1729 1057 1506 1284 1871 1364 1039 1367 1335 1929 1187 1838 1520 1650 1990 1609 1047 1454 1154 1636 1291 1553 1271 1583 1687 1563 1878 1318 1599 1017 1448 1306 1293 1049 1499 1473 1686 1121 1945 1564 1214 1506 1528 1491 1792 1714 1135 1736 1780 1876 1471 1069 1374 1113 1894 1950 1804 1201 1280 1458 1201 1313 1191 1766 1835 1250 1991 1462 1510 1682 1253 1513 1088 1388 1407 1441 1017 1946 1803 1179 1353 1944 1749 1707 1982 1663 1021 1291 1891 1478 1526 1907 1674 1752 1564 1115 1361 1260 1464 112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม "บุญลือ" คดีคอมเมนต์เฟซบุ๊กเรื่องปฏิรูปกษัตริย์ ก่อนพิพากษา | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

112 ALERT! ชวนเปิดแฟ้ม "บุญลือ" คดีคอมเมนต์เฟซบุ๊กเรื่องปฏิรูปกษัตริย์ ก่อนพิพากษา

เนื่องจาก #มาตรา112 อยู่ในหมวดความผิดเกี่ยวกับ “ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” กฎหมายจึงอนุญาตให้ “ใครก็ได้” ที่พบเห็นการกระทำและสงสัยว่าเป็นการกระทำความผิด ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายเอาพฤติการณ์ไปแจ้งเพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีได้เลย
 
 
ดังนั้น คดีจำนวนไม่น้อยจึงริเริ่มขึ้นใน “สถานีตำรวจที่ผู้กล่าวหาสะดวก” ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องแบกรับภาระในการเดินทางไปเข้ารวมกระบวนการพิจารณาคดี ณ จังหวัดที่ได้มีการไปกล่าวโทษไว้
 
 
คดีของ “บุญลือ” เป็นหนึ่งในนั้น
 
 
“บุญลือ” เป็นชื่อสมมติ ของบัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ชาวจังหวัดสุโขทัย เขาถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการ “คอมเมนต์ในเพจเฟซบุ๊ก”เรื่องลักษณะที่ดีของกษัตริย์และเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์รวม 3 ข้อความ โดยประชาชนคนหนึ่งในจังหวัดพังงาเป็นผู้กล่าวหา นั่นจึงทำให้บุญลือต้องเดินทางจากบ้านที่จังหวัดสุโขทัยไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ทุ่งคาโงก จังหวัดพังงา รวมระยะทางกว่า 1,185 กิโลเมตร 
 
 
แม้ในตอนแรก บุญลือจะให้การปฏิเสธและตั้งใจจะต่อสู้คดี แต่ในนัดสืบพยาน ภายหลังศาลเอ่ยปากบอกว่า “ไม่ต้องการที่จะลงโทษหนัก” เขาจึงปรึกษากับทนายและกลับคำให้การเป็น “รับสารภาพ” โดยศาลจังหวัดพังงานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 กันยายน 2565
 
 
ก่อนนาฬิกาของคำพิพากษาจะเดินไปถึงในอีกไม่ถึง24 ชม.นี้ ไอลอว์ชวนมาทำความรู้จักคดีมาตรา 112 ของบุญลือให้มากขึ้น
 
 
(1) “บุญลือ” คือใคร? ทำไมถูกฟ้อง ม.112 ?
 
 
2591
 
 
o จำเลย: “บุญลือ” นามสมมติ บัณฑิตจบใหม่จากคณะนิติศาสตร์ ชาวสุโขทัย 
 
o โจทก์: กัลฐิตา ชวนชม ข้าราชการที่ทำงานอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา
 
 
>> ตามคำฟ้องของอัยการ (ฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564) ระบุว่า 
 
ระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2563 บุญลือแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กตอบโต้กับบุคคลอื่น โดยมีคอมเมนต์ที่มีใจความว่า การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นมีที่มาที่ไปที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของกษัตริย์และตั้งคำถามถึงพระราชกรณียกิจระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งหมด 3 ข้อความ 
 
 
จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้อัยการกล่าวหาว่า การกระทำของเขาทำให้เพื่อนและผู้ที่เข้าใช้เฟซบุ๊กคนอื่นๆ สามารถเข้าถึงข้อความดังกล่าว ซึ่งน่าจะทำให้เกิดความเสียหาย ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร จึงขอให้ลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
 
 
จากบทสัมภาษณ์เมื่อธันวาคม 2564 บุญลือเล่าว่า เขาเป็นคนชอบแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์ ชอบโต้เถียง ชอบหาข้อมูลหาเหตุผล และจุดเริ่มต้นของการถูกฟ้องร้องในครั้งนี้ก็มาจากการที่เขาไปแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์เกี่ยวกับการชุมนุม19 กันยายน 2563 ที่สนามหลวง และเกิดการโต้เถียงกับกัลฐิตา (ผู้กล่าวหา) 
 
 
“เขาด่าผมด้วยคำที่หยาบคายมาก ผมโมโหเลยไปเรียกเขาว่า “ป้า” ทีนี้เขายิ่งโมโหเลยพิมพ์กลับมาว่า ต้องการอย่างงี้ใช่ไหม เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวไปเเจ้งความก่อน อยู่ใกล้สถานีตำรวจพอดี” บุญลือเล่าย้อนเหตุการณ์
 
 
ประมาณ 15 นาทีต่อมา กัลฐิตาก็ส่งหลักฐานที่เธอเเจ้งความและเบอร์โทรสารวัตรสอบสวนมาทางช่องข้อความส่วนตัวของบุญลือ
 
 
(2) จากสุโขทัยถึงพังงา ระยะทางกว่า “1,185 กิโล” เพื่อไปนัดคดี
 
2592
 
 
แม้ว่าหลังจากนั้น บุญลือจะพยายามเจรจากับกัลฐิตาว่า เนื่องจากเขามีภารกิจต้องสอบ และหากโดนคดีก็จะไม่สามารถสอบเพื่อเป็นข้าราชการได้ โดยเขาเสนอทางเลือกว่าจะยอมลบคอมเมนต์ที่เคยแสดงความคิดเห็นให้ทั้งหมด ซึ่งกัลฐิตาบอกว่าตัวเธอนั้นให้อภัย เเต่เนื่องจากแจ้งความไปเเล้ว เขาจะต้องไปคุยกับตำรวจเองว่าต้องทำอย่างไรต่อ 
 
 
o 19 มกราคม 2564 : หมายเรียกถูกส่งมาถึงบุญลือ โดยระบุว่าเขาต้องไปให้ปากคำที่ สภ.ทุ่งคาโงก จังหวัดพังงา
 
 
o 5 กุมภาพันธ์ 2564 : บุญลือเดินทางจากบ้านเกิดที่สุโขทัยเป็นระยะทางกว่า 1,185 กิโลเมตร เมื่อถึงพังงา ทางทนายก็เข้าเจรจากับตำรวจ แต่กลับได้รับคำตอบว่าไม่สามารถทำอะไรได้เช่นกันเพราะ “หัวหน้าสั่งมา”
 
 
o 14 มิถุนายน 2564 : พนักงานอัยการจังหวัดพังงามีความเห็นสั่งฟ้อง
 
 
บุญลือต้องเดินทางไปที่ศาลจังหวัดพังงา ระหว่างที่ทนายยื่นเรื่องขอประกันตัว เจ้าหน้าที่ก็ให้เขาเข้าไปในห้องขังประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับการประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 300,000 บาทจากกองทุนราษฎรประสงค์ 
 
 
o 6 กรกฎาคม 2565 : นัดสืบพยาน
 
 
เมื่อเริ่มการพิจารณาคดี ศาลถามบุญลือว่า “ต้องการจะรับสารภาพหรือไม่” แต่บุญลือไม่ต้องการที่จะรับสารภาพและยืนยันขอต่อสู้คดี แต่เมื่อเริ่มการสืบพยานไปได้พักหนึ่ง ศาลก็ยังกลับมาสอบถามจำเลยอีกว่า “ต้องการจะรับสารภาพหรือไม่” ซึ่งศาลไม่ต้องการที่จะลงโทษหนัก ทนายความของจำเลยจึงขอเวลาปรึกษากับตัวจำเลยก่อน 
 
 
ก่อนเที่ยงของวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 บุญลือตัดสินใจแถลงต่อศาล เปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ และกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 22 กันยายน 2565
 
 
>> อ่านรายละเอียดคดีเพิ่มเติม
 
 
 
(3) ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังโดนคดี 112
 
 
2593
 
 
บุญลือเป็นบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ เมื่อเรียนจบก็เข้ารับเกณฑ์ทหาร และหลังปลดจากทหารไม่นาน เขาก็เริ่มหางานสอบนิติกรตามที่สิ่งตัวเองร่ำเรียนมา แต่การถูกฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 ทำให้ชีวิตของบุญลือเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง 
 
 
o ก่อนหน้านี้ บุญลือกำลังจะได้ทำงานเป็นเจ้าพนักงานสินเชื่อที่จังหวัดปทุมธานี และบริษัทก็โทรมาบอกให้เตรียมตัวเก็บของย้ายจังหวัดเรียบร้อยแล้ว แต่ในวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็โทรมาแจ้งว่า “มีคนแจ้งความมาตรา 112” ทำให้ไม่สามารถรับงานดังกล่าวได้ เขาเล่าว่า ตอนครอบครัวเห็นหมายเรียก แม่ของเขาร้องไห้ ส่วนหน้าของพ่อก็เปลี่ยนเป็นสีแดงก่ำ 
 
 
“มันเป็นช่วงที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว จากที่เคยตั้งความหวังไว้ว่าอยากทำงานประจำ สร้างตัวเพื่อให้พ่อแม่อยู่สบาย แต่ตอนที่รู้ว่าโดนดำเนินคดี รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ รู้สึกหมดความหวังแล้ว ยิ่งเขาเห็นน้ำตาพ่อแม่ คือหมดเเรงสู้ต่อเลย”
 
 
o เขาเล่าเพิ่มเติมว่า หลังจากคนรอบตัวทราบข่าวก็ให้กำลังใจ เนื่องจากเพื่อนของเขาเป็นคนรุ่นใหม่หมด ทุกคนต่างทราบว่าการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นอย่างไรและไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ทั้งแฟนของเขา พ่อแม่ของเขาให้กำลังใจว่า “ไม่เป็นไร มันก็ผ่านไปแล้ว สู้กันต่อไป เราแค่ไปคอมเมนต์ในความคิดของเรา เราไม่ได้ไปฆ่าใครตาย” ซึ่งทนายของบุญลือก็บอกว่า “สู้ๆ สักวันความยุติธรรมมันจะต้องเกิดขึ้น”
 
 
“แต่พูดตรงๆ เลยคือผมก็ไม่รู้ว่าความยุติธรรมจะเกิดตอนไหน” หนุ่มสุโขทัยกล่าวทิ้งท้าย
 
 
 
Article type: