1327 1905 1779 1374 1877 1985 1805 1496 1005 1541 1310 1936 1095 1894 1679 1283 1689 1719 1739 1809 1467 1457 1697 1152 1571 1436 1656 1014 1297 1334 1101 1983 1806 1257 1794 1160 1858 1533 1570 1256 1378 1021 1063 1786 1944 1337 1738 1835 1020 1087 1157 1074 1865 1570 1292 1575 1518 1705 1632 1943 1611 1621 1600 1892 1548 1434 1227 1721 1115 1527 1117 1077 1699 1216 1272 1907 1439 1231 1983 1658 1103 1236 1600 1423 1248 1123 1052 1000 1982 1081 1376 1136 1516 1853 1492 1029 1603 1927 1222 ฝน Law Long Beach: จากเรียกร้องกฎหมายชายฝั่งสู่ยกเลิก112 | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ฝน Law Long Beach: จากเรียกร้องกฎหมายชายฝั่งสู่ยกเลิก112

 

 

"พอตัวเองโดนก็ยิ่งอยากทำงานให้มันยกเลิกให้ได้ เรายังโชคดีที่ได้ประกันตัว แต่มีเพื่อนอีกหลายคนที่ไม่ได้ประกัน มันรู้ว่านี่เป็นเครื่องมือที่ใช้ให้คนหยุด ซึ่งมันมีนักกิจกรรมที่โดนแล้วหยุดจริงๆ"
 
" Law Long Beach มันโตมาประมาณหนึ่งก็อยากทำให้มันเป็นองค์กรที่ทำงานได้ เพราะมีหลายคนที่อยากทำงานต่อ แต่ไม่อยากเข้าสู่ระบบ คิดว่างานนี้ก็จำเป็น ยิ่งสถานการณ์การเมืองเป็นแบบนี้ งานที่ทำคือซัพพอร์ตนักกิจกรรมทั้งกฎหมายและองค์ความรู้ นั่นเป็นงานหลักของเรา” 
 
"ก่อนหน้านี้เป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องทำเรื่องประชาธิปไตย ขาลอย คิดว่าเป็นเรื่องนามธรรม แต่พอปีนั้น(รัฐประหารคสช.)มันกระทบ ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักกิจกรรมที่กรุงเทพ ก็เลยเรียนรู้ประเด็นนี้ ประกอบกับช่วงนั้นขึ้นปีสอง ได้เรียนกฎหมายมหาชน ก็ได้เรียนรู้ว่าเราเป็นเจ้าของอำนาจ รู้สึกว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ทุกอย่างคือการเมือง”  
 
 
 
2403
 
 
 
ฝน อลิสา เริ่มทำกิจกรรมเคลื่อนไหวประเด็นในภาคใต้มาตั้งแต่เธออยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 จากการที่เธอเป็นนักเรียนที่โรงเรียนอยู่ติดกับชายหาด และเติบโตขึ้นมากับท้องทะเล เธอฝันอยากแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงเริ่มลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง จนกลายมาเป็นฟันเฟืองสำคัญของกลุ่มนักกฎหมายในภาคใต้ที่ชื่อว่า Law Long Beach ตลอดการทำงานของฝน เธอเคยถูกคุกคามมาหลายครั้ง เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรมาชวนให้ไปกินกาแฟ นั่งคุย มาเฝ้าที่บ้าน หรือแม้แต่เคยมีทหารไปหาที่คณะจากการไปทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องประเด็นสิ่งแวดล้อม 
 
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ผันผวน ความขัดแย้งระหว่างคุณค่าชุดเดิมที่เกาะตัวแน่นกับสังคมไทย และยิ่งเข้มข้นในพื้นที่ภาคใต้ กับความพยายามเข้ายึดพื้นที่ของคุณค่าชุดใหม่ ที่มาพร้อมกับการเคลื่อนไหวของเยาวชนในปี 2563-2564 ฝน มีบทบาทเป็นทั้งผู้จัดกิจกรรม เป็นรุ่นพี่ที่สนับสนุนน้องๆ เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งตกเป็นจำเลยด้วยตัวเองในคดีร่วมสมัย ฝนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ร่วมกับเพื่อนอีกสองคนจากการถูกกล่าวหาว่าถ่ายภาพพร้อมใส่ข้อความและโพสต์ลงในโซเชี่ยลมีเดีย 
 
ฝนถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์, มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ คดีของเธอมีนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565
 
 
ปัญหาชายหาด เปิดประตูสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น
 
ฝนเล่าให้ฟังตั้งแต่แรกว่า เธอเริ่มทำกิจกรรมทางสังคมมาตั้งแต่อายุ 17 ปี และทำงานต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ก็ครบ 10 ปี แล้ว สมัยเรียนชั้นมัธยมทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม จับประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง พอเข้าเรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.) ก็ขยับมาทำกิจกรรมเรื่องสิทธิชุมชน ประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่ต้องการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติของชุมชนกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น การคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอจะนะ การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หรือการคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอำเภอปากบารา จังหวัดสตูล 
 
โดยจุดเริ่มต้นของความสนใจและการออกมาเคลื่อนไหว ฝนเล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นไม่ได้อะไร เรียนอยู่โรงเรียนที่ใกล้ชายฝั่ง ใกล้หาด ก็เห็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยความเป็นเด็กตั้งใจเรียน รู้สึกอยากยึดตามหนังสือว่ามันจะแก้ยังไง ก็อยากเสนอทางแก้ปัญหานั้น ต่อมาได้มาทำ beach for life เป็นกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมส่งเสริมสิทธิชุมชน ก็ไปเจอความจริงเรื่องการแก้ปัญหาทรัพยากรที่มันอาศัยหลายๆ อย่าง กฎหมาย นโยบาย อำนาจรัฐ พวกนี้มีผลหมดเลย การเรียนรู้เรื่องนี้มันเหมือน การเรียนรู้ปัญหาของทั้งประเทศ ทำแล้วก็อยากให้มันเปลี่ยน พอมันไม่เปลี่ยนสักทีก็เลยยังทำอยู่”   
 
 
ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ทุกอย่างคือการเมือง
 
ฝนเล่าว่า ในการทำกิจกรรมประเด็นสิ่งแวดล้อม เธอเริ่มจากการทำงานเพื่อให้ความรู้ โดยเริ่มแรกก็คิดว่า สาเหตุที่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไขเพราะคนไม่รู้ แต่เมื่อทำงานไปนานขึ้นกลับพบว่า เป็นความคิดที่ผิด เพราะต่อให้คนรู้แต่ไม่มีอำนาจรัฐก็ไม่อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงได้ จึงลองทำงานในขั้นต่อไป คือ ทำกิจกรรมสร้างพื้นที่คนมีส่วนร่วม แต่ก็ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะนโยบายไม่เปลี่ยน นั่นทำให้เธอสนใจอยากเรียนด้านกฎหมาย เพื่อผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรชายฝั่ง
 
แต่เมื่อฝนเริ่มเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และกำลังทำกิจกรรมอย่างเข้มข้น สถานการณ์การเมืองของประเทศก็เปลี่ยนแปลงโดยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ซึ่งมาพร้อมกับประกาศ คสช. ที่ห้ามรวมตัวกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทำให้การทำกิจกรรมเป็นไปได้ยากขึ้น ต่อมาหัวหน้า คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ออกคำสั่งฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 ที่ให้สามารถข้ามขั้นตอนการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปได้เลย ซึ่งคำสั่งนี้ออกมาในช่วงเวลาที่กำลังจะเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นในพื้นที่จังหวัดสงขลา
 
"เราก็เห็นว่าประยุทธ์มันมีผล การเมืองมีผล ก่อนหน้านี้เป็นนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมก็คิดว่าไม่จำเป็นต้องทำเรื่องประชาธิปไตย ขาลอย คิดว่าเป็นเรื่องนามธรรม แต่พอปีนั้นมันกระทบ ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ก็เลยเรียนรู้ประเด็นนี้ ประกอบกับช่วงนั้นขึ้นปีสอง ได้เรียนกฎหมายมหาชน ก็ได้เรียนรู้ว่าเราเป็นเจ้าของอำนาจ รู้สึกว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ทุกอย่างคือการเมือง”  ฝนเล่า
 
 
เกิด Law Long Beach พื้นที่เล็กๆ เพื่อทำจริงได้จริง
 
ชีวิตในมหาวิทยาลัยของฝน เต็มไปด้วยเรื่องราวของการทำกลุ่มกิจกรรมขึ้นมาเองเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิชุมชน และทรัพยากรชายฝั่ง ที่ต่อมากลุ่มนี้ก็พัฒนาตัวเอง ขยายขอบเขตงาน มีสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่มมากขึ้น และเติบโตขึ้นไปพร้อมกับการเติบโตของฝนด้วย
 
“ตอนนั้น (ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย) อินกับเรื่องนักศึกษายุคตุลาฯ เข้ามหา'ลัยก็รู้สึกคาดหวังว่ามหาลัยเราน่าจะทำไรได้มากกว่าตอนมัธยม นักศึกษาเป็นที่พึ่งของสังคม แต่เข้ามาก็ผิดหวัง เพราะมันทำไรไม่ได้ พอเข้ามหาลัยก็ไปที่องค์การนักศึกษา ตอนนั้นเปรี้ยว เดินไปบอกนายกองค์การนักศึกษาว่าจะทำด้วย ปรากว่างานแรกที่ให้ทำคือ วางพวงมาลา เวลาเสนออะไรไปก็บอกว่ามีโครงการอยู่แล้ว ไม่ให้ไปทำไรนอกมหา'ลัย ตอนแรกก็อกหัก ก็นัดคุยกับอาจารย์ในคณะ เราก็บอกเขาว่า ได้ข่าวว่าอาจารย์สนใจเรื่องสังคม ทีนี้ก็เลยตั้ง Law Long Beach ขึ้นมา" 
 
ฝนเล่าว่า กลุ่ม Law Long Beach ตั้งขึ้นเพื่อให้นักศึกษามีพื้นที่ ได้ทำอะไรที่ตัวเองอยากทำ เชื่อมโยงกับพื้นที่ข้างนอก ด้วยความเชื่อว่าทุกคนสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ถ้าอยากจะทำ ในช่วงแรกๆ เป็นพื้นที่ของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ต่อมาก็ประกาศรับสมัครสมาชิกเพิ่ม ทำให้มีนักเรียน และนักศึกษาคณะอื่นมาเข้าร่วมด้วย 
 
"คิดว่ามาทำไรเล็กๆ ละกัน แล้วจะพิสูจน์ให้ดูว่าถ้าเราทำจริง เราก็สร้างอะไรได้จริง" 
 
ในการทำงานกับกลุ่ม Law Long Beach ฝนได้เรียนรู้จักการทำงานเป็นทีม เมื่อมีการผลักดันพ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (กฎหมายชายฝั่ง) ฝนก็ต้องการจะศึกษาและทำกิจกรรมในประเด็นที่เป็นเหตุให้เธอเริ่มต้นทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่าเพื่อนในกลุ่มไม่ได้สนใจเรื่องเดียวกันด้วย ทำให้เธอต้องเรียนรู้การปรับตัว และออกแบบกิจกรรมที่จะทำร่วมกันได้ 
 
"พอขึ้นปีสอง ปีสามเลยปรับใหม่ เพื่อนอยากออกข้างนอก ก็ไปทำสิทธิชุมชน ตอนนั้นมีเรื่องเทพา ทำเป็นทริปพานักศึกษาไปเป็นผู้ไว้วางใจให้ชาวบ้านที่โดนคดี ชาวบ้านโดนกันเป็นสิบ ทนายก็ไม่พออยู่แล้ว พอเริ่มไปเรียนรู้ชุมชน มาเจอแกนเรื่องสิทธิมนุษยชน เราเลยยึดเป็นคุณค่าหลัก"  
 
 
 
รู้ว่ามีหมายจับ จึงเดินไปแสดงตัวเองและพร้อมสู้คดี
 
กลุ่ม Law Long Beach เติบโตขึ้นมาจากการสั่งสมประสบการณ์และเติบโตขึ้นมาตามกระแสการตื่นตัวทางสังคมการเมืองของคนรุ่นใหม่ มีสมาชิกหลายคนที่ทำงานอย่างแข็งขันและพร้อมที่จะร่วมหัวจมท้ายทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อไปแม้จะเรียนจบแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองร้อนแรงมากขึ้น งานที่กลุ่ม Law Long Beach มีบทบาทต่อจากการดูแลชายหาด ก็คือ การดูแลนักกิจกรรมที่ถูกคุกคามจากการแสดงออก การสังเกตการณ์การจัดชุมนุม สนับสนุนองค์ความรู้ทางกฎหมาย รวมทั้งช่วยเหลือคดีความทางการเมือง
 
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ข้าว นักศึกษามอ. เพื่อนของฝน ถูกตำรวจจับกุมด้วยข้อหามาตรา 112 สืบเนื่องเหตุการณ์ที่มีกิจกรรมฉายเลเซอร์ตามสถานที่สำคัญ ในจังหวัดพัทลุงเมื่อคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดศาลหลักเมืองจังหวัดพัทลุง โดยในข้อกล่าวหาอธิบายว่า ข้อความบนเลเซอร์นั้นเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 เช่น ‘ภาษีกู’ หรือ ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ 
 
เมื่อข้าวถูกตำรวจนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา และสอบสวน ก็พบข้อมูลใหม่ว่า ในคดีนี้นอกจากมีข้าวเป็นผู้ต้องหาคนหนึ่งแล้ว ยังมีรายชื่อผู้ต้องหาอีกสองคนที่มีหมายจับอยู่แล้วด้วย หนึ่งในนั้น คือ เตย สมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอกภาคใต้ และอีกหนึ่งคน ก็คือ ฝน
 
ฝนเล่าว่า ตัวเองไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่เมื่อทราบว่ามีชื่ออยู่ในหมายจับคดีเดียวกับข้าว และเตย เพื่อไม่ให้ถูกตำรวจบุกมาจับแบบจู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัว ฝนและเตยจึงตัดสินใจเดินทางไปรายงานตัวเองที่สภ.เมืองพัทลุงในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 และเข้าสู่กระบวนการ โดยให้การปฏิเสธทั้งหมดและพร้อมต่อสู้คดี
 
“ตอนแรกกลัว แต่โกรธมากกว่า เพราะมันเป็นหมายจับกับเป็นจังหวะที่ต้องทำงาน เดือนนั้น Law Long Beach มีงานเยอะมาก เป็นห่วงนักกิจกรรมทั้งที่โดนและยังไม่โดน แต่ตอนนี้มันคลี่คลายแล้ว พอตัวเองโดนก็ยิ่งอยากทำงานให้มันยกเลิกให้ได้ เรายังโชคดีที่ได้ประกันตัว แต่มีเพื่อนอีกหลายคนที่ไม่ได้ประกัน มันรู้ว่านี่เป็นเครื่องมือที่ใช้ให้คนหยุด ซึ่งมันมีนักกิจกรรมที่โดนแล้วหยุดจริงๆ เรื่องส่วนตัวเราไม่มีปัญหาอะไร แต่น้องบางคนครอบครัวเค้าไม่ได้ซัพพอร์ต ก็เป็นห่วงคนที่โดนด้วยกันแล้วยังไม่ได้เตรียมตัว” 
 
 
 
2404
 
แจ้งข้อกล่าวหาสามครั้ง ตำรวจเปลี่ยนเอกสารไปเรื่อยๆ
 
ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาชั้นตำรวจตามปกติตำรวจจะอธิบายให้ฟังว่า ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าทำสิ่งใด เมื่อใด โดยละเอียด ซึ่งอาจจะผิดต่อกฎหมายใด หลังการแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จแล้วก็จะจัดทำบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาที่ระบุรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อรับทราบและมอบสำเนาให้กับผู้ต้องหาหนึ่งชุด แต่ในคดีของฝนตำรวจกลับปฏิเสธไม่ยอมมอบสำเนาบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาให้ เธอต้องต่อสู้และต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการที่วุ่นวายอีกหลายครั้งเพื่อให้ได้เอกสารมาตามสิทธิของเธอ
 
"คดีของเรามีปัญหาที่ทำให้เราต้องไปที่สถานีตำรวจอีกหลายครั้ง เพราะในวันที่เราไปรายงานตัวเองตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาแล้วไม่ยอมให้บันทึกแจ้งข้อกล่าวหากับเรา ให้แต่จดไปเอง ไม่ให้สำเนาตัวจริง เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเอกสารอยู่ในมือตำรวจแล้วจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงได้บ้าง ซึ่งในคดีนี้ต้องต่อสู้กันที่ข้อความที่ปรากฏเป็นการฉายเลเซอร์ พอเราไปขึ้นศาล ก็ยื่นคำร้องต่อศาล ศาลก็บอกว่าเป็นสิทธิอยู่แล้วที่เราจะได้"
 
"หลังวันนั้น ตำรวจก็นัดไปทำบันทึกข้อกล่าวหาใหม่ และแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ จึงให้สำเนามา แต่ก็ยังไม่จบ จากนั้นมาก็มีหมายเรียกมาที่บ้านอีกเป็นครั้งที่สาม บอกให้ไปสถานีตำรวจใหม่เพื่อแก้ไขข้อความในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เพราะตำรวจคิดว่าตัวเองลงวันที่ที่ฉายแสงเลเซอร์ผิด แล้วก็มาเปลี่ยนข้อกล่าวหาใหม่เป็นการร่วมกันถ่ายภาพและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แทน"
 
ฝนเล่าว่า การไปรับทราบข้อกล่าวหากับตำรวจทั้งสามครั้งเป็นการเปลี่ยนรายละเอียดข้อกล่าวหาในประเด็นสำคัญ และในครั้งที่สามมีการเพิ่มข้อความเข้ามาว่า ทางตำรวจติดตามข้อมูลของตัวเธออยู่เป็นระยะ และเราเป็นระดับแกนนำในการชุมนุม ในการรับทราบข้อกล่าวหาครั้งที่สาม เธอไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ฉายเลเซอร์แล้ว แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ถ่ายภาพข้อความที่ฉายเลเซอร์และนำไปโพสเผยแพร่ ทำให้เธอถูกตั้งข้อกล่าวหาทั้งมาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย
 
คดีของฝนยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 
 
 
เราสามารถมีส่วนร่วมได้ เราเป็นเจ้าของสิทธิ เจ้าของอำนาจ
 
หลังทำงานในประเด็นพิทักษ์ชายหาดมาต่อเนื่องเป็นปีที่สิบ ฝนเล่าว่า เธอพบเห็นความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายเกี่ยวกับการดูแลชายหาดอยู่มาก โครงการของหน่วยงานภาครัฐไม่เน้นการวางโครงสร้างแข็งๆ ลงในทะเล แต่เปลี่ยนเป็นการเติมทรายหรือถมทรายเพิ่ม และหากมีโครงการใหม่ๆ มาที่ตั้งชื่อว่าเพื่อพิทักษ์ชายหาดแต่ถ้าทำแล้วชายหาดเสียหายก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ประชาชนก็รับรู้ปัญหามากขึ้น คนในหน่วยงานของรัฐก็เข้าใจมากขึ้น ทำให้ตอนนี้ถ้าคนมาเที่ยวที่จังหวัดสงขลาก็จะมีชายหาดแล้ว และเธอเชื่อว่านี่เป็นผลพวงจากการต่อสู้ของภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่องยาวนาน
 
สำหรับกิจกรรมเรื่องการพิทักษ์ชายหาดยังคงเดินหน้าต่อไป นำโดยเพื่อนๆ ในกลุ่ม Beach for Life ขณะที่ตัวของฝนเองเริ่มห่างออกมาและทำงานในกลุ่ม Law Long Beach มากขึ้น โดยเธอมีความหวังว่า จะตั้งใจสร้างกลุ่ม Law Long Beach ให้เข้มแข็งและอยู่ด้วยตัวเองได้ โดยมีการรับสมัครสมาชิกใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น เธออยากจะใช้เวลาอย่างเต็มที่กับการสร้างกลุ่มให้มีระบบการทำงานที่มั่นคง หากในอนาคตเธอต้องไปทำงานอย่างอื่น หรืออาจต้องเข้าเรือนจำด้วยคดีที่ได้รับมา ก็หวังให้เพื่อนๆ และรุ่นน้องในกลุ่ม Law Long Beach สานต่อกิจกรรมต่อไป
 
บทเรียนจากการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ชายหาด ก่อนขยายมารณรงค์เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิทางการเมือง ตลอดสิบปีทำให้ฝนได้ลงมือทำและมองเห็นความเป็นไปในสังคม ในฐานะนักเรียนกฎหมายฝนได้เรียนรู้ว่า ความรู้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาในสังคมนี้ได้ การจะแก้ไขปัญหาต่างๆ นอกจากจะต้องมีความรู้ มีประชาชนที่ตื่นตัวพร้อมมีส่วนร่วม ก็อาจต้องแก้ไขกฎหมายที่เป็นอยู่เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้ การไม่ยึดติดกับตัวกฎหมายที่มีอยู่แล้วเป็นสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ และรู้ด้วยว่า เมื่อจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายก็ต้องเอาความรู้ด้านอื่นๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นหลักด้วย ไม่ใช่รู้แต่กฎหมายอย่างเดียว
 
"มันเป็นการเติบโตต่อเนื่อง เวลาเราเข้ามาเรียนกฎหมายก็จะรู้สึกว่ามันดูสูงส่ง แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วการทำงานเรื่องหาดทำให้เห็นว่า เพียงความรู้กฎหมายไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคมนี้ได้ การต่อสู้เรื่องหาด ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีสิทธิ เราสามารถมีส่วนร่วมได้ เรารู้ว่าเราเป็นเจ้าของทรัพยากร เป็นเจ้าของสิทธิ เจ้าของอำนาจ ก่อนจะขยับไปทำเรื่องอื่นๆ" 
 
 
 
 
 
 
 
 
Article type: