- iLaw Website
- Documentation Center
รู้จัก 7 ผู้ต้องขังฐานแจกใบปลิวฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติฯ
23 มิถุนายน 2559 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่และสมาชิกสหภาพแรงงานรวม 13 คน ไปแจกเอกสารรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและแบบฟอร์มการขอใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตที่ตลาดเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจับกุม
ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกตั้งข้อหา ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 และข้อหาตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ศาลทหารสั่งให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพผลัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ผู้ต้องหา 6 คน ขอประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 50,000 บาท ผู้ต้องหาอีก 7 คนไม่ประสงค์จะประกันตัวจึงถูกส่งไปควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ทั้ง 7 คน พวกเขาเป็นใคร พวกเขาคิดอะไร อยากเห็นอะไร จึงออกมาทำกิจกรรมและยอมเข้าเรือนจำ ขอชวนรู้จักพวกเขากัน
1. รังสิมันต์ โรม หรือ โรม
รังสิมันต์ โรม หรือ ที่เพื่อนๆ เรียกว่า โรม ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรมมีบทบาทโดดเด่นมานานในการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ โรมเคยถูกจับเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 จากการทำกิจกรรมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และเขายังทำกิจกรรมต่อเนื่องจนถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ร่วมกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ รวม 14 คน
ในการถูกดำเนินคดีครั้งก่อน โรม พร้อมกับเพื่อนอีก 14 คน ตัดสินใจไม่ยื่นประกันตัวและถูกศาลทหารสั่งให้ฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อครบระยะเวลาฝากขังผัดแรกรวม 12 วัน ศาลทหารสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขังต่อ โรมและเพื่อนจึงถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ยังมีคดีติดตัวอยู่ 2 คดี
ระดับปัญญาตรี โรมเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนเขาเป็นนักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวหลากหลายประเด็นมาตลอด เช่น การศึกษาข้อมูลช่วยพ่อค้าแม่ค้าที่มีปัญหาเรื่องค่าเช่าพื้นที่ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย การเคลื่อนไหวผลักดันให้มีตัวแทนนักศึกษา 2 คนเข้าไปเป็นกรรมการในสภามหาวิทยาลัย
ในช่วงที่รัฐบาลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เคยพยายามผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โรมและเพื่อนๆ นักกิจกรรมไปทำกิจกรรมเทสีแดงหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว
ขณะที่อยู่ในเรือนจำรอบที่สอง โรมเขียนจดหมายออกมาบอกเพื่อนๆ และสังคม มีเนื้อหาสั้นๆ ว่า
"ไม่ต้องห่วงผม แม้ตอนนี้ทางเรือนจำพยายามทำทุกอย่างให้เราทนไม่ได้ แต่พวกเราทนไหว สิ่งที่เราโดนเล็กน้อยมากหากเทียบว่ารัฐธรรมนูญผ่านไปได้เพราะประชาชนจะเหมือนติดคุก 5 ปี 10 ปี ไม่ต่างจากเราอยู่ในกรงขังตอนนี้ ซึ่งหากเป็นแบบนั้นมันแย่กว่า"
2. นันทพงศ์ ปารมาศ หรือ กุ๊ก
นันทพงศ์ ปานมาศ หรือ กุ๊ก อายุ 24 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และกำลังศึกษาต่อปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กุ๊กเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมขณะจัดกิจกรรมแจกใบปลิวรณรงค์การลงประชามติ ที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 และขณะนี้กุ๊กถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
กุ๊กเป็นหนุ่มตาคมรูปร่างเล็ก บ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะเรียนในมหาวิทยาลัยกุ๊กเป็นนักกิจกรรมตัวยง เข้าร่วมกิจกรรมหลากหลาย เช่น เป็นประธานกลุ่มราพรหมคีรี เป็นสมาชิกกลุ่มกล้าคิดสร้างมิตรสร้างประชาธิปไตย เคยเป็นรักษาการประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังเป็นรองเลขาสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
เมื่อปีปลาย 2557 หลังการรัฐประหารกุ๊กและเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมกลุ่มกันโดยใช้ชื่อกลุ่ม “เสียงจากคนหนุ่มสาว” จัดกิจกรรมเสวนาเรื่องประชาธิปไตยกันหลายครั้ง เพื่อแสดงจุดยื่นว่าพวกเขาไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร หลังจากมีการตั้งรัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศแล้ว เขาเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มฝืดเคือง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ จึงสนใจเรื่องปัญหาปากท้องชาวบ้านมากขึ้น เขากับเพื่อนๆ เคยทำหนังสือยื่นอต่อรัฐบาลเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ ถึง 2 ครั้ง แต่เรื่องก็เงียบหาย จากนั้นดขากับเพื่อนๆ จึงตัดสินใจทำใบปลิวและขึ้นป้ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเร็ว ทำให้เขาถูกผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและทหารเรียกไปตักเตือนว่ากล่าวให้หยุดการกระทำและให้เก็บป้ายดังกล่าว
กุ๊กเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า รู้สึกอึดอัดมากที่เขาและเพื่อนๆ ไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดความเห็นใดๆ แม้กระทั่งการจัดกิจกรรมบางอย่างที่เห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์
กุ๊กกล่าวว่า การที่ตัดสินใจออกมารณรงค์เรื่องการลงประชามติครั้งนี้เพราะอยากให้ประชาชนตื่นตัว ร่วมกันกำหนดอนาคตของตัวเรา และส่วนตัวของเขาเองมีเหตุผลที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ เพราะเห็นว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องชอบธรรม ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าทหารไม่สามารถบริหารประเทศได้ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ยอมรับไม่ได้กับประเด็นนายกฯ คนนอกที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เท่ากับว่าเรากำลังหลงลืมอดีตที่ผู้คนมากมายยอมเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อต่อสู้ให้มีนายกที่มาจากการเลือกตั้ง
กุ๊ก เห็นว่า การที่เขาต้องถูกจับโดยทหารเข้ามาใช้กำลังฉุดกระชาก และนำมาจองจำมัน ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่านี่คือความเลวร้ายของเผด็จการ
“ผมรู้สึกหดหู่ใจยิ่งนักกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองว่าการที่ผมถูกจับต้องมาติดคุกติดตะรางนี่เป็นเรื่องทุเรศสิ้นดี ถึงตอนนี้ผมยังไม่รู้เลยว่าผมทำผิดอะไร แต่ผมไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการอย่างแน่นอน ผมต่อสู้ด้วยหัวจิตหัวใจที่บริสุทธิ์ ผมสูญเสียเสรีภาพ เพียงเพื่อความหวังว่าเราจะลุกขึ้นสู้ร่วมกัน และได้ร่วมเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยด้วยกัน” กุ๊กกล่าว
“ถ้าขณะที่ผมกำลังบอกเล่าเรื่องราวของผมอยู่ขณะนี้มีคนได้ยิน ผมอยากบอกว่าการทำกิจกรรมต่างๆ ผมทำด้วยหัวใจ ทำด้วยอุดมการณ์ ผมไม่เคยได้รับเงินจากการทำกิจกรรมใดๆ มาใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลย และผมต้องทำงานเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนหนังสือตลอดมา ผมเลี้ยงดูครอบครัวช่วยค่าใช้จ่ายครอบครัวทุกเดือน เดือนละ 5,000 – 6,000 บาท พ่อแม่ผมประกอบอาชีพเกษตรกรตอนนี้ก็ลำบากครับ ขณะที่ผมถูกจองจำอยู่ผมเป็นห่วงครอบครัวนะครับ” กุ๊กเล่าด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยว
3. กรกช แสงเย็นพันธ์ หรือ ปอ
กรกช แสงเย็นพันธ์ หรือ ปอ อายุ 23 ปี บัณฑิตใหม่จากคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็งขณะเรียนปอรับทำงานเขียนทางวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองเพื่อส่งเสียตัวเองเรียนจนจบ หลังจากเรียนจบแล้วปอรับภาระส่งเสียน้องสาว อายุ 17 ปี เรียนหนังสืออีก แม่ของปอมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนพ่อตอนนี้ป่วยหนักไม่สามารถทำงานได้ จึงมีเพียงปอและแม่ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว
ขณะกำลังศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ปอทำกิจกรรมหลายอย่าง ปอเคยร่วมเคลื่อนไหวประเด็นเรื่องสิทธิการแต่งกาย ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยจัดกิจกรรมเรื่องรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จัดงานเสวนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมือง จัดกิจกรรมจุดเทียนสันติภาพและเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย
ปอเล่าว่า เขาเคยเข้าร่วมเดินขบวนการต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่พยายามผลักดันกันในสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เพราะเขามองว่ากฎหมายจะต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน และอยู่ภายใต้การยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ต่อมาเขาเห็นว่ามีกลุ่มคนเข้ามาบิดเบือนประเด็นการเรียกร้องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เขาจึงถอนตัวจากขบวนดังกล่าว
หลังจากนั้นการรัฐประหารในปี 2557 เขาเห็นว่าบ้านเมืองระสำระสายไม่เป็นประชาธิปไตย จึงได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เขาทำกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยมา ก่อนหน้านี้ปอเคยถูกจับและดำเนินคดีจากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์มาแล้ว และเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา เขาถูกจับเป็นครั้งที่สองขณะจัดกิจกรรมแจกใบปลิวรณรงค์การลงประชามติ ที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
“ผมงงมากกับการที่ออกมารณรงค์ แสดงความคิดความเห็นเรื่องประชามติและรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ผิดต้องถูกจับถูกดำเนินคดี ผมคิดว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานเลยนะที่เราทุกคนสามารถทำได้ไม่ว่าจะฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจะเป็นทางออกของประเทศไทย” ปอ แสดงความรู้สึก
“แน่นอนครับว่าข้างในนี้ลำบาก แต่การอยู่ข้างในนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับอยู่ข้างนอก เพราะอยู่ข้างนอกไม่มีสิทธิที่จะพูดจะคิดอยู่แล้ว เราเดินได้แต่มองไม่เห็นทาง ในคุกแม้จะไม่มีเสรีภาพ แต่เรายังพูดคุยกันได้มากกว่าข้างนอกเสียอีก” ปอ ตอบ หลังถามถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ปอเล่าว่า แม่ผมมาเยี่ยม และแม่เสียใจมากที่หนุ่มบัณฑิตใหม่ป้ายแดงที่เป็นความหวัง ต้องติดคุกติดตะราง ถูกดำเนินคดีตั้งข้อหาต่างๆ นานา แต่ปอบอกกับแม่ว่า “ผมอยากเห็นความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ แต่สิ่งที่ผมเห็นและได้ประสพพบเจอตอนนี้มันคือความอยุติธรรม ผมจะไม่หยุดผมจะไม่สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการผมจะต่อสู้ต่อไป” ซึ่งแม่ยอมรับการตัดสินใจของปอ ตอนนี้แม่ต้องปิดบังเรื่องที่ลูกชายถูกจำคุกไม่ให้พ่อรู้ เพราะพ่อของปอป่วยหนักหากรู้เรื่องของพ่ออาจจะอาการทรุดหนักกว่าเดิม
“ผมอยากเชิญชวนว่าในวันที่ 7 สิงหาคม ศกนี้ ขอให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญกันนะครับ เพื่ออนาคตของเราที่ดีกว่านี้” ปอ ฝากถึงประชาชนที่มีโอกาสไปลงคะแนน
“สถานการณ์ในสังคมเราปัจจุบันนี้บรรยากาศน่ากลัว แต่หากเราไม่ลุกขึ้นสู้เราก็ไม่เห็นแสงสว่าง” ปอ ทิ้งท้าย
4. อนันต์ โลเกตุ หรือ บอย
อนันต์ โลเกตุ หรือ บอย ชายหนุ่มร่างเล็ก บุคลิกเรียบร้อยใส่แว่นตากรอบหนา พูดจาสุภาพอ่อนน้อม และยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นหนึ่งในผู้ถูกจองจำหลังไปแจกใบปลิวรณรงค์การลงประชามติ ที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ขณะถูกจับบอยกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่สี่ คณะมนุษยศาสตร์ เอกปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง บอยเป็นคนที่มีความสนใจในประเด็นทางสังคม บอยจึงทำกิจกรรมที่ชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน จนได้ขึ้นเป็นประธานชมรม และยังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นระยะด้วย
ย้อนไปสมัยเรียนมัธยม บอยเคย"บวชเรียน"อยู่ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี จ.ลำปาง และเรียนจนจบชั้นเปรียญธรรม 7 ประโยค หลังจากนั้นเขารู้สึกอิ่มตัวกับการศึกษาทางธรรมจึงลาสิกขาและออกมาสมัครเรียนทางโลกที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตามคำแนะนำของรุ่นพี่ที่ลาสิกขาออกมาก่อนหน้านั้น แม้จะละทิ้งเพศบรรพชิตไว้เบื้องหลังแล้วแต่บอยก็ยังเลือกเรียนสาขาปรัชญาซึ่งเป็นศาสตร์ความรู้ทางเดียวกับศาสนาที่เคยศึกษามา
บอยเล่าว่า ตอนที่เข้ามาเรียนที่รามคำแหงใหม่ๆ เขามีเป้าหมายชีวิตคล้ายๆกับคนส่วนใหญ่ คือ เรียนให้จบแล้วหางานดีดีทำ แต่หลังจากเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมค่ายอาสา บอยมีโอกาสเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านมากขึ้น การออกค่ายครั้งแรกบอยไปที่จังหวัดสกลนคร ไปเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านที่ถูกประกาศเขตอุทยานทับที่ดินทำกิน สิ่งที่บอยเรียนรู้จากการทำกิจกรรมมาทำให้เขาเกิดความรู้สึกในใจว่า ปัญหาต่างๆที่เขาได้เรียนรู้อาจเกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนรอบตัวได้ไม่ยาก บอยจึงทำกิจกรรมค่ายอาสามาอย่างต่อเนื่อง จากคนเข้าร่วมค่าย มาเป็นคนจัดค่าย และขึ้นเป็นประธานชมรม
"สมัยเรียนที่โรงเรียนปริยัติธรรม ก็มีแต่กิจกรรมสังคมสงเคราะห์ เช่น แจกของช่วยชาวบ้าน แจกผ้าห่มให้กับคนในพื้นที่รอบๆ วัด ซึ่งไม่ได้แก้จุดที่เป็นปัญหาจริงๆ พอได้ทำกิจกรรมมากขึ้นแล้วได้เห็นว่า มีปัญหาในสังคมอยู่เต็มไปหมด ปัญหาอาจไม่เกิดขึ้นกับเราตอนนี้โดยตรง แต่อาจเกิดขึ้นกับเราในอนาคตโดยอ้อมก็ได้ เราก็เลยอยากทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้น สิ่งที่ได้ก็ได้กับเราและแบ่งให้คนอื่นด้วย" บอยกล่าว
ในส่วนกิจกรรมการเมือง บอยก็เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นบางครั้ง เพราะเขามองว่า การเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตและเกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวันของชีวิตทุกคน เช่นการรัฐประหาร 2557 ที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ
หลังการรัฐประหารบอยเคยรวมตัวกันกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยอย่างหลวมๆ เพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง เขาเคยถูกจับไปปรับทัศนคติแล้วหนึ่งครั้งช่วงปี 2557 หลังไปติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่การถูกเรียกปรับทัศนคติก็ไม่ได้ทำให้บอยกลัวหรือยุติการทำกิจกรรมแต่อย่างใด ยังคงร่วมกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ จนกระทั่งมาแจกใบปลิวและถูกจับ
"ผมเห็นด้วยกับการ 'Vote No' ผมอยากเสนอความคิดว่า ถ้าประชาชนนิ่งเฉย หรือรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องอยู่กับคสช.ต่อนะ ผมอยากเห็นการรณรงค์ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็น ประชาชนจะเพิกเฉยได้อย่าไร ในเมื่อคนก็มีลูกมีหลาน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านเราต้องอยู่กับคสช. อยู่กับเศรษฐกิจแบบนี้ไปอีกหลายปี สังคมจะเดินต่อลำบาก" บอยเล่าถึงเหตุที่เขาออกไปร่วมแจกเอกสารรณรงค์ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกจับกุม
บอย บอกด้วยว่า สังคมยุคนี้เป็นยุคลังเล ยุคปิดหูปิดตา เขาอยากเห็นนักศึกษาตื่นตัวในเรื่องประชาธิปไตยมากกว่านี้ เพราะเรื่องการเมืองกระทบกับตัวนักศึกษาและพ่อแม่ของนักศึกษาด้วย ไม่ใช่เพียงสนใจแต่การเรียนให้จบอย่างเดียว เพราะปัญหาจากสังคมการเมืองจะเกิดขึ้นกับทุกคนและคนที่อยู่รอบตัว
บอยมองว่า การที่เขาไม่ยื่นขอประกันตัวก็เป็นการต่อสู้อย่างหนึ่ง เพราะเขาต้องการให้สังคมเห็นว่าตอนนี้มีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น การที่มีคนโดนจับจากการแจกใบปลิวแบบนี้ สังคมน่าจะตั้งคำถามว่าสิทธิเสรีภาพไม่มีเลยหรือเปล่า
"เราฝันอยากเห็นสังคมที่ถูกคนลืมตาอ้าปากได้ แสดงความคิดเห็นได้ในสิ่งที่มันไม่ใช่ ไม่ชอบธรรม ไม่ยุติธรรมต่อสังคม พวกเราก็ไร้เดียงสานะ สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมันสวยงามสำหรับพวกเรา แต่จริงๆ ประชาธิปไตยในไทยมันยังไปไม่ถึงไหน" นักศึกษาที่กำลังจะเปิดเทอมปีสุดท้ายในเดือนกรกฎาคมกล่าวขณะยังคงถูกจองจำ
5. ยุทธนา ดาศรี หรือ เทค
ยุทธนา ดาศรี หรือ ‘เทค’ วัย 27 ปี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในผู้ถูกจองจำหลังไปแจกใบปลิวรณรงค์ให้คนลงประชามติ ที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พ่อแม่ของ'เทค'ทำสวนยางอยู่ที่บ้านในจังหวัดศรีสะเกษ เขามีโอกาสเข้ามาเรียนที่กรุงเทพและสนใจทำกิจกรรมทางสังคมการเมืองอย่างต่อเนื่อง ‘เทค’เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 ขณะเรียนชั้นมัธยม เนื่องจากตอนนั้นเข้ามาสอบที่กรุงเทพและมีรุ่นพี่พาไปดูกลุ่มพันธมิตรชุมนุมขับไล่อดีตนายกฯทักษิณ ที่ท้องสนามหลวง
กลุ่มเด็กรักษ์ป่า จังหวัดศรีสะเกษ และค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในบ้านเกิด คือจุดเริ่มของการเป็นนักกิจกกรรมของเขา
เมื่อครั้งเรียนมัธยม กระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยรักในงานเขียนเชิงกวีเขาตั้งชมรมวรรณกรรมเยาวชนขึ้นมากับกลุ่มเพื่อนๆ และทำกิจกรรมค่ายอาสาไปพร้อมกิจกรรมทางการเมืองกับเพื่อนจากมหาวิทยาลัยๆอื่นในนาม สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.
‘เทค’ใช้เวลาเรียนที่มหาวิทยาลัยนานกว่าเพื่อนหลายคน ระหว่างเรียนเขาไม่ได้เรียนและทำกิจกรรมเท่านั้น เนื่องจากที่บ้านไม่มีเงินส่งเสีย จึงต้องทำงานเลี้ยงตัวเองไปด้วย และด้วยทักษะของลูกเกษตรกร ‘เทค’จึงรับจ้างทำสวนทำไร่ เช่น ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ของคนรู้จักในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงไปพร้อมกัน มีรายได้ประมาณวันละ 300 บาท และผู้จ้างแถมที่พักในไร่ทำให้ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านเพิ่ม ก่อนถูกจับเขากำลังรอผลสอบอีกสองวิชาที่กำลังจะออกในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถ้าผ่านก็จะจบการศึกษาแล้ว แต่ถ้ายังไม่ผ่านเขาต้องลงทะเบียนใหม่ในเดือนสิงหาคม
‘เทค’เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า เขาเริ่มไปแจกใบปลิวเรื่องลงประชามติให้กับผู้คนในจังหวัดสมุทรปราการตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2559 แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มาห้ามหรือมาจับ พอวันรุ่งขึ้น(23 มิถุนายน 2559) ก็เลยไปแจกต่อ ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร ‘เทค’ยังบอกด้วยว่า ตอนถูกทหารเข้ามาจับ ก็คิดว่าเดี๋ยวตอนเย็นเขาคงปล่อย เพราะเท่าที่คุยกับเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านั้นเขาก็บอกว่าให้แจกได้ และตามพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็มีมาตราหนึ่งที่บอกว่าประชาชนมีสิทธิรณรงค์ได้
"สถานการณ์ตอนนี้คนหวาดกลัวการใช้อำนาจ เราเองก็กลัวเหมือนกัน แต่ภายใต้ความหวาดหลัวก็ยังจำเป็นต้องทำ ชาวบ้านอาจไม่เข้าใจสิทธิเสรีภาพก็ได้ แต่ชาวนาต้องมีอาหารที่ดี คนต้องมีงานทำ มีเศรษฐกิจกิจที่ดี พ่อแม่ผมอาจมีราคายางที่ดีขึ้นก็ได้ พอทหารเข้ามาทำให้เศรษฐกิจไม่ดี เมื่อมีอำนาจไม่ชอบธรรมไปเจรจาทางการค้า ต่างชาติเขาก็ไม่อยากคุย" ลูกชาวสวนยางตอบ เมื่อถามว่าทำไมต้องออกไปแจกใบปลิวในวันนั้นด้วย
‘เทค’เล่าอีกว่า วันที่ไปแจกใบปลิว เขาแจกเอกสารชี้แจงวิธีการลงประชามตินอกเขตพื้นที่ด้วย แม้ส่วนตัวต้องการจะ’ Vote No’ เพราะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับใช้กลุ่มคนบางกลุ่ม และอาจทำให้คสช.อยู่ในอำนาจต่อไปอีกนาน แต่ตอนแจกเขาก็ตั้งใจจะชวนคนไปใช้สิทธิเฉยๆ เพราะเชื่อว่าประชาชนตัดสินใจเองได้อยู่แล้วว่าจะโหวตอย่างไร ที่ต้องออกไปรณรงค์เพราะต้องการให้คนไปใช้สิทธิให้มากที่สุดเท่านั้น
‘เทค’เล่าถึงชีวิตในคุกว่า ที่นี่ไม่มีความสบายหรอก ไม่มีอิสระเหมือนข้างนอก ความทุกข์ที่สุดระหว่างอยู่ในคุกคือไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับคนข้างนอก และไม่ได้รับข่าวสาร เพราะทางเรือนจำไม่ให้ดูโทรทัศน์ที่เป็นรายการข่าวเลย แต่สาเหตุที่ต้องยอมติดคุกก็เพราะอยากให้สังคมเห็นความไม่ถูกต้องชอบธรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งเขามองว่า การตัดสินใจเช่นนี้ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลว่าใครพร้อมแค่ไหน อย่างไร
"ตอนนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมตัวเอง แต่รู้แค่ว่าทำเพื่อรักษาความถูกต้องบางอย่างอยู่ เราพยายามยืนยันในเจตนารมย์ว่าการรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิมันไม่ผิด เพราะภาครัฐเองก็ยังรณรงค์ได้ ถ้าขอประกันตัวก็เหมือนเราทำผิดไปแล้วส่วนหนึ่ง เพราะเป็นการยอมรับว่าเรามีคดีแล้ว และศาลจะเรียกไปเมื่อไรก็ได้" ‘เทค’กล่าวประโยคทิ้งท้าย
6. ธีระยุทธ นาบนารำ หรือ ต้อม
ธีรยุทธ นาบนารำ หรือ 'ต้อม' อีกหนึ่งผู้ถูกดำเนินคดีและถูกฝากขังในเรือนจำ หลังไปแจกใบปลิวรณรงค์การลงประชามติ ที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 'ต้อม' หนุ่มร้อยเอ็ด มีสถานะทั้งนักศึกษาและหนุ่มโรงงานในขณะเดียวกัน เขาเข้ามาเรียนคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง ที่รามคำแหง ได้ 4 ปีแล้ว แต่ยังไม่จบก็หยุดเรียนชั่วคราวเพื่อไปทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ที่โรงงานแห่งหนึ่งย่านลาดกระบัง เขาใช้ชีวิตเป็นหนุ่มโรงงานอยู่สองปีกว่า และมีแผนจะกลับไปเรียนต่อให้จบในเดือนพฤศจิกายน 2559
“แต่ก่อนผมเหมือนเด็กน้อย ทำกิจกรรมมากเกินไป ทั้งเรื่องการเมืองและออกค่าย เวลาสอบก็ไม่ไปสอบถ้ากลับไปเรียนใหม่คราวนี้จะเต็มที่” ต้อม กล่าวปนรอยยิ้ม
'ต้อม'เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เข้ากรุงเทพเมื่อปี 2549 หลังมีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เขารู้สึกประทับใจมากว่าทำไมครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประชาชนถึงกล้าต่อสู้กับทหารอย่างไม่กลัวตาย ทั้งที่ทหารมีอาวุธ และศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นเมื่อเริ่มทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย
ชีวิตกิจกรรมของต้อมเริ่มจากการเข้าชมรมศึกษาปัญหายาเสพติด ทำค่ายอบรมกับเยาวชนระดับม.ต้นในต่างจังหวัด เช่น ปราจีนบุรี สระบุรี เพราะมองว่ากลุ่มช่วงอายุนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเริ่มใช้ยาเสพติดได้ โดยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่พาน้องๆ เล่นเกมส์ต่างๆ ให้เห็นว่ายาเสพติดมีโทษอย่างไร
หลังกิจกรรมดังกล่าว'ต้อม'รู้จักเพื่อนที่อยู่ชมรมข้างเคียง เช่น ชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ชมรมค่ายอาสาพัฒนารามอีสาน ทำให้ได้รู้จักเพื่อนที่สนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น และต่อมาถูกชักชวนกันไปเข้าร่วมกิจกรรมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท.
หลังรัฐประหารปี 2549 'ต้อม' เคยไปร่วมกิจกรรมคัดค้านการรัฐประหารกับสนนท. เช่น กิจกรรมหน้าทำเนียบรัฐบาล ชุมนุมหน้ากองทัพบก และแจกเอกสารรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ท้องสนามหลวง
"ตอนนั้นไม่แรงเหมือนตอนนี้ ตอนนั้นเราไปหน้ากองทัพบก ไปยืนด่าทหารก็ไม่เห็นโดนเหมือนตอนนี้ มีการปราศรัยด่าโจมตีกันเรื่อยๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร เป็นเรื่องไร้สาระมากที่การแจกใบปลิวทำให้ถูกจับ สมัยปี 2550 ก็ไปแจกกันกว่าสิบครั้ง ตื่นเช้าประท้วงตื่นเช้าประท้วง" เขาตัดพ้อถึงเรื่องราวในอดีต
หลังหยุดเรียนแล้วไปทำงานโรงงานทำให้'ต้อม'ห่างหายจากการร่วมกิจกรรมทางสังคมไปบ้าง แต่ก็ยังได้ติดต่อกับเพื่อนๆนักกิจกรรมอยู่และชวนมาร่วมกิจกรรมกันอีกในปีนี้ เขาเล่าว่า "สถานการณ์ตอนนี้ประชาชนไม่ค่อยกล้าออกมาทำอะไร และรับข่าวสารจากรัฐบาลฝั่งเดียวทำให้เขารู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม การโพสต์ข้อมูลรณรงค์ประชามติ บนเฟซบุ๊กก็ยังเข้าไม่ถึงประชาชนอีกจำนวนมาก"
วันที่ถูกจับ'ต้อม'ไปร่วมแจกใบปลิวย่านสมุทรปราการเพราะอยากให้คนต่างจังหวัดรู้วิธีการใช้สิทธิ เนื่องจากย่านนั้นเป็นที่อยู่ของคนทำงานโรงงาน มาจากต่างจังหวัดเยอะ อาจจะไม่ได้กลับไปใช้สิทธิที่บ้าน จึงอยากแนะนำให้รู้วิธีการลงทะเบียนเพื่อไปใช้สิทธิในพื้นที่ที่ทำงานได้
เขาเล่าอีกว่า ที่ออกไปแจกเอกสารรณรงค์ เพราะเห็นว่าบรรยากาศการรณรงค์มันเงียบเกินไป ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่าประชามติคืออะไร ตอนแรกเขาตั้งใจไว้ว่าจะต้องเดินรณรงค์ไปทุกที่เท่าที่ทำได้ แต่ก็มาถูกจับก่อนจึงไม่ได้ทำ
" ถ้าคิดแล้วไม่เสนอความคิดเห็นก็ไม่ใช่พลเมือง อยากให้ประชาชนทำหน้าที่พลเมืองกัน ถ้ามีความคิดเห็นก็ไม่ต้องเก็บไว้แสดงออกมาเลยรูปแบบไหนก็ตาม อย่างน้อยก็ได้แลกเปลี่ยนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมเรา ความขัดแย้งก็มีทุกที่แหละครับ มันน่าจะมีวิธีการจัดการแหละครับ" ต้อมกล่าวไว้ในตอนหนึ่ง
เมื่อถามถึงชีวิตในคุก 'ต้อม'บอกว่า อาหารในคุกได้ลองชิมแล้วกินไม่ได้เลย.. ตอนนี้ที่พอกินได้เพราะข้างนอกซื้ออาหารส่งเข้าไปให้ด้วย ความลำบากอีกอย่างที่ต้อมสัมผัสใด้ คือ ต้องขึ้นเรือนนอนตั้งแต่บ่ายสามโมงครึ่ง และใช้ชีวิตอยู่ในห้องแคบๆ 15 ชั่วโมงต่อวัน ร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ รวม 47 คน แต่ละคนมีพื้นที่เล็กๆ ของตัวเองประมาณเท่าโลงศพ แต่ก็ยังดีที่มีช่วงเวลาตอนบ่ายที่ให้เดินเล่นไปไหนมาไหนได้บ้างสำหรับสาเหตุที่ยอมติดคุกโดยไม่ขอประกันตัว' ต้อม' อธิบายว่า ต้องการให้สังคมข้างนอกได้เห็นว่า ตอนนี้ไม่มีความเป็นธรรม แค่การไปแสดงความคิดเห็นก็ต้องถูกจับมาขังไว้ แม้ว่าติดคุกแล้วสังคมยังไม่รับรู้ก็ไม่เสียหายอะไร เพราะนี่เป็นการต่อสู้รูปแบบหนึ่ง หากไม่สำเร็จก็มาคิดกันใหม่
7. สมสกุล ทองสุกใส หรือ เคิร์ก
“ผมกลัวการถูกจองจำครับ แต่ผมจะอ่อนแอไม่ได้เพราะสิ่งที่ผมทำอยู่มันคือการยืนหยัดต่อสู้”
สมสกุล ทองสุกใส หรือ เคิร์ก หนึ่งในเจ็ดผู้ถูกจองจำหลังไปแจกใบปลิวรณรงค์ให้คนลงประชามติ ที่ชุมชนเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เคิร์กเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในเจ็ดคน คือ 20 ปี ก่อนถูกจับกำลังเรียนระดับปริญญาตรี อยู่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิยาลัยรามคำแหง
เคิร์กเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว เขาเด็กหนุ่มท่าทางกระตือรือร้น ยิ้มแย้มแจ่มใส แววตาสดใสเปี่ยมด้วยความหวัง เหมือนเขามีพลังอยู่ข้างในที่อยากปะทุออกมาตลอดเวลา
เคิร์ก สนใจทำกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสังคม และการเมืองการปกครอง เขาเป็นสมาชิกในชมรมศึกษาปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เข้าไปทำงานกับพี่น้องในชุมชนแออัดหลายแห่ง อีกทั้งยังเป็นสมาชิกกลุ่มเสียงจากคนหนุ่มสาว ที่เกิดจากการร่วมตัวกันของเพื่อนๆ พี่ๆ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการจัดเสวนาเรื่องประชาธิปไตย
เคิร์กเล่าว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2559 เขาและเพื่อนในนามกลุ่มกระบวนการประชาธิปไตยใหม่ นัดหมายรวมกลุ่มกันเพื่อไปรณรงค์ให้ประชาชนไปลงประชามติ และนำรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ ไปแจกเพื่อประกอบการตัดสินใจของประชาชน เพราะอยากให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจไม่ว่าจะตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม
“ผมมองว่าการทำกิจกรรมของผมและเพื่อนๆในวันดังกล่าวไม่ผิดครับ เราช่วยรณรงค์ให้ประชาชนมีความตื่นตัวออกที่จะออกไปใช้สิทธิลงประชามติด้วยซ้ำ แต่ผมและเพื่อนๆกลับถูกจับ ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา และถูกจำคุกแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่อยุติธรรมมากครับ” เคิร์กกล่าว
เคิร์กบอกด้วยว่า ตั้งแต่เข้าเรือนจำมาครอบครัวยังไม่มาเยี่ยมผมเลย เพราะแม่เคยห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง และแม่เคยบอกไว้ว่าหากติดคุกเรื่องการเมืองแม่จะไม่มาเยี่ยม
“ผมก็รู้สึกน้อยใจนะครับที่พ่อกับแม่ไม่มาเยี่ยมผมเลย แต่ไม่เป็นไรผมอยากบอกแม่ว่าผมรักแม่ ผมบอกกับตัวเองเสมอว่าต้องเข้มแข็ง ผมจะอ่อนแอไม่ได้เพราะสิ่งที่ผมตั้งใจทำมันใหญ่กว่าเยอะ ผมอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ผมอยากเห็นประเทศเราเป็นประชาธิปไตย ผมอยากเห็นทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ผมจึงขอยืนหยัดต่อสู้และจะไม่ประกันตัวครับ” เคิร์กกล่าว แม้น้ำเสียงเศร้าแต่ก็ยังมีพลังแฝง
สำหรับเคริ์ก สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดตอนนี้ คือ เรื่องการลงทะเบียนเรียน เพราะจะต้องลงทะเบียนใหม่ในวันที่ 8 กรกฎาคม หากไม่ได้ปล่อยตัวก่อนช่วงเวลานั้น ก็คงไม่สามารถลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนี้ได้ และคงต้องหยุดเรียน
Article type: