1624 1377 1146 1691 1672 1520 1191 1139 1708 1303 1302 1810 1764 1775 1214 1056 1999 1966 1385 1680 1197 1107 1406 1400 1253 1981 1258 1682 1612 1880 1003 1665 1369 1145 1287 1812 1025 1873 1166 1546 1977 1976 1317 1256 1114 1756 1071 1119 1050 1194 1091 1823 1925 1549 1970 1510 1622 1179 1144 1868 1571 1377 1043 1082 1763 1433 1283 1971 1953 1299 1615 1867 1296 1175 1482 1699 1667 1695 1573 1805 1054 1189 1494 1546 1680 1367 1655 1531 1280 1390 1750 1815 1164 1126 1287 1072 1169 1679 1421 “ใบปอ” นักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เปิดพื้นที่ถกปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

“ใบปอ” นักเคลื่อนไหวหน้าใหม่ เปิดพื้นที่ถกปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมาปรากฏการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มใหม่ชื่อว่า “ทะลุวัง” ซึ่งทำกิจกรรมเน้นรูปแบบสอบถามความคิดเห็นหรือโพลแบบง่ายๆ ว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “ใบปอ” นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ก่อนที่จะสังกัดกลุ่ม “ทะลุวัง” เธอเริ่มเคลื่อนไหวในเดือนธันวาคม 2564 ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าและพื้นที่ใกล้กับขบวนเสด็จ โดยเธอไม่เคยสังกัดกลุ่มเคลื่อนไหวใดๆมาก่อน

ชวนรู้จัก “ใบปอ” นักกิจกรรมปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่แจ้งเกิดในช่วงพักรบของกลุ่มเคลื่อนไหวหลัก ผู้เชื่อว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าการอยู่เฉยๆ ในสถานการณ์เช่นนี้

 

2296

เคลื่อนไหวบนถนนครั้งแรกเรื่อง #ยกเลิก112


เธอเริ่มเข้าร่วมการชุมนุมบนท้องถนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นกิจกรรมคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราชของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จากนั้นวันที่ 5 ธันวาคม 2564 จึงออกมาเคลื่อนไหวอิสระเองครั้งแรก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างเช่นการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เธอให้เหตุผลที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างเรียบง่ายว่า "ที่เราออกไปทำเพราะเรารู้สึกว่า เราทำอะไรได้มากกว่าอยู่เฉยๆ แน่ๆ" ใบปอบอกว่า วันนั้นเธอไปทำโพลกับสายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชนซึ่งเป็นรุ่นน้องที่รู้จักกันมาก่อนและได้มีโอกาสได้รู้จักตะวัน สมาชิกกลุ่มทะลุวังอีกคนในวันนั้นเลย

วันดังกล่าวมีการวางแผนไว้ก่อนว่า จะเดินรณรงค์ในสยาม แต่ต้องเลี่ยงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและมีการตามคุกคามอยู่เรื่อยๆ ทำให้ต้องไปปักหลักที่หน้าลานน้ำพุพารากอนซึ่งกำลังจัดกิจกรรม 5 ธันวาฯ โดยบังเอิญ วันนั้นกระแสตอบรับค่อนข้างดี คนที่เดินผ่านไปมาก็เข้ามาติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

ช่วงบ่ายที่แดดยังค่อนข้างร้อน ทำให้มีคนเดินผ่านลานดังกล่าวไม่มากนัก มีคนพยายามจะเข้ามาคุกคามพวกเธอ "มีคุณป้าที่เข้ามาร่วมงานเข้ามาปิดป้าย อีกนิดจะกระชากป้ายออก คือจะตบแล้ว แต่เราก็บอกว่า ไลฟ์อยู่ๆ ทำให้เขาไม่กล้าทำอะไรต่อ และมีคุณลุงเข้ามาเหมือนจะต่อยสายน้ำ ช่วงที่คนยังไม่เยอะเท่าไหร่ แต่พอเริ่มเย็นๆ คนเดินผ่านเยอะก็ไม่มีใครมาว่า มาทำอะไร”

"เห็นด้วยกับมาตรา 112 หรือไม่เห็นด้วยกับมาตรา 112 ก็เข้ามาได้"
เธอเปิดพื้นที่ให้ทุกคน เธอบอกเช่นนั้น

คนที่มาร่วมกิจกรรมหลายคนมีการถ่ายภาพและนำไปลงในโซเชียลทำให้มีการพูดถึงประเด็นนี้ "รู้สึกว่า การที่เราเริ่มทำโพลวันที่ 5 วันนั้นเป็นไอเดียที่ดีจนหลายกลุ่มก็เอาไปต่อยอดได้ เรามีสองช่องให้เลือก ท่านเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ท่านก็สามารถมาแปะได้ ไม่ใช่จำกัดว่า ไม่เห็นด้วยอย่างเดียว...ถ้าคุณสนับสนุนคุณก็เข้ามาติด วันนั้นก็มีคนหลายคนเข้ามาติดแบบรู้สึกโกรธๆ เป็นฟีลแบบกระแหนะกระแหนก็มี เราก็ยินดีที่เขาจะติด" เธอมองว่า การทำโพลเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับตัวผู้แสดงออก เป็นคำถามตอบเห็นด้วยไม่เห็นด้วยและไม่ได้มีการปราศรัยใดๆ ที่จะเป็นช่องให้รัฐดำเนินคดี

ทำโพลขบวนเสด็จจากความคาใจที่ว่า ฝ่ายปฏิรูปสถาบันฯ รับเสด็จไม่ได้

"คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ไม่ว่าคุณจะคิดว่า สร้างความเดือดร้อนหรือไม่สร้างความเดือดร้อนก็สามารถมาสติ๊กเกอร์ร่วมกันได้"

"ทุกคนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นได้เลยนะคะ"

เป็นเสียงจากใบปอและตะวัน เพื่อนของเธอที่เชิญชวนให้ทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็น #ขบวนเสด็จ สร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ในกิจกรรมทำโพลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565

ประเด็นดังกล่าวไม่ได้เพิ่งถูกพูดถึงในคลื่นการชุมนุมของราษฎร 2563 แต่เป็นเสียงกระซิบกระซาบในสังคมออนไลน์มาหลายครั้ง บ้างถูกปราบปรามด้วยคดีความ ทำให้ตลอดมาการถกเถียงเรื่องขบวนเสด็จของประชาชนมักจะอยู่บนโลกออนไลน์ที่อาจเปิดเผยอัตลักษณ์ตัวตนหรือปกปิดด้วยหวาดกลัวผลกระทบ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกๆ ที่นักกิจกรรมชูเรื่องขบวนเสด็จขึ้นมาเป็นหลัก รณรงค์และสอบถามความเห็นของคนในพื้นที่สาธารณะ

เหตุที่ใบปอทำโพลชูเรื่องขบวนเสด็จ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากวันที่ 28 ธันวาคม 2564 เธอ, สายน้ำและตะวันไปทำกิจกรรมระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินของรัชกาลที่ 10 ที่วงเวียนใหญ่เป็นเหตุให้ถูกทำร้ายและดำเนินดคีฐานก่อความอื้ออึง ตามมาด้วยพิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมอีกคนหนึ่งทำกิจกรรมรณรงค์ #ไม่รับปริญญา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่งถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเดียวกันและเหตุการณ์ขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่นครสวรรค์ ช่วงวันที่ 5 - 7 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งหมดทำให้พวกเธอตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่สามารถรณรงค์หรือแสดงออกในพื้นที่ใกล้กับขบวนเสด็จได้

นอกจากนี้เธอบอกว่า ตอนเด็กๆ โรงเรียนเดิมของเธออยู่ในพื้นที่ใกล้เขตพระราชฐาน ทำให้มีประสบการณ์ที่ต้องรถติดเนื่องจากมีขบวนเสด็จ ทำให้สัญจรไม่สะดวก

ใบปอบอกว่า วันนั้น (8 กุมภาพันธ์ 2565) ถ้าพวกเธอเดินรณรงค์บริเวณใด เจ้าหน้าที่จะมากันพื้นที่บริเวณนั้นทันที ไม่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมได้แตกต่างจากกิจกรรมวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ที่อยู่ในลานน้ำพุพารากอน คนสามารถเดินผ่านไปมาตลอด ระหว่างการสกัดกั้นใบปอบอกว่า มีจังหวะชุลมุนจนเธอถูกเจ้าหน้าที่กระแทกเข้าที่หน้าอก รู้สึกเจ็บเล็กน้อย “เราไปชั้นไหนเขาจะเคลียร์คนและปิดคนชั้นนั้นเลย เห็นได้ชัดเลยว่า เขากลัวแม้กระทั่งกระดาษ”

หลังทำกิจกรรมไปได้ระยะหนึ่งก็มีประชาชนมาแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่คิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน เธอกับตะวันจึงตัดสินใจเดินไปที่วังสระปทุมที่ประทับของกรมสมเด็จพระเทพฯ เพื่อยื่นเสียงของประชาชนให้ถึงที่ แต่กระดาษผลโพลถูก พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน กระชากไปได้เสียก่อน

เผชิญหน้าการคุกคามแต่ยังสู้อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่เรื่องสถาบันฯ

หลังการทำกิจกรรม มีเพื่อนมาบอกกับใบปอว่า เจอชายคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาที่คอนโดของเธอ แม้ไม่แน่ชัดว่า ชายคนดังกล่าวเป็นใครแต่ก็ทำให้เธอต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามแต่เธอยังคงทำกิจกรรมต่อไป “เราต้องการการเปลี่ยนแปลงให้สังคมสามารถตั้งคำถามและสามารถวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ได้” มุมมองของเธอคิดว่า ช่วงที่ผ่านมาหลายกลุ่มเคลื่อนไหวลดลง กิจกรรมมีรูปแบบซ้ำเดิมทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกเหนื่อยแต่พอเธอเริ่มทำกิจกรรมถามความคิดเห็นเรื่องสถาบันฯ ก็เหมือนสามารถจุดกระแสเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ให้กลับมาอีกครั้ง

แม้จะมุ่งทำกิจกรรมเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ แต่ก็ไม่ละทิ้งในประเด็นอื่นๆ เช่น การเรียกร้องให้ ปล่อยเพื่อนเรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2564 เธอบอกว่า อยากขับเคลื่อนเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมกันแต่รู้สึกว่า ประเด็นปฏิรูปสถาบันฯ เป็นเรื่องสำคัญ จึงให้น้ำหนักกับเรื่องนี้มากกว่า โดยมุ่งไปที่การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการนำประเด็นที่สื่อสารยากอย่างขบวนเสด็จมาสู่สาธารณะ

นอกจากนี้แล้วใบปอยังมีความสนใจในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ก่อนหน้าที่เธอจะลงถนนเคลื่อนไหว เธอติดตามเรื่องดังกล่าวบนโลกออนไลน์ “ส่วนใหญ่เราจะแชร์ข้อมูลและบทความ ข้อมูลที่เราอยากบอกเพื่อนเรา มีส่วนร่วมในสเปซบ่อยๆ ด้วย” ในตอนนี้หากไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มทะลุวัง เธอก็จะขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วย

ใบปอแชร์ประสบการณ์ว่า ในช่วงที่มีการชุมนุม กลุ่มเพื่อนของเธอก็มีการพูดว่า ถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่ชุมนุม ไม่ว่าจะด้วยการมองโลมเลียการแต่งกาย หรือการแซว จนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย

เกี่ยวกับข้อครหาการล่วงละเมิดทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธอบอกว่า “เรารู้สึกว่า สังคมไทยตอนนี้บูชาตัวบุคคล บูชากลุ่ม จนทำให้เราแตะต้องไม่ได้ คล้ายๆ กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เหยื่อที่ไม่กล้าพูดและไม่มีช่องทางที่จะพูด สิ่งหนึ่งที่เราหรือคนที่เป็นเหยื่อต้องการออกมาพูดเพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก” ใบปอมองว่า นักเคลื่อนไหวต้องเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมประเด็นอื่นๆ

Article type: