1547 1024 1978 1156 1410 1825 1562 1399 1091 1431 1157 1711 1085 1858 1557 1298 1153 1250 1056 1414 1570 1239 1777 1973 1718 1722 1288 1658 1701 1260 1094 1361 1880 1379 1018 1402 1033 1719 1281 1677 1094 1874 1833 1757 1047 1791 1575 1390 1764 1391 1563 1370 1436 1405 1781 1716 1482 1259 1121 1848 1032 1310 1791 1062 1469 1336 1247 1628 1797 1400 1116 1453 1706 1913 1728 1996 1398 1368 1005 1743 1884 1507 1786 1815 1168 1159 1330 1883 1324 1863 1555 1811 1164 1141 1609 1644 1963 1624 1286 รู้จักมาตรา 133 134 หมิ่นประมุขรัฐหรือทูตต่างชาติอาจผิดกฎหมาย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

รู้จักมาตรา 133 134 หมิ่นประมุขรัฐหรือทูตต่างชาติอาจผิดกฎหมาย

3043
 
รู้หรือไม่ การแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ประมุขของรัฐหรือทูตต่างประเทศก็สามารถทำให้ติดคุกหรือถูกปรับได้ โดยมีฐานความผิดเดียวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทที่ใช้กับกษัตริย์ไทย
 
ประมวลกฎหมายอาญาไทยมีบทบัญญัติให้การคุ้มครองประมุขของรัฐต่างประเทศ ซึ่งรวมถึง ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท (มาตรา 133) และผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก (มาตรา 134) จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย โดยความผิดต่อประมุขต่างประเทศนั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ถ้ากระทำต่อทูตต่างประเทศ โทษจำคุกจะอยู่ที่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรานี้จะมีมาตั้งแต่ใน “กฎหมายลักษณอาญา” ฉบับปี ร.ศ. 127 จนถึงยุคปัจจุบัน แต่เริ่มแรกบทลงโทษทั้งระยะเวลาในการจำคุกและการปรับไม่ได้มีสูงเท่ายุคปัจจุบัน แต่ถูกปรับขึ้น โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2519 และแม้ว่าจะมีความพยายามแก้ไขกฎหมายนี้พร้อมกับกฎหมายหมิ่นประมาทอื่น ๆ ในระบบกฎหมายไทย ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
 
 
พัฒนาการกฎหมาย “ห้ามหมิ่น” ประมุขรัฐหรือทูตต่างชาติ
 
ในอดีต มาตรา 133 และ 134 เคยถูกแก้ไขพร้อมกับอีกหลายมาตราในประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ออกให้หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและการยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยระบุให้โทษใหม่ของมาตรา 133 นี้อยู่ที่หนึ่งถึงเจ็ดปี และปรับเป็นเงิน 2,000 บาทถึง 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 134 โทษจำคุกจะอยู่ที่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
คำอธิบายของคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินให้เหตุผลว่า อัตราโทษสำหรับความผิดไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ณ ขณะนั้น หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองจึงมีคำสั่งเพิ่มโทษให้สูงขึ้น โดยการแก้ไขเพิ่มโทษมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไทยก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการออกคำสั่งครั้งนี้ด้วย
 
ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ก่อนการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มาตรา 133 เคยระบุไว้ว่า ให้จำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท ในขณะที่มาตรา 134 โทษจำคุกเคยอยู่ที่สองปีและปรับ 2,000 บาท เท่านั้น
 
กฎหมายที่คุ้มครองประมุขและทูตจากรัฐอื่นพบตั้งแต่กฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 โดยวางโทษการ “แสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือหมิ่นประมาท” ประมุขต่างชาติในมาตรา 113 จำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนการคุ้มครองทูตนั้นมีความแตกต่างจากที่เห็นในปัจจุบัน เพราะมาตรา 114 แห่งกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 ให้การกระทำความผิดต่อทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐอื่นนั้นให้ใช้บทบัญญัติเดียวกับการกระทำผิดต่อเจ้าพนักงาน
 
 
เยอรมนียกเลิกกฎหมายทันที หลังตุรกีไม่พอใจตลกเสียดสี
 
บางประเทศมีกฎหมายคุ้มครองประมุขต่างประเทศเช่นเดียวกับไทย แต่การบังคับใช้และพัฒนาการ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย กลับมีความแตกต่างมาก เยอรมนีเคยมีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 103 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาทประมุขของรัฐต่างประเทศ หรือสมาชิกของรัฐบาลต่างประเทศ หรือผู้ทำภารกิจทางการทูตของต่างประเทศ จะถูกจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับ รวมทั้งหากการหมิ่นประมาทนั้นมีลักษณะของการใส่ร้ายจะต้องโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงห้าปี
 
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 เยอรมนีก็ยกเลิกมาตรานี้ไปหลังจากกรณีพิพาท Erdogan v. Böhmermann เหตุการณ์นี้เริ่มต้นจากในวันที่31 มีนาคม 2559 พิธีกรรายการตลก ยาน เบอห์เมอร์มันน์ (Jan Böhmermann) ออกอากาศรายการ Neo Magazin Royale ด้วยการอ่านกลอนเกี่ยวกับประธานาธิบดี เรเจป แอร์โดอัน (Recep Erdoğan) ที่มีลักษณะเสียดสีและพูดถึงกิจกรรมทางเพศ เบอห์เมอร์มันน์ใช้กลอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่สะท้อนถึงขอบเขตอันจำกัดของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการสร้างงานศิลปะในรัฐธรรมนูญเยอรมนี จนทำให้ตุรกีแจ้งรัฐบาลเยอรมถึงความประสงค์ที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อเบอห์เมอร์มันน์เมื่อเดือนเมษายนปี 2559 ในข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 185 และข้อหาหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐต่างประเทศตามมาตรา 103 ของประมวลกฎหมายอาญาเยอรมนี
 
การดำเนินคดีมาตรา 103 จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลเยอรมนีก่อน ซึ่งได้สร้างข้อถกเถียงอย่างมากในสังคมเยอรมันถึงข้อกฎหมายที่ล้าหลัง ท้ายที่สุด อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ณ ขณะนั้นให้ความยินยอมในการดำเนินคดี โดยกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของศาลและอัยการในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเบอห์เมอร์มันน์ในเดือนตุลาคมปี 2559
 
หลังจากนั้น รัฐบาลก็ดำเนินการผ่านกฎหมายยกเลิกมาตรา 103 โดยกฎหมายถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561
 
 
ข้อเสนอแก้กฎหมายในไทยไม่คืบหน้า อ้างมีแก้ 112 พ่วงขัดรัฐธรรมนูญ
 
สำหรับในประเทศไทย เคยมีข้อเสนแก้ไขมาตรา 133 และ 134 แล้วผ่านร่าง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…)  พ.ศ. ….” โดยพรรคก้าวไกลในปี 2564
 
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พรรคก้าวไกล นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาสำหรับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผ่าน “พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาฯ” โดยมาตรา 133 และ 134 ก็ถูกรวมเอาไว้ด้วยเช่นกัน
 
ร่างดังกล่าวจะย้ายมาตรา 133 ออกจากหมวดความมั่นคงของรัฐไปเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ “ลักษณะ ⅓ ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศของประมุขแห่งรัฐหรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ” โดยคงฐานความผิดเอาไว้ตามกฎหมายเดิม แต่ยกเลิกโทษจำคุกเพื่อให้เหลือเพียงโทษปรับเท่านั้น รวมถึงเพิ่มบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษขึ้นมาใหม่ด้วย
 
บทยกเว้นความผิด ระบุไว้ว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด” 
 
บทยกเว้นโทษ ระบุไว้ว่า “ความผิดในฐานลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” และ “แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
 
การแก้ไขมาตรา 133 ครั้งนี้ยังรวมไปถึงการแก้ไขมาตรา 134 ที่คุ้มครองผู้แทนรัฐต่างประเทศ เช่น ทูต ในลักษณะเดียวกันอีกด้วย โดยตัดบทลงโทษจำคุกออกและคงไว้ซึ่งการปรับเงินเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ถูกบรรจุเป็นวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากสำนักการประชุม สภาผู้แทนผู้ราษฎร และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โต้แย้งว่า บทบัญญัติในร่างกฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขที่รวมไปถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อ้างว่าอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” 
 
ยังมีข้อถกเถียงว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจไม่ให้บรรจุเป็นวาระการพิจารณา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่าไม่ใช่ตนแต่เป็นสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้วินิจฉัย แต่ชวนก็ยังมองว่าการตัดสินใจของสุชาติถูกต้องแล้ว 
 
ดังนั้น ข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 133 รวมทั้งมาตรา 134 จึงตกไปด้วยเช่นเดียวกับข้อเสนอที่จะแก้ไขมาตรา 112 และทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ประมุขหรือทูตจากรัฐอื่นยังคงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีได้ดังเดิม
 
Article type: