได้ออกมายุยงปลุกปั่นให้โค่นล้มรัฐบาล เขาออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ควรต้องมีประชาธิปไตย ควรต้องมีการเลือกตั้ง หรือคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งมันเป็นสิทธิโดยชอบธรรม เพราะถ้าประชาชนไม่สามารถแสดงออกได้ ประชาชนก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมหรือทำอะไรได้เลย 
 
Q: คิดอย่างไรที่รัฐบาลอ้างว่าได้ของดเว้นการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนบางข้อเพราะอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ
 
A: ในทางกฎหมายระหว่างประเทศจะเขียนเป็นกรณีว่า ถ้ามีภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก สามารถยกเว้นการใช้สิทธิได้บางอย่าง แต่บ้านเรามีการตั้งคำถามต่ออำนาจดังกล่าว เช่น พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่เป็นอำนาจของนายกฯ ซึ่งจริงๆ ใช้ได้แค่ 3 เดือน แต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี่ใช้ต่อกันมาเป็น 10 ปี คือมันไม่มีการกลั่นกรองเลย ถ้าในฝรั่งเศสสภาก็จะมาทบทวนก่อน 
 
อำนาจพิเศษหรือกฎอัยการศึกทุกประเทศต้องมี แต่ว่าจะทำยังไงไม่ให้ผู้ปกครองใช้ภาวะแบบนี้มาเป็นเครื่องมือในการอยู่ยาวๆ คือมันต้องมีการถ่วงดุล หรืออย่างบ้านเรากฎอัยการศึกระดับแม่ทัพก็สามารถประกาศได้ แล้วยังไม่มีการกำหนดด้วยว่า จะต้องหยุดเมื่อไร
 
Q: ในฐานะทนายความด้านสิทธิมนุษยชนมองสถานการณ์การใช้ศาลทหารอย่างไร
 
A: คิดว่าศาลทหารเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนยุคนี้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น พอเกิดขึ้นแล้วเราตั้งคำถามว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง มันทำให้หลายคนได้ตระหนักคิดและเรียนรู้ว่า การสั่งให้คนไปขึ้นศาลทหารโดยไม่มีเหตุผลแบบนี้ หรือการที่ศาลทหารตัดสินคดีแบบไม่มีหลักมีเกณฑ์แบบนี้ หรือใครก็ได้ที่อาจจะไปขึ้นศาลด้วยข้อหาประหลาดๆ มันทำให้คนได้ตระหนักถึงการใช้อำนาจแบบไม่มีขีดจำกัด ถ้าเราไม่ปิดกั้นตัวเองจนเกินไป มันเป็นต้นทุนที่ทำให้เราจะไม่อยากกลับมาเป็นแบบนี้ แต่… เราจะเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ก็เป็นหน้าที่ของคนยุคเราแล้ว 
Article type: