1553 1217 1610 1345 1576 1697 1558 1764 1985 1866 1515 1745 1114 1374 1170 1283 1284 1101 1152 1344 1042 1479 1091 1186 1275 1566 1532 1090 1881 1727 1924 1774 1510 1102 1322 1390 1488 1965 1112 1655 1202 1177 1531 1382 1732 1463 1118 1865 1111 1291 1415 1798 1551 1482 1913 1050 1358 1851 1496 1301 1341 1885 1001 1087 1716 1547 1059 1033 1107 1274 1653 1135 1553 1901 1218 1276 1967 1018 1909 1081 1484 1756 1973 1155 1305 1100 1754 1970 1221 1354 1071 1000 1791 1006 1124 1324 1715 1153 1870 2022 Judgement Days Recap: ขอบเขตที่ยังไม่แน่ชัด / ยกฟ้องคดี "ฟ้องทางไกล" เพราะพยานหลักฐานอ่อน ประเด็นเด่นคำพิพากษา 112 รอบปี 65 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

2022 Judgement Days Recap: ขอบเขตที่ยังไม่แน่ชัด / ยกฟ้องคดี "ฟ้องทางไกล" เพราะพยานหลักฐานอ่อน ประเด็นเด่นคำพิพากษา 112 รอบปี 65

หากปักหมุดว่า ปี 2563 คือปีแห่งการลุกขึ้นสู้ของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี 2564 ก็คงจะเป็นปีแห่งการโต้กลับที่รัฐใช้กลไกและองคาพยพต่างๆ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ส่งผลให้เข้าสู่ยุคสมัยที่คดีมาตรา 112 พุ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มาถึงปี 2565 คดีที่เริ่มต้นในปี 2563 และ ปี 2564 จำนวนหนึ่งทยอยเข้าสู่ศาล และศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีจนมีคำพิพากษาออกมาแล้ว
 
สำหรับประเด็นเด่นของคำพิพากษาที่ออกมาในปี 2565 ได้แก่ เรื่องการตีความขอบเขตความคุ้มครองของมาตรา 112 เพราะคำพิพากษาที่ออกมาในปีนี้มีทั้งคำพิพากษาที่ศาลตีความขยายขอบเขตไปคุ้มครองพระมหากษัตริย์ในอดีต และตีความไปคุ้มครองถึง "สถาบัน" ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่ปรากฎอยู่ในตัวบท ขณะเดียวกันก็มีคำพิพากษาที่ศาลตีความเคร่งครัดโดยจำกัดความคุ้มครองเฉพาะผู้ที่กำลังดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งสี่ตำแหน่งที่อยู่ในกฎหมายเท่านั้น นอกจากนั้นก็มีแนวทางต่อเนื่องกันที่ศาลในจังหวัดห่างไกลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีมาตรา 112 หลายคดีที่เริ่มต้นจากประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษกันเอง เพราะพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้กล่าวหาจัดทำมาไม่น่าเชื่อถือ
 
2760
 
 
การตีความ "กว้างขวาง" ที่ยังไม่มีข้อยุติ
 
ประเด็นขอบเขตของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในมิติกาลเวลาว่ากฎหมายคุ้มครองเฉพาะการกระทำที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้ถูกล่วงละเมิดดำรงตำแหน่งอยู่ หรือคุ้มครองไปถึงอดีตผู้ดำรงตำแหน่ง และในมิติของผู้ได้รับความคุ้มครองว่าหมายถึงเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่สี่คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือคุ้มครองรวมไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ คือ ประเด็นที่ยังไม่มีข้อยุติเพราะคำพิพากษาของศาลที่ออกมาในปี 2565 เพราะมีหลายคดีที่ตีความและวางบรรทัดฐานไม่ตรงกัน
 
คดีจรัส ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแนวทาง ให้คุ้มครองอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 
 
จรัส ผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวจันทบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่เก้า ในกลุ่มเฟซบุ๊ก "เพจจันทร์บุรี" ศาลจังหวัดจันทบุรีจะมีคำพิพากษา "ยกฟ้อง" จรัส ในเดือนธันวาคม 2564 โดยศาลให้เหตุผลที่ยกฟ้องว่าจรัสในข้อหาตามมาตรา 112 โดยสรุปได้ว่า
 
"แม้มาตรา 112 จะไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ในตัวบ หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุหรือไม่ แต่การตีความกฎหมายต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์และตีความโดยเคร่งครัด การตีความคำว่าพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 จึงหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่กำลังดำรงตำแหน่งเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะหาขอบเขตอันเป็นองค์ประกอบความผิดไม่ได้" 
 
แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องจรัสในส่วนของมาตรา 112 แต่ก็พิพากษาว่า จรัสมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยโทษที่จรัสต้องรับหลังศาลลดโทษให้คือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และถูกปรับเงิน 26,666.66 บาท โดยศาลให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี 
 
ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง "กลับ" คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 จากที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเป็นพิพากษาว่า จรัสมีความผิด พร้อมทั้งให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า      
 
"ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท เพียงพระองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ กระทำโดยการสืบสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้พระมหากษัตริย์จะสืบทอดทางสันตติวงศ์ทางสายพระโลหิตติดต่อกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นราชวงศ์ ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน
 
การที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น แม้จะเป็นการกระทำต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ในคดีนี้การที่จำเลยกล่าวพาดพิงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่เก้าในลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท รัชกาลที่เก้าทรงเป็นพระบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน" 
 
อย่างไรก็ในส่วนของบทกำหนดโทษ ศาลอุทธรณ์ยังคงใช้บทลงโทษเดียวกับที่ศาลชั้นต้นวางไว้ จรัสจึงยังไม่ถูกคุมขังในเรือนจำ 
 
คดีพอร์ท และเพชร ศาลให้คุ้มครองทั้ง "สถาบัน" ไม่ใช่แค่ตัวบุคคลหรือตำแหน่ง
 
ในขณะที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของจรัสขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปครอบคลุมอดีตผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ คำพิพากษาศาลอาญาในคดีของปริญญา หรือพอร์ท มือกีตาร์วงไฟเย็น ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 และคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางของธนกร หรือเพชร ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เป็นคำพิพากษาที่ขยายขอบเขตของมาตรา 112 ให้ไปคุ้มครอง "สถาบันพระมหากษัตริย์" ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีอยู่ในตัวกฎหมาย 
 
ปริญญาถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความที่เข้าข่ายความผิดรวมสามข้อความ โดยที่ทั้งสามข้อความไม่ได้มีการระบุชื่อบุคคลใด ข้อความแรกที่ถูกฟ้องปริญญาเขียนทำนองว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีโทษร้ายแรงให้ความคุ้มครองเป็นสิ่งงมงาย ข้อความนี้แม้จะไม่ได้มีการเอ่ยพระนามหรือชื่อของผู้ดำรงตำแหน่งใดโดยตรงแต่ศาลก็พิพากษาว่าเป็นความผิดโดยให้เหตุผลว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญ พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านสถาบันนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จึงไม่ใช่สิ่งงมงาย 
 
ข้อความที่สอง ซึ่งเป็นเนื้อเพลงมีคำว่า "สถาบันกากสัส" ซ้ำๆอยู่ในเนื้อเพลง ส่วนข้อความที่สามที่เขียนว่า "ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการทำรัฐประหารก็แบบนี้แหละ" ประกอบกับข่าวการรัฐประหารในประเทศตุรกี ศาลมองว่า เป็นการเขียนในลักษณะโยนความผิดให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ท้ายที่สุดปริญญาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลารวมหกปี 
 
2761
 
สำหรับคดีของธนกร หรือ เพชร ซึ่งขณะถูกดำเนินคดียังเป็นเยาวชน มีมูลเหตุมาจากคำปราศรัยของเขาในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ธนกรถูกกล่าวหาว่า ปราศรัยเกี่ยวกับการระบอบการปกครองของประเทศไทยว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารไปพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ธนกรจะไม่ได้ปราศรัยถึงชื่อของบุคคลใด แต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางก็เห็นว่าการปราศรัยของธนกรเป็นความผิด และให้เหตุผลไว้ตอนหนึ่งว่า 
 
แม้คำปราศรัยของธนกรจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่พระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่มุ่งคุ้มครองทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นการตีความที่กว้าง สำหรับโทษของธนกร เบื้องต้นศาลกำหนดโทษจำคุกของธนกรไว้ที่ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ แต่ได้ปรับแก้โทษเป็นคุมประพฤติ ให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี   
 
สิ่งที่คล้ายกันของคำพิพากษาคดีของปริญญาและธนกร คือ ข้อความที่เป็นปัญหาในคดีทั้งสอง ไม่ได้ระบุหรือสื่อเข้าใจว่า กล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งมาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง แต่ศาลก็พิพากษาว่า ข้อความเหล่านั้นเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 นอกจากนั้นในคำพิพากษาของทั้งสองคดีศาลยังตีความขยายขอบเขตมาตรา 112 ไปคุ้มครอง "สถาบันพระมหากษัตริย์" ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่ระบุไว้ในกฎหมายด้วย และไม่มีเอกสารใดระบุว่ามาตรา 112 มีเจตนารมณ์เช่นนั้นจริง 
 
2762
 
หากคำพิพากษาทั้งสองฉบับถูกยึดเป็นบรรทัดฐานก็จะมีปัญหาตามมาในอนาคตว่า บุคคลหรือหน่วยงานใดบ้างที่จะได้รับการคุ้มครองโดยที่ตัวบทกฎหมายไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ให้ชดเจน และประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์องค์ประกอบอื่นๆ แต่ไม่ได้แตะต้องบุคคลที่เป็นสมาชิกราชวงค์ เช่น เช่น สำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือส่วนราชการในพระองค์ หรือองคมนตรี จะมีความผิดด้วยหรือไม่
 
คำพิพากษาที่ตีความ "เคร่งครัด" ไม่ครอบคลุมตัว "สถาบัน" และอดีตกษัตริย์
 
แม้ในปีนี้จะมีอย่างน้อยสามคดีที่ศาลพิพากษาในลักษณะขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปเกินจากที่ตัวบทเขียนไว้ แต่ก็มีคำพิพากษาที่ศาลตีความในลักษณะจำกัดขอบเขตของกฎหมายออกมาด้วยเช่นกัน คือคดีของ 'วุฒิภัทร' ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเรื่องกรณีสวรรคตของรัชกาลที่แปดโดยพาดพิงรัชกาลที่เก้าในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย 
 
25 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้อง 'วุฒิภัทร' เฉพาะข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยให้เหตุผลว่า แม้จำเลยจะโพสต์ข้อความพาดพิงในหลวงรัชกาลที่เก้า แต่เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองบุคคลเพียงเฉพาะ 4 ตำแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ยังคงครองราชย์หรือดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น แม้ศาลจะยกฟ้องมาตรา 112 แต่ก็เห็นว่าการกระทำของ'วุฒิภัทร' เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14(1) และลงโทษจำคุกเขาเป็นเวลาแปดเดือนโดยไม่รอการลงโทษ 
 
นอกจากนั้นก็มีคดีของอิศเรศ ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม ที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วยการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความล่าช้าในการประกาศให้รัชกาลที่สิบขึ้นครองราชย์ วันที่ 16 มีนาคม 2565 ศาลจังหวัดนครพนมมีคำพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า ความผิดฐานดูหมิ่นและหมิ่นประมาทจะต้องได้ความว่า หมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะซึ่งในข้อความที่เป็นประเด็นในคดีไม่ได้ระบุเจาะจงถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่าข้อความของอิศเรศเป็นการดูหมิ่น ให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาลเห็นว่าสิ่งที่พยานโจทก์เบิกความเป็นเพียงความเห็นและการตีความของพยานโจทก์เองทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
และมีคำพิพากษาคดีของทิวากรที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพตัวเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อีกสองข้อความ เรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 กับข้อความเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ปล่อยตัวนักโทษการเมือง วันที่ 29 กันยายน 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าข้อความที่ทิวากรโพสต์ไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใด และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  
 
2763
 
 
ศาลยกฟ้องคดี 'ฟ้องทางไกล' เพราะผู้กล่าวหาทำหลักฐานไม่น่าเชื่อถือ
 
คดีมาตรา 112 ส่วนหนึ่งที่ศาลพิจารณาคดีแล้วเสร็จและมีคำพิพากษาออกมาในปี 2565 เป็นคดีที่มีมูลเหตุจากการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ ซึ่งคดีเกิดขึ้นเพราะมีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งคดีเหล่านี้พยานหลักฐานที่นำมาใช้กล่าวหาจำเลยมักเป็นเอกสารง่ายๆ ที่คนกล่าวโทษทำขึ้น เช่น ภาพบันทึกหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือ ที่อาจขาดรายละเอียดแสดงถึงความเป็นเจ้าของโพส หรือผ่านการตัดแต่ง ย่อขยายก่อนนำไปพิมพ์ลงบนกระดาษเอสี่ ซึ่งการจัดทำพยานหลักฐานในลักษณะดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่ปนเปื้อน ขาดความแท้จริง และขาดความน่าเชื่อถือ 
 
โดยการพิสูจน์ว่า บุคคลใดโพสข้อความจริงหรือไม่ สามารถรวบรวมหลักฐานให้น่าเชื่อได้ โดยอย่างน้อยการเก็บหลักฐานของโพสต้นฉบับต้องสั่งพิมพ์โดยตรงจากเว็บเบราเซอร์โดยตรง วิธีการนี้นอกจากผู้สั่งพิมพ์จะไม่สามารถดัดแปลงแก้ไขข้อมูลใดๆของหน้าเว็บไซต์ที่สั่งพิมพ์ได้แล้ว บนกระดาษที่พิมพ์ออกมายังจะปรากฎวันเวลาที่จัดพิมพ์รวมถึง url หรือที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของข้อมูลต้นทาง ความน่ากังขาของพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้องหลายคดีในเวลาต่อมา ได้แก่ คดีของ 'วารี' กับ 'ชัยชนะ' ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส และคดีของพิพัทธ์ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
 
'วารี' ชาวจังหวัดสมุทรปราการถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่จังหวัดนราธิวาสร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีที่สภ.สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส โดยเธอถูกกล่าวหาว่า โพสต์ภาพและข้อความที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เป็นการคอมเมนท์ด้วยภาพการ์ตูน เป็นคนนั่งบนเก้าอี้กำลังคล้องเหรียญให้ตัวละครที่ร่างกายเป็นคนหัวเป็นสุนัขกำลังก้มลงหมอบกราบ ในคดีนี้หลักฐานที่พสิษฐ์นำมาใช้ปรักปรำ 'วารี' เป็นภาพบันทึกหน้าจอของหน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กของจำเลย และภาพบันทึกหน้าจอโพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีที่ผ่านการดัดแปลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก่อนพิมพ์ออกมายื่นต่อศาล
 
วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษายกฟ้อง 'วารี' ให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ก็ยังไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด เพราะเอกสารหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้ปรักปรำจำเลยซึ่งเป็นภาพบันทึกจอไม่ปรากฎ URL ซึ่งจะระบุที่อยู่ทางอิเล็กทรอนิกส์ของโพสต์ที่เป็นปัญหาแห่งคดี นอกจากนั้นตัวผู้กล่าวหายังเบิกความเกี่ยวกับการพบเห็นโพสต์ที่เป็นประเด็นปัญหาในคดีอย่างมีพิรุธ และพยานผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจำเลยก็เบิกความยืนยันว่าภาพถ่ายหน้าจอที่เป็นหลักฐานของโจทก์มีผ่านการตัดต่อมา 
 
'ชัยชนะ' ชาวจังหวัดลำพูนเป็นจำเลยอีกคนหนึ่งที่ถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ร้องทุกข์กล่าวโทษที่สภ.สุไหงโกลก  'ชัยชนะ' ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดจากการโพสเฟซบุ๊กรวมสี่กรรม โดยหลักฐานที่พสิษฐ์นำมาร้องทุกข์กล่าวโทษ 'ชัยชนะ' เป็นภาพบันทึกหน้าจอที่ผ่านการตัดต่อเพื่อพิมพ์ลงในกระดาษเช่นเดียวกับหลักฐานในคดีของ 'วารี' โดยที่ไม่ได้มีพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่ใช้ระบุตัวตนหรือระบุความเชื่อมโยงระหว่าง 'ชัยชนะ' กับเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาแห่งคดี 
 
วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสพิพากษายกฟ้อง 'ชัยชนะ' พร้อมให้เหตุผลโดยสรุปได้ว่า โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้งานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ที่เป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต สามารถถูกนำไปตัดต่อ ปลอมแปลงเป็นภาพและข้อมูลเท็จได้ นอกจากนั้นจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของจำเลยก็ไม่พบว่ามีประวัติการเข้าถึงเฟซบุ๊กที่เป็นปัญหาในคดีนี้ อีกทั้ง จำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
 
นอกจากคดีของ 'วารี' กับ 'ชัยชนะ' พสิษฐ์ยังร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในลักษณะพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสอีกอย่างน้อยหกคดี  
 
ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพัทธ์ พลทหารชาวพิษณุโลกซึ่งขณะเกิดเหตุทำงานอยู่ที่จังหวัดลพบุรีถูกอุราพรประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสภ.บางแก้วว่า โพสต์ภาพตัดต่อข้อความที่เป็นบทสนทนาโต้ตอบในพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและสมเด็จเจ้าฟ้าทีปังกรฯก่อนนำไปโพสต์ในกลุ่มเฟซบุ๊กรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส - ตลาดหลวง หลักฐานที่อุราพรผู้กล่าวหาใช้เป็นมูลเหตุในการดำเนินคดีกับพิพัทธ์ในคดีนี้คือบันทึกภาพหน้าจอข้อความที่เป็นปัญหาแห่งคดีกับภาพบันทึกหน้าจออื่นๆ ที่ถูกปรับแต่งจัดวางรวมกันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ก่อนพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษเอสี่
 
ในชั้นศาลฝ่ายโจทก์ไม่ได้มีหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่จะใช้ระบุตัวตนของพิพัทธ์เข้ากับเฟซบุ๊กโพสต์ที่เป็นปัญหาในคดี เช่น ข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ว่า มีจุดเริ่มต้นส่งข้อมูลและปลายทางส่งข้อมูลเป็นอย่างไร หมายเลขประจำตัวเครื่องคอมพิวเตอร์คืออะไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลระบุตัวตนสำคัญ ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอยู่ที่ใด และใช้อุปกรณ์อะไรขณะกระทำผิด ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความว่า ภาพหลักฐานที่ผู้กล่าวหานำมาแสดง สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัดต่อได้
 
ในวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษายกฟ้องพิพัทธ์ในทุกข้อกล่าวหาโดยยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเพราะพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอ  
 
แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องคดีทั้งสามคดีแต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่า เหตุใดตำรวจและอัยการจึงรับฟ้องคดีทั้งๆ ที่พยานหลักฐานอาจจะยังไม่ได้มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอ ซึ่งหลายคดีฝ่ายตำรวจได้พยายามตรวจสอบหมายเลขไอพีแอดเดรสที่เกี่ยวข้องกับการโพสข้อความแล้ว และตรวจสอบประวัติการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยแล้ว ไม่พบหลักฐานที่ชี้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดแต่ก็ยังคงส่งฟ้องคดี ซึ่งเป็นการผลักภาระให้จำเลยต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล 
 
นอกจากนี้ทั้งสามคดีเป็นคดีร้องทุกข์กล่าวโทษแบบ "ทางไกล" ที่ผู้ริเริ่มคดีจงใจทำให้จำเลยแต่ละคนได้รับผลกระทบทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาเพิ่มขึ้น 'วารี' ต้องสูญเงินทั้งค่าเดินทางและค่าที่พักตลอดกระบวนการพิจารณาคดีไปประมาณ 60,000 บาท นอกจากนั้นก็ต้องเสียรายได้ในวันที่ต้องลางานเพื่อไปรายงานตัว  เช่นเดียวกับ 'ชัยชนะ' ที่ต้องเดินทางไกลมากกว่าหนึ่งพันกิโลจากจังหวัดลำพูนไปที่จังหวัดนราธิวาส ขณะที่พิพัทธ์ก็ต้องเดินทางจากลพบุรีมาที่สมุทรปราการ พิพัทธ์ให้ข้อมูลด้วยว่านอกจากผลกระทบเรื่องเวลาและค่าใช้จ่ายแล้ว เขายังได้รับผลกระทบเรื่องโอกาสในอาชีพด้วย พิพัทธ์ระบุว่าก่อนเกิดเหตุเขาอยู่ระหว่างรอสัมภาษณ์หลังสอบติดหน่วยราชการแห่งหนึ่งแต่มาถูกดำเนินคดีนี้เสียก่อน จึงตัดสินใจสละสิทธิการสัมภาษณ์เพราะเกรงจะมีปัญหาหรือถูกสอบถามเกี่ยวกับคดี
 
 
Article type: