1959 1237 1002 1775 1991 1345 1593 1290 1723 1779 1646 1535 1544 1482 1903 1178 1610 1148 1974 1928 1113 1576 1606 1928 1131 1865 1522 1443 1725 1743 1161 1489 1336 1384 1561 1275 1584 1382 1716 1519 1017 1625 1783 1604 1995 1135 1269 1927 1262 1916 1623 1499 1041 1397 1191 1605 1299 1747 1298 1590 1699 1447 1349 1574 1686 1435 1681 1515 1815 1479 1828 1214 1313 1208 1312 1903 1524 1979 1725 1485 1041 1719 1855 1443 1145 1676 1006 1098 1851 1931 1105 1173 1183 1502 1703 1318 1908 1466 1271 เปิดแนวคำพิพากษาและประมวลความคืบหน้า คดีการแสดงออกต่อ "พระบรมฉายาลักษณ์และซุ้มเฉลิมพระเกียรติ" | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

เปิดแนวคำพิพากษาและประมวลความคืบหน้า คดีการแสดงออกต่อ "พระบรมฉายาลักษณ์และซุ้มเฉลิมพระเกียรติ"

 
 
การเผา - ทำลาย หรือการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ ต่อซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นระยะในช่วงการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2564 แม้ว่าก่อนหน้านั้นในยุคคสช. จะมีกรณีที่คล้ายกันเกิดขึ้นอย่างน้อยสองกรณี แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นโดยตรง และหนึ่งในนั้นมีคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นคนที่มีอาการป่วยทางจิตที่น่าจะก่อเหตุเพราะอาการป่วย ไม่ได้ทำไปเพราะต้องการแสดงออกทางการเมือง
 
ในปี 2563 การปราศรัยของทนายอานนท์ นำภา และการออกแถลงการณ์ 10 ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง การวิพากษ์วิจารณ์ และเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในที่ชุมนุมกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและเปิดเผย เท่าที่มีข้อมูลคดีที่มีมูลเหตุจากการแสดงออกโดยตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วงปี 2563 น่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2563 คือกรณีที่มีคนนำสติกเกอร์เพจเสียดสีการเมือง กู Kult ไปติดคาดพระเนตรของรัชกาลที่สิบบนพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่การชุมนุม จากนั้นในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ก็มีการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์อีกสองกรณีโดยเกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม โดยเท่าที่มีข้อมูลในปี 2563 ยังไม่มีการแสดงออกด้วยการใช้ไฟเผาทำลาย
 
สำหรับการใช้ไฟเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์กรณีแรก มาเกิดขึ้นครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยเป็นการประท้วงต่อต้านการคุมขังจำเลยคดีมาตรา 112 ระหว่างการพิจารณาคดี ในการชุมนุมแต่ละครั้งหลังจากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยวิธีการรุนแรงขึ้น การแสดงออกด้วยการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยนับจากปี 2563 - 2564 มีคดีมาตรา 112 และข้อหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเผา ทำลาย หรือแสดงออกโดยตรงต่อพระบรมฉายาลักษณ์หรือซุ้มเฉลิมพระเกียรติอย่างน้อย 17 คดี 
 
ล่วงมาถึงปี 2565 ศาลทยอยมีคำพิพากษาคดีเหล่านี้ไปแล้วบางส่วน ได้แก่คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น และคดีติดสติกเกอร์ กู Kult คาดทับพระบรมฉายาลักษณ์ ขณะเดียวกันก็มีคดีที่ศาลสืบพยานเสร็จแล้ว และมีนัดวันฟังคำพิพากษาแล้วในช่วงปลายปี 2565 ต่อต้นปี 2566 เช่น คดีติดป้ายที่ทิ้งขยะบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าศาลฎีกา คดีปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่จังหวัดลำปาง และคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถนนราชดำเนินระหว่างการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในเดือนกรกฎาคม 2564
 
2667
 

1.คดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว

คดีติดสติกเกอร์ ‘กูKult’:  ศาลชี้การกระทำของจำเลยเป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือพระมหากษัตริย์

 
นรินทร์เข้าร่วมการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ระหว่างนั้นมีคนนำสติกเกอร์ 'กูKult' ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบบริเวณหน้าศาลฎีกาในลักษณะเอาสติกเกอร์ปิดคาดทับพระเนตร จากการสอบถามนรินทร์ระบุว่าในวันที่ 20 กันยายน 2563 ระหว่างที่เขากำลังเดินทางกลับบ้านจากพื้นที่การชุมนุมทางตรอกข้าวสาร มีคนเข้ามาล้อมอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขอดูหน้าตาและจดชื่อที่อยู่เขาไปโดยที่ไม่ได้แจ้งว่าเขาทำความผิดอะไร
 
นรินทร์ถูกออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในเดือนธันวาคม 2563 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนติดสติ๊กเกอร์ดังกล่าว นรินทร์ให้การปฏิเสธและพนักงานสอบสวนปล่อยตัวเขาโดยไม่ขออำนาจศาลฝากขัง คดีสืบพยานไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2565 
 
การสู้คดีของนรินทร์เต็มไปด้วยข้อจำกัด ตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดีศาลถามนรินทร์ว่าเขายังยืนยันให้การปฏิเสธหรือไม่ พร้อมแจ้งว่าหากยืนยันจะต่อสู้คดีเมื่อสืบพยานไปแล้วหากศาลเห็นว่ามีความผิดก็อาจไม่ได้รับการลดหย่อนโทษ ศาลยังแนะนำนรินทร์ด้วยว่าการต่อสู้คดีต้องตัดสินใจด้วยตัวเองให้ดี เพราะหากตัดสินใจตามเพื่อนหรือตามทนายแล้วถูกลงโทษตัวเขาคือผู้ถูกลงโทษ
 
ศาลยังตัดการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญของคู่ความทั้งสองฝ่ายด้วย ฝ่ายโจทก์ศาลให้ตัดพยานที่จะให้ความเห็นเรื่องความหมายของสติกเกอร์เพราะเห็นว่าลำพังการนำสติกเกอร์ไปติดสถานที่ที่ไม่เหมาะสมก็เป็นความผิดอยู่แล้ว ในส่วนของฝ่ายจำเลย เมื่อทนายความกับนรินทร์หารือกับศาลว่า นรินทร์จะรับข้อเท็จจริงว่าเขาเป็นคนติดสติกเกอร์ แต่จะต่อสู้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยจะนำพยานผู้เชี่ยวชาญมากเบิกความแทนเพื่อต่อสู้ในประเด็นเจตนา ศาลได้ไปปรึกษาผู้บริหารศาลก่อนกลับมาแจ้งมาหากจำเลยจะต่อสู้คดีในแนวทางดังกล่าวศาลจะงดการสืบพยานทั้งหมดแล้วให้จำเลยทำคำแถลงปิดคดีส่งแทน ท้ายที่สุดศาลสั่งให้ตัดพยานผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความเห็นของคู่ความทั้งสองฝ่าย และในการถามค้านพยานโจทก์เมื่อทนายความจะถามคำถามเทียบเคียงกรณีอื่นๆ เช่น การนำพระบรมฉายาลักษณ์ที่อยู่บนปฏิทินไปทิ้ง การขยำหรือการเยียบพระบรมฉายาลักษณ์ศาลก็ไม่ให้ถามและจดบันทึกคำพยานในประเด็นดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า เป็นคนละกรณีกับการติดสติกเกอร์ในที่ที่ไม่ควรติด เมื่อเห็นว่าไม่สามารถสู้คดีอย่างเต็มที่นริทร์ก็ตัดสินใจแถลงว่าจะไม่สืบพยานจำเลย 
 
หลังการสืบพยานแล้วเสร็จในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญาก็นัดนรินทร์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 4 มีนาคมหรือเพียงสามวันหลังการสืบพยานแล้วเสร็จ ทั้งที่โดยปกติศาลมักใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในการทำคำพิพากษา หรือบางกรณีอาจนานกว่านั้นเพราะศาลจะต้องส่งคำพิพากษาไปให้ผู้บริหารศาลหรืออธิบดีระดับภาคตรวจทานโดยศาลมีคำพิพากษาว่า นรินทร์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกสามปี แต่เนื่องจากนรินทร์เคยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนจากกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามตัวในวันที่ 20 กันยายน 2563 และข้อมูลที่ให้การไว้กับตำรวจมีประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง จึงลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกสองปี ศาลให้เหตุผลที่การกระทำของนรินทร์เป็นความผิดว่า การนำสติกเกอร์ไปติดคาดดวงพระเนตรเป็นการแสดงตนให้ยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ แม้จะกระทำต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ก็เป็นการดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 
 
• ดูรายละเอียดคดีของนรินทร์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/923
• ดูข้อจำกัดในการต่อสู้คดีของนรินทร์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/1031
 

สามคดีเผาซุ้มที่ขอนแก่น ไร้ข้อหามาตรา 112 ศาลตัดสินผิดวางเพลิงทำรายทรัพย์สิน แต่ให้รอลงโทษ

 
ในปี 2564 มีกรณีเผาทำลายซุ้มเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นอย่างน้อยสามกรณี กรณีแรกเป็นการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณถนนบายพาส ตำบลศิลา จังหวัดขอนแก่น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 หลังกรณีเผาภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 กรณีสองเป็นการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่หน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564  และกรณีที่สามเป็นการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่หน้าวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 โดยช่วงเวลาที่เกิดเหตุกรณีที่สองและสามเป็นช่วงที่การชุมนุมที่แยกดินแดงกำลังเข้มข้นและเจ้าหน้าที่มีการตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยวิธีการที่รุนแรง 
 
อิศเรษฐ์ นักกิจกรรมและพ่อค้าขายพวงมาลัยชาวจังหวัดขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุในคดีที่หนึ่งและถูกออกหมายจับในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อทราบว่าถูกออกหมายจับเขาได้ประสานตำรวจเข้ามอบตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับอิศเรษฐ์แต่แจ้งข้อกล่าวหากระทําความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และวางเพลิงเผาทรัพย์ อิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน และเขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนโดยต้องโดยวางเงินประกัน 35,000 บาท เมื่อคดีมาถึงชั้นศาลอิศเรษฐ์ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ   
 
"เจมส์" และ "บอส" นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุในกรณีที่สอง ทั้งสองถูกตำรวจบุกจับกุมตัวที่ห้องพักในวันที่ 17 กันยายน 2564 หรือสี่วันหลังวันเกิดเหตุ ทั้งสองให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์โดยศาลแต่งตั้งให้คณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาทั้งสอง ในกรณีนี้ตำรวจจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับผู้ต้องหา และเมื่ออัยการฟ้องคดีต่อศาลก็ไม่ได้มีการฟ้องด้วยมาตรา 112 เช่นกัน เมื่อคดีมาถึงชั้นศาล ทั้ง "เจมส์" และ "บอส" เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ 
 
"เทพ" นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคขอนแก่นถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุในกรณีที่สาม เทพไม่ได้ถูกตำรวจควบคุมตัวโดยตรงแต่ทราบว่าตัวเองตกเป็นเป้าหมายเมื่อมีตำรวจบุกไปค้นห้องพักของ "มินท์" เพื่อนสนิทของเขาระหว่างที่ "มินท์" ไม่อยู่ที่ห้อง ขณะเดียวกันก็มีบุคคลแปลกหน้าทักเทพมาทางเฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์ว่าให้เขาหลบหนีไป เทพจึงตัดสินใจประสานทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้พาไปพบตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ในชั้นสอบสวน "เทพ" ถูกฝากขังโดยพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว แต่ศาลก็อนุญาตให้ปล่อยตัวเขาโดยวางหลักประกัน 35,000 บาท ในกรณีของ "เทพ" ไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ชั้นสอบสวน มีเพียงการตั้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและข้อหาทำลายทรัพย์สิน ในชั้นสอบสวน "เทพ" ให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาก็เปลี่ยนมาให้การรับสารภาพในชั้นศาล 
 
• ทั้งสามคดีศาลจังหวัดขอนแก่นนัดฟังคำพิพากษาพร้อมกันเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 
 
คดีของอิศเรษฐ์ ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นและฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุก และจำเลยแสดงรู้สึกผิดต่อการกระทำดังกล่าวด้วยการชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของทรัพย์ จึงให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ให้รายตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
 
คดีของ "เจมส์" และ "บอส" ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่เนื่องจากจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุก และจำเลยแสดงรู้สึกผิดต่อการกระทำดังกล่าวด้วยการชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของทรัพย์ จึงให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ให้รายตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง     
 
ส่วนคดีของ "เทพ" ตัวจำเลยแถลงขอให้ศาลเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อนเนื่องจากเขายังชำระค่าเสียหายให้เจ้าของทรัพย์ไม่ครบ จึงต้องขอเวลาเพิ่มเติมอีกสามเดือนเพื่อดำเนินการ ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้แถลงคัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไป จากนั้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ศาลจึงนัดอ่านคำพิพากษาคดีของเทพ โดยพิพากษาว่า "เทพ" มีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น แต่เนื่องจาก "เทพ" ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและแสดงความรู้สึกผิดต่อการกระทำรวมถึงได้ชดใช้ค่าเสียหายกับเจ้าของทรัพย์จนครบถ้วนแล้ว  จึงให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี ให้รายตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามกำหนดและบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
 
• ในคดีทั้งสามคดีศาลยังให้เหตุผลในการรอการกำหนดโทษจำเลยทั้งสามคดีในทำนองเดียวกันด้วยว่า จำเลยอยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงแก้ไขความประพฤติ จึงให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี 
 
ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2560 เกิดกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในอำเภอพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งผู้ต้องหาวัยรุ่นหกคนที่ร่วมกันก่อเหตุเคยถูกตั้งข้อกล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งหกกระทำความผิดฐานดังกล่าว แต่ในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคสี่แก้คำพิพากษาว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพียงแต่มีเจตนาสร้างความเสียหายกับทรัพย์สินจึงยกฟ้องในส่วนของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ลงโทษในส่วนของการวางเพลิงเผาทรัพย์เท่านั้น        
 

2.คดีที่ศาลพิจารณาแล้วเสร็จ รอคำพิพากษา

คดีปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ธรรมศาสตร์ ลำปาง นัดพิพากษา 20 ธ.ค.65

 
ในวันที่ 17 ตุลาคม 2563 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางจัดการชุมนุมที่ถนนทางเข้าหน้าหอพักนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพื่อประท้วงการใช้กำลังสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 300 คน ในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการจัดการชุมนุมปรากฎว่ามีกลุ่มบุคคลปลดพระบรมฉายาลักษณ์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลำปางออกจนทำให้ได้รับความเสียหายขาดเป็นสี่ชิ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวตอนหนึ่งว่า
 
“ตามที่ปรากฏเหตุการณ์จากการนัดประชุมแฟลชม็อบของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความกังวล และไม่สบายใจ
 
“เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ไม่ควรเกิดขึ้น และเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม มหาวิทยาลัยจะดำเนินการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก"
 
ในเวลาต่อมา "ไลลา" นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับนักศึกษาอีกหนึ่งคนถูกเรียกไปพบผู้บริหาร เมื่อไปถึงปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและตำรวจอยู่ในห้องประชุมด้วย เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหากับนักศึกษาทั้งสองคนว่าทำความผิดฐานทำลายทรัพย์สินสาธารณะ แต่ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พนักงานสอบสวน สภ.ห้างฉัตรออกหมายเรียกให้ ไลลากับนักศึกษาอีกคนหนึ่งไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติม อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลำปางตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ศาลจึงเลื่อนนัดสอบคำให้การคดีนี้ออกไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ในเวลาต่อมาจำเลยอีกคนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพจึงมีการแยกสำนวนคดีออกไปโดยไม่มีข้อมูลว่าศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วหรือไม่และพิพากษาว่าอะไร  
 
ในส่วนของ ไลลาซึ่งยืนยันให้การปฏิเสธ มีการสืบพยานนัดสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ไลลาเบิกความโดยสรุปได้ว่า ในวันเกิดเหตุเธอร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยที่หน้าหอพักนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการสลายการชุมนุมที่กรุงเทพในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปที่หน้ามหาวิทยาลัยตัวเธอได้ติดตามไปด้วย เมื่อไปถึงก็พบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบลงมา เธอจึงเข้าไปเก็บพระบรมฉายาลักษณ์กับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุบานปลายหรือมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ทั้งยังแจ้งเหตุไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยและต่อมาทางอาจารย์ก็ได้แจ้งให้นำพระบรมฉายาลักษณ์ไปเก็บไว้ในอาคารเรียนรวมชั้นห้าซึ่งเป็นที่ทำการของผู้บริหารคนที่เธอโทรไปแจ้งเหตุ ไลลายังเบิกความด้วยว่าเธอไม่เคยรู้จักกับคู่คดีอีกคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำการปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์มาก่อน ขณะที่ รศ.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารที่ ไลลาอ้างถึงมาเบิกความเป็นพยานจำเลยโดยสรุปได้ว่าในวันเกิดเหตุ ไลลาได้โทรมาแจ้งเหตุกับตัวเขาจริงและตัวเขาเป็นคนประสานกับไลลาให้นำภาพไปเก็บ ในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางขอให้ไลลาขอขมาต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไลลาปฏิเสธเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้ปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ลงมา    
 
หลังการสืบพยานในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 แล้วเสร็จฝ่ายจำเลยแถลงว่าหมดพยานที่จะนำเข้าเบิกความ ศาลจังนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 
 
• ดูรายละเอียดคดีของ "ไลลา" >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/934
 

คดีติดกระดาษ "ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล" บนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบ ศาลอาญารอศาลรัฐธรรมนูญตีความความชอบด้วยกฎหมายมาตรา 112 

 
ในวันที่ 22 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายจับศาลอาญาเข้าจับกุมชูเกียรติหรือ "จัสติน" นักกิจกรรมชาวจังหวัดสมุทรปราการที่บ้าน ก่อนที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำตามข้อกล่าวหาว่า ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งกลุ่ม REDEM นัดชุมนุมที่สนามหลวง ชูเกียรติซึ่งเข้าร่วมชุมนุมด้วยนำกระดาษเขียนข้อความว่า "ที่ทิ้งขยะ" ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบนอกรั้วศาลฎีกาซึ่งเป็นพื้นที่การชุมนุม
 
หลังถูกจับกุมชูเกียรติถูกฝากขังในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2564 จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อัยการยื่นฟ้องชูเกียรติในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ชูเกียรติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาพร้อมทั้งปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เขียนและนำกระดาษดังกล่าวไปติดที่พระบรมฉายาลักษณ์ ศาลเริ่มสืบพยานคดีนี้ในเดือนมีนาคม 2565 และสืบพยานแล้วเสร็จในวันที่ 27 กันยายน 2565 โดยเป็นการสืบพยานโจทก์เพียงฝ่ายเดียว ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ได้นำพยานเข้าเบิกความ แม้ว่าคดีนี้ข้อกล่าวหาหลักที่มีโทษสูงสุดจะเป็นข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติมกับจำเลยทั้งความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่ และความผิดฐานทำร้ายเจ้าพนักงาน โดยที่ในการสืบพยานโจทก์ ไม่มีพยานปากใดที่สามารถยืนยันได้ว่าตัวเองถูกชูเกียรติทำร้ายร่างกาย หรือมีพยานคนใดยืนยันได้ว่าชูเกียรติเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม REDEM ซึ่งเป็นกลุ่มที่นัดหมายการชุมนุมครั้งดังกล่าว ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชูเกียรติให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำการดังกล่าว แต่ประสงค์จะเบิกความในชั้นศาล
 
ในนัดสุดท้ายของการสืบพยานชูเกียรติยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกเพิ่มโทษโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ซึ่งเป็นคณะทหารที่ทำการยึดอำนาจในช่วงค่ำวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการสังหารผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงเช้าวันเดียวกัน โดยสาระสำคัญของคำร้องมีอยู่สามประเด็น
 
1. คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอีกแล้ว เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสิ้นสภาพลงแล้ว และรัฐธรรมนูญ 2519 ที่ให้การรับรองคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ไว้ในมาตรา 29 ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับปี 2520 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ก็ไม่ได้รับรองสถานะคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ไว้
 
2.คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 เป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจาก มาตรา 3 กำหนดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และอำนาจในการตรากฎหมายเป็นของรัฐสภา คณะปฏิรูปฯ หรือคณะรัฐประหารจึงไม่ใช่องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ และ
 
3.คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 เป็นคำสั่งที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560  เนื่องจากมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มโทษทางอาญาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้สูงขึ้น เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการจำกัดเสรีภาพในแสดงความคิดของบุคคล สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ด้วยเหตุผลสองประการ
 
ประการแรกการเพิ่มโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการมาตรการทางกฎหมายที่มุ่งจำกัดเสรีภาพของประชาชนเจ้าของประเทศในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐอย่างหนึ่งเกินความจำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ เพราะแม้แต่อัตราโทษของกฎหมายที่ใช้คุ้มครองชื่อเสียงประมุขแห่งรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังต่ำกว่าโทษตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 
 
ประการที่สอง ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยึดถือ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิเสรีภาพ” เป็นคุณค่าสูงสุด แต่คำสั่งคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 41 กลับมุ่งคุ้มครองคุณค่าของสิทธิในชื่อเสียงและสถานะอันล่วงละเมิดมิได้พระมหากษัตริย์มากกว่าการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันจะเห็นได้จากการเพิ่มอัตราโทษที่สูงเกินจำเป็นและไม่ชอบด้วยเหตุผล
 
คดีของชูเกียรติในขณะนี้ยังไม่มีวันนัดฟังคำพิพากษา โดยศาลจะกำหนดวันนัดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในประเด็นที่ชูเกียรติขอให้ศาลมีคำวินิจฉัย หากศาลเห็นว่าคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ที่ใช้เพิ่มอัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอาญาก็จะทำคำพิพากษาไปตามปกติ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยคำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 41 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ 2560 ศาลอาญาจะต้องตัดสินคดีของชูเกียรติรวมถึงคดีมาตรา 112 คดีอื่นๆ ด้วยกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ก่อนการออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งในเวลานั้นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี
 
• ดูรายละเอียดคดีของชูเกียรติ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/953
• ดูประเด็นการยื่นศาลรัฐธรมนูญตีความ ความชอบด้วยกฎหมายของมาตรา 112 ของชูเกียรติ >>> https://web.facebook.com/iLawClub/photos/10166993411550551 
 

คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ใกล้แยกนางเลิ้ง นัดพิพากษา 17 ม.ค.66

 
ระหว่างการชุมนุม "ทวงคืนประเทศไทย ขับไล่ปรสิต" ซึ่งกลุ่มเยาวชนปลดแอกเป็นผู้นัดหมายในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เกิดเหตุเพลิง ลุกไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอกใกล้เคียงกับพื้นที่การชุมนุม หนึ่งวันหลังเกิดเหตุตำรวจนำกำลังพร้อมหมายจับไปที่บ้านพักของสิทธิโชค ผู้ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับส่งอาหาร หลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ดำเนินคดีสิทธิโชค ได้แก่ภาพเคลื่อนไหวที่ปรากฎบุคคลคล้ายสิทธิโชคอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงลุกไหม้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยที่ภาพตามคลิปวิดีโอหลักฐานยังปรากฎภาพขณะชายที่คล้ายสิทธิโชคกำลังเทของเหลวบางอย่างจากขวดใส่บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติหลังจากนั้นก็มีเปลวไฟลุกขึ้น
 
• คดีของสิทธิโชคมีการสืบพยานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 จนแล้วเสร็จและศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 17 มกราคม 2566
 

3.คดีที่รอนัดสืบพยาน

คดีหนุ่มเมืองนนท์ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ ศาลจังหวัดนนท์สืบพยานแบบปิดลับ

 
คืนวันที่ 8 สิงหาคม 2564 เกิดเหตุบุคคลปลดภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าหมู่บ้านประชาชื่นออกไป จากนั้นภาพดังกล่าวถูกนำทิ้งที่คลองบางตลาด ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ตำรวจนำกำลังไปจับกุมศิระพัทธ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี โดยแจ้งข้อกล่าวลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและออกนอกเคหสถานหลังเวลาเคอร์ฟิวส์ หลังการจับกุมตัวตำรวจนำตัวศิระพัทธ์ไปฝากขังที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เบื้องต้นศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยต้องวางหลักทรัพย์ 100,000 บาท ต่อมาในวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ศิระพัทธ์ต้องเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา จำเลยปีนขึ้นไปแกะพระบรมฉายาลักษณ์พร้อมกรอบลงมา จากนั้นนำพระบรมฉายาลักษณ์คว่ำลงกับพื้นก่อนจะเดินลากไปประมาณ 190  เมตร ซึ่งโดยปกติพระบรมฉายาลักษณ์จะต้องประดิษฐานไว้ในที่ที่เหมาะสมเพราะเป็นเสมือนตัวแทนองค์พระมหากษัตริย์  การกระทำของศิระพัทธ์จึงเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แก่องค์พระมหากษัตริย์ คดีนี้ศาลจังหวัดนนทบุรีสืบพยานโดยพิจารณาคดีลับในเดือนพฤศจิกายน 2565 ยังไม่มีข้อมูลว่าศาลนัดฟังคำพิพากษาวันใด 
 

คดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เลื่อนไปสืบพยานต้นปี 66

 
เท่าที่มีข้อมูลคดีนี้นับเป็นคดีเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์คดีแรกที่เกิดขึ้นในปี 2564 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลากลางคืน เกิดเหตุเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบซึ่งติดตั้งอยู่ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรม และคลิปวิดีโอเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตบนเฟซบุ๊กเพจ The Bottom Blues หลังเกิดเหตุดังกล่าวตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานก่อนขอศาลอนุมัติหมายจับไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือแอมมี่ จากนั้นในช่วงดึกวันที่ 3 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าจับกุมไชยอมรจากที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไชยอมรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564 โดยศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กระทั่งไชยอมรแถลงยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ศาลจึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นอกจากไชยอมรแล้ว ในคดีนี้เจ้าหน้าที่ยังดำเนินคดีกับธนพัฒน์ หรือ ปูน ทะลุฟ้า ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 18 ปี ด้วย โดยธนพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี
 
ในที่สุดอัยการฟ้องคดีนี้ คือฟ้องคดีต่อไชยอมรเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และฟ้องคดีต่อธนพัฒน์ในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 แต่คดีของทั้งสองคนถูกรวมเข้าด้วยกัน โดยอัยการบรรยายฟ้องคดีนี้ไว้โดยสรุปได้ว่า พระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกทำลาย เรือนจำกลางคลองเปรมจัดทำขึ้นพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย การกระทําของจําเลยกับพวก เป็นการแสดงออกว่าจะทําให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพหรือชื่อเสียงเกียรติคุณ ไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม เป็นการแสดงอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ ทําให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่สิบทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เดิมทีศาลอาญากำหนดวันนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2565  แต่ไชยอมรติดเชื้อโควิด-19 จึงต้องเลื่อนนัดสืบพยานออกไป โดยคู่ความนัดสืบพยานใหม่เป็นวันที่ 23 - 24, 28 กุมภาพันธ์ และ 1 - 2 มีนาคม 2566 
 
• ดูรายละเอียดคดีไชยอมร เผาพระบรมฉายาลักษณ์ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/935
 

คดีปาระเบิดโมโลตอฟใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่แยกนางเลิ้ง นัดสืบพยาน มี.ค.67

 
วันที่ 19 กันยายน 2564 "บัง" ทะลุฟ้า นักกิจกรรมวัย 22 ปี เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่นัดหมายเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบรัฐบาล โดยบังขี่รถจักรยานยนต์ไปจอดที่แยกนางเลิ้ง  ในเวลา 19.14 น. มีชายคนหนึ่งใช้วัตถุบางอย่างขว้างขึ้นไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่มีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สิบและสมเด็จพระราชินีที่ติดตั้งอยู่บนสะพานลอยคนข้ามหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นเหตุให้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติได้รับความเสียหาย จากนั้นชายคนดังกล่าวได้วิ่งไปขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของบัง ก่อนที่รถคันดังกล่าวจะขับหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ
 
ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 บังได้รับหมายเรียกจากสน.นางเลิ้งให้ในไปรับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 โดยที่บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า บังเป็นผู้ทำลายหรือเผาพระบรมฉายาลักษณ์แต่อย่างใด ได้แต่บรรยายพฤติการณ์กว้างๆ ของวันเกิดเหตุไว้ บังให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เขายอมรับว่าเข้าร่วมการชุมนุมแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับเหตุการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนปล่อยตัวบัง หลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหา
 
หลังบังเข้ารายงานตัวในเดือนตุลาคม 2564 คดีก็ไม่มีความเคลื่อนไหว กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2565 จึงมีความเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อพรชัยหรือ แซม นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้ามาถูกจับกุมตัวในคดีนี้ พรชัย เป็นนักกิจกรรมที่เคยออกมาชุมนุมต่อต้านคสช.ในช่วงครบรอบหนึ่งปี การรัฐประหาร 2557 จนถูกดำเนินคดีชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. (คดีการชุมนุม 14 นักศึกษา) ในศาลทหารโดยที่คดีของเขายุติไปแล้วแต่ยังมีหมายจับค้างอยู่ในระบบ พรชัยจึงไปติดต่อที่ศาลทหารเพื่อให้ดำเนินการถอนหมายเพราะเขาต้องการเดินทางไปต่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ที่ศาลทหารก็แจ้งให้เขาไปดำเนินเรื่องที่สน.สำราญราษฎร์ ปรากฎว่าเมื่อแซมไปดำเนินเรื่องที่สถานีตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าเขาถูกออกหมายจับคดีมาตรา 112 ในคดีเดียวกับบังและถูกควบคุมตัวไปส่งที่สน.นางเลิ้งซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ทันที พรชัยเป็นผู้ต้องหาคนที่สองที่ถูกจับกุมตัวในคดีนี้ 
 
ต่อมาในวันที่ 23 กันยายน อัยการยื่นฟ้องคดีพรชัยต่อศาลอาญา โดยคำฟ้องพอสรุปได้ว่า พรชัย จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ พร้อม บัง ทะลุฟ้า และจิตริน หรือคาริมที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง และบุคคลไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ด้วยการปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่สิบและราชินี และได้ราดน้ำมันวางเพลิงซุ้มดังกล่าวจนไฟลุกทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นรอยดำสองจุด คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,000 บาท  ซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นทรัพย์สินที่กรุงเทพมหานครจัดสร้างขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี เฉลิมพระเกียรติ และเทิดทูนพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย การกระทำจำเลยจึงมีเจตนาร่วมกันกระทำการอันเป็นการไม่สมควรและเป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น รัชกาลที่สิบและพระราชินี 
 
ในวันที่อัยการฟ้องคดีต่อศาล พรชัยเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องคดีเพียงคนเดียว เนื่องจากบังผู้ต้องหาอีกคนที่ถูกฟ้องต่อศาลไม่ได้มารายงานตัวกับอัยการ ขณะที่จิตรินและบุคคลไม่ทราบชื่ออีกคนหนึ่งยังไม่ได้ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการชั้นสอบสวน หลังอัยการฟ้องคดีพรชัยได้ประมาณสัปดาห์เศษ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2565 บังก็มารายงานตัวกับอัยการเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดี ในวันเดียวกันนั้นเขาก็ถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำ ต่อมาศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยได้นัดวันสืบพยานเป็นวันที่ 19 - 22 มีนาคม 2567
 
ทั้งนี้พรชัยและบังพยายามยื่นคำร้องขอประกันตัวแต่ศาลก็ไม่อนุญาต ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของพรชัยและบัง ซึ่งทั้งสองแถลงว่าหากศาลจะกำหนดเงื่อนไขประกอบสัญญาประกันก็ยินดีจะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะให้ความร่วมมือและเชื่อฟังผู้กำกับดูแลที่ศาลจะแต่งตั้งให้ หลังการไต่สวนศาลแจ้งว่าจะนัดฟังคำสั่งว่าพรชัยและบังจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 โดยศาลอ้างว่าต้องรวบรวมข้อมูลไปให้ผู้บริหารศาลเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่ง ศาลยังให้เหตุผลที่นัดวันฟังคำสั่งห่างจากวันไต่สวนนานถึง 12 วันว่า เนื่องจากติดช่วงวันหยุดพิเศษเพราะการประชุมเอเปค
 
• คลิกอ่านรายละเอียดการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวของพรชัยและ "บัง"
 

คดีพ่นสเปรย์ใส่ซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ หน้า มธ.รังสิต นัดสืบพยาน 21 พ.ย.65

 
กลางดึกวันที่ 13 มกราคม 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายนำกำลังเข้าจับกุมสิริชัยหรือ นิว นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมด้วย
 
สิริชัย หรือ นิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุม เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นผู้พ่นข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จากคำบอกเล่าของสิริชัย เขาถูกเจ้าหน้าที่ดักจับในช่วงค่ำ ระหว่างที่ขี่รถจักรยานยนต์ออกจากที่พักของเพื่อนเพื่อไปรับประทานอาหาร  มีเจ้าหน้าที่มากกว่าสิบนายปิดล้อมซอย ในการจับกุมสิริชัยไม่ได้รับอนุญาตติดต่อผู้ใกล้ชิดหรือทนายความในทันทีและเขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ ตำรวจยังมีพฤติการณ์ปิดบังที่อยู่ของสิริชัยทำให้เกิดความเป็นห่วงถึงความปลอดภัยและเป็นกระแส #saveนิว ในช่วงดึกของคืนนั้น อย่างไรก็ตามสิริชัยมีโอกาสติดต่อทนายความช่วงสั้นๆ หลังเจ้าหน้าที่ทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว  
 
ในวันที่ 7 เมษายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีสิริชัยต่อศาลจังหวัดธัญบุรีแล้ว โดยในส่วนของความผิดตามมาตรา 112 สิริชัยถูกกล่าวหาว่าฉีดพ่นข้อความ "ภาษีกู" และ "ยกเลิก 112" ลงบนพระฉายาลักษณ์ของพระราชินีในรัชกาลที่เก้ารวมสามจุด พระรูปของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ หนึ่งจุด บนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกหนึ่งจุด และใต้พระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่เก้ากับสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่เก้าอีกหนึ่งจุด รวมหกจุด ในปี 2565 ศาลจังหวัดธัญบุรีสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว และกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยเป็นวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565
 
• ดูรายละเอียดคดีของนิว สิริชัย >> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/950
Article type: