- iLaw Website
- Documentation Center
ศาลอาญาจำคุก ไอซ์ รักชนก 6 ปี คดีมาตรา 112 จากทวิตและรีทวิต ลุ้น! หากไม่ได้ประกันวันนี้พ้นส.ส.ทันที
13 ธันวาคม 2566 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีตามมาตรา 112 ของ รักชนก ศรีนอก หรือ ไอซ์ สส.พรรคก้าวไกล ที่ถูกกล่าวหาว่าทวิตข้อความหนึ่งครั้งและรีทวิตข้อความอีกหนึ่งครั้ง ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์รวมสองข้อความ ศาลเห็นว่าข้อต่อสู้ของรักชนกที่อ้างว่ามีการตกแต่งพยานหลักฐานมาใส่ร้ายตัวเองโดยฝ่ายผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองมีข้อพิรุธ จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละสามปี รวมจำคุกหกปี
บรรยากาศที่หน้าศาลอาญาวันนี้ตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษามีประชาชนและคณะทำงานของพรรคก้าวไกลบางส่วนมารอให้กำลังใจรักชนกที่หน้าอาคารศาลอาญา เบื้องต้นศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ที่ห้อง 807 แต่ได้มีการย้ายมาอ่านคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดี 808 แทน
ตั้งแต่เวลา 9.10 น. ประชาชนและคณะทำงานรวมถึงส.ส.พรรคก้าวไกลบางส่วนทยอยขึ้นมาที่ห้องพิจารณาคดี ขณะที่รักชนกพร้อม ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นมาที่หน้าห้องพิจารณาคดีในเวลา 9.30 น.เนื่องจากที่นั่งในห้องพิจารณาคดีมีจำนวนจำกัด ประชาชนที่ติดตามมาให้กำลังใจบางส่วนที่มาถึงหลังที่นั่งในห้องพิจารณาคดีเต็ม ต้องรอติดตามผลอยู่ที่หน้าห้องพิจารณาคดี
ศาลขึ้นบัลลังก์ในเวลาประมาณ 9.40 น. ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งรักชนกว่าจะอ่านคำพิพากษาเฉพาะส่วนบทวิเคราะห์ และได้บอกให้รักชนกไปฟังคำพิพากษาที่บริเวณคอกพยาน โดยให้นั่งฟังการอ่านในส่วนของบทวิเคระห์ไปก่อนแต่ให้ยืนขึ้นเมื่อศาลอ่านถึงส่วนที่ศาลจะมีคำพิพากษา คำพิพากษาของศาลพอสรุปได้ว่า
คดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า ข้อต่อสู้ประการหนึ่งของจำเลยมีอยู่ว่า การกระทำตามฟ้องในคดีนี้เป็นการใส่ร้ายกลั่นแกล้งโดยผู้กล่าวหาซึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากจำเลย ตัวจำเลยเป็นผู้ศรัทธาในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและจำเลยทราบดีว่าการทวิตข้อความตามฟ้องซึ่งถ้อยคำมีความร้ายแรงย่อมมีผลกระทบต่อตัวจำเลยซึ่งมีความประสงค์จะทำงานการเมือง จำเลยจึงไม่มีทางกระทำความผิดตามฟ้อง ผู้เผยแพร่ข้อความตามฟ้อง ขณะเดียวกันก็ได้ความจาก มณีรัตน์ เลาวเลิศ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู็กล่าวหาว่า ตัวพยานรู้จักจำเลยเพราะเป็นบุคคลสาธารณะ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานปาก มณีรัตน์ เลาวเลิศ ผู้กล่าวหาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย และไม่ได้เป็นนักการเมือง จึงเชื่อว่าการกล่าวหาจำเลยของพยานปากนี้เป็นการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการพิทักษ์ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยตามพยานหลักฐานที่พบเห็น พยานยังเบิกความยืนยันด้วยว่าจำเลยมักโพสต์ข้อความกระแนะกระแหนพระมหากษัตริย์
ฝ่ายจำเลยมีพยานปากเบิกความว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดพิมพ์เอกสารหลักฐานที่มีที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ (URL) รวมถึงไม่ได้ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายในการเรียกพยานหลักฐานทั้งจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมถึงเรียกโทรศัพท์ของจำเลยมาทำการตรวจสอบ แม้ในการพิจารณาคดีอาญา ข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความพยานปากพนักงานสอบสวนในคดีว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยปฏิเสธที่จะให้การในรายละเอียด เมื่อพนักงานสอบสวนถามว่าจำเลยเป็นผู้ใช้หรือให้ผู้อื่นใช้บัญชีทวิตเตอร์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้หรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ขอให้การ เมื่อถามว่าจำเลยเป็นผู้เผยแพร่ข้อความดังกล่าวหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ขอให้การ จำเลยยังได้แจ้งพนักงานสอบสวนด้วยว่าไม่ได้นำโทรศัพท์ติดตัวมา ทั้งจำเลยยังไม่ได้ขวนขวายนำโทรศัพท์มาให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบในระยะเวลาอันสมควร
นอกจากนั้น แม้ว่าข้อความที่เผยแพร่ไปจะมีความร้ายแรง แต่จำเลยกลับไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบกรณีที่มีผู้ตัดต่อดัดแปลงหลักฐานเพื่อให้ร้ายจำเลย ทั้งจำเลยก็ไม่มีหลักฐานใดมาแสดงว่ามีการสมคบกันเพื่อปลอมแปลงหลักฐานปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย
นอกจากนั้นในการกำหนดแนวทางต่อสู้คดี จำเลยแถลงว่าจะต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่เป็นเหตุแห่งคดี แต่เมื่อพนักงานสอบสวนเบิกความถึงความเชื่อมโยงระหว่างบัญชีทวิตเตอร์ที่เป็นเหตุแห่งคดีกับบัญชีอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กของจำเลย จำเลยจึงรับว่าบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นของตัวเอง เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของจำเลยและพยานหลักฐานทั้งหมดจึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด
พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักสุด กระทงละสามปี จำเลยกระทำความผิดสองกระทง ลงโทษจำคุกหกปี
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ได้แจ้งรักชนกว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คดีในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยที่การดำเนินการดังกล่าวจะไม่อยูในดุลพินิจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน จากนั้นรักชนกถูกควบคุมตัวลงไปรอฟังคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดีที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 มณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนทั่วไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้แอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ “ไอซ์” หรือ @nanaicez หลังพบว่าบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวทวีตและรีทวีตข้อความและรูปภาพจํานวนสองโพสต์ ข้อความแรกเป็นเรื่องการผูกขาดวัคซีนโควิด 19 และข้อความในแคมเปญ #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา” โดยโพสต์นี้มีภาพประกอบซึ่งภายในภาพเป็นลักษณะคนถือป้ายข้อความว่า “ทรราช (คํานาม) TYRANT ; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง” ข้อความที่สองเป็นการรีทวีตข้อความที่บัญชีทวิตเตอร์นิรนามเผยแพร่ไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นภาพป้ายข้อความที่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่า เราจะไม่เป็นไท และเขียนข้อความประกอบว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่ากษัตริย์จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” ซึ่งเป็นคำกล่าวของเดอนีส์ ดิเดโรต์ นักปรัชญาฝรั่งเศส และมีแฮชแท็กประกอบ จากนั้นมีบุคคลอื่นรีทวีตของนิรนามประกอบข้อความอีกหนึ่งครั้งและแอคเคาท์ที่เป็นเหตุในคดีนี้จึงรีทวีตข้อความของทั้งสองแอคเคาท์ดังกล่าว
พนักงานสอบสวนบก.ปอท.จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ในชั้นสอบสวนรักชนกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังรักชนก ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) กำหนดไว้ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงเมื่อ สมาชิกถูกพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6)
ในเวลา 15.40 น. มีรายงานว่าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวรักชนกโดยใช้ตำแหน่งทางการเมืองของหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นหลักประกัน รักชนกจึงยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) กำหนดไว้ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงเมื่อ สมาชิกถูกพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6)
ในเวลา 15.40 น. มีรายงานว่าศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวรักชนกโดยใช้ตำแหน่งทางการเมืองของหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นหลักประกัน รักชนกจึงยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ภาพถ่ายโดย ชนากานต์ เหล่าสารคาม
อ่าน ข้อกำหนดเรื่องลักษณะต้องห้ามของส.ส.ในส่วนที่เกี่ยวกับการถูกดำเนินคดีอาญาตามรัฐธรรมนูญ
Article type: