- iLaw Website
- Documentation Center
ครบ 1 เดือน คดีสาดสีพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ประกันตัว! 7 (+3) ทะลุฟ้า เตรียมไปศาล ตรวจพยานหลักฐาน 22 ส.ค. 65
22 สิงหาคม 2565 ศาลอาญากำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่ผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า 10 คน เป็นจำเลยจากการจัดชุมนุมเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์เลิกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ 30 กรกฎาคม 2564 บริเวณหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เขตพญาไท ซึ่งในคดีนี้ มีจำเลย 7 คนที่ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกคุมขังมาเกินหนึ่งเดือนแล้วจะถูกเบิกตัวมาศาลเพื่อเข้าฟังการพิจารณาคดีด้วย
เอกสารคำฟ้องในคดีระบุว่า ในวันจัดการชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมทำกิจกรรมปาถุงสีแดงเข้าไปในบริเวณที่ทำการพรรค รวมทั้งมีการเผาหุ่นฟาง ติดสติ๊กเกอร์ และเขียนข้อความต่างๆ บริเวณอาคารที่ทำการพรรค จึงเป็นเหตุให้ราเมศ รัตนะชเวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะตัวแทนของผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ต่อมา ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ตำรวจตั้งข้อกล่าวหา ชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมก่อความวุ่นวายหรือใช้กำลังประทุษร้าย, บุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย, ทำให้เสียทรัพย์ ฯลฯ ต่อผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่
- ทรงพล สนธิรักษ์ (ยาใจ)
- เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร (บอมเบย์)
- ศักดิ์สิทธิ์ เผือกผ่องศรี (เจมส์)
- กตัญญู หมื่นคำเรือง (ป่าน)
- จิตริน พลาก้านตง (คาริม)
- ทวี เที่ยงวิเศษ (อาทิตย์)
- ชาติชาย ไพรลิน (ชาติ)
- ทสมา สมจิตร์ (คิม)
- กฤษณะ มาตย์วิเศษ (ทู)
และ นวพล ต้นงาม (ไดโน่) ซึ่งตามมารายงานตัวเมื่อ 2 สิงหาคม 2565 เนื่องจากก่อนหน้านี้ติดโควิด-19
จำเลยทั้ง 10 คนไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนตามนัด และอัยการได้สั่งฟ้องทั้ง 10 คนในเกือบหนึ่งปีหลังเหตุการณ์การชุมนุม นอกจากนี้ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ยังเป็นวันแรกที่กลุ่มทะลุฟ้าในนาม “ราษฎร” จัดการชุมนุมปักหลักนอนหน้าอาคารรัฐสภาเป็นเวลา 5 วัน (19-23 กรกฎาคม 2565) เพื่อติดตามการประชุมสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานการณ์คล้ายกันกับช่วงที่กลุ่มทะลุฟ้าจัดการชุมนุมเมื่อหนึ่งปีก่อน (กรกฎาคม 2564) เพื่อเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกคนจะไปรายงานตัวตามนัด แต่ศาลก็มีคำสั่งให้ประกันตัวแค่ 3 คน คือ ยาใจ บอมเบย์ และไดโน่ ส่วนอีก 7 คน ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “จำเลยมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่น หากให้ประกันตัวอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นได้อีก” ทำให้ทั้ง 7 คนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ โดยป่าน และคิม อยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และอีก 5 คน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่เย็นของวันที่ 19 กรกฎาคม 2565
หลังจากนั้นทนายความยังยื่นคำร้องประกันตัวใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 และศาลสั่งไม่อนุญาต เพราะไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม รวมทั้งทนายความยังได้พยายามยื่นประกันตัวเป็นกรณีเฉพาะของคิม ซึ่งยังเป็นนักศึกษาที่มีภาระต้องเข้าเรียน และเจมส์ ซึ่งมีภาระทำงานหารายได้เป็นกำลังหลักของครอบครัว แต่ศาลก็ไม่อนุญาต
ต่อมา 18 สิงหาคม 2565 ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวป่านเป็นครั้งที่ 3 โดยเสนอให้ตั้ง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เป็นผู้กำกับดูแลหากได้รับการประกันตัว และศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตโดยระบุว่ายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เช่นเดียวกันกับวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวเจมส์ครั้งที่ 4 โดยยินยอมให้ติดอุปกรณ์ EM และเสนอให้ศาลแต่งตั้งพี่สาวของเจมส์เป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตและระบุเหตุผลเหมือนกันกับกรณีของป่าน
นับถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ทั้ง 7 คนถูกคุมขังมาเกินหนึ่งเดือนแล้ว และศาลอาญามีนัดตรวจพยานหลักฐาน โดยพนักงานอัยการจะยื่นเอกสารหลักฐาน และระบุชื่อพยานฝ่ายโจทก์ทั้งหมด ขณะที่จำเลยก็จะต้องแถลงแนวทางการต่อสู้คดี พร้อมกับนำเสนอพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยเช่นกัน โดยจำเลยทั้ง 10 คนจะต้องมาศาล และนี่จะเป็นคนแรกที่ผู้ถูกคุมขังทั้ง 7 คนจะถูกเบิกตัวออกมาจากเรือนจำนับตั้งแต่เริ่มถูกคุมขัง
ทนายความของจำเลยตั้งใจว่า หากศาลตรวจพยานหลักฐานเสร็จแล้ว และศาลได้เห็นแล้วว่าฝ่ายโจทก์ไม่ได้มีหลักฐานที่จะกล่าวหาหรือทำให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลานาน ก็จะยื่นขอประกันตัวทุกคนอีกครั้ง และขอให้ศาลไต่สวนประกอบการขอประกันตัว เพื่อรับรองว่าทุกคนจะไม่หลบหนีในระหว่างการพิจารณาคดีด้วย
สรุปคำฟ้องคดีกลุ่มทะลุฟ้า ชุมนุมสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์
อัยการฟ้องว่า จำเลยที่ 1-9 ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกัน ดังนี้
1. เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1-9 และผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองประมมณ 50-60 คน รวมกันในนามกลุ่มทะลุฟ้า จัดกิจกรรมการรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองเพื่อไปยื่นหนังสือเรียกร้องทางการเมืองต่อพรรคประชาธิปัตย์ โดยเคลื่อนขบวนจากถนนพระรามหก ไปยังถนนเศรษฐศิริ ไปยังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด19 อันเป็นการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่าห้าคนที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, เป็นการชุมนุม ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดนไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามอำนาจของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
2. จำเลยที่ 1-9 กับผู้ชุมนุมทางการเมืองอื่นมั่วสุดตั้งแต่สิบคนขึ้นไป เคลื่อนขบวนไปยังบริเวณถนนหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เครื่องเสียงที่ติดตั้งบนรถยนต์กระบะปราศรัย ซึ่งขณะนั้นมีตำรวจจัดกำลังดูแลโดยนำแผงเหล็กไปวางกั้นทางเข้าที่ทำการพรรค จัดกำลังตำรวจและเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ไปยืนกั้นบริเวณดังกล่าว จากนั้นจำเลยกับผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้าย หรือทำให้เกิดความวุ่ยวายในบ้านเมือง ด้วยการด่าทอ ตำหนิ โห่ไล่ตำรวจ และขว้างปาถุงสีเข้าไปในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
3. หลังจากนั้นพ.ต.ท.วรภัทร สุขไทย รองผู้กำกับการสอบสวน สน.บางซื่อ ได้สั่งให้จำเลยกับผู้ชุมนุมเลิกไปโดยให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับผู้ชุมนุมทราบคำสั่งแล้ว ยังคงไม่เลิกการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท
4. หลังจากนั้นจำเลยและผู้ชุมนุม ได้บุกรุกเข้าไปในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ในความครอบครองของพรรคประชาธิปัตย์โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันสมควร โดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายตำรวจและเจ้าหน้าที่ของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยการใช้กำลังดันแผงเหล็กที่วางไว้บริเวณทางเข้าที่ทำการพรรคจนสามารถเข้าไปภายในที่ทำการพรรคได้ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลหมายอาญา มาตรา 362, 365 ฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามลำดับ
5. จำเลยและผู้ชุมนุม ได้ทำให้เสียหาย เสื่อมค่า ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายโดยร่วมกันขว้างปาถุงสีไปที่ป้ายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ และผนังของพรรค ใช้สีป้ายบริเวณประตูทางเข้าอาคารที่ทำการพรรค นำสติ๊กเกอร์และกระดาษที่มีข้อความหยาบคาย และรูปภาพล้อเลียนบุคคลไปติดที่ประตูทางเข้าภายในที่ทำการของพรรค และได้จุดไฟเผาหุ่นฟางที่บริเวณพื้นของพรรค จนป้าย ผนังอาคาร พื้น ของพรรคเสียหาย รวมค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 6,328 บาท
6. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 7 ทำการโฆษณาแสดงความคิดเห็นโจมตีการบริหารราชการของรัฐบาลต่อประชาชนทั่วไป โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าซึ่งติดตั้งอยู่บนรถยนต์กระบะคันดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้น อันเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 4 ของพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2565 มีสมาชิกทะลุฟ้าที่ถูกคุมขังในเรือนจําจากคดีทางการเมืองมากถึง 9 คน นอกจาก 7 คนในคดีสาดสีแล้ว ยังมี แซม-พรชัย ยวนยี ที่ถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำเมื่อ 7 กรกฎาคม 2565 จากคดี ม.112 และแม็ก-สินบุรี แสนกล้า ภายกลังเข้าแสดงตัวที่ สน.นางเลิ้งตามหมายจับข้อหาวางเพลิงฯ เมื่อ 8 สิงหาคม 2565 โดยตัวเลขดังกล่าว ทำลายสถิติของเดือนตุลาคม 2564 ที่มีสมาชิกทะลุฟ้าไม่ได้รับการประกันตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเป็นจำนวน 6 คน ได้แก่ ไผ่-จตุภัทร์, อาทิตย์, ปีก, เปา, ยาใจ และไดโน่
Article type: