1573 1400 2000 1033 1237 1502 1380 1453 1551 1119 1413 1054 1369 1575 1892 1828 1539 1964 1676 1152 1424 1909 1616 1314 1383 1555 1655 1362 1703 1663 1164 1058 1719 1242 1018 1307 1048 1246 1578 1833 1994 1759 1998 1673 1057 1294 1827 1926 1374 1939 1562 1836 1463 1275 1641 1003 1496 1284 1882 1194 1292 1160 1841 1663 1252 1608 1849 1425 1525 1354 1809 1801 1118 1799 1042 1939 1481 1453 1184 1536 1719 1251 1588 1880 1377 1279 1590 1492 1165 1709 1284 1542 1746 1086 1111 1367 1768 1398 1295 ข้าว ราษฎรใต้: หมายจับ 112 เปิดประตูสู่ห้วงแห่งความ ‘เปราะบาง’ | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

ข้าว ราษฎรใต้: หมายจับ 112 เปิดประตูสู่ห้วงแห่งความ ‘เปราะบาง’

 

“วันนั้นเราก็ช็อกเหมือนกัน ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก จนตั้งสติได้เราเลยขอนั่งและโทรบอกเพื่อนว่า มึงอยู่ไหน กูโดนจับแล้วนะ เขามาจับกูตอนฉีดวัคซีนที่มหา'ลัย แล้วเขาจะพากูไป สภ. แล้ว”

ข้าว นักกิจกรรมหนุ่มอายุ 25 ปี จากกลุ่ม ‘ราษฎรใต้’ ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพัทลุง เข้าเรียนและพัฒนาความคิดทางการเมืองที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองกับเครือข่ายนักกิจกรรมในภาคใต้ เมื่อถึงวันได้รับ ‘หมายจับมาตรา 112’ ฉบับแรก ข้าวต้องพบเจอกับประสบการณ์นอนคุกหนึ่งคืน อีกทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับความไม่เข้าใจของครอบครัวไปพร้อมๆ กับการประคับประคองจิตใจที่เปราะบางลงของตนเอง

 

2281

 

เติบโตจากแดนใต้ ในครอบครัวคนเสื้อเหลือง   

 

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ข้าวได้นิยามตัวเองในอดีตว่าเขาเป็นผู้เพิกเฉยต่อการเมืองและไม่ชอบเรื่องการเมืองมาตั้งแต่เด็กเนื่องจากเติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรฯ และเป็นผู้ปราศรัยบนเวทีการชุมนุมของ กปปส. โดยข้าวเล่าว่า การเฝ้ามองกิจกรรมการเมืองของผู้เป็นพ่อมาตลอดชีวิตได้ส่งผลให้เขารู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องของ ‘ความวุ่นวาย’ อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าวได้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย ความคิดของเขาต่อโลกทางการเมืองก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

 

“จุดเปลี่ยน คือ เรามาเรียนเศรษฐศาสตร์ สิ่งที่เราได้จากมหาลัยมันก็มีหลายส่วน ช่วงแรกๆ ที่เข้ามหาวิทยาลัย ด้วยความที่เราเป็นนักกิจกรรม เราออกค่ายอาสา เราไปเป็นหัวหน้าฝ่ายก่อสร้าง สร้างห้องน้ำให้ตามโรงเรียนชนบท ไปลงชุมชน”

 

“การที่เราเรียนเรื่องเศรษฐกิจ นโยบาย ภาษี สิ่งเหล่านี้ที่เราได้รับทุกวันในมหาวิทยาลัย มันค่อยๆ กล่อมเกลาให้เรารู้สึกเอะใจ รู้สึกคิดมากขึ้นกับการเมืองว่ามันส่งผลกับคนที่เราไปเจอ ทำไมกูต้องมาก่อสร้างห้องน้ำให้โรงเรียน ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการควรจะให้เงินมาสร้าง”

 

“ย้อนกลับไปสมัยปีหนึ่ง (ประมาณปี 2559) ที่ออกไปทำค่ายใหม่ๆ ยังเป็นอารมณ์ที่รู้สึกว่าเราออกไปช่วยคน แต่พอกลับเข้ามาในห้องเรียนก็คิดขึ้นมาได้ว่า 'ทำไมกูต้องไปทำ' มันควรจะมีหน่วยงานอื่นที่กูจ่ายตังให้มาทำ เขาหักภาษีเราไปแล้ว ก็ควรมีคนเหล่านั้นมาทำหน้าที่นี้แทนพวกเรา เราจะได้ไปทำอย่างอื่น ไปเพิ่มความสามารถในการผลิต (productivity) ให้ประเทศในด้านอื่นๆ แต่เปล่าเลย เป็นการสูญเปล่าโดยใช่เหตุ”

 

ล่วงเลยมาหลายปี คำถามมากมายต่อรัฐบาลที่สะสมไว้ก็ได้ดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักจากเหตุการณ์ ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’ เมื่อต้นปี 2563 โดยเด็กหนุ่มจากพัทลุงชี้ว่า นี่คือจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้เขาตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ด้วยความที่ข้าวเคยเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัย การชักชวนและรวบรวมผู้คนเพื่อทำกิจกรรมจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับเขา

 

ตอนนั้นเราก็พยายามหันไปมองข้างๆ ว่าจะมีใครในพื้นที่นี้ทำอะไรบ้างไหม เข้าใจว่าด้วยความเป็นภาคใต้ ในพื้นที่นี้โดนตราหน้ามาตลอดว่าเป็นรากฐานของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และเป็นรากฐานของความฉิบหายในปัจจุบัน.. ทีนี้ ถ้าไม่มีใครทำอะไรเลย มันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราไม่อยากไปหวังพึ่งคนอื่นแล้ว ในเมื่อไม่มีใครทำ เราทำเองก็ได้”

 

“ก่อนหน้านี้เราเป็นรองนายกองค์การนักศึกษาตอนอยู่ปีสาม (2561) เราจะเห็นอยู่แล้วว่าใครทำอะไร หรือรู้จักกับคนที่เขาทำกิจกรรมอยู่แล้วบ้าง มันก็เลยทำความรู้จักต่อได้ไม่ยาก  จากที่แค่เห็นกันเฉยๆ เราก็เข้าไปพูดคุยว่า ผมสนใจเรื่องเดียวกับคุณนะ เรามาช่วยกันทำไหม เรามาทำสิ่งที่ที่นี่ไม่มีใครทำแล้วนอกจากพวกคุณ”

 

บทบาทนักปราศรัย และผู้ประสานงานเครือข่ายภาคใต้

การจัดการชุมนุมครั้งแรกของเขาภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เกิดขึ้นได้ภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผลตอบรับที่ดีจากการจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวยังเกื้อหนุนให้ผู้ที่สนใจทำกิจกรรมทางการเมืองได้มาพบเจอและเชื่อมร้อยกันจนเกิดเป็นเครือข่ายนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ ‘ราษฎรใต้’ กลุ่มกิจกรรมที่ข้าวเป็นสมาชิกอยู่

 

“วันแรกที่คิดอยากทำ เราโพสต์ถามในเฟซบุ๊กว่ามีใครอยากทำบ้าง จากนั้นก็มีเพื่อนมาคอมเมนต์ตอบว่า "มึงก็ทำสิ" เพื่อนใน ม. คนอื่นๆ ก็ตอบมาแนวเดียวกัน 90% ว่า "มึงก็ทำสิ มึงทำสิ มึงทำสิ" เราก็เลยบอก "เออ กูทำก็ได้" พอตัดสินใจแล้วว่าจะทำ เราก็โพสต์ชวนเพื่อนในเฟซบุ๊กต่อ แล้วมันได้ผลตอบรับดีเกินคาด มีคนแชร์กันไป 2-3 พันแชร์ จากโพสต์ที่เราแค่บอกว่าเราอยากจัดกิจกรรมแบบนี้ ในหาดใหญ่ ในภาคใต้”

 

“สิ่งหลักๆ ที่อยากทำ คือ อยากมีพื้นที่ให้คนได้พูดสิ่งที่อยากพูด วันที่จัดกิจกรรมมีผู้ปราศรัยตั้งแต่นักศึกษา ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น หมอจากในพื้นที่ มีพนักงานบริษัทก็มาด้วย ผลตอบรับเราถือว่าดีนะ เพราะมันเป็นครั้งแรกแล้วเราจัดแบบไม่รู้อะไรเลย มีคนมาเข้าร่วมประมาณ 1,500 คน เป็นวันที่ทำให้เราเริ่มเข้ามาทำงานด้านนี้แบบเต็มตัว และทำให้เราเป็นที่รู้จัก พอเป็นที่รู้จักมากขึ้น มันก็จะดึงคนใกล้เคียงที่ทำงานเหมือนกันเข้ามาเจอกัน พอเข้ามาเจอกันอีก ก็มีการจัดกิจกรรมเพิ่มอีก”

 

ข้าวอธิบายว่า บทบาทหลักในการทำงานของเขานอกจากการจับไมค์ปราศรัยเองแล้ว ข้าวยังเป็นนักประสานงานที่คอยสานความสัมพันธ์ระหว่างกันในแต่ละกลุ่มสมาชิกอีกด้วย

 

“ในภาคใต้จะมีกลุ่มย่อยแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ แต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป หลักๆ ที่เราทำคือสร้างเครือข่ายให้เขาได้รู้จักกัน เครือข่ายที่เราไปพูดคุย เป้าหมายก็จะแยกย่อยกันไป เช่น จะนะ ก็จะมีเป้าหลักเรื่องนิคมอุตสาหกรรม หรือที่ชุมพร จะเป็นเรื่องการถูกไล่ที่เพื่อนำไปสร้างเขื่อน ที่นครศรีธรรมราชจะเป็นเรื่องบ่อขยะที่ไม่ได้รับการแก้ไขจนกลายเป็นมลพิษแก่คนในบริเวณ แล้วก็เรื่องทั่วไป เช่น ความรุนแรงในโรงเรียน สิทธิมนุษยชนของเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่กระจายตัวอยู่ตามทั่วทุกจังหวัด”

 

แม้เป้าหมายที่กระจายตัวจากเครือข่ายหลายกลุ่มจังหวัดอาจทำให้งานเคลื่อนไหวนั้นล้นมือ แต่ข้าวเน้นย้ำว่า วัตถุประสงค์หลักที่ทุกเครือข่ายมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ‘การปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง’

 

“ข้อเรียกร้องหลักๆ เลย เราอยากปฏิรูปสถาบันฯ เพราะเราคิดว่าสถาบันเป็นโครงสร้างพื้นฐาน มันจะโยงมาถึงการเมืองการปกครอง การปกครองที่ไม่ดีก็จะทำให้เกิดปัญหาเล็กๆ ย่อยๆ ต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเชื่อมโยงกันหมด”

 

“ข้อเรียกร้องที่ทุกคนเห็นร่วมกันคือรัฐบาลนี้มีปัญหา เพราะรัฐบาลนี้ พวกเขาจึงไม่สามารถจัดการปัญหาของตัวเองได้ รัฐบาลนี้ไม่รับฟังปัญหาของพวกเขา ต่อเนื่องมาด้วยการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่รัฐบาลนี้ใช้อยู่ มันทำให้ปัญหาหลายๆ เรื่องของพวกเขาเชื่อมโยงกัน เพราะเขามีศัตรูคนเดียวกัน มีปัญหาใหญ่ปัญหาเดียวกัน จากคนกลุ่มเดียวกัน”

 

2288

 

ไปฉีดวัคซีน แต่ได้นอนคุก

บทสนทนาดำเนินไปอย่างราบเรียบ กระทั่งข้าวได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2564 วันธรรมดาๆ ของการไปฉีดวัคซีนวันหนึ่งที่ต้องกลายเป็นวันลุ้นระทึก เนื่องจากเขาไม่รู้ตัวมาก่อนว่าจะต้องพบเจอกับ ‘คณะบุคคลไม่คาดคิด’ ดักรออยู่ ณ ปลายทาง

 

“วันนั้นเราไปฉีดวัคซีนที่มหาวิทยาลัย แล้วตอนเราจะกลับก็มีน้าคนหนึ่งมาเรียก เราก็เข้าใจว่าเป็นชาวบ้านจะมาถามว่าต้องฉีดวัคซีนที่ไหน เพราะโดยทั่วไปจุดวัคซีนมันมีคนมาเยอะมากอยู่แล้ว พอเราเดินเข้าไป เขาก็หยิบกระดาษใบหนึ่งขึ้นมา และในจังหวะนั้น พอเราหันไป ก็มีเพื่อนๆ ของเขาอีก 5-6 คนมายืนล้อมเราไว้ เราก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่า กูโดนจับแล้วแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าจากเรื่องอะไร แล้วเขาก็อ่านหมายให้เราฟังว่า น้องมีคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์”

 

“เป็นนอกเครื่องแบบหมดเลย เราเห็นครั้งแรกห้าคน แต่หลังจากนั้นก็ยังโผล่มาอีกเรื่อยๆ ... เราไปถามเขาทีหลังว่าทำไมไม่มีหมายเรียกเลย เพราะเราเคยเห็นคนอื่นได้หมายเรียก เขาบอกว่า ‘มันเป็นคดีโทษสูง 15 ปี ขอหมายจับเลยก็ได้’ แล้วเราก็ถามไปว่า ‘พี่รู้ได้ไงว่าผมจะมาฉีดวัคซีนวันนี้’ เขาก็บอกว่า ‘อ๋อ พี่แค่ขับรถผ่าน แล้วก็เห็นน้องเข้ามหาวิทยาลัยพอดี ก็เลยจับ’ แต่ในใจก็คิดว่าพี่จะผ่านอะไรมาตั้ง 20 กว่าคน ซึ่งเราก็มารู้อีกทีตอนหลังว่าเขาก็ไปดักรอหน้าบ้านคนอื่นๆ ที่โดนคดี 112 เหมือนกันกับเรา”

 

ที่มาของหมายจับมาตรา 112 ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากกิจกรรมฉายเลเซอร์ตามศาลหลักเมืองและพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดพัทลุงเมื่อคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 โดยในข้อกล่าวหาอธิบายว่า ข้อความบนเลเซอร์นั้นเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 เช่น ‘ภาษีกู’ หรือ ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ’ 

 

แม้ว่าก่อนถูกนำตัวไปที่ สภ.พัทลุง ข้าวจะได้รับการช่วยเหลือจากรุ่นพี่ซึ่งติดต่อไปยังศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชนให้ภายในวันดังกล่าว รวมทั้งคณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก็มารอทำเรื่องประกันตัวอยู่ก่อนแล้ว แต่เนื่องด้วยอุปสรรคเรื่องระยะทางที่ต้องเดินทางข้ามจังหวัดจากสงขลามาที่พัทลุง ส่งผลให้ทนายไม่สามารถทำเรื่องยื่นประกันได้ทันเวลาในวันเดียวกัน

 

“วันนั้นเขามาจับเราประมาณช่วงบ่าย พี่ที่เป็นทนายก็บอกเราไว้เบื้องต้นเลยว่า อาจจะประกันตัวไม่ทันวันนี้เพราะว่าต้องเดินทางข้ามจังหวัด น้องอาจจะต้องนอนในคุกหนึ่งคืน ซึ่งเราก็ โอเค๊ (เสียงสูง) ตอนนั้นเราคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอไปถึงจริงๆ เข้าไปในห้องขังจริงๆ แล้ว ความรู้สึกมันแตกต่างกัน ตอนเราเข้าไปมีคนที่โดนคดีอยู่ข้างใน 4-5 คน แล้วจากนั้นก็มีเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ คนอื่นๆ โดนคดียาเสพติดหมดเลย แล้วคนอื่นๆ ให้เยี่ยมได้ แต่กรณีของเราเขากลับห้ามเข้ามาเยี่ยม พอเพื่อนเราถามว่าทำไมห้าม ตำรวจก็บอกว่า ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกในสังคม...”

 

ข้าวเล่าว่าเขาถูกฝากขังตั้งแต่ช่วงหนึ่งทุ่ม ก่อนจะถูกเรียกตัวออกไปสอบสวนในเวลาแปดโมงของเช้าวันถัดไปและนำตัวมาขังใหม่อีกครั้ง กระทั่งศาลได้อนุมัติการประกันในช่วงบ่าย นั่นเท่ากับว่าเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องขังครั้งแรกเป็นเวลาเกือบ 20 ชั่วโมง  

 

“ในนั้นมันไม่มีมือถือ ไม่มีนาฬิกา ต้องไปนั่งรออยู่คืนหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกถูกบีบประสาท ทำให้เราคิดมาก ฟุ้งซ่าน ในใจเรานึกตลอดเวลาว่า เมื่อไหร่จะเช้าวะ เมื่อไหร่เขาจะเรียกเราออกไปสอบสวน หรือพูดคุยสักที จะได้จบๆ เรื่องนี้สักที เมื่อไหร่จะเช้า เมื่อไหร่จะถึงคิวเรา เห็นเขาเรียกคนอื่นๆ ออกไป ก็ได้แต่คิดว่าเมื่อไหร่เขาจะมาเรียกเราบ้าง”

 

“มันคือห้องขังของสถานีตำรวจ เป็นห้องสี่เหลี่ยมประมาณ 5x3 เมตร มุมห้องครึ่งหนึ่งจะเป็นห้องน้ำที่สูงประมาณเอว ไม่มีประตู เป็นแค่อิฐกั้นๆ แล้วก็มีส้วมนั่งยองซึ่งสีน้ำตาล คือมันเป็นสีขาวมาก่อน แต่ความสกปรกทำให้มันเป็นสีน้ำตาลทั้งพื้นที่ แล้วก็ไม่มีถังน้ำ มีแค่ขันโง่ๆ ตั้งกับพื้นใบหนึ่งกับก๊อก สิ่งที่เราเข้าไปเห็นคือ คนที่อยู่มาก่อนเราก็ทั้งอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน อยู่ตรงนั้น”

 

“ถัดจากส้วมมาก็จะเป็นกองขยะถุงดำ เราจะนอนอีกฟากหนึ่ง เป็นเสื่อสามผืนซึ่งต้องนอนเบียดกัน 6-7 คน แล้วทีนี้เราก็จะนอนเห็นกองขยะนั้นบวกกับได้กลิ่นห้องน้ำตลอดทั้งคืน แล้วก็จะมีหนูวิ่งคาบขยะไปมา เราก็ต้องนั่งมองหนูวิ่งทั้งคืน”

 

“เขาบอกว่ามันเป็นพิเศษช่วงโควิด ให้ฝากขังที่นี่ได้เลย แต่ตำรวจจะวิดีโอคอลคุยกับศาล แล้วทีนี้ถ้าเราจะทำเรื่องประกันตัว ให้ไปคุยกับศาลเอาเอง ศาลก็เรียกหลักทรัพย์ประกันประมาณแสนห้า แต่อาจารย์เราใช้ตำแหน่งประกันให้”

 

“จะเลือกแม่หรือเลือกทำกิจกรรม?

ข้าวเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาเลือกที่จะไม่เล่าเรื่องการได้รับหมายเรียกจากการทำกิจกรรมให้คนที่บ้านฟัง เนื่องจากมองว่ายังเป็นเพียงข้อหาเล็กน้อย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ภายหลังได้รับการประกันตัวพ้นออกมาจากอาณาเขตคุมขัง ‘ฝันร้าย’ ของเขาจึงยังคงไม่ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับครอบครัวในวันที่ไม่สามารถกุมความลับเรื่องคดีความได้อีกต่อไป

 

“ตอนออกมา ที่บ้านถามเราว่า ‘เลิกทำได้ไหม เลิกเคลื่อนไหว เลิกยุ่งได้ไหม’ ซึ่งเราคิดว่าเราเป็นคนที่มีอุดมการณ์ เราทำมาแล้ว เราไม่อยากหยุดเพียงเพราะว่า เขาขู่ให้กลัวหรือเพราะเขามาจับ ถ้าเราหยุด เขาก็ชนะแล้ว เราก็เลยไม่อยากหยุด มันจึงทำให้เราทะเลาะกับที่บ้านบ้าง เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พ่อกับแม่เริ่มด่าเราบ้าง”

 

ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกชายทำ ได้ส่งผลให้ความเปราะบางเกิดขึ้นระหว่างกันในเส้นความสัมพันธ์ โดยข้าวได้หยิบยกประโยคจากบทสนทนาในวันที่อุณหภูมิร้อนจนถึงขีดสุดระหว่างเขาและผู้เป็นแม่มายกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น “ไม่รักแม่แล้วเหรอ?”, “จะเลือกแม่หรือเลือกทำกิจกรรม?” มากไปกว่านั้น จนถึงปัจจุบันครอบครัวของข้าวก็เลือกที่จะไม่ส่งเสียค่าเลี้ยงดูให้ อีกทั้งตัวเขาเองก็ยังไม่ได้กลับไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับแม่อีกเลย

 

“คุณเลี้ยงเรามา 20 ปี คุณสอนให้เราใส่ใจเพื่อนมนุษย์ มีเมตตาต่อคนรอบข้าง ให้เราไม่เห็นแก่ตัว แต่พอวันหนึ่งเราทำในสิ่งที่คุณสอน คุณกลับบอกว่าอย่าทำนะ เราก็รู้สึกแบบ อะไรกันวะ ก็คุณสอนให้เราเป็นแบบนี้ เราก็เป็นแบบที่คุณสอนแล้ว แต่คุณกลับบอกว่าอย่าเป็น ก็เลยไม่เข้าใจว่าเขาต้องการอะไรจากเรา เราก็เลยถามคำถามหนึ่งกลับไปว่า ถ้าแม่รักเขามากกว่าผม ก็ตัดผมจากลูกเลยก็ได้นะ ถ้าแม่เห็นคนอื่นนอกครอบครัวดีกว่าลูกตัวเองที่เกิดมาและเลี้ยงมา” ข้าวเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

 

“บอกตรงๆ เราก็ไม่รู้ว่าต้องจัดการด้วยวิธีไหน จะเข้าไปคุยอย่างไร เราควรไปอธิบายให้เขาเข้าใจอีกไหม เพราะว่าเราก็อธิบายมาหลายครั้งแล้ว ถ้าเขาจะเข้าใจก็คงจะเข้าใจไปตั้งนานแล้ว”

 

2289

 

ไม่ไหว บอกไม่ไหว

นอกจากปัญหาเรื่องความรู้สึกของคนในครอบครัวแล้ว ข้าวเล่าว่าการตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ยังส่งผลต่อพลังใจที่มีต่อการเคลื่อนไหว โดยความรู้สึกของการเป็น ‘รุ่นพี่’ ในขบวน ทำให้ข้าวเลือกที่จะแบกรับความทุกข์ใจนี้ไว้เพียงลำพัง เนื่องจากไม่อยากส่งต่อพลังงานลบที่อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับน้องๆ ในกลุ่ม

 

“เอาเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ในหมู่นักเคลื่อนไหวเยาวชนด้วยกันเราค่อนข้างโตกว่าคนอื่นๆ ในสายตาน้องๆ เราเป็นพี่ เวลาน้องๆ จะทำอะไรเขาก็จะมาปรึกษา มาถามว่า ‘พี่ข้าว อันนี้ต้องทำอย่างไร ผมเจอแบบนี้มาทำอย่างไรดี’ ถ้าเราไปแสดงให้เห็นว่าเราไม่ไหว แล้วน้องๆ ที่เดินตามเรามา เขาจะเอาอะไรยึดวะ เขาจะไปหนักแน่นกับใครวะถ้าเรายังไม่รู้สึกหนักแน่นกับตัวเองเลย มันเลยทำให้เราไม่อยากไปพูดกับใคร ไม่รู้ว่าจะไปพูดกับใคร และไม่รู้ว่าถ้าพูดไป น้องๆ ที่ฟังอยู่เขาจะรู้สึกอย่างไร จะเป็นการทำลายกำลังใจคนเหล่านั้นไปด้วยไหม มันก็เลยทำให้เราเลือกที่จะไม่พูด”

 

“หยุด ไปช่วงหนึ่งเลย ดร็อปไปช่วงหนึ่ง แบบ... พักก่อน เคลียร์ตัวเองก่อน เราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรจนมีรุ่นพี่มาถามว่า ‘ข้าวไหวไหม สภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้าง คุยกับพี่ได้นะ อยากปรึกษาอะไรไหม’ เพราะก่อนหน้านี้แทบจะไม่ค่อยมีใครมาถามเราในมุมนั้นเลยว่าเรารู้สึกอย่างไรบ้าง แม้กระทั่งครอบครัวเราเองก็ไม่เคยถามว่าเรารู้สึกอย่างไร เรามีความคิดเห็นอย่างไรกับมัน คนส่วนใหญ่อาจจะให้กำลังใจ อาจจะออกตัวเห็นด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยถามเรื่องความรู้สึกเราเลย”

 

“เราพยายามจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง เคยคิดจะไปปรึกษากับจิตแพทย์ด้วยเหมือนกันว่ารู้สึกเครียด มีความกดดัน แต่ก็ไม่กล้าไปอีก พยายามไปทำแบบทดสอบของโรงพยาบาลต่างๆ ในอินเทอร์เน็ต แล้วเขาก็จะมีให้กรอกเบอร์โทรไปสำหรับให้จิตแพทย์ติดต่อกลับมา เราก็ยังรู้สึกไม่พร้อมให้เขาติดต่อกลับมา เพราะเรายังไม่พร้อมที่จะพูดกับเขา แล้วเราก็มาโดนครอบครัวกดดันอีก เพราะมันยังมีหมายมาที่บ้านอีกเพื่อเรียกมาสอบปากคำเพิ่ม การที่หมายไปที่บ้านเรื่อยๆ ก็ทำให้แม่กับพ่อ หรือย่า มากดดันเราอีกทีหนึ่ง จริงๆ พ่อจะเข้าใจในมุมมองที่ว่า เราทำเพื่ออะไร เราทำเพราะอะไร แต่พ่อก็ค่อนข้างรู้สึกว่า ทำไมต้องไปทำให้ตัวเองเจ็บตัว เราเลือกที่จะไม่ทำก็ได้ ก็ไม่เจ็บตัวแล้ว”

 

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อตัวเองในช่วงเวลาปัจจุบัน ข้าวเลือกที่จะตอบอย่างไม่ลังเลว่าเขา ‘ชอบตัวเองมากขึ้น’ เมื่อได้มองย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ยังไม่เข้ามาสู่โลกของการเป็นนักกิจกรรม

 

“เรารู้สึกชอบตัวเองมากกว่าเมื่อก่อน อย่างน้อยๆ ก็ชอบตัวเองมากกว่าตอนที่ยังเป็น ignorant เมื่อเทียบกันชีวิตเรามีความหมาย เพราะเราได้ทำอะไรเพื่อใครบ้าง ที่เขาเห็นด้วยกับเรา ที่เขาต้องการมัน แต่เขาอาจจะทำไม่ได้ หรือทำมานานแล้วแรงเหลือน้อยเต็มที”

 

ความหวังต่อการเมืองในรัฐสภา

เมื่อถามถึงความสนใจอื่นนอกเหนือจากเรื่องการเมืองในช่วงท้ายของบทสนทนา ข้าวเล่าว่าปัจจุบันเขากำลังสนใจสกุลเงินคริปโตฯ (Cryptocurrency) รวมทั้งช่องทางการหารายได้จากการแลกเปลี่ยน (trade) สินค้าในเกม แต่เมื่อพูดถึงเงินๆ ทองๆ ได้ไม่นานนัก หนุ่มน้อยเมืองหนังโนราห์ก็วกบทสนทนากลับเข้ามาที่เรื่องการเมืองอีกตามเคย โดยข้าวมองว่า ถ้ามีโอกาสในอนาคต เขาก็สนใจที่จะลงเล่นการเมืองเองเพื่อเพิ่มช่องทางการผลักดันในสิ่งที่ขบวนต้องการเรียกร้อง

 

“เราคิดไว้ว่าตั้งแต่เริ่มต้นที่เราเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เพราะเราอยากเป็นนักธุรกิจ เราอยากมีบริษัทคริปโตฯ เป็นของตัวเอง แต่พอเราได้มาเคลื่อนไหวการเมือง แล้วเราก็ได้เห็นการเมืองในมุมที่เราฝากความหวังกับใครไม่ได้ ฝากความหวังกับพรรคการเมืองที่มีอยู่ก็เหมือนจะไม่ได้ ก็เลยเหมือนกับครั้งแรกที่เราลุกขึ้นมาเรียกร้องเอง เพราะเราหันไปแล้วไม่มีใครเรียกร้องแทน นี่ก็เหมือนกัน บางครั้งเราก็นึกอยากจะไปลงเล่นการเมืองเอง เพราะเราไม่รู้จะฝากความหวังกับใคร เขาไม่สามารถหรือเขาไม่ทำก็ไม่รู้ เขาไม่ทำในสิ่งที่เราต้องการอย่างตรงไปตรงมา”

 

“เราอาจจะต้องอยู่แบบนี้ไปอีกเป็นห้าปี สิบปี อาจจะมีคนเห็นด้วยเพิ่มนะ แต่เราก็อาจจะต้องทนอยู่กับระบบนี้แล้วใช้การต่อรอง (deal) ในระดับรัฐสภาที่หน้าตาโอเคขึ้นมากว่านี้หน่อย...” นักกิจกรรมพัทลุงกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

Article type: