1238 1674 1838 1180 1537 1757 1240 1453 1734 1573 1844 1432 1046 1002 1146 1407 1928 1775 1456 1523 1432 1939 1491 1538 1657 1572 1692 1241 1850 1885 1573 1380 1373 1264 1109 1823 1066 1213 1153 1782 1863 1310 1357 1292 1795 1201 1469 1867 1737 1670 1919 1387 1253 1542 1351 1215 1677 1768 1076 1240 1237 1238 1024 1547 1237 1607 1710 1141 1595 1369 1007 1160 1110 1718 1988 1059 1400 1931 1403 1185 1695 1797 1787 1367 1621 1328 1321 1312 1415 1620 1989 1628 1977 1814 1035 1019 1791 1133 1754 อุทธรณ์เปลี่ยนชะตา! รวมคดีมาตรา 112 ยุคราษฎรที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา "กลับ" หน้าเป็นหลัง | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

อุทธรณ์เปลี่ยนชะตา! รวมคดีมาตรา 112 ยุคราษฎรที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา "กลับ" หน้าเป็นหลัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ผิดกฎหมายในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากที่ถูกจำกัดการใช้มาตั้งแต่ปี 2560 เป็นการนำมาใช้แบบเต็มรูปแบบและกว้างขวางที่สุด หลังนโยบายเปลี่ยนตำรวจก็เริ่มออกหมายเรียกและหมายจับคนที่เคยขึ้นปราศรัยหรือเคยโพสต์ข้อความเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และบุคคลในราชวงศ์ ขณะเดียวกันกลุ่มประชาชนที่ประกาศตัวว่า เป็นกลุ่ม "ปกป้องสถาบันฯ" ก็ทยอยเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 จนจำนวนคดีพุ่งสูงขึ้น โดยนับถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 มีคนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 250 คน จากจำนวนคดีอย่างน้อย 269 คดี ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ถึงเดือนพฤษภาคม 2566 การพิจารณาคดีมาตรา 112 ที่เริ่มต้นในยุคใหม่หลังเดือนพฤศจิกายน 2563 เริ่มทยอยมีคำพิพากษาของศาลออกมาไม่น้อย ส่วนหนึ่งเดินทางไปถึงชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์เริ่มทยอยมีคำพิพากษาออกมาบางส่วนแล้ว โดยมีอย่างน้อยสองคดีที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาในทาง "เป็นคุณ" กับจำเลยแต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาออกมาในทางที่ "เป็นโทษ" กับจำเลย หรือเรียกว่า "พิพากษากลับ" 
 
หนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคการชุมนุมของราษฎร คือ กรณีที่ศาลอุทธรณ์ตีความขยายขอบเขตของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งที่ในบางคดีศาลชั้นต้นพยายามตีความกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามตัวบท อย่างไรก็ตามก็มีอยู่อย่างน้อยหนึ่งคดีที่กระบวนการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นดูจะมีปัญหา จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เพราะถูกศาลจำกัดประเด็นการต่อสู้คดีและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยแต่ศาลอุทธรณ์ก็กลับคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลเรื่องข้อพิรุธสงสัยในพยานหลักฐานของโจทก์ 
 
2841
 
 

คดีจรัสวิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียง ศาลอุทธรณ์ชี้หากมาตรา 112 คุ้มครองแค่กษัตริย์องค์ปัจจุบันจะเปิดช่องให้เกิดการละเมิด

 
จรัส ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวจันทบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่เก้า ในกลุ่มเฟซบุ๊ก "เพจจันทร์บุรี" ศาลจังหวัดจันทบุรีมีคำพิพากษา "ยกฟ้อง" จรัส ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 โดยศาลให้เหตุผลที่ยกฟ้องจรัสในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยสรุปได้ว่า
 
"แม้มาตรา 112 จะไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ในตัวบท หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุหรือไม่ แต่การตีความกฎหมายต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์และตีความโดยเคร่งครัด การตีความคำว่าพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 จึงหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่กำลังดำรงตำแหน่งเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ได้"
 
แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องจรัสในส่วนของมาตรา 112 แต่ก็พิพากษาว่า จรัสมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยโทษที่จรัสต้องรับหลังศาลลดโทษให้ คือ จำคุก 1 ปี 4 เดือน และถูกปรับเงิน 26,666.66 บาท โดยศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี 
 
ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง "กลับ" คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นพิพากษาว่า จรัสมีความผิด พร้อมทั้งให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า      
 
"ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน
 
การที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น แม้จะเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ในคดีนี้การที่จำเลยกล่าวพาดพิงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่เก้าในลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท รัชกาลที่เก้าทรงเป็นพระบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน"
 
อย่างไรก็ดี ในส่วนของระวางโทษ ศาลอุทธรณ์ยังคงกำหนดบทลงโทษเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวางไว้ จรัสจึงยังไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ 
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังระบุรายละเอียดคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่กล่าวถึงรัชกาลที่เก้าไว้ด้วย ซึ่งสรุปได้ว่า ที่จำเลยกล่าวพาดพิงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่เก้าด้วยข้อความมิบังควรลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นนั้น รัชกาลที่เก้าทรงเป็นพระราชบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้
 

คดี "วุฒิภัทร" แสดงความเห็นคดีสวรรคต ศาลอุทธรณ์ชี้ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน

 
"วุฒิภัทร" ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกรุ๊ป “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” ในเดือนมิถุนายน 2563 วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกรณีการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่แปด และตั้งคำถามเกี่ยวกับกรณีการประหารชีวิตมหาดเล็กสามคน ในคดีเกี่ยวกับการสวรรคต โดยที่ทั้งสามอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ ในข้อความดังกล่าว "วุฒิภัทร" ได้เขียนพาดพิงถึงรัชกาลที่เก้าด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมและสร้างความเสียหายให้กับรัชกาลที่เก้าด้วย
 
ในเดือนมีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้อง "วุฒิภัทร" ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 โดยให้เหตุผลที่พอสรุปได้ว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่เก้าเกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของรัชกาลที่แปดโดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะสี่ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความพาดพิงดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่เก้าได้สวรรคตตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
 
อย่างไรก็ตามศาลจังหวัดสมุทรปราการก็ยังคงลงโทษ "วุฒิภัทร" ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” ให้จำคุกหนึ่งปี เนื่องจาก "วุฒิภัทร" ให้ความร่วมมือในกระบวนการพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกแปดเดือน 
 
ในเดือนกรกฎาคม 2565 อัยการอุทธรณ์คดี ให้เหตุผลสรุปได้ว่า ตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีสืบทอดทางสายโลหิต เมื่อกฎหมาย(มาตรา 112) ไม่ได้กำหนดว่าพระมหากษัตริย์หมายถึงเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 112 คำอุทธรณ์ของอัยการยังอ้างถึงคำพิพากษาคดีของศาลฎีกาในคดีหมิ่นประมาทรัชกาลที่สี่ด้วย โดยในคดีดังกล่าวศาลฏีกาตีความว่ารัชกาลที่สี่ทรงเป็นพระราชบิดาของรัชกาลที่ห้า ซึ่งเป็นพระอัยกาของรัชกาลที่เก้าซึ่งครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุ หากตีความว่ามาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ก็อาจเปิดทางให้มีการกระทำละเมิดกระทบต่อพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ได้ นอกจากนั้นพระมหากษัตริย์แม้สวรรคตไปแล้วแต่ประชาชนก็ยังเคารพสักการะดังจะเห็นได้จากที่มีการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี หากมีการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในอดีตก็อาจกระทบกระเทือนจิตใจประชาชน สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนและอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับความมั่นคงได้
 
คดีนี้คำแก้อุทธรณ์ของจำเลยตอนหนึ่งได้บรรยายถึงเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ที่มีสถานะพิเศษและรัฐพึงให้ความคุ้มครองผู้อยู่ในตำแหน่งมากกว่าบุคคลธรรมดาสี่ตำแหน่ง และในทางกลับกันภายใต้หลักเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย เมื่อบุคคลไม่อยู่ในตำแหน่งแล้ว กฎหมายและรัฐย่อมไม่มีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษอีก ทั้งถ้อยคำตามต้นร่างภาษาอังกฤษในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 98 ก็ใช้คำว่า “the King, the Queen, the Crown Prince, or the Regent during the Regency” การใช้ the นำคำนามใดๆ ย่อมหมายถึงการจำเพาะเจาะจง ยิ่งเป็นคำนามเอกพจน์ด้วยย่อมหมายเป็นหนึ่งเดียวเฉพาะ เป็นการชี้ชัดเฉพาะลงไปว่าหมายถึงบุคคลนั้นๆ ในปัจจุบันเท่านั้น อย่างไรก็ตามอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นนี้ไม่ได้ถูกวินิจฉัยหรือกล่าวถึงในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด
 
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ เมื่อเป็นบทบัญญัติความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สร้าง การดำรงตำแหน่งกระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์สืบทอดทางสายพระโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน อันนำไปสู่ความไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้ จำเลยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ทำให้เสื่อมเสียต่อพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง ดังนั้นจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
 
ในส่วนของการกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า "วุฒิภัทร" มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกห้าปี เนื่องจากคำการของ "วุฒิภัทร" เป็นประโยชน์ศาลจึงลดโทษจำคุกให้หนึ่งในสามเหลือจำคุกสามปีสี่เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ขณะนี้วุฒิภัทรอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาโดยได้รับการประกันตัว 
 

คดีนรินทร์ติดสติกเกอร์กูKult ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องจำเลยเพราะหลักฐานไม่ชัดเจน

 
นรินทร์ ถูกกล่าวหาว่านำสติกเกอร์โลโกเพจ กูKult ซึ่งเป็นเพจเสียดสีการเมืองที่บางครั้งเผยแพร่เนื้อหาสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณใกล้ศาลฎีกาในลักษณะคาดทับพระเนตร ระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 นรินทร์ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม 2564 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง
 
อัยการบรรยายฟ้องโดยสรุปได้ว่า จำเลยนำสติกเกอร์มีข้อความว่า #กูkult ไปติดที่บริเวณพระเนตรบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อันเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่สิบ เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลาย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
 
2840
 
ศาลนัดสืบพยานคดีนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากศาลจำกัดประเด็นการสืบพยาน ให้ตัดพยานที่จะมาให้ความเห็นทางวิชาการทั้งหมด โดยศาลบอกทนายจำเลยว่า ศาลอาจจะไม่รับฟังพยานความเห็นก็ได้ ฝ่ายจำเลยจึงตัดสินใจไม่นำพยานเข้าสืบ รวมถึงตัวจำเลยก็ตัดสินใจไม่ขึ้นเบิกความคดีนี้ มีเพียงฝ่ายโจทก์ที่นำพยาน 11 ปากที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนคดีนี้เข้ามาเบิกความ
 
ระหว่างการสืบพยานคดีนี้ ศาลไม่บันทึกคำถามค้านของทนายจำเลยหลายประเด็น เช่น  ประเด็นที่ทนายจำเลยถามค้านพยานว่า ก่อนจะสั่งฟ้องคดีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 112 พยานเคยศึกษาแนวปฏิบัติของตำรวจในคดีอื่นหรือไม่ เพราะศาลเห็นว่าไม่ควรเทียบเคียงกับคดีอื่น ทนายจำเลยถามพยานโจทก์ปากผู้กล่าวหาว่า ทราบหรือไม่ว่าจำเลยติดสติกเกอร์บนพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเวลานานเท่าใดจึงมีคนแกะออกไป และสติกเกอร์หลุดออกได้อย่างไร ศาลไม่ให้ทนายจำเลยถามคำถามนี้โดยให้เหตุผลว่า แม้สติกเกอร์ดังกล่าวจะถูกติดเป็นเวลาเพียง 1 วินาทีก็ถือเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แล้ว ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีจึงไม่บันทึก และไม่ให้ถาม เป็นต้น
 
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 4 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 3 วันหลังการสืบพยานวันสุดท้าย โดยพิพากษาให้มีความผิดตามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี การไปร้องทุกข์ต่อตำรวจสน.ชนะสงครามของนรินทร์เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษจำคุกให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ หลังศาลมีคำพิพากษา นรินทร์ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์โดยวางเงิน 100,000 บาท เป็นหลักประกันซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันเดียวกัน 
 
หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษานรินทร์อุทธรณ์คดีโดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ พยานโจทก์ในคดีนี้ล้วนเป็นพยานบอกเล่า ไม่มีพยานปากใดเป็นประจักษ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์และพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นผู้ปีนขึ้นไปติดสติกเกอร์ ขณะที่ภาพถ่ายผู้ก่อเหตุก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นภาพของจำเลย ทั้งภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวที่เป็นหลักฐานก็ไม่สามารถยืนยันใบหน้าผู้ก่อเหตุว่าเป็นจำเลยได้ การกล่าวหาจำเลยคดีนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานจากการแต่งกาย 
 
ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จากพิพากษาว่านรินทร์มีความผิดเป็นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลสรุปได้ว่า จากพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยใส่เสื้อยืดสีขาว มีลายหน้าอกเป็นวงกลมสีแดงและตัวอักษรสีน้ำเงินภาษาอังกฤษคาดกลาง แตกต่างจากสติกเกอร์ของเสื้อคนร้ายในภาพถ่าย อันเป็นการแตกต่างจากคนร้ายตามภาพถ่ายก่อนและขณะเกิดเหตุกับบุคคลที่โจทก์อ้างว่าพบในตอนเช้า ทั้งที่เป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน
 
ทั้งไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยกับบุคคลที่พยานโจทก์ตรวจพบก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง จะมีที่พักอาศัยและเปลี่ยนเสื้อผ้าในบริเวณที่เกิดเหตุแต่อย่างใด  ซึ่งสรุปได้ว่าบ้านทั้งสองไม่ได้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่จำเลยจะสามารถกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และกลับมาบริเวณที่เกิดเหตุและสถานีตำรวจนครบาลชนะสงครามอีกในเวลาต่อเนื่องกันดังกล่าวได้ และไม่ปรากฏว่ามีการตรวจยึดเสื้อผ้าที่คนร้ายใส่ในตอนเกิดเหตุของคดีนี้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใส่เสื้อผ้าดังกล่าว ข้อเท็จจริงของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า บุคคลที่เจ้าพนักงานตำรวจพบในตอนเช้าหลังวันเกิดเหตุและจำเลยมีการแต่งกายเหมือนกับคนร้ายตามที่พยานโจทก์เบิกความ
 
นอกจากนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยรับว่าเป็นผู้กระทำความผิด หลังเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สน.ชนะสงคราม ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยและมีพิรุธ ทั้งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินคดีกับจำเลยทันทีที่ทราบว่าเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้และจำเลยได้ให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาคดีของศาลมาตลอด เมื่อจำเลยแต่งกายแตกต่างจากคนร้าย มิได้เหมือนกับคำเบิกความของพยานโจทก์ คำรับของจำเลยดังกล่าวจึงขัดต่อข้อเท็จจริงที่ควรจะเป็น กรณีมีเหตุแห่งความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ อีกทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ พยานแวดล้อมก็มีพิรุธสงสัยว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายจริงหรือไม่ จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย พิพากษากลับเป็นยกฟ้อง
Article type: