1743 1345 1236 1464 1107 1314 1014 1607 1008 1221 1098 1294 1978 1166 1680 1032 1268 1973 1911 1254 1293 1459 1383 1560 1298 1966 1009 1777 1591 1248 1494 1694 1658 1266 1103 1586 1088 1704 1112 1863 1045 1808 1089 1041 1526 1952 1569 1782 1311 1795 1569 1811 1427 1128 1778 1951 1821 1878 1341 1591 1208 1888 1187 1004 1718 1913 1180 1944 1237 1148 1064 1839 1857 1795 1635 1065 1929 1620 1623 1614 1424 1627 1248 1212 1643 1500 1460 1592 1055 1514 1773 1533 1533 1817 1778 1496 1956 1806 1694 จำคุกฟ้า-พรหมศร 2 ปี ร้องเพลงพาดพิง ร.10 ยกฟ้องแอมมี่ ชี้จำเลยร้องเพลงตามปกติ ไม่ได้เตรียมให้ตะโกนรับว่าอะไร | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

จำคุกฟ้า-พรหมศร 2 ปี ร้องเพลงพาดพิง ร.10 ยกฟ้องแอมมี่ ชี้จำเลยร้องเพลงตามปกติ ไม่ได้เตรียมให้ตะโกนรับว่าอะไร

 
3035
 
 
28 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรี มีนัดอ่านคำพิพากษาคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่ง ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อหาร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 โดยมีจำเลยในคดีนี้สองคน คือ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues และพรหมศร วีระธรรมจารี หรือฟ้า
 
คดีนี้สืบเนื่องจากกลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ตำรวจจับกุมตัวสิริชัย นาถึง นักศึกษากลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโดยไม่ให้ติดต่อผู้ไว้วางใจ ทำให้เพื่อนๆ ต้องติดตามตัวเขาอยู่หลายชั่วโมงจนพบตัวในช่วงเวลาประมาณ 01.30 น.ของวันถัดมา สิริชัยถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากการพ่นสีสเปรย์บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ในพื้นที่คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันถัดมาพนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปขออำนาจศาลจังหวัดธัญบุรีฝากขังในชั้นสอบสวน ระหว่างรอคำสั่งการปล่อยตัวชั่วคราว ไชยอมรพร้อมด้วยกลุ่มนักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและพรหมศรร้องเพลงรอด้านหน้าศาล
 
ในคำฟ้องของคดีนี้ระบุว่า ระหว่างที่จำเลยทั้งสองกับพวกชุมนุมที่ด้านหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี พรหมศรเปิดเพลงสดุดีจอมราชาและมีการดัดแปลงเนื้อเพลงเป็นประเด็นเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเงินประกันตัวในคดีมาตรา 112 กับการถวายพระพร และเปิดเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” และดัดแปลงเนื้อหาตั้งคำถามเรื่องการใช้เงินภาษีและการแปรพระราชฐาน ขณะที่ไชยอมรซาวน์เช็คด้วยเพลง 1 2 3 4 5 และพรหมศรกับพวกร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ไชยอมรร้องต่อว่า 6 7 8 9 และพรหมศรกับพวกร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า วันที่ 17 มีนาคม 2564 พรหมศรไปรายงานตัวตามหมายเรียกและถูกฝากขังระหว่างสอบสวน 55 วันก่อนได้รับการประกันตัว 
 
ศาลออกนั่งบัลลงก์พิจารณา ที่ห้องพิจารณาคดีที่สี่ ศาลจังหวัดธัญบุรี เวลา 09.32 น. ศาลกล่าวขอความร่วมมือให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ออกไปจากห้องพิจารณาคดีเนื่องจากคดีมีความละเอียดอ่อน แต่ยังมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้อยู่ในห้องพิจารณาคดี 
 
เวลา 09.35 น. ศาลอ่านคำพิพากษา ใจความว่า ส่วนของความผิดฐานร่วมกันชุมนุมในสถานที่แออัดในลักษณะที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จากพยานหลักฐาน พบว่า สถานที่ชุมนุมลานหน้าศาลจังหวัดธัญบุรีนั้น เป็นพื้นที่โล่งโปร่ง แสงอาทิตย์สามารถส่องถึงได้ แม้จะมีผู้ชุมนุมแต่บริเวณโดยรอบยังคงมีพื้นที่ว่าง ผู้ชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ ไม่ได้แออัด แม้การชุมนุมดังกล่าวจะไม่ปรากฏว่ามีมาตรการป้องกันโรคระบาด เช่น ไม่ได้จัดให้มีแอลกอฮอล์ล้างมือ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม จึงให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาดังกล่าว
 
สำหรับความผิดตามมาตรา 112 และความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังสืบพยานจำเลยแล้วเสร็จ จำเลยที่หนึ่ง พรหมศร ให้การรับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดฐานร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 การกระทำหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี ความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับ 200 บาท เนื่องจากจำเลยที่หนึ่ง ให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง ความผิดมาตรา 112 เหลือจำคุก 2 ปี และความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเหลือปรับ 100 บาท แม้จำเลยจะกระทำความผิดครั้งแรก แต่พฤติการณ์ร้ายแรง ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษ
 
ส่วนจำเลยที่สอง ไชยอมร พนักงานสืบสวนซึ่งเป็นพยานโจทก์เบิกความใจความว่า จำเลยที่สอง พูดว่า “ขอซาวด์เช็คกันหน่อยครับ” พร้อมกับร้องเพลง “1 2 3 4 5” ผู้ชุมนุมร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย xx” ไชยอมรร้องต่อว่า “6 7 8 9” ผู้ชุมนุมร้องต่อว่า “ไอ้เหี้ย xx” จากนั้นไชยอมรพูดต่อไปว่า “อันนี้ผมยังไม่โดน 112 นะ คุณจะมาดันให้ผมโดนเลยเหรอ ใส่พานมาเลย”  ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยที่สอง ไชยอมร กล่าวข้อความตามพยานหลักฐาน แต่อย่างไรก็ดี ตามเพลงที่ไชยอมรร้องนั้น มีลักษณะร้องตามปกติทั่วไป เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏชัดว่าจำเลยที่สอง ร่วมเตรียมการกับพวกเพื่อมีเจตนาทำความผิดมาตรา 112 ไม่ปรากฏว่ามีการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำเลยเพียงร้องเพลงและไม่ปรากฏว่าตระเตรียมกับพวกให้ร้องรับว่าอย่างไร พยานโจทก์ยังเป็นที่สงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่สอง ส่วนความผิดฐานใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ลงโทษปรับ 200 บาท
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 11.45 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพรหมศรระหว่างอุทธรณ์ กำหนดวงเงินประกัน 300,000 บาท ใช้หลักประกันเดิมที่วางไว้ในชั้นพิจารณา และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันใดๆ โดยศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกประกันในคดีอาญา 2565 ข้อ 24 ทำให้จำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด
 
กรณีของไชยอมร นอกจากคดีนี้แล้วเขายังถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 217 (ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์) อีกหนึ่งคดี ร่วมกับปูน-ธนพัฒน์ กาเพ็ง นักกิจกรรมทะลุฟ้า  สืบเนื่องจากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า เผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามคำฟ้องระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกายทรัพย์สินสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณอันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยมนับเป็นการแสดงอาฆาตมาดร้ายดูหมิ่นกษัตริย์  
 
สำหรับคดีเผา เดิมวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากจำเลยทั้งสองขอให้ศาลส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไชยอมรป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ศาลพิจารณาใบรับรองแพทย์แล้วเชื่อว่าป่วยจึงเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนนัดการฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกไปเป็นวันที่ 15 มกราคม 2567 เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ คดีที่ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 16/2566 ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 
 
ส่วนของพรหมศร จากข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีตามมาตรา 112 รวมคดีนี้เป็นห้าคดี ได้แก่ คดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 หน้ากรมทหารราบที่ 11, คดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่, คดีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง และ คดีปราศรัยในชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์
Article type: