1043 1688 1821 1994 1271 1242 1076 1698 1247 1615 1878 1817 1057 1371 1604 1590 1255 1290 1699 1343 1598 1675 1889 1237 1422 1014 1332 1087 1043 1881 1945 1295 1748 1276 1869 1415 1204 1141 1464 1228 1229 1185 1073 1952 1731 1765 1301 1876 1645 1495 1770 1980 1001 1066 1498 1351 1538 1289 1809 1728 1071 1215 1551 1422 1242 1709 1828 1987 1809 1295 1348 1034 1182 1497 1564 1532 1716 1008 1839 1463 1348 1092 1860 1005 1131 1976 1947 1365 1334 1120 1085 1534 1400 1069 1974 1318 1705 1497 1489 ตี้ ผู้อาสาขึ้นอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ตี้ ผู้อาสาขึ้นอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี

26 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมราษฎรในสภาพ "ไร้แกนนำ" รวมตัวกันที่หน้าห้างสามย่านมิตรทาวน์เพื่อเดินขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี เพื่อยื่นหนังสือให้ทางการเยอรมนีตรวจสอบว่า พระมหากษัตริย์ไทยได้ใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินระหว่างทรงประทับในเขตอำนาจอธิปไตยของเยอรมนีหรือไม่ การชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นในสภาวะที่ผู้มีบทบาทนำในการชุมนุม เช่น ทนายอานนท์ นำภา, รุ้ง ปนัสยา และเพนกวิน พริษฐ์ กำลังถูกคุมขังในเรือนจำหลังถูกจับกุมตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2563
 
เมื่อผู้มีบทบาทนำในการปราศรัยถูกคุมขังไปหลายคน ผู้ชุมนุมราษฎรจึงปรับขบวนใหม่นัดหมายชุมนุมแบบไม่เน้นการปราศรัย เน้นการเติบโตพร้อมกับการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ก็จัดขึ้นในแบบไม่มีแกนนำ ไม่มีรถนำขบวน สื่อสารกันทางสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดระยะเวลา 2.3 กิโลเมตรจากสามย่านมิตรทาวน์ไปที่หน้าสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ถนนสาทร สำหรับปลายทางที่สำคัญของการชุมนุมในครั้งนั้น คือ การส่งตัวแทนผู้ชุมนุมสามคนไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนรัฐบาลเยอรมนี และอ่านแถลงการณ์สามภาษาที่หน้าสถานทูตก่อนประกาศยุติการชุมนุม
 
คนที่รับบทบาทเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ทั้งสามภาษาไม่เคยเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณะชนและผู้เข้าร่วมการชุมนุม เมื่อสถานการณ์เรียกร้อง คนที่เคยเป็นผู้เข้าร่วมก็ผลักดันตัวเองขึ้นมาอยู่แนวหน้า เช่น เดียวเรื่องราว ตี้ หนึ่งในคนอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันที่ได้รับเลือกให้เป็นคนอ่านแถลงการณ์ท่อนสุดท้าย เพราะคนอื่นไม่สามารถออกเสียงคำเยอรมันที่อยู่ในแถลงการณ์ท่อนสุดท้ายได้ ซึ่งส่งผลให้เธอกลายเป็นหนึ่งในจำเลย 13 คน ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112
 
2408

 

เด็กธรรมดา ที่มีโอกาสไปเรียนรู้ชีวิตในเยอรมนี

 
สำหรับตี้ เธอนิยามตัวเองว่าเป็น “เด็กธรรมดา” ที่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ก็สมัครเข้าโครงการที่ทำให้เธอมีโอกาสได้ไปเรียนรู้ชีวิตในต่างประเทศ แม้การไปใช้ชีวิตในต่างประเทศไม่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเรื่องทัศนคติทางการเมืองของเธอ แต่ก็ทำให้เธอได้เครื่องมือสำคัญติดตัวมา คือ การฝึกใช้ชีวิตและความรู้ภาษาเยอรมัน
 
"เราเกิดและเติบโตที่จังหวัดนครสวรรค์ เป็นชาวปากน้ำโพขนานแท้ บ้านของเราอยู่ในตลาด พ่อเราทำงานค้าขายส่วนแม่รับราชการ ฐานะทางบ้านเราถือว่าค่อนข้างดีเลย พ่อเราทำธุรกิจครอบครัวสืบทอดมาจากรุ่นอากงเรียกว่าเป็นกงสีนั่นแหละ"
 
"สมัยเด็กๆ เราเป็นเด็กธรรมดาที่อยู่ในกรอบ เดินไปตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ ถึงเราจะไม่ชอบวิชาเลขและชอบเรียนพวกภาษามากกว่าแต่พอผู้ใหญ่แนะนำว่าถ้าเรียนสายวิทย์จะมีทางเลือกมากกว่าสายศิลป์เราก็เชื่อตามที่เขาบอก"
 
"เราเองก็มีความฝันเหมือนเด็กไทยทั่วไปที่อยากไปเมืองนอก เราเคยสอบเอเอฟเอสติด (โครงการเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม) และได้รับเลือกให้ไปที่อิตาลี แต่บังเอิญช่วงที่เราสอบได้เป็นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง พ่อเลยบอกเราตรงๆว่าส่งไม่ไหวซึ่งเราก็เข้าใจเขาอยู่ หลังจากนั้นเราก็มีคุณครูเอาโครงการแลกเปลี่ยนของสโมสรโรตารีที่มีความร่วมมือกับโรงเรียนมาแนะนำ เราก็ลองสอบ ตอนแรกตั้งใจจะไปประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก แต่เราก็รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเราสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อไหร่ก็ได้ ไหนๆมีโอกาสแล้วก็น่าจะเลือกไปประเทศที่เขาใช้ภาษาอื่น สุดท้ายเราเลยเลือกไปเยอรมัน ไปแบบความรู้ภาษาเยอรมันเป็นศูนย์"
 
"ถามว่าไปเมืองนอกมาหนึ่งปี ความคิดความเชื่อ ทัศนคติเราเปลี่ยนไปไหม คิดว่าเรื่องส่วนตัวเปลี่ยนไป เราพึ่งตัวเองได้มากขึ้น ไปกินข้าวดูหนังคนเดียว ทำอะไรคนเดียวได้ ดูแลตัวเองได้ แต่เรื่องทัศนคติทางการเมือง ต้องบอกว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย ตอนนั้นเรายังเด็ก อาจจะยังไม่ได้มองอะไรในเชิงโครงสร้างเชิงระบบ ยิ่งกว่านั้นตอนไปเมืองนอกเรายิ่งมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เรายังเคยไปแสดงรำไทยด้วยความภูมิใจอยู่เลย"
 

เคยไม่ชอบคนเสื้อแดง แต่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร

 
ตี้มีประสบการณ์อยู่ร่วมในพัฒนาการความขัดแย้งทางการเมืองยุคใหม่ของไทยมาตลอด ตั้งแต่ยุคการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การรัฐประหาร 2549 การชุมนุมของคนเสื้อแดง ซึ่งในยุคนั้นเธอเพียงแต่เป็นผู้ติดตามสถานการณ์ มีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง แต่ไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงใด ในฐานะพนักงานบริษัทเอกชนคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่ชอบคนเสื้อแดง ตี้เองก็เคยมีความรู้สึกทางลบกับกลุ่มคนเสื้อแดงด้วย
 
จนกระทั่งการชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงปลายปี 2556 เธอได้ไปเข้าร่วม แต่เธอยังคงมีคำถามค้างคามากมายกับขบวนการครั้งนั้น จนทำให้เธอศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองมากขึ้น และในวันหนึ่งก็เลือกจุดยืนของตัวเอง ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับครอบครัวและคนรอบข้างมาตั้งแต่นั้น
 
"ช่วงที่เราเข้าเรียนปริญญาตรีสาขาภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลทักษิณ กระแสการต่อต้านทักษิณแทรกซึมเข้าไปทุกที่รวมทั้งในห้องเรียน ห้องที่อาจารย์คนไทยเป็นคนสอนก็จะด่าทักษิณกันแบบตรงๆ เราเรียนจบและเริ่มเข้าทำงานในช่วงปี 2548 เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่ง ปี 2549 ก็มีการรัฐประหาร ตัวเราเองไม่ได้ชอบทักษิณแต่ตอนที่เกิดรัฐประหารเราก็ได้แต่คิดว่าอย่างน้อยทักษิณก็มาจากการเลือกตั้ง ถ้าไม่พอใจก็ชุมนุม กดดันให้เขายุบสภาหรือลาออกอะไรก็ว่าไป"
 
"พอมาถึงช่วงปี 2553 มีคนเสื้อแดงมาชุมนุมแถวราชประสงค์ แล้วก็มีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งมาชุมนุมตั้งค่ายอยู่ใกล้ๆที่ทำงานของเราด้วย ซึ่งค่ายของพวกเขาก็ดูน่ากลัวเพราะมีบังเกอร์ไม้แหลมๆ เต็มไปหมด เรายอมรับเลยว่า ตอนนั้นเราไม่ชอบคนเสื้อแดง เราถูกบอกให้เกลียดคนเสื้อแดงว่าเป็นพวกบ้านนอก ไร้การศึกษา ในตอนนั้นเราเลยมองคนเสื้อแดงไม่ดีนัก"
 
"เราเห็นภาพการปราศรัยที่ดุดันของคุณณัฐวุฒิ เห็นภาพผู้ชุมนุมที่ถูกถ่ายทอดมาในลักษณะเกรี้ยวกราด แล้วก็มีการพูดกันว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า พอถึงวันที่ทหารสลายการชุมนุม วันนั้นเรากลัวมากเพราะมีการปะทะใกล้ๆที่ทำงานเราด้วย วันนั้นใช้เวลาประมาณสองถึงสามชั่วโมงกว่าจะถึงบ้าน จบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เราได้แต่โล่งใจว่าเหตุการณ์จบเสียที แต่ถึงกระนั้นเราก็รู้สึกตงิดใจอยู่เหมือนกันว่ามันถึงขั้นต้องฆ่าแกงกันแบบที่เกิดขึ้นเลยเหรอ"
 
"ตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็มีการจัดชุมนุม เราเองก็ไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พอมีการจัดชุมนุมตรงแยกศาลาแดงเราก็ได้ไปร่วมกับเขาด้วย ทีนี้พอยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้วประกาศถอยเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เราก็คิดว่าทุกอย่างควรจบได้แล้ว ค่อยไปว่ากันในการเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่าผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอมเลิก เราก็เริ่มคิดว่ามันไม่ใช่ละ"
 
"เรามีโอกาสคุยเรื่องการเมืองกับเพื่อนสนิทของเรา ตอนนั้นเหมือนเปิดโลกเราเลย คือ เพื่อนเราคนนี้เคยด่าเสื้อแดงกับเรามาก่อน เราอยากเข้าใจว่าทำไมเพื่อนเราถึงเปลี่ยนขั้ว เราเลยเริ่มหาข้อมูลมากขึ้น จนรู้สึกว้าวกับหลายๆ อย่าง พอเราได้อ่านเรื่องการสังหารประชาชน การรัฐประหาร เราเหมือนถูกตบหน้าด้วยข้อมูลอีกด้านและก็ได้เห็นว่ามันมีความไม่สมเหตุสมผลในไทม์ไลน์ของการเมืองไทย"
 
"พอมาถึงวันเลือกตั้งปี 57 (2 กุมภาพันธ์ 2557) ครั้งนั้นเราตั้งใจมากเลยถึงขั้นยอมขับรถกลับบ้านที่นครสวรรค์เพื่อไปใช้สิทธิ แต่เพื่อนเราบนฟีดเฟซบุ๊กหลายคนก็จะโพสต์แบบวันนี้ไม่ว่าง นอนอยู่บ้านจะไม่ไปเลือกตั้ง พ่อกับแม่ของเราก็นอนอยู่บ้านไม่ไปเลือกตั้ง พอเขาเห็นเราทำท่าจะออกจากบ้านก็ถามเราว่าจะออกไปไหน พอเราตอบว่าจะไปเลือกตั้งเขาก็มองหน้าเราแบบไม่โอเคมาก พอมีการรัฐประหารในปี 2557 เราก็โพสต์ข้อความเป็นภาษาเยอรมัน แปลเป็นไทยประมาณว่า ภาษาเยอรมันวันนี้ขอเสนอคำว่าวงจรอุบาทว์ (Teufelkreis) พอโพสต์ไปก็มีคนรู้จักทักมาทำนองว่า เวลาหน้าสิ่วหน้าขวานยังมีกระจิตกระใจมาโพสต์อะไรแบบนี้อีก”

 

จากแนวหนุนสู่แนวหน้ากับแถลงการณ์ท่อนสุดท้าย

 
การรัฐประหารปี 2557 เป็นการรัฐประหารที่ตี้ชัดเจนกับตัวเองแล้วว่า ไม่เห็นด้วย แต่ยังไม่มีโอกาสได้แสดงตัวหรือไปร่วมการชุมนุม เธอเริ่มไปร่วมการชุมนุมครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเธอนิยามการเข้าร่วมชุมนุมของตัวเองว่า เป็นเพียงผู้ที่อยากไปร่วมให้กำลังใจ เธอไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เคยมีกลุ่มองค์กรสังกัด เธอไปเข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกโดยไม่รู้จักใคร และยังมีความกลัวในใจอยู่บ้างเช่นเดียวกับอีกหลายคนในช่วงเวลานั้น
 
ต่อมาเมื่อการชุมนุมเดินหน้าไปและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น ตี้ได้ทราบว่ากำลังจะมีการจัดการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี และจะมีการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาเยอรมันที่เธอมีความรู้ดี ในภาวะที่คนมีชื่อเสียงหลายคนถูกจับกุมคุมขังอยู่ เธอรู้สึกอยากช่วยทำอะไรบ้าง จึงติดต่อไปเพื่ออาสาทำหน้าที่นำเสนอเนื้อหาเป็นภาษาเยอรมัน ในบรรยากาศที่มาตรา 112 "ยัง" ไม่ถูกใช้งาน ความกลัวในใจจึงยังไม่มากนัก
 
"คนที่มาวันนั้นไม่มีใครรู้จักกันเลย เพิ่งมาเจอกันครั้งแรก คนที่จะอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันก็คุยกันแล้วน้องเดียร์ (รวิสรา เอกสกุล) ที่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักก็บอกเราว่า เราน่าจะเก่งที่สุดเลยขอให้เราอ่านแถลงการณ์ท่อนสุดท้ายเพราะมีคำว่า konstitutionell (constitutional) ที่น้องๆ ออกเสียงไม่ถนัด ก่อนจะปิดด้วยประโยค ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญเป็นภาษาเยอรมัน”
 
"ตอนที่อ่านแถลงการณ์เราแต่งตัวค่อนข้างมิดชิดใส่ทั้งหน้ากากแล้วก็หมวกกันน็อกคล้ายๆที่วิศวกรใส่กัน แล้วเราก็ก้มหน้าตลอดด้วย ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พอขึ้นอ่านแถลงการณ์เสร็จต่างคนต่างแยกย้ายกัน เอาจริงๆ ถ้าไม่มีคดีนี้คิดว่าพวกเราก็คงจะไม่ได้รู้จักกันหรอก"
 
"ถ้าถามว่าเนื้อหาของแถลงการณ์มันรุนแรงไหม เราคิดว่าไม่นะ ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์คือการประณามรัฐบาลประยุทธ์ว่าล้มเหลวในการจัดการโควิดและใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนจากเหตุการณ์หน้าสยามสแควร์ อีกส่วนหนึ่งของแถลงการณ์เราคิดว่ามันเป็นแค่การพูดกันฉันกัลยาณมิตรมากกว่า เราแค่เรียกร้องให้มีการชี้แจงเรื่องที่มีการพูดถึงในลักษณะข่าวลือให้เกิดความโปร่งใส"
 

ความหวาดระแวงเมื่อได้รับหมาย และความบั่นทอนเมื่อครอบครัวคิดไม่เหมือนกัน

 
การอ่านแถลงการณ์ของตี้เป็นเหตุให้เธอถูกดำเนินคดี คดีจากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีมีคนถูกดำเนินคดีร่วมกัน 13 คน คือ ทุกคนที่กล่าวปราศรัยในวันนั้น และทุกคนที่ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ เบื้องต้นตำรวจตั้งข้อกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ก่อน แต่ภายหลังเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” กับผู้ชุมนุม ตำรวจก็ตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112
 
โดยในเอกสารบันทึกข้อกล่าวหาของตำรวจ อธิบายว่า แม้ข้อความในแถลงการณ์ที่แบ่งกันอ่านคนละท่อนอาจไม่เข้าข่ายการกระทำความผิด แต่การชุมนุมนี้เข้าข่าย “แบ่งงานกันทำ” จึงตั้งข้อหาทำดำเนินคดีกับทุกคนเช่นเดียวกัน
 
ประสบการณ์เมื่อได้รับ “หมายเรียก” จากตำรวจของตี้ซึ่งไม่ใช่คนที่ทำงานในแวดวงการเมือง กฎหมาย หรือด้านสิทธิมนุษยชน คือ ความหวาดกลัวและหวาดระแวง แต่เมื่อการดำเนินคดีของเธอเดินหน้าไปพร้อมกับคดีอีกนับร้อยในยุคสมัยเดียวกัน ความกังวลของเธอก็ลดลง แต่ปัจจัยที่บั่นทอนตี้ได้มากที่สุด คือ ปฏิกิริยาจากคนในครอบครัวที่เข้าใจไม่ได้เมื่อเธอเป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
 
"หลังมีม็อบเราก็กลับมาใช้ชีวิตปกติ ระหว่างนั้นก็มีข่าวว่าตำรวจเตรียมออกหมายเรียกคนที่ขึ้นอ่านแถลงการณ์ ชื่อของเรายังเป็น "หญิงไทยไม่ทราบชื่อ" อยู่เลย ตอนนั้นกลัวไปหมด ถึงขั้นหอบข้าวหอบของย้ายไปอยู่บ้านเพื่อนพักใหญ่ๆเลย พอถึงเดือนธันวาคม 2564 มีโทรศัพท์จากศูนย์ทนายมาหาเรา ปลายสายบอกเราว่า เราคือหนึ่งในคนที่ตำรวจออกหมาย ตอนนั้นมือไม้สั่นไม่รู้จะทำอะไรเลย"
 
"พอมาถึงบ้านเราก็พบว่ามีกระดาษมีตราครุฑแผ่นหนึ่งยัดอยู่ในตู้จดหมาย เราก็รู้สึกหวิวๆมือสั่นขาสั่นอีกรอบ จริงๆก็รู้แล้วว่าตัวเองโดนหมาย แต่พอมาเห็นหมายเป็นกระดาษมันก็เหมือนย้ำว่านี่ของจริงละนะ ไม่ได้แค่ฝันไป เราเสียสุขภาพจิตไปเลย กลัวว่าจะมีคนบุกมาจับถึงในบ้าน กลัวว่าตำรวจจะไปคุกคามพ่อแม่เราที่บ้าน กลัวไปหมด”
 
“ตามหลักฐานที่ตำรวจเอามาให้ดู มีภาพของเราในม็อบซึ่งเป็นการถ่ายแบบซูมหน้า มีทั้งภาพตอนเราถือไมค์ ภาพตอนเรานั่งอยู่ในม็อบ นอกจากนั้นก็ยังมีภาพถ่ายของเรา ซึ่งน่าจะเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดของตึกที่ทำงานเราด้วย เราคิดว่าตำรวจทำงานได้ดีถ้าพวกเขาตั้งใจทำเพราะอย่างเราไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ใช่คนมีชื่อเสียง แล้วตอนอ่านแถลงการณ์เราก็ก้มหน้าใส่หมวกใส่แมสก์ แต่สุดท้ายเขาก็ตามเราจนเจอ"
 
“หลังพ่อกับแม่รู้เรื่อง ความสัมพันธ์ในครอบครัวเราก็กระทบไประดับหนึ่ง คือพ่อกับแม่เค้าก็รักเราอะนะ กลัวลูกติดคุก แต่วิธีคิดและวิธีการแสดงออกของสมาชิกครอบครัวก็ทำให้เราไม่ค่อยสบายใจ สิ่งที่พ่อกับแม่ถามย้ำๆก็คือทำไมเราต้องต่อต้าน ทำไมต้องมาเคลื่อนไหวอะไรแบบนี้ เราคิดว่าสำหรับพ่อกับแม่ของเรา การลุกขึ้นมาขัดขืนกับระบบที่เขาอยู่กับมันมาตลอดเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ"
 
"ช่วงแรกเราเครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ ช่วงหลังๆ เราคิดว่าเราเริ่มอยู่กับมันได้แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ 112 มันเป็นคดีที่คนโดนกันทั่วบ้านทั่วเมือง จากที่มันดูเป็นกฎหมายน่ากลัวเหมือนตอนนี้เขาเอามาใช้จนกลายเป็นกฎหมายไร้สาระไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งเราคงต้องขอบคุณพี่ๆ ป้าๆ คนเสื้อแดงที่คอยมาให้กำลังใจเรากับคนที่โดนคดีด้วยกันทุกครั้งที่มาศาล แต่ความใจฟูของเราก็มาสลายไปเพราะคนในครอบครัวของเรา บ่อยครั้งการมาศาลของคนที่บ้านกลับทำให้เราเสียกำลังใจมากกว่าจะมีกำลังใจ"
 

เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ฝึกให้เตรียมใจ

 
สำหรับคนธรรมดาทุกคนการถูกดำเนินคดีย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งจิตใจ และการทำงาน สำหรับตี้แล้ว เธอใช้การทำงาน และการทำกิจกรรมนอกเวลาเพื่อดูแลตัวเองไม่ให้เครียดหรือคิดมากทั้งการฝึกวิปัสสนา การติดตามซีรีย์เกาหลี ส่วนสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตไปด้วยขึ้นศาลไปด้วยและการเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม คือ ที่ทำงานของเธอซึ่งไม่ได้เอาการแสดงออกทางการเมืองมาเป็นอุปสรรคในการทำงาน
 
"ที่ออฟฟิศเราเจ้านายเขาเข้าใจและนโยบายบริษัทเราก็ถือว่าการแสดงออกทางการเมืองนอกเวลางานถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ยังไงก็ตามในบริษัทก็มีคนที่เห็นต่างจากเราอยู่ เราเลยมีความกดดันตัวเองนิดๆว่าต้องไม่ให้การทำงานตกเพราะเรื่องคดีไม่อย่างงั้นคนที่เห็นต่างจากเราอาจใช้เป็นช่องโจมตีเราได้”
 
“เราอยากเล่าเหตุการณ์ที่ได้เห็นในห้องพิจารณาคดี ในนัดนั้นระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดี โจเซฟลุกขึ้นแล้วพูดว่า ผมขอพูดอะไรหน่อย สิ่งนี้คือการแสดงออกว่าผมไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลไม่ให้ประกันตัวเบนจา จากนั้นโจเซฟก็ใช้คัตเตอร์กรีดแขนตัวเองจนเลือดไหลเป็นทาง"
 
"เราทุกคนที่อยู่ในห้องต่างก็ตกใจกับเหตุการณ์ แต่นอกจากความตกใจจากเหตุการณ์แล้วคำพูดของผู้พิพากษากับเจ้าหน้าที่ศาลคือสิ่งที่เรายังจำมาถึงทุกวันนี้ ศาลพูดกับโจเซฟทำนองว่า คุณจะทำไปก็ไม่มีประโยชน์ คุณต้องรู้ว่าคุณมีปัญหาอยู่กับใคร ชาวบ้านธรรมดาเขาก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาท แล้วคดีนี้คุณไปทำกับใคร"
 
"หลังน้องกรีดเลือดพักหนึ่งก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยศาลเข้ามาถามผู้พิพากษาว่าเป็นอะไรหรือเปล่าทั้งๆ ที่โจเซฟไม่ได้ทำอะไรผู้พิพากษาเลย ทุกอย่างมันจุกอยู่ข้างใน จำได้ว่าพอเสร็จจากวันนั้นเราไปร้านนวด อยู่ดีๆเราก็ร้องไห้ขึ้นมาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย มันจุกอยู่ข้างใน เพราะฉะนั้นย้อนกลับไปที่คำถามเรื่องความหวังในกระบวนการยุติธรรม เราก็คงไม่มีคำตอบให้”
 
"มีช่วงหนึ่งที่เราอาศัยการทำงานหนักมาเป็นจุดเบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ให้หมกมุ่นหรือเอาแต่คิดเรื่องคดี แต่ตอนนี้เราเองก็พบวิธีคลายเครียดแบบใหม่ๆ สภาพจิตใจเราตอนนี้กลับมาเต็มร้อยแล้ว อะไรจะมาก็ให้มันมา"
 
"ถ้าถามว่ากลัวติดคุกไหม ถ้าบอกว่าไม่กลัวก็คงพูดไม่จริงแหละ แต่เราเคยไปดูหมอเมื่อเร็วๆนี้แล้วแม่หมอบอกเราว่าไม่เห็นเลยนะว่าเราจะติดคุก จะเรียกว่าเราเป็นสายมูไปเลยก็ได้แต่อย่างน้อยมันก็สบายใจกว่าการแบกเรื่องนี้ไว้ตลอดเวลา"
 
 
 
 
Article type: