1812 1259 1531 1413 1104 1090 1239 1798 1884 1886 1598 1395 1248 1499 1577 1296 1113 1963 1538 1340 1254 1806 1657 1433 1476 1726 1106 1348 1268 1157 1263 1234 1010 1021 1573 1190 1792 1320 1598 1989 1070 1147 1835 1532 1343 1949 1144 1984 1379 1702 1365 1780 1887 1606 1852 1558 1309 1100 1201 1247 1322 1150 1378 1621 1137 1711 1214 1661 1589 1587 1862 1364 1851 1314 1096 1595 1758 1886 1879 1894 1830 1519 1094 1146 1446 1124 1878 1478 1953 1780 1354 1468 1120 1247 1861 1014 1746 1735 1713 Photo essay : ส่องอุปกรณ์คุมม็อบตำรวจไทย | Freedom of Expression Documentation Center | ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ

Photo essay : ส่องอุปกรณ์คุมม็อบตำรวจไทย

 
เท่าที่สามารถสืบค้นจากราชกิจจานุเบกษา มีประกาศเกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้การควบคุมฝูงชนหนึ่งฉบับคือ ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในยุคคสช. 1 ประกาศฉบับนี้เป็นประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ตราขึ้นในยุคคสช. 1 เช่นเดียวกัน โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานชุมนุมสาธารณะหรือตำรวจเลือกใช้อุปกรณ์ทั้งหมด 48 รายการ แบ่งเป็นประเภทหลักๆ ดังนี้
 
  • อุปกรณ์ป้องกันของเจ้าหน้าที่ควบคุมการชุมนุม ได้แก่ หมวกปราบจราจล หรือหมวกกันกระสุน, โล่ใสหรือโล่กันกระสุน, ชุดป้องกันสะเก็ด (สนับแข้ง สนับเข่า สนับศอก), หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ, เสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุน
  • อุปกรณ์สำหรับการป้องกันสถานที่ ได้แก่ แผงกั้นเหล็ก, กรวยยาง, แท่นปูน หรืออุปกรณ์ป้องกันสถานที่, ลวดหนามหีบเพลงและอุปกรณ์การตรวจหาอาวุธบุคคลและพาหนะ
  • อุปกรณ์สำหรับใช้ควบคุมและสลายการชุมนุม ได้แก่ รถฉีดน้ำแรงดันสูงและรถบรรทุกน้ำ, เครื่องส่งคลื่นเสียงรบกวนระยะไกล, แก๊สน้ำตาผสมน้ำชนิดเผาไหม้, ปืนยิงแก๊สน้ำตาพร้อมอุปกรณ์, ลูกขว้างแก๊สน้ำตา, ลูกขว้างแบบควัน, ลูกขว้างแบบแสง-เสียง,  สีผสมน้ำ, ระเบิดควัน, กระบองยาง, ปืนลูกซองสำหรับกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา, ปืนช็อตไฟฟ้า, ปืนยิงตาข่ายและสปอตไลท์ส่องสว่าง
  • อุปกรณ์สำหรับการสืบสวนหาข่าว ได้แก่ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอ, เครื่องบันทึกเสียงและเครื่องวัดระดับเสียง

2101

ในการชุมนุมที่ผ่านมาอุปกรณ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้เกือบทั้งหมดแล้ว เว้นแต่ปืนช็อตไฟฟ้าที่ใช้พกในระหว่างการสลายการชุมนุมเท่านั้นและปืนตาข่ายที่ไม่ได้นำมาใช้เลย ระยะหลังในช่วงการชุมนุมที่แยกดินแดง ตำรวจเริ่มใช้อุปกรณ์ชนิดใหม่ คือ ปืน FN - 303  ซึ่งในต่างประเทศมีข้อครหาเรื่องความอันตรายของอุปกรณ์ชนิดดังกล่าว 
 
2109
 
2123
 
สำหรับการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เดิมทีตำรวจไม่ได้เตรียมอุปกรณ์อย่างครบครันในทุกการชุมนุม แต่มักจะนำมาใช้ในการชุมนุมขนาดใหญ่และการชุมนุมที่มีเป้าหมายในพื้นที่หวงห้ามปกป้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามหลังการสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่แฟลตดินแดง ตำรวจมีแนวโน้มเตรียมอุปกรณ์ครบมือมากขึ้นแม้ในการชุมนุมขนาดเล็ก นอกพื้นที่หวงห้าม รวมทั้งการชุมนุมที่ไม่ได้มีเป้าหมายทางการเมือง ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่เห็นได้ชินตาไปแล้วคือ ปืนลูกซองและปืน FN-303 รวมทั้งปืนพกสั้น ซึ่งเดิมทีตำรวจจะไม่พกปืนดังกล่าวในที่ชุมนุม 
 

รถฉีดน้ำแรงดันสูง 

 
หลังการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 รถฉีดน้ำแรงดันสูงหรือรถจีโน่เป็นที่จับตาของชาวม็อบที่คอยจับภาพและทวีตโลเคชั่นของรถจีโน่เวลาบนท้องถนนเพื่อเตือนความปลอดภัยของผู้ชุมนุมอยู่เสมอ รถจีโน่มีหลายคันสีที่เห็นบ่อยๆ คือ สีน้ำเงิน และอีกสีคือ สีกรมท่า จากการสังเกตการณ์การใช้รถฉีดน้ำในการสลายการชุมนุมจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การแสดงกำลังของตำรวจจำนวนมากพอที่จะป้องกันรถฉีดน้ำและเจ้าหน้าที่ภายในรถได้ และมาตรการแจ้งเตือนบ้างหรือบ่อยครั้งก็ไม่แจ้งเตือนเลย ดังนั้นกรณีที่มีรถฉีดน้ำขับผ่านเข้ามาใกล้บริเวณที่ชุมนุมก็ไม่ได้หมายความว่า ตำรวจจะเริ่มการสลายการชุมนุมแล้วเสมอไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นการดำเนินการทั่วไปหรือมาตรการทางจิตวิทยาเพื่อกดดันผู้ชุมนุม
 
 
2095 วันที่ 4 กันยายน 2564 Thikamporn Tamtiang
 
 
รถฉีดน้ำจะฉีดน้ำออกมาได้สามแบบหลักคือ น้ำเปล่า, น้ำผสมแก๊สน้ำตา และน้ำผสมสี บางครั้งตำรวจอาจประกาศเป็นลำดับขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก คือ เริ่มจากน้ำเปล่าและตามด้วยน้ำที่ผสมแก๊สน้ำตาหรือสีที่ใช้สำหรับระบุตัวผู้ชุมนุม แต่บางครั้งไม่ได้ประกาศและอาจจะเริ่มจากน้ำผสมแก๊สน้ำตาเลย นอกจากนี้ในช่วงการชุมนุมที่แยกดินแดง ตำรวจใช้น้ำผสมสีม่วงฉีดใส่ผู้ชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ที่ถูกฉีดน้ำผสมสีม่วงดังกล่าวเล่าว่า น้ำผสมสีม่วงก่อให้เกิดอาการระคายเคืองมากกว่าน้ำผสมแก๊สน้ำตาด้วยซ้ำไป การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ล้างหรือล้างด้วยน้ำเปล่าไม่ทำให้อาการระคายเคืองหายไปเอง ต้องล้างด้วยน้ำเกลือเท่านั้น นอกจากจะฉีดน้ำได้แล้ว ด้านบนของรถฉีดน้ำยังมีเครื่องส่งคลื่นเสียงรบกวนระยะไกล หรือ LRAD ที่ปล่อยคลื่นเสียงรบกวนออกมา แต่ใช้ไม่ค่อยได้ผลนักในการสลายการชุมนุม
 
2099
 
2097
 
2098
 
ตามหลักสากลอุปกรณ์ฉีดน้ำแรงดันสูงไม่ควรใช้ฉีดใส่บุคคลจากระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึง อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดเข้ากลุ่มผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนที่อยู่เกาะกลางถนนพระรามหนึ่ง ลักษณะการฉีดนั้นพุ่งไปที่ตัวบุคคลและเสี่ยงต่อการที่จะทำให้อุปกรณ์ของสื่อเกิดความเสียหายได้
 
 

ปืนลูกซองสำหรับใช้ยิงกระสุนยาง

 
ปืนลูกซองสำหรับใช้ยิงกระสุนยางจะเป็นปืนยาว บางครั้งอาจมีข้อความติดที่ตัวปืน เช่น คฝ. 1 และภาพที่เห็นบ่อยๆ คือ การติดสติ๊กเกอร์สีเขียวสะท้อนแสงหรือเป็นลวดลายต่างๆ หรืออาจจะไม่มีเลย ซึ่งไม่แน่ชัดถึงความหมายของสติ๊กเกอร์และข้อความแต่ละแบบ ส่วนลูกกระสุนยางนั้น จากการสังเกตการณ์ตำรวจมีการใช้แบบลูกกระสุนยางที่มีหางควบคุมทิศทางและกระสุนยางแบบปลอกมีทั้งสีขาว, ดำ, น้ำเงิน และเขียว
 
2102
 
2103
 
ในการเตรียมพร้อมเรื่องความปลอดภัยว่า จะสังเกตว่า ตำรวจจะมีการยิงกระสุนยางหรือไม่ ให้ฟังการแจ้งเตือนที่อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ ตามแต่อำเภอใจของตำรวจ หรืออาจสังเกตได้จากลักษณะของโล่ที่ตำรวจนำมาใช้  โดยหลักแล้วในการควบคุมการชุมนุมตำรวจจะใช้โล่สองแบบคือ โล่ใสและโล่กันกระสุนสีดำทึบหรือโล่ที่มีผ้าสีดำคลุมทับ
 
การชุมนุมขนาดใหญ่ที่ตำรวจมีการวางกำลังเตรียมพร้อม ตำรวจที่อยู่แถวหน้าสุดจะใช้โล่ใส ซึ่งตำรวจชุดนี้มักจะไม่มีปืนลูกซองสำหรับกระสุนยาง อาจมีอุปกรณ์ชนิดอื่นๆ เช่น ระเบิดควัน จุดสังเกตว่า เริ่มมีตำรวจชุดปฏิบัติที่จะใช้กระสุนยาง คือเมื่อสังเกตเห็นว่า มีตำรวจที่ถือโล่สีดำมาวางกำลัง ไม่ว่าจะเป็นโล่ดำทึบหรือโล่ที่มีการคลุมด้วยผ้าสีดำทึบก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ตำรวจที่อยู่หลังโล่ดังกล่าวจะมีกระสุนยาง แต่ในระยะหลังก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เนื่องจากการชุมนุมที่ดินแดง มีบ่อยครั้งที่ตำรวจที่ใช้กระสุนยางอยู่ด้านหลังของตำรวจที่ใช้โล่ใส
 
โดยตำรวจที่ทำหน้าที่ยิงกระสุนยางมักจะทำงานกันเป็นกลุ่มแบ่งหน้าที่กัน คือ ตำรวจที่ถือโล่อยู่แนวหน้าป้องกัน, ตำรวจที่เป็นผู้ยิงและตำรวจที่เป็นคนคอยชี้เป้าหมายให้ผู้ยิง ซึ่งในเวลากลางคืนอาจนำเลเซอร์มาใช้ชี้เป้าหมายร่วมด้วย เมื่อจะทำการยิงตำรวจที่ถือโล่ป้องกันจะเปิดแนวโล่ออกให้ยิง กรณีที่อยู่ในพื้นที่โล่งอาจมีตำรวจที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยด้านข้างด้วย 
 
2104
 
2105
 
2106
 
จากการสัมภาษณ์ตำรวจระดับปฏิบัติในพื้นที่ ระบุว่า การใช้กระสุนยางนั้น ตำรวจจะมีการสอนมาตรฐานสากลของสหประชาชาติ ตำรวจระดับปฏิบัติจึงรับทราบดีว่า กระสุนยางมีอันตราย หากใช้ยิงในระยะประชิดหรือยิงเหนือเอวก็จะเป็นอันตราย จึงต้องใช้ยิงต่ำกว่าเอวลงมาเท่านั้น เขาบอกว่า จุดที่แน่นอนที่สุดควรจะเป็นบริเวณขาเพราะไม่มีอวัยวะสำคัญ เท่าที่เขาฝึกมาองค์ประกอบของการใช้คือ การชุมนุมจะต้องอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้หรือควบคุมลำบากแล้ว 
 
"การใช้กระสุนยาง ถ้าใช้อาวุธจะต้องประทับบ่า ตั้งฉากให้อาวุธเรามั่นคง เวลายิงจะต้องกดหัว[ปลายปืน]ลง ให้ยิงต่ำกว่าเอวลงมา ตัดสินใจให้เล็งเลยคือขาเพราะชัวร์ที่สุด ไม่มีอวัยวะสำคัญ" 
 
อย่างไรก็ตามการใช้กระสุนยางของตำรวจได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องการใช้ไม่ได้หลักความจำเป็นและขัดหลักสากล คือ ยิงไปที่บริเวณร่างกายส่วนบนและเล็งยิงในบริเวณที่เป็นอันตราย เช่น ศีรษะ (อ่านเพิ่มเติมบทความเรื่องการบาดเจ็บและหลักสากล
 
 
2108 ผู้ชุมนุมถูกตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ที่กลางหน้าอกระหว่างการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564
 
2107 ผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดเข้าที่บริเวณหน้าอกระหว่างการเดินขบวนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564

 

กระบองยาง

 
กระบองยางถือเป็นอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด เรียกได้ว่า แทบจะอยู่ติดตัวตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเลย โดยทั่วไปแล้วกระบองถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบุคคลที่ทั้งจะทำร้ายหรือขู่ว่าจะทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ควรใช้กระบองบริเวณแขนหรือขาของบุคคลดังกล่าว ความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้กระบองคือการใช้กระบองฟาดไปยังบริเวณกระดูกหรือข้อต่อมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดภาวะข้อเคลื่อนและกระดูกหัก โดยควรหลีกเลี่ยงการใช้กระบองกระทุ้งหรือกระแทกไปบริเวณทรวงอก คอ หรือศีรษะ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและอาจทำให้อวัยวะสำคัญฉีกขาด ไม่ควรใช้กระบองรัดคอ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ถูกรัดคอจะถึงแก่ความตาย 
 
2111
 
ที่ผ่านมามีรายงานการใช้กระบองกับผู้ชุมนุม เช่น ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Baipat Nopnom  เผยแพร่คลิปวิดีโอเหตุการณ์วันที่ 20 มีนาคม 2564 ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณสะพานวันชาติ ตำรวจเข้าจับกุมมีการกระทืบผู้ชุมนุมรายที่ 1 จนล้มลง จากนั้นมีการเตะและใช้กระบองตีซ้ำๆ อีกครั้งแม้ผู้ชุมนุมจะลงไปนอนหมอบแล้วก็ตาม และมีการใช้เท้าเตะและกระบองตีผู้ชุมนุมที่นอนหมอบกับพื้นซ้ำๆ อีก 1 ราย
 
วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่บริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจมีการยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จากนั้นตำรวจหลายนายวิ่งเข้าไปที่รถคันดังกล่าว ตำรวจไม่น้อยกว่าห้านายเข้าล้อมและพาตัวชายผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลงมาจากรถ ต่อมาตำรวจสี่นายกดตัวชายผู้ถูกคุมตัวลงที่พื้นถนน แม้เขายอมลดตัวลงไปที่พื้นแต่โดยดีไม่ได้มีท่าทีต่อสู้ แต่ตำรวจอีกนายใช้กระบองยางฟาดเข้าที่ท้ายทอยชายคนดังกล่าวอย่างแรง
 
วอยซ์ทีวีรายงานว่า วันที่ 11 กันยายน 2564 มีรายงานเกี่ยวกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เป็นผู้หญิงสองคนที่ขับรถจักรยานยนต์กลับจากที่ทำงาน เมื่อมาถึงบริเวณใกล้กับพื้นที่ชุมนุมแยกดินแดงทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รายหนึ่งมีอาการแขนบวม ศีรษะบวม ส่วนอีกรายศีรษะแตกเป็นแผลลึก หลังเข้ารับการรักษาทั้งสองคน เปิดเผยว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย โดยอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ทำร้ายร่างกายทั้งสองมีกระบองตำรวจรวมอยู่ด้วย  
 
 

แก๊สน้ำตาแบบยิง

 
แก๊สน้ำตาที่นำมาใช้การปราบปรามผู้ชุมนุมมีสามรูปแบบคือ แก๊สน้ำตาแบบผสมน้ำที่ฉีดด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูง, แก๊สน้ำตาแบบลูกขว้าง และแก๊สน้ำตาแบบยิง กรณีที่เป็นที่วิจารณ์มากที่สุดคือ การยิงแก๊สน้ำตาลงมาจากทางด่วนเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณแยกดินแดง โดยวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกวัตถุกระแทกเข้าที่ดวงตาด้านขวาเลือดอาบ หลังเข้ารับการรักษาแพทย์วินิจฉัยว่า ตาด้านขวาของลูกนัทบอด มีพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า วัตถุที่ลอยมากระแทกลูกนัทจนเป็นเหตุให้สูญเสียตาขวา คือ ปลอกแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงมาจากบนทางด่วน
 
2112 ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ปรากฏในการชุมนุมวันที่ 7 สิงหาคม 2564
 
2113 ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ปรากฏในการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2564
 
2114 ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ปรากฏในการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม 2564
 
2115 ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ปรากฏในการชุมนุมวันที่ 13 สิงหาคม 2564
 
ต่อมาวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นอธิบายว่า การยิงแก๊สน้ำตา ปลอกแก๊สน้ำตา (กระบอกโลหะ) จะค้างในลำกล้อง แต่จะมีตัวนำแก๊สไปหาเป้าหมาย ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สไลด์ออกปลอกแก๊สน้ำตาที่เป็นโลหะจะอยู่ในอาวุธปืน กรณีที่จะพุ่งออกไปทั้งปลอกแก๊สน้ำตา (กระบอกโลหะ) จึงเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นกล่าวว่า กรณีที่มีการเผยแพร่ภาพตามสื่อสังคมออนไลน์ว่า ตำรวจใช้เครื่องยิงกระสุนแก๊สน้ำตาและไปถูกผู้ชุมนุมบางคนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ เป็นเพียงปลอกแก๊สน้ำตาเท่านั้น อุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้ลอยไปในอากาศ จึงเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
 
ในการสาธิตการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิง ตำรวจ อคฝ. อธิบายว่า น้ำหนักทั้งลูกคือ 151 กรัม เมื่อใส่ปืนแล้วยิงออกมาจะเป็นแท่งสีน้ำเงินน้ำหนักประมาณ 102 กรัม เมื่อลอยไปจะเกิดการเผาไหม้และเกิดควันในเวลาไม่เกินหนึ่งนาที ส่วนปลอกเมื่อยิงแล้วจะอยู่ในปืนไม่ลอยไปด้วย ปืนสามารถยิงได้หลักๆ สามระยะคือ 50 เมตร, 100 เมตร และ 150 เมตร โดยทำการสาธิตว่า แท่งแก๊สน้ำตามันจะทำอันตรายได้หรือไม่ หลังจากสาธิตแล้วจะเห็นได้ว่า มันเป็นเพียงพลาสติกเท่านั้นเองไม่ใช่โลหะ
 
2116 ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ปรากฏในการชุมนุมวันที่ 8 กันยายน 2564
 
ข้อเท็จจริงดังกล่าวค้านกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากการสังเกตการณ์ เฉพาะบริเวณแยกดินแดง ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 พบตัวนำแก๊สน้ำตาที่มีลักษณะเป็นปลอกโลหะต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ลูกนัทได้รับบาดเจ็บจากการมีวัตถุกระแทกเข้าที่เบ้าตา และวันที่ 8 กันยายน 2564 ก็ยังพบตัวนำแก๊สน้ำตาแบบโลหะอยู่
 
 

ตู้คอนเทนเนอร์-แคปซูลน้ำมัน

2117

จากจำนวนอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนทั้งหมด 48 รายการ ไม่ปรากฏว่า มีการอนุญาตให้ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ มีเพียงข้อความโดยกว้างคือ อุปกรณ์ป้องกันสถานที่ 
 
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 หากผู้ชุมนุมต้องการชุมนุมหรือเคลื่อนขบวนไปบริเวณพื้นที่หวงห้าม เช่น พระบรมมหาราชวังและทำเนียบรัฐบาล ตำรวจมักจะปิดกั้นพื้นที่ด้วยแผงเหล็กและใช้กำลังตำรวจตั้งแถวปิดกั้น ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2563 ผู้ชุมนุมใช้กลยุทธ์ ‘เปิดแผล’ นัดหมายชุมนุมตามพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ นับแต่นั้น ตำรวจเริ่มใช้ตู้คอนเทนเนอร์ในการปิดกั้นเส้นทางเคลื่อนขบวน วันแรกๆ ที่พบว่า มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์คือ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ราษฎรประกาศจะเคลื่อนขบวนไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ นำไปสู่การวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ปิดเส้นทางโดยรอบและวางกำลังของตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนมาก ทำให้ผู้ชุมนุมต้องย้ายไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์แทน
 
การชุมนุมในปี 2564 ตำรวจปิดกั้นพื้นที่โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ต่อเนื่อง เช่น สนามหลวง, ทำเนียบรัฐบาล, กรมทหารราบ 1 และแยกดินแดง มีอย่างน้อยสองครั้งที่ความพยายามเลื่อนเปิดแนวตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสลายการชุมนุมคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และวันที่ 20 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นการชุมนุมของรีเด็มทั้งสองครั้ง
 
2119
 
ตู้คอนเทนเนอร์กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการแสดงออกของผู้ชุมนุม เดือนธันวาคม 2564 ผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นปักหลักชุมนุมที่หน้าแนวตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐ กลุ่มศิลปินทำการพ่นสีบนตู้คอนเทนเนอร์เป็นภาพของผู้หญิงสวมฮิญาบและข้อความ #savechana  ภาพและข้อความบนตู้คอนเทนเนอร์ตามแต่ละการชุมนุมกลายเป็นความสะท้อนของข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมมีต่อผู้กุมอำนาจในประเทศนี้ เช่นข้อความ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” , “We are all human” และ “กูขอสันติมึงให้สงคราม”
 
2120
 
2121
 
นอกจากตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ระยะหลังตำรวจยังนำแคปซูลน้ำมันมาวางปิดกั้นพื้นที่ประกอบด้วย โดยแคปซูลน้ำมันก็ไม่ได้อยู่ในรายการอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์แรกๆ ที่มีการนำแคปซูลน้ำมันมาใช้คือ วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ต่อมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการนำตู้สินค้ารถไฟไปใช้เป็นแนวสิ่งกีดขวาง แสดงความกังวลว่า หากมีผู้ไม่หวังดีนำวัตถุอันตรายไปใส่ไว้ โดยเฉพาะแคปซูลน้ำมันจะเกิดอันตรายและความสูญเสีย ไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย พร้อมย้ำว่า การเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างสงบ สันติและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญและหลักการระหว่างประเทศคุ้มครอง
 
2122
Article type: